ที่มา ประชาทรรศน์
สถานการณ์ทางการเมืองวันนี้มันคือการต่อสู้ แล้วการต่อสู้มันไม่ได้เป็นไปอย่างที่ใจนึกนะครับ แต่มันเป็นกฎเกณฑ์ของการต่อสู้ เพราะฉะนั้นการต่อสู้มันคือการต่อสู้ระหว่างระบอบอำมาตยาธิปไตย กับ ประชาธิปไตย ผมจึงขอย้ำว่าเราต้องยึดหลักตรงนี้ก่อน เพราะว่าถ้าเราใช้อารมณ์ชี้นำโดยไม่ใช้ปัญญา มันอันตรายนะครับ การใช้อารมณ์ความรู้สึกนั้นบางครั้งมันอันตรายมาก ผมจะยกตัวอย่าง เช่น บางคนทำร้ายตัวเอง ทำร้ายครอบครัวตัวเอง
ฉะนั้น ผมจึงอยากทำความเข้าใจกันก่อน เพราะว่าหลายคนมองว่าผมทอดทิ้งพี่น้อง หลายคนถามว่าทำไมไม่เห็นผมขึ้นเวทีที่ท้องสนามหลวง คือ ไม่ใช่ว่าทุกคนจำเป็นที่จะต้องไปขึ้นเวทีที่ท้องสนามหลวงนะครับ และทุกคนไม่จำเป็นที่จะต้องแห่กันไปที่ท้องสนามหลวงทั้ง 65 ล้านคน บางท่านมีความจำเป็นที่จะต้องไปท้องสนามหลวง บางท่านมีความจำเป็นที่จะต้องไปขึ้นเวทีปราศรัย แต่นักวิชาการอย่าง อ.คณิน บุญสุวรรณ มาใช้เวทีสัมมนา ใช้การวิเคราะห์อย่างเป็นระบบๆ แบบนี้
ฉะนั้น ผมจึงอยากชี้แจงกับทุกท่านก่อนว่า เราจะต้องตั้งหลัก ตั้งรากฐานให้มั่นก่อนว่าขณะนี้มันเป็นการต่อสู้ ให้ชัดเจนก่อน เพราะว่าการต่อสู้นั้นมันไม่ชนะกันภายในช่วงเวลานิดเดียว มันไม่ใช่ แล้วยิ่งเป็นการต่อสู้ทางสังคมนั้นมันไม่ได้ การต่อสู้แบบนี้มันอาจจะต้องใช้เวลา 10 ปี 20 ปี 30 ปี อย่างที่ อ.คณิน พูดว่า การต่อสู้บางครั้งเราต้องยอมเจ็บปวด บางครั้งเราต้องยอมขมขื่น แต่ผลที่ออกมานั้นมันจะงดงามเสมอ แล้วคนที่บริโภค ซึ่งอาจจะไม่ใช่เราได้ อาจจะเป็นลูกเป็นหลานของเรา แต่ผลนั้นมันงดงามเสมอ แล้วมันคุ้มต่อการลงทุนของพวกเรา
ถ้าเราเข้าใจแบบนี้แล้ว อารมณ์วูบวาบของเราจะหมดไป สิ่งที่พูดนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ในวันนี้ แต่ผมจะพยายามพูดไปเรื่อยๆ ว่าการต่อสู้นั้นมันต้องมีระบบ มีรากฐานนะครับ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าขณะนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างอำมาตยาธิปไตยกับระบอบประชาธิปไตย และการต่อสู้นั้นบางครั้งฝ่ายเราชนะ พอชนะเราจะดีใจมากเลย ดีใจสุดๆ แต่พอบางครั้งเราแพ้ เราจะรู้สึกเศร้าหมอง จนบางครั้งออกมาตีอกชกลม และดีไม่ดีพวกเราทะเลาะกันเอง อันนี้อันตรายมากเลย เพราะฉะนั้นผมต้องขอร้องว่าพวกเราต้องไม่ทะเลาะกันเองนะครับ ในช่วงที่เรากำลังเสียเปรียบนั้นเราอย่าไปโทษนั่นโทษนี่ แต่เราจงวิเคราะห์ให้ได้ว่ามันเกิดจากอะไร
อย่างเช่น ในขณะนี้ผมมองว่าดูคล้ายกับเราเพลี่ยงพล้ำ และมีหลายคนหดหู่ เศร้าหมอง ขณะที่บางคนโกรธเคืองอย่างรุนแรง เรื่องนี้อันตรายนะครับ อันตรายมาก เพราะว่าถ้าเป็นอย่างนั้นคุณจะสูญเสียสติของคุณทันที คุณจะเสียสติปัญญา แล้วการชี้นำของคุณจะถูกพาไปโดยอารมณ์ ซึ่งคุณจะต้องพ่ายแพ้อย่างแน่นอน พ่ายแพ้แบบเสียหาย แล้วดีไม่ดีพ่ายแพ้แบบอัปยศอีกด้วย
ท่านดูอย่าง “เตียวหุย” สิครับ ใครที่อ่านสามก๊กคงจำกันได้ เตียวหุย ซึ่งใช้อารมณ์ความโกรธสุดท้ายทหารคนใกล้ชิดก็เข้ามาตัดหัวเตียวฮุยในกระโจม แล้วก็ขี่ม้าหนีไปเข้ากับฝ่ายโจโฉ นี่คือประวัติศาสตร์ซึ่งมีเอาไว้ให้เราศึกษา มีไว้ให้เราฉลาด
ฉะนั้น วันนี้ผมเข้าใจครับว่ามีพี่น้องของเราส่วนหนึ่งรู้สึกท้อแท้ห่อเหี่ยวในจิตใจ อีกส่วนรู้สึกโกรธอย่างรุนแรง ทั้งสองส่วนนั้นจะต้องพยายามตั้งสติ ซึ่งภาษาโบราณที่ผมยึดถือมาคือ “จงแปรความเคียดแค้นให้เป็นพลัง” แปลงให้เป็นสติปัญญา เมื่อมีปัญญาแล้วเราจะคิดจะทำอะไรมันจะดีไปทุกอย่าง แล้วมันจะทำให้เราชนะ ไม่ใช่ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อทำร้ายตัวเอง ฆ่าตัวเอง แล้วยังทำให้เราพ่ายแพ้เอง
ทีนี้กลับมาที่ประเด็นคือ การต่อสู้ระหว่างอำมาตยาธิปไตย กับประชาธิปไตย ขณะนี้เปรียบเสมือนการต่อสู้อีกสมรภูมิรบเท่านั้นเอง ซึ่งถ้าเรามองแบบนี้แล้วเราก็จะคิดได้ เราก็จะนิ่ง พอนิ่งเราก็จะคิดได้ เราก็จะรู้ว่าสิ่งไหนจะทำให้เราแพ้ สิ่งไหน ตรงไหน จะทำให้เราได้เปรียบ ทำให้เราชนะ ตรงไหนคือจุดอ่อน ตรงไหนคือจุดแข็งของเรา ตรงไหนคือจุดอ่อนของเรา ถ้าเรามองได้อย่างนี้นะ ผมคิดว่าพวกเรามีสติ มีปัญญาทุกคน เราชนะแน่
ดังนั้น ขณะนี้เราต้องมองให้ออก ผมจะขอถามว่า ระหว่างอำมาตยาธิปไตย และประชาธิปไตย อะไรเป็นอนาคตของโลกครับ? ประชาธิปไตยครับ ฉะนั้น ในท้ายที่สุดฝ่ายประชาธิปไตยมันชนะอยู่แล้ว แต่ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ให้เรานอนอยู่เฉยๆ อยู่บ้านนะ ไม่ใช่ให้ประชาธิปไตยออกดอกออกมาเอง ไม่ได้นะ เพียงแต่ต้องการจะบอกกับพวกเราว่าไม่มีทางที่อำมาตยาธิปไตยจะได้ชัยชนะครับ ไม่มีทาง
ข้อที่ 1.ประชาธิปไตยย่อมชนะเสมอ เพียงแต่ว่าในขณะที่อำมาตยาธิปไตยมันยังแข็งแกร่งอยู่นั้น อำมาตยาธิปไตยสามารถที่จะทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยบาดเจ็บได้ แต่แม้จะบาดเจ็บสาหัสแค่ไหน ประชาธิปไตยไม่มีวันตายครับ ถึงบาดเจ็บแค่ไหนจะลุกกลับขึ้นมาสู้ใหม่ และเดินก้าวหน้าต่อสู้บดขยี้ฝ่ายอำมาตยาธิปไตยให้มันหมดไปจากโลกให้ได้
อีกอย่างขณะนี้เราอย่าไปมองว่าฝ่ายตรงข้ามรุ่งโรจน์ เพราะด้านที่เขาดำมืดมี อย่างในพรรคประชาธิปัตย์มีคลื่นใต้น้ำเกิดขึ้นในพรรคเช่นกัน ท่านต้องมองให้เห็นว่าขณะนี้ภายในพรรคประชาธิปัตย์เกิดการแตกแยกขึ้นอย่างรุนแรงเลย ซึ่งถ้าเรามองปัจจัยพวกนี้เราจะเห็นปัจจัยบวกของพวกเราขึ้นมาทันที แล้วท่านอย่าลืมว่าในสมัยหนึ่งพรรคประชาธิปัตย์เคยแตกออกมาแล้วครั้งหนึ่ง ในสัมย 10 มกราคม ตอนนั้นแตกออกมาก๊กใหญ่ แล้วทำให้พรรคประชาธิปัตย์อ่อนลงไปมากเลยทีเดียว ตรงนี้ประวัติศาสตร์มันมีให้เห็นอยู่แล้ว และผมเชื่อว่าจะเกิดขึ้นอีกในไม่ช้านี้
ตัวพรรคประชาธิปัตย์เองขณะนี้ผมว่าลงทุนไปเยอะ เสี่ยงมากเลยนะครับ เสี่ยงกับพรรคแตกมากๆ ซึ่งแน่นอนเวลาที่เขาพูดเขาไม่พูดเรื่องพรรคแตกหรอกครับ แต่ผมอยากให้เรามองถึงปัจจัยด้านบวกของเราบ้าง ใช่...ด้านบวกเขามีที่จัดตั้งรัฐบาลได้ เป็นธรรมดาของสรรพสิ่งที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ ฉะนั้นผมอยากจะให้พวกเราคิดว่ามันกำลังจะเกิดอะไรขึ้นจากนี้ต่อไป
อำมาตยาธิปไตย มันเริ่มต้นเมื่อ 19 กันยายน 2549 หลังการรัฐประหาร แล้วเขามุ่งหวังว่าจะสร้างอำมาตยาธิปไตยให้เข้มแข็งโดยเร็ว โดยตั้งรัฐบาล คมช. คือ การโค่นทักษิณนั้นเป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งเท่านั้น แต่จะว่าไปแล้ว การโค่นทักษิณนั้นเป็นประโยชน์ในข้อที่ทำให้ประชาชนคนไทยทั้งประเทศรู้ว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ประชาชนสามารถเลือกพรรคการเมืองให้ขึ้นมาบริหารประเทศได้โดยเลือกนโยบายที่สามารถตอบสนองไปถึงคนจนได้ สิ่งเหล่านี้มันชี้ให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยเริ่มหยั่งรากลึกลงไปในประเทศไทย พอเป็นเช่นนั้นมันไปเกิดผลกระทบต่ออำมาตยาธิปไตย เขาก็เลยต้องลุกขึ้นมาโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยลงไปเลย
ฉะนั้น การโค่นทักษิณนั้นเป็นปรากฏการณ์หนึ่งของการรัฐประหาร แต่แก่นแท้ของการรัฐประหารคือ การโค่นล้มระบอบประชาธิปไตย และสร้างระบอบอำมาตยาธิปไตยที่แข็งแกร่งขึ้นมา โดยการสร้างรัฐบาลอำมาตยาธิปไตยขึ้นมา
ตอนแรกเขาหวังไว้ว่าผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2551 จะได้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาแทนที่ไทยรักไทย แต่เขาต้องผิดหวังเพราะประชาชนเลือกรัฐบาลพลังประชาชนกลับมา ฉะนั้น เมื่อได้รัฐบาลพลังประชาชนเข้ามามันเลยเป็นที่มาของคดีต่างๆ โดย คตส. จากนั้นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้ามา กลายเป็นอนาธิปไตยทันที
อนาธิปไตย คืออะไร อนาธิปไตย คือ ภาวะที่บ้านเมืองไม่มีขื่อแป กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ หรือมีบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกระทำย่ำยีต่อกฎหมายได้โดยที่รัฐไม่สามารถทำอะไรได้เลย
นี่คือสิ่งที่อำมาตยาธิปไตยเขามองว่าเขาไม่สามารถทำอะไรประชาธิปไตยได้ เลยต้องปล่อยให้พันธมิตรฯ ออกมาทำลายอีกรอบหนึ่ง แล้วทำให้ประเทศไทยทั้งประเทศตกอยู่ในภาวะอนาธิปไตย แต่ว่าดาบที่สำคัญที่สุดคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีของ ท่านสมัคร สุนทรเวช ซึ่งเราเคารพนะครับ แต่เราตั้งข้อสงสัยว่าทำไม ศาลรัฐธรรมนูญมีสิทธิไปเติมข้อความในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ข้อนี้ผมสงสัย อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญออกมาตอบหน่อย เพราะว่าศาลไปเติมคำว่าอาจจะในกรณีเขาพระวิหาร นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญต้องใช้หลักนิติธรรมในการวินิจฉัยหรือเปล่า เพราะว่าหลักนิติธรรมที่ผมเรียนมานั้นในกรณีที่ไม่มีกฎหมายตราไว้ ให้เอากฎหมายข้อที่ใกล้เคียงมาใช้ ไม่ได้มีข้อไหนเลยที่บอกว่าถ้าไม่มีกฎหมายตราไว้ ให้เอาพจนานุกรมมาใช้ ผมจึงอยากจะถามว่า การที่ท่านเอาพจนานุกรมมาใช้นั้นถูกต้องตามหลักนิติธรรมหรือเปล่า แต่ผมเคารพนะครับ แค่อยากจะถาม
ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าอำมาตยาธิปไตยใช้เครื่องมือทั้งหมดของเขาเลยนะครับ จะเห็นได้ว่าการออกมาของเขาแต่ละครั้ง จะออกมาเป็นขบวนการ ดาหน้าออกมาเลย เพราะฉะนั้นเวลาพวกเราจะทำอะไรจะต้องออกมาเป็นขบวนนะครับ ไม่ใช่เอาแต่ความปรารถนาส่วนตนออกมา
ทีนี้...กลับมาที่รัฐบาลนี้ ผมจะขอตั้งชื่อว่า “รัฐบาลมิจฉาธิปไตย” เพราะเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้มาตามครรลองของประชาธิปไตย เพราะว่าเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ประชาชนเขาเลือกรัฐบาลประชาธิปไตยมาแล้ว แต่วันนี้ด้วยพลังของอำมาตยาธิปไตยได้ผลักดันให้เกิดรัฐบาลอำมาตยาธิปไตย เกิดรัฐบาลมิจฉาธิปไตย รัฐบาลอนาธิปไตย ซึ่งผมเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลระเบิดเวลา ซึ่งขณะนี้ชนวนได้จุดขึ้นแล้ว จากรัฐมนตรีที่บอกว่าการบุกยึดสนามบินแห่งชาติสนุกมาก ดนตรีเพราะ อาหารอร่อย แต่คนไทยทั้งประเทศ คนต่างชาติที่เดือดร้อน ไม่มีใครสนุกกับคุณด้วย
และขอฝากคำถามไปถึงนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ตอบด้วยนะครับว่า การบุกยึดสนามบินแห่งชาติ เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามหลักนิติรัฐและนิติธรรมหรือไม่ เพราะท่านเคยประกาศไว้ว่า รัฐบาลของท่านยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรม แล้วคนที่บุกยึดสนามบินเมื่อไรคุณจะไปจับครับ?
///////////////////////////