ที่มา ไทยรัฐ
นายวิชัย วิวิชเสวี กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้รับผิดชอบคดีเหตุสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551ที่หน้ารัฐสภา กล่าวกรณีตำรวจเข้าชื่อยื่นถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 248 ว่า เป็นสิทธิของตำรวจที่สามารถยื่นได้ และขึ้นอยู่กับวุฒิสภาจะลงความเห็นอย่างไร ขอยืนยันว่า การทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในคดีนี้ไม่มีการเร่งรัดตามที่ถูกกล่าวหา เพียงแต่เรื่องดังกล่าวเป็นคดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน จึงนำขึ้นมาพิจารณาก่อน โดยไม่มีวาระซ่อนเร้นอะไร การตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนก็ยังไม่มีการชี้มูลความผิด ตำรวจไม่ ควรวิตกล่วงหน้า คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะไม่ตัดสินคดีจากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือยึดกระแสสังคม แต่จะตัดสินตามหลักนิติธรรม และกฎหมาย
กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต่อถึงคุณสมบัติของนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กรณีเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ว่า ไม่น่าจะขัดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เพราะไม่ใช่การไปแสวงหากำไร และการได้ค่าตอบแทนก็เป็นเพียงเล็กน้อย ประเด็นดังกล่าวไม่น่าหยิบยกขึ้นมาเป็นมูลเหตุในการถอดถอน
ด้าน นางสาวสมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ตำรวจไม่มีเหตุผลเพียงพอในการถอดถอน เพราะการทำงานของ ป.ป.ช.ทำตามหน้าที่ ไม่ได้เลือกปฏิบัติซึ่งกรณีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเหตุการณ์สลายม็อบ หน้ารัฐสภา วันที่ 7 ต.ค.2551 ไม่มีการเร่งพิจารณาไต่สวนแต่อย่างใด แต่คดีดังกล่าวเป็นเรื่องที่กระทบต่อความรู้สึกของประชาชน ป.ป.ช.สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาก่อน และการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาไต่สวนไม่ใช่ว่าจะต้องมีความผิด และถูกลงโทษเสมอไป เพราะจะต้องดูจากข้อเท็จจริงเป็นหลัก ยืนยัน ว่าไม่รู้สึกหนักใจ เพราะดำเนินการอย่างมีเหตุผล ไม่ได้เร่งรีบ อย่างไรก็ตาม จะนำเรื่องที่ตำรวจเข้าชื่อเสนอถอดถอนคณะกรรมการ ป.ป.ช.เข้าหารือในที่ประชุม ป.ป.ช.วันพรุ่งนี้