ที่มา ประชาทรรศน์
โดย จรัล ดิษฐาอภิชัย
ข่าวโทรทัศน์บีบีซี (BBC) รายงานว่า ผู้อพยพโรฮิงยาจมน้ำตายหลายร้อยคน เพราะถูกทางการไทยผลักดันกลับประเทศพม่า ซึ่งทางกองทัพเรือและรัฐบาลปฏิเสธเป็นพัลวัน แต่บรรดานักสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศยังคลางแคลงใจ แล้วก็มีผู้ค้นคว้าหาข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวชาวโรฮิงยามาพูดมาเขียน ทำให้คนไทยได้รับรู้ความเป็นมาของชนชาตินี้มากขึ้น ผมเคยรู้จักผู้นำโรฮิงยาในไทยและยังห่วงใยชะตากรรมผู้อพยพกลุ่มนี้อยู่เสมอ
ผมเริ่มรู้จักคนโรฮิงยาตั้งแต่เดือนแรกๆ ที่เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำได้ว่า วันหนึ่งมีคนหนุ่ม 3 คนมาที่สำนักงาน มาขอความช่วยเหลือให้พวกเขาอยู่ในประเทศไทยต่อไป ด้วยทางการไทยกำลังจะผลักดันออกนอกประเทศ ผมดูหน้าตาและผิวดำไม่เหมือนแรงงานพม่า จึงถามว่ามาจากประเทศไหน คนที่พูดไทยคล่องบอกว่ามาจากพม่า เป็นโรฮิงยา ผมสนใจอย่างมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้ยินชื่อนี้ จึงถามสอบถามต่อไปได้ความว่า โรฮิงยา เป็นชนชาติในรัฐอาราข่าน หรือยะไข่ ติดกับบังคลาเทศและอินเดีย นับถือศาสนาอิสลาม เป็นมุสลิมในประเทศพม่า หนีมาเมืองไทยพร้อมพ่อแม่มากว่าสิบปีแล้ว ขณะนี้ทำงานเป็นลูกจ้าง เป็นแรงงานต่างด้าว จึงกลัวจะถูกผลักดันกลับพม่า
หลายเดือนต่อมา มีโรฮิงยากลุ่มหนึ่งมาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาพบผมพอดี พวกเขาจึงร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงยา โดยเฉพาะสิทธิอยู่ในประเทศไทย คณะนี้เป็นคณะกรรมการโรฮิงยาในประเทศไทย มีทั้งประธาน เลขาธิการ และกรรมการ เลขาธิการพูดภาษาอังกฤษค่อนข้างดี มีสถานะขอลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย สหประชาชาติ เข้ามาอยู่ในประเทศไทยกว่า 15 ปี พวกเขาบอกว่า นอกจากพม่าจะไม่ยอมรับโรฮิงยาว่าเป็นพลเมือง ไม่ให้สัญชาติแล้ว ยังปกครองอย่างกดขี่ ปราบปรามชาวโรฮิงยาอย่างโหดร้าย ไม่เคารพสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงยาเลย แม้จะแต่งงาน ต้องขออนุญาตจากทางการพม่า หากไม่ขอ ถือเป็นความผิดต้องติดคุกติดตาราง จะซื้อวัว ควาย ก็เช่นกัน ชาวโรฮิงยาที่ทนไม่ได้จึงต้องหลบหนีข้ามพรมแดนไปยังบังคลาเทศ
ต่อมา ส่วนหนึ่งเดินทางมายังประเทศไทยแบบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่มีเอกสาร กระจายกันอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 15,000 คน ทุกคนไม่มีเอกสาร (undocumented persons) มักจะถูกตำรวจจับกุม รีดไถ ไม่มีเสรีภาพในการเดินทาง และไม่มีสิทธิใดๆ ฯลฯ
เมื่อรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายแก้ปัญหาสัญชาติและสิทธิของชนส่วนน้อย เช่น ชาวเขา ผู้นำโรฮิงยาในไทยมาขอให้ผมช่วยประสานกับกรมการปกครองและสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อขอให้เป็นกลุ่มหนึ่งตามนโยบาย พวกเขาพยายามสำรวจจำนวน ชื่อ และที่อยู่ ซึ่งได้มาแค่กว่า 3 พันคน แล้วก็อย่างคร่าวๆ ผมนำใบสำรวจไปมอบให้อธิบดีกรมการปกครอง และพยายามคุยกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติให้พิจารณาปัญหาสิทธิของชาวโรฮิงยา แต่ค่อนข้างยาก ด้วยเป็นมุสลิม เพราะทางการไทยจะไม่ไว้วางใจเหมือนผู้อพยพกลุ่มอื่น
หลังรัฐประหาร 19 กันยายน ผมไม่ได้ติดต่อผู้นำโรฮิงยา ติดตามแต่ข่าวรู้ว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ชาวโรฮิงยาอพยพมาประเทศไทยจำนวนมากขึ้นทุกวันโดยทางเรือ เหมือนชาวเวียดนามอพยพหลังเวียดนามปลดปล่อย ที่เรียกกันว่า “ประชาชนเรือ” (Boat People) เรือโรฮิงยาอพยพส่วนใหญ่จะมาจอดฝั่งแถว จ.พังงา ตะกั่วป่า เขาหลัก และมักจะถูกจับ ควบคุมตัว และถูกผลักดันกลับพม่า
ฉะนั้น รายงานข่าวของ BBC ที่กำลังโต้แย้งกันอยู่นี้ ผมคิดว่าจริงมากกว่าไม่จริง ดร.โคทม อารียา นายสมชาย หอมละออ นักสิทธิมนุษยชนที่เพิ่งเข้าไปพบและเสนอความคิดเห็นต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี น่าจะรู้เรื่องนี้ดี ถ้าเรื่องนี่เกิดในรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ บรรดานักสิทธิมนุษยชนคงถล่มจนจมดินแล้ว
อิจฉานายกอภิสิทธิ์จริงๆ