ที่มา Thai E-News
ที่มา ประชาไท
11 มกราคม 2552
รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในความผิดฐาน ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยผู้กล่าวหาคือ พันตำรวจโท พันศักดิ์ ศาสนอนันต์ และระบุให้เขาไปรายงานตัวต่อ พันตำรวจโท อุดม เปี่ยมศักดิ์ ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ในวันอังคารที่ 13 ม.ค.52 เวลา 13.00 น.
รศ.ใจระบุว่า หมายเรียกดังกล่าวลงวันที่ 25 ธ.ค.51 แต่เนื่องจากเขาเพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศจึงได้รับทราบในวันนี้ (11 ม.ค.) โดยไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกล่าวหาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เขาจะแถลงข่าวที่หน้าสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ในเวลา 12.30 น. และพร้อมที่จะตอบคำถามของนักข่าวภายหลังที่ได้เข้าไปพบตำรวจแล้ว นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์เรื่องดังกล่าวไปยังสำนักข่าวต่างประเทศ สถานทูตต่างๆ และนักวิชาการที่สนใจประเทศไทยในต่างประเทศอีกด้วย
รศ.ใจกล่าวว่า สถาบันกษัตริย์ได้ถูกนำมาอ้างในการต่อสู้ของกลุ่มการเมืองต่างๆ เช่น กรณี รัฐประหาร 19 กันยา และกรณีการปิดสนามบินโดยพันธมิตรฯ เป็นต้น และข้อกล่าวหาเรื่องหมิ่นเดชานุภาพถูกใช้ในการโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง จนมีนักวิชากรและนักสิทธิมนุษยชนหลายคนมองว่ากฎหมายหมิ่นเดชานุภาพมีผลในด้านลบต่อสถานบันกษัตริย์
“มันเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่นักรัฐศาสตร์ในประเทศไทยจะต้องพยายามวิเคราะห์ลักษณะของสถาบันกษัตริย์ในบรรยากาศที่ต้องมีการปกป้องสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ และสิทธิเสรีภาพทั่วไปในระบอบประชาธิปไตย การใช้กฎหมายหมิ่นเดชานุภาพเพื่อพยายามปิดปากนักวิชาการเป็นการพยายามสร้างบรรยากาศที่ประชาชนจะไม่สามารถรับรู้แลกเปลี่ยนและถกเถียงเกี่ยวกับสถาบันที่มีความสำคัญกับสังคมไทย” ใจ กล่าว
เขากล่าวด้วยว่า เขาได้จัดทำบทความวิชาการทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่พยายามวิเคราะห์ลักษณะของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งประชาชนสามารถเข้าไปอ่านอย่างเสรีได้ และนำเสนอบทความดังกล่าวในงานประชุมรัฐศาสตร์แห่งชาติที่พึ่งจัดขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อีกด้วย
เขาระบุว่า เนื่องจากข้อกล่าวหาในครั้งนี้มาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ คำถามสำคัญคือ รัฐบาลใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้และคดีอื่นๆ อีกหลายคดีอย่างไรหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่าจะเข้มงวดมากขึ้นในคดีหมิ่นเดชานุภาพ และในวันที่ 23 ธันวาคม 2551 ก็มีการกล่าวหานักข่าว BBC ประจำกรุงเทพในข้อหาเดียวกัน
“เราพร้อมที่จะสู้ข้อกล่าวหาคดีหมิ่นเดชานุภาพในทุกรูปแบบเพื่อปกป้องเสรีภาพทางวิชาการและสิทธิเสรีภาพในระบบประชาธิปไตย” ใจกล่าว