ที่มา ประชาทรรศน์
สามเหลี่ยมดินแดง
โดย เอกฉัตร
หนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์ สื่อทางเลือกของประชาชน เพื่อประชาธิปไตย ฉบับวันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ.2552 เอกฉัตร เข้าเวรรับใช้ท่านผู้มีอุปการคุณ ต้อนรับการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งวันแรกของสมัยประชุมนี้ เป็นไปอย่างที่คาดกันไว้ นับจากนี้ไป ในที่ประชุมสภาหินอ่อนไม่ใช่เป็นการระดมสมองของผู้อาสาเป็นตัวแทนของประชาชนมาทำหน้าที่แทนประชาชน แต่จะเป็นเวทีให้ท่านผู้ทรงเกียรติประลอง งัดสารพัดวิชามารเล่นเกมการเมืองกันทุกรูปแบบ เวทีสภากลายเป็นที่ลับฝีปากเชือดเฉือนศัตรูที่อยู่คนละฟากระหว่าง ส.ส.รัฐบาล กับ ส.ส.ฝ่ายค้าน โดยลืมหน้าที่ที่ประชาชนมอบหมาย ประเทศชาติจะได้อะไรบ้าง เคยคิดกันบ้างไหม
00 เอกฉัตร เป็นคนดูข้างเวทีมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงในการกากบาทลงคะแนนเลือกตั้ง อยากจะให้ ส.ส.ทบทวนกันหน่อยเหอะ ตั้งแต่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเมื่อหนึ่งขวบปีที่ผ่านมา สภาชุดนี้ได้พิจารณาร่างกฎหมายไปกี่ฉบับที่เป็นประโยชน์กับประชาชน หรือร่างกฎหมายที่ประชาชนต้องการ ก็เล่นเกมกันจนไม่สามารถบรรจุเป็นญัตติได้ เช่น ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปีศาจคาบไปป์ ที่ นพ.เหวง โตจิราการ และ อ.จรัล ดิษฐาอภิชัย เป็นหัวหอกล่ารายชื่อประชาชนกว่าเจ็ดหมื่นคน ทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แค่ห้าหมื่นคน แต่นี่ขอเผื่อไว้จะถูกเล่นแง่ ซึ่งรายชื่อยื่นไปให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชัย ชิดชอบ ตามกติกา และรายชื่อที่ยื่นไปได้ผ่านการตรวจสอบอย่างถูกต้องแล้ว แต่ญัตติที่เคยบรรจุไว้แล้ว ถูกถอนออกไป เพราะทั้งสองฝ่ายเล่นเกมการเมืองกัน โดยมีการเมืองข้างถนนที่อ้างชื่อเสียสวยหรูว่า การเมืองภาคประชาชนร่วมกระบวนการสร้างความวุ่นวาย ประเทศชาติจะเสียหายอย่างไร ไม่ใช่สิ่งที่คนพวกนี้คำนึงถึง
00 เห็นความวุ่นวายจากการประชุมสภาวันแรกเมื่อวันพุธที่ผ่านมาประท้วงกันเป็นระยะๆ และเล่นเกมการเมืองเสนอให้นับองค์ประชุม ซึ่งมีสิทธิทำได้ และเป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านจ้องจะทำอยู่แล้วเมื่อจำนวน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้านไม่เท่าไร เวลาที่ใช้ในการประชุมสภาหมดไปกับเกมการเมือง บอกตรงๆ ความหวังเลือนรางเต็มทีที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปีศาจคาบไปป์ เห็นที หมอเหวง และ อ.จรัล คงจะเหนื่อยฟรี ที่อุตส่าห์เดินทางไปที่รัฐสภาเพื่อทวงถามญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ
00 น่าเป็นห่วง ถ้าพฤติกรรมของ ส.ส. ยังเป็นอยู่อย่างนี้ เป็นการเปิดทางให้ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สบช่องฉวยโอกาส ปลุกระดมประชาชนให้ร่วมกันลุกฮือกดดันให้ใช้การเมืองใหม่ของกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเริ่มเปิดยุทธการแล้วที่เรียกว่า คอนเสิร์ตการเมือง วางแผนเดินสายรุกคืบทั่วประเทศ วันนี้ค่าใช้จ่ายไม่อั้น ใครๆ ก็อยากจะเข้าไปสยบผู้ยิ่งใหญ่ม็อบมีเส้น
00ใครที่เคยมองว่า การเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นการเมืองย้อนยุค ให้ ส.ส. มาจากการลากตั้งมากกว่าเลือกตั้ง เทียบอัตราส่วนเหมือนราคาอ้อยระบบ 70-30 วันนี้ต้องคิดใหม่ ถ้านักการเมืองยังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องเกินความพอดี การปลุกระดมชี้ให้ประชาชนเห็น ความเละเทะของการเมืองระบบปัจจุบันที่นักการเมืองมัวแต่แย่งอำนาจกัน ก็เห็นฤทธิ์เดชกันแล้วไม่ใช่หรือ ยึดทำเนียบ ยึดสนามบินยังทำกันได้โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย การจะเปลี่ยนแปลงการเมืองใหม่ ง่ายกว่ายึดสนามบินเยอะ ไม่ได้ยินกันบ้างหรือข่าว พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หาช่องทางปีนบันได 4 ขั้น ซึ่งการเมืองใหม่เท่านั้นที่จะต้อนรับ คนทำปฏิวัติฉีกรัฐธรรมนูญ
00 เอกฉัตร ชักจะคล้อยตามกับการเปรียบเทียบว่า ส.ส.เมืองไทย ถึงแม้จะไม่ใช่ทุกคน แต่ส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมเป็นคนละคนกัน ก่อนเป็น ส.ส. กับได้เป็น ส.ส. แล้ว ก่อนเป็น ส.ส. จะบอกว่าขออาสาทำงานตามลำดับความสำคัญ หนึ่ง เพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชน สอง เพื่อพรรค โดยจะทำเพื่อตัวเองเป็นอันดับสุดท้าย เมื่อได้เป็น ส.ส. ก็จะกลับหัวกลับหางทันที ทำเพื่อตัวเองมาเป็นอันดับหนึ่ง เพื่อพรรคอันดับสอง ส่วนประเทศชาติและประชาชนอยู่ในอันดับสุดท้าย ชะเอย
00 แค่หนังตัวอย่าง หรือ แค่ออเดิร์ฟ ทำเป็นตื่นเต้นเหมือนกับว่า การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชนอกฤดูกาล เป็นสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน กรณีย้าย นายพีรพล ไตรทศาวิทย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เข้ากรุสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดทางให้ นายวิชัย ศรีขวัญ รองปลัดฯ ขยับขึ้นเป็นปลัดมหาดไทยแทน นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไม่ต้องใช้ตำแหน่งเป็นเดิมพันหรอก มีสารพัดเหตุผลที่จะยกขึ้นมาอ้างถึงความชอบธรรมในการโยกย้ายข้าราชการระดับสูง เมื่อมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจในทำเนียบรัฐบาล ชีวิตราชการเติบโตมาจนถึงระดับปลัดกระทรวง การออกมาโวยวายคำสั่งย้ายเข้ากรุ ใครที่ได้ยินได้ฟัง นึกว่าทั่นปลัดตลอดชีวิตรับราชการอยู่ที่ต่างประเทศ จึงไม่รู้ว่า ในเมืองไทย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งปฏิเสธได้แต่ฟังยากว่าทุกขั้นตอนที่เติบโตมา ไม่มีการเมืองคอยหนุน เพราะฉะนั้น ต้องทำใจหากการเมืองพลิกผัน จะช้าหรือเร็วโดนแน่
00มองกันด้วยความเป็นธรรม ตัวรัฐมนตรีกับข้าราชการระดับปลัดกระทรวง ระดับอธิบดี หากอยู่คนละขั้ว ใส่เสื้อคนละสี ไม่มีทางหรอกครับที่จะไว้ใจกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ในการทำงานร่วมกัน แค่รัฐมนตรีสั่งงานหรือนโยบายให้ปลัดกระทรวงไปดำเนินการ มีให้เห็นบ่อยๆ ที่คนที่มีพระคุณสนับสนุนแต่งตั้งปลัดกระทรวงหรืออธิบดีคนนั้น รับรู้คำสั่งของรัฐมนตรรีได้ทันทีที่ปลัดกระทรวงหรืออธิบดีเดินออกจากห้องรัฐมนตรี แค่นี้ก็ทำให้รัฐมนตรีเสียวสันหลังวูบ สุดที่จะทนทำงานร่วมกันได้แล้ว แต่ ช้า แต่ กรณีย้ายปลัดพีรพล จะเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ เอกฉัตร ไม่รู้ไม่เห็นไม่ทราบ
00 รายนี้น่าจะโดนเป็นคนแรก แม้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประสานเสียง ปฏิเสธว่ายังไม่มีการโยกย้าย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ แต่คนที่รู้ตัวดีที่สุดคือ พ.ต.อ.ทวี ตอนเดินเข้ามาก็ใช่ว่ามาตามวาระปกติ เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเดินออกไปด้วยวาระไม่ปกติ อดีตเคยทำอะไรไว้ให้แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ควันออกหู ก็น่าจะรู้ตัวดี คำสั่งออกวันไหน โวยวายไปก็เสียยี่ห้อตำรวจเก่า หากจะกลับหลังหันคืนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คิดได้แต่ทำยาก ไม่มีที่ว่างให้นั่ง ตอนที่ พ.ต.อ.ทวี โอนย้ายมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นรองผู้บังคับการกองปราบปราม มานั่งเก้าอี้รองอธิบดีดีเอสไอ เมื่อขยับขึ้นเป็นอธิบดีเทียบเท่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถ้าจะกลับถิ่นเดิม พาสชั้นหลายชั้น คงไม่ง่ายที่จะทำได้ ทำใจทำได้ง่ายกว่าครับ อธิบดีทวี สอดส่อง