ที่มา Thai E-News
โดย วิสา คัญทัพ
ที่มา ไทยฟรีนิวส์
พวกเราต้องรู้ว่าสู้กับอะไร จึงต้อง “บากบั่น อดทน” รอจังหวะ รอคอยโอกาส ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นว่า สู้ พ่ายแพ้ สู้ใหม่ พ่ายแพ้ สู้ใหม่ จนชัยได้มา พลังที่ก้าวหน้าจะไม่มีวันพ่ายแพ้พลังที่ล้าหลัง
โอ ดวงใจ สุดที่รักเอย เพลงนี้ฉันร้องปลอบเธอ
ปลุกขวัญที่ลอยลาไกล ให้คืนมาอย่าหาย ขวัญเอย
คงต้องร้องเพลงปลุกปลอบดวงใจกันแล้วในยามนี้ มอบเป็นพิเศษแด่นักสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งหลาย เพราะช่วงนี้หลายคนมีอาการอ่อนอกอ่อนใจ เหนื่อยหน่าย ท้อแท้ และสิ้นหวัง อย่าปล่อยให้ขวัญลอยหาย สลายไปทางไหนเลยครับ ปลุกขวัญกลับมาเถิด เรื่องยังยาว การต่อสู้ยังยืดเยื้อ จิตร ภูมิศักดิ์ นักรบประชาชนเคยแต่งเพลงปลุกใจไว้ท่อนหนึ่งว่า “บากบั่นอดทน เราผองชนย่อมบรรลุชัย สู้พ่ายแพ้สู้ใหม่ พ่ายแพ้สู้ใหม่ จนชัยได้มา”
ท่องคำนี้ไว้ครับ “สู้ พ่ายแพ้ สู้ใหม่ พ่ายแพ้ สู้ใหม่ จนชัยได้มา” จิตร ภูมิศักดิ์ สู้มาก่อนพวกเราสี่ห้าสิบปี เขียนหนังสือเชิงวิชาการเล่มหนึ่งชื่อ “โฉมหน้าศักดินาไทย” อธิบายพัฒนาการสังคมที่เปลี่ยนผ่านในแต่ละยุค บุรุษผู้นี้สายตายาวไกลมองเห็นล่วงหน้า จนได้ฉายาว่า “ผู้เกิดก่อนกาล” ชี้บอกเราไว้มาสี่ห้าสิบปีแล้วว่า “สู้ พ่ายแพ้ สู้ใหม่ พ่ายแพ้ สู้ใหม่ จน...ชัยได้มา อย่าลืมนะครับว่าเราต้อง บากบั่นอดทนด้วย เราผองชนจึงจะบรรลุชัย
อันที่จริงพัฒนาการของระบบสังคมเป็นทฤษฎีที่สรุปจากปรากฏการณ์เป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม ตั้งแต่สังคมชุมชนบุพกาล สู่สังคมทาส สังคมศักดินา สังคมทุนนิยม ระยะผ่านสั้นยาวมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับแต่ละสังคม บางประเทศในโลกอาจผ่านสังคมศักดินาไปสู่ทุนนิยมนานแล้ว แต่บางประเทศก็ยังไปไม่ถึงไหน หน้าฉากอาจลวงพราง ยินยอมเปิดพื้นที่ให้ “ประชาธิปไตย” บ้าง แต่ถ้าประชาธิปไตยรุกล้ำกล้ำกรายกินเนื้อที่อำมาตยาธิปไตยเข้ามามากก็จะถูกบั่นทอนสกัดกั้น และประชาชนก็ต้องต่อสู้ ยาดแย่งเอามา ได้บ้างไม่ได้บ้างเป็นห้วงสลับไป แต่ทว่าไม่ถึงที่สุด ไม่ถาวร ไม่เด็ดขาด ฝ่ายประชาชนต้องสะสมชัยไปทีละเล็กละน้อย ค่อยๆเติบโตแข็งแกร่ง กว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องสันทัดที่จะมองภาพรวมแบบกว้างๆไปพร้อมๆกันด้วย
เราควรเข้าใจการเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณายาสิทธิราชมาสู่ระบอบประชาธิปไตยให้ดีเสียก่อนว่า เปลี่ยนผ่านมาสู่มือใคร และกำลังอำนาจใดที่ก่อการปฏิวัติ 2475 คำว่าประชาชนต้องการประชาธิปไตยเมื่อ 76 ปีที่แล้วน่าจะเป็นทิศทางที่ควรจะ “เดินไปสู่” เสียมากกว่า ประชาชนจึงเป็นเพียงข้ออ้างของปัญญาชนหัวก้าวหน้ากับทหารผู้มีปืนและรถถังที่บังคับพระเจ้าแผ่นดินให้สละพระราชอำนาจของพระองค์ ดังปรากฏในข้อความที่เขียนเป็นเงื่อนไขว่าเต็มใจสละให้กับประชาชน มิใช่คณะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ประชาชนจึงเป็นตัวละครสำคัญสำหรับระบอบประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริง เวลานั้น หลับตานึกย้อนยุคไปดู ตาสีตาสายายมียายมา ไพร่ฟ้าหญ้าแพรกอาจจะพูดคำว่า “ประชาธิปไตย” ไม่ถูกเสียด้วยซ้ำไป
เมื่อเรารู้ว่า ปืนและรถถังคือตัวแทนอำนาจของอำมาตยาธิปไตยมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เราจึงต้องรู้ต่อไปด้วยว่า ใครที่เป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่ต่อสู้เพื่อประชาชนอย่างสุดจิตสุดใจมักต้องมีอันเป็นไปในท้ายที่สุดอย่างท่านปรีดี พนมยงค์ บุคคลสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ถูกทำลายลง พรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้
36 ปีที่แล้ว เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผมร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกับเพื่อน เรียกร้องรัฐธรรมนูญที่ถูกจอมพลถนอม-ประภาส ปล้นไป นั่นเป็นการปล้นจากตนเองเสียด้วยซ้ำ เพราะปล้นขณะตนเองนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคการเมืองชื่อ สหประชาไทย ประชาธิปไตยยุคนั้นปล้นกันโดยไม่ต้องซ่อนรูป ใครขวางจับติดคุกหรือไม่ก็ลอบฆ่าลอบสังหารกันเอิกเกริก ไปอ่านประวัติศาสตร์ดูเถอะครับ นักการเมืองที่ต่อสู้เผด็จการส่วนมากไม่ได้อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเขาโค่นเผด็จการไปแล้ว พรรคนี้จึงแอบอ้าง “สังคมนิยมอ่อนๆ” ลงเลือกตั้งตามกระแสซึ่งคนนิยมพรรคฝ่ายซ้ายอย่าง สังคมนิยมแห่งประเทศไทย,แนวร่วมสังคมนิยม,และพลังใหม่
พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลก่อนนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 สื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สารพัดรุมโจมตี บิดเบือนใส่ร้ายป้ายสีขบวนการนักศึกษาประชาชนด้วยข้อหารุนแรง เช่นเดียวกับทุกวันนี้ที่สื่ออย่างเอเอสทีวีหรือบางสื่อกำลังกระทำอยู่ และสุดท้ายก็เข้าล้อมปราบอย่างป่าเถื่อน เหี้ยมโหด ทารุณที่สุด
หนักหนาสาหัสขนาดไหน เขาทำมาแล้วทั้งนั้น มองย้อนกลับไปดูอดีต จึงจะเห็นปัจจุบัน เมื่อดูอดีตจึงพบว่าประชาชนเติบโต แข็งแกร่ง ขยายตัว กว้างขวางมากขึ้น ฉลาด เรียนรู้ เท่าทันสถานการณ์ ทั้งมีจิตใจพร้อมต่อสู้ทว่า เราต้องรู้ว่าเราต่อสู้กับอะไร เมื่อก่อนสื่อมวลชนเป็นเครื่องมือของรัฐเผด็จการทั้งหมด ฝ่ายประชาชนมีหนังสือพิมพ์ไม่กี่ฉบับ มีสถานีวิทยุคลื่นสั้น “เสียงประชาชนแห่งประเทศไทย” ในเขตป่าเขาสถานีเดียวที่เป็นกระบอกเสียงต่อสู้ ออกอากาศแค่ชั่วเวลาหนึ่งชั่วโมงต่อวันเท่านั้นเอง เปรียบเทียบกับยุคนี้ย่อมห่างไกลกันราวฟ้ากับดิน ทุกวันนี้เรามีสื่ออินเตอร์เน็ตที่ไม่สามารถควบคุมคุกคามได้ มีทีวีดาวเทียมอิสระ และวิทยุชุมชนมากมายรวมถึงหนังสือพิมพ์ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่ายังจำเป็นต้องเพิ่มสื่อเพื่อสื่อสารกับพี่น้องประชาชนฝ่ายเราให้กว้างขวางขึ้น แม้จะมีสื่อกระแสหลักบางส่วนต้องถูกกำจัดไป เมื่อพวกเขาเข้าคุมสื่อของรัฐเบ็ดเสร็จ ยิ่งเขาลิดรอนคุกคามเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของฝ่ายประชาชนไปมากเท่าไร เขายิ่งถูกประณามและมีภาพลบต่อสายตาของชาวโลกมากยิ่งขึ้นเท่านั้น การขึ้นมาเป็นรัฐบาลของพวกเขาได้มาด้วยการปล้นและรัฐประหารเงียบเป็นที่รับรู้ทั่วทั้งโลกอยู่แล้ว ไม่ว่าจะบิดเบือน สร้างภาพสร้างกระแสประชาสัมพันธ์ความชอบธรรมของตนเองอย่างไรย่อมไม่มีผล
สำหรับประเทศไทย เรายังก้าวไปไม่ถึง “การต่อสู้ครั้งสุดท้าย” ประชาชนยังมิอาจร้องเพลง “นี้คือการต่อสู้ครั้งสุดท้าย สามัคคีให้ถึงวันพรุ่ง”
เรายังอยู่ในห้วงการต่อสู้อันยืดเยื้อ ผ่านมา 76 ปีแล้ว อีก 24 ปีก็จะถึง 100 ปี ผมคิดว่า ชัยชนะขั้นที่หนึ่งจะต้องมาถึงก่อน 100 ปีอย่างแน่นอน หากจะสรุปการต่อสู้ของประชาชนต้องกล่าวว่า เราถูกปล้นประชาธิปไตยไปครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รัฐประหารโดยทหารตัวแทนระบอบอำมาตยาธิปไตย ผมเขียนเป็นกาพย์ยานี ดูให้ดีมีหกฉาก ดังนี้ครับ
ฉากแรก คมช. รุกแข็งข้อ ขึ้นก่อการ
ทำรัฐประหาร โค่นประชาธิปไตย
ฉากสอง แก้หมายหมุด กฎสูงสุดเปลี่ยนแปลงไป
รัฐธรรมนูญไทย วางหมากไว้อย่างแยบยล
ฉากสาม เลือกตั้งแพ้ วางหมากแก้โดยเล่ห์กล
ป่วนเมืองด้วยไพร่พล พันธมิตรฯคิดทำลาย
ฉากสี่ ตุลาการ ผู้เชี่ยวชาญการระบาย
ป้ายผิดที่คิดหมาย ยุบ เลิก ปลด หมดทุกทาง
ฉากห้า บุกปล้นเงียบ โดยราบเรียบ ลับ ลวง พราง
เบื้องหลัง หวังที่วาง ยังไม่เสร็จ สำเร็จผล
ฉากหก ประชาธิปัตย์ อำมาตย์จัดพร้อมไพร่พล
ลุล่วงที่ทวงทน อำนาจรับ ได้กลับคืน.
หกฉากนี้ หากเป็นละครก็เป็นแค่องค์เดียว ถ้าจะว่าจบในตอนก็เป็นได้ แต่ว่ายังไม่จบเรื่อง ยังมีองค์ต่อๆไป เรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนไทยผู้รักชาติรักประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรมยังไม่จบบริบูรณ์ หากท่านทั้งหลายเข้าใจตามนี้ ท่านก็จะไม่หมดหวัง ไม่สิ้นกำลังใจ
1. ทหารยึดอำนาจ ทำลายรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่นับว่าเป็นประชาธิปไตยมากกว่าทุกฉบับลงไป โค่นล้มพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงเลือกตั้งจากประชาชนอย่างท่วมท้น
2. จากนั้นก็ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ปี 2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์กับฝ่ายอำมาตย์ทหาร ทั้งยังป่าวร้องหลอกลวงประชาชนว่า ให้รับไปก่อนแล้วค่อยมาแก้ไขภายหลัง ประชาชนอยากได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งโดยเร็วก็หลงเชื่อ
3. โดยรัฐธรรมนูญ 50 และด้วยอำนาจทั้งหมดของรัฐบาลหุ่นเชิดอำมาตย์ทหาร สรยุทธ จุฬานนท์ คิดว่าพรรคการเมืองฝ่ายตนจะได้ชัยชนะจากการเลือกตั้ง แต่กลับพ่ายแพ้หมดรูป จำเป็นต้องแก้ด้วย “การป่วนเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” รอบใหม่
4. โดยรัฐธรรมนูญ 50 และด้วยกลไกตุลาการ ใบเหลืองใบแดงจัดการ สส. ยุบเลิกปลดหมดทุกทาง
ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรีสองคน ยุบพรรคสังหาร และสารพัดจัดการ พวกที่เป็นฝ่ายตรงข้าม พรรคประชาธิปัตย์
5. เมื่อพรรคที่ตนสนับสนุนไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ต้องปล้นเงียบโดยราบเรียบ ลับ ลวง พราง
6. อำมาตยาธิปไตยบังเกิด ขุนทหารเข้าแทรกแซงการจัดตั้งรัฐบาล สำเร็จสมประสงค์ดังปรารถนา
ดูให้ดีละครองค์นี้มีหกฉากเท่านี้เอง เพราะฉะนั้นถึงตรงนี้ พวกเราต้องรู้ว่าสู้กับอะไร จึงต้อง “บากบั่น อดทน” รอจังหวะ รอคอยโอกาส ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นว่า สู้ พ่ายแพ้ สู้ใหม่ พ่ายแพ้ สู้ใหม่ จนชัยได้มา พลังที่ก้าวหน้าจะไม่มีวันพ่ายแพ้พลังที่ล้าหลัง
“ขุนเขาไม่อาจขวาง สายทางเที่ยงธรรมได้ ความหวังยังพริ้งพราย เก่าตาย มีใหม่เสริม ชีวิตที่ผ่านพบ มีลบย่อมมีเพิ่ม ขอเพียงให้เหมือนเดิม กำลังใจ”