พท.อัดกก.ชุดสมบัติ"ทายาทอสูร" ย้ำนายกฯไม่จริงใจตั้งปฏิปักษ์"แม้ว"
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ถึงกรณีที่นายกฯ ตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน ว่า หากดูรายชื่อของคณะกรรมการก็เห็นได้ว่า เกือบทั้งหมดเป็น นักวิชาการที่ฝักใส่เสื้อเหลือง หรือไม่ก็เป็น กลุ่มคนที่ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญ ปี 50 ซึ่งถือเป็นทายาทอสูร และมีความคิดที่เป็นปฏิปักษ์กับนักการเมืองฝ่ายค้าน นปช. และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
ไม่ว่าจะเป็น นายจรัส สุวรรณมาลา นายบรรเจิด สิงคะเนติ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์เป็นต้น เราจึงเห็นว่าการที่นายกฯตั้งกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อต่อยอดทายาทอสูรให้เข้มข้นยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อซื้อเวลาให้รัฐบาล เพราะก่อนหน้านี้กรรมการชุดของส.ส.และส.ว.ก็เคยเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว 6 ประเด็น แต่นายกฯเองก็ไม่สนใจ แต่กลับตั้งคนกลุ่มที่เคยร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 50 มาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของนายกฯอย่างชัดเจน
จากกรณีที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธานนั้น สำหรับรายชื่อคณะกรรมการอีก 18 คน ประกอบด้วยด้วย
1.นายประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)
2.นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ รองอธิการบดีฝ่ายการคลัง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตเลขานุการสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ปี 2550
3.นายตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4.นายศุภชัย ยาวะประภาษ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5.นายแสวง บุญเฉลิมวิภาส อาจารย์คณะนินิศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
6.นายจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
7.นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
8.นายศักดา ธนิตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
9.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีต ส.ส.ร.ปี 2550
10.นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
11.นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม
12.นายสุนทร มณีสวัสดิ์ อาจารย์สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
13.นายไชยา ยิ้มวิไล อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
14.นายทวี สุรฤทธิกุล ประธานสาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช(มสธ.)
15.นายสิริวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์
16.นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณะ
17.นายเธียรชัย ณ นคร รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มสธ.
18.นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้า อดีต ส.ส.ร.ปี 2550
เจ้าหน้าที่สำนักปลัดนายกรัฐมนตรีอีก 2 คน ร่วมเป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ทั้งนี้ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ และเสนอแนวทางการแก้ไขดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี และพิจารณาเสนอความเห็นและแนวทางในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขพิจารณาดำเนินการสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นต้น
"สมบัติ"นัดประชุมกก.17มิ.ย.
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะประธานคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นเพื่อดูแลเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ขณะนี้นายกฯได้ลงนามแต่งตั้งกรรมการจำนวน 19 คน ตามที่เสนอชื่อไปแล้ว ซึ่งได้นัดประชุมคณะกรรมการครั้งแรกวันที่ 17 มิถุนายนนี้ เวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งนายกฯจะเป็นประธานในการเปิดประชุมและให้แนวทางในการทำงาน ซึ่งกรอบในการทำงานก็เป็นไปตามที่เคยให้ไว้คือ ทำต่อยอดจาก 6 ประเด็น ที่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสนอไว้
"คณะกรรมการวางแผนว่า จะรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนประมาณ 2 เดือน และนำข้อมูลมานั่งวิเคราะห์อีก 2 เดือน ก่อนส่งผลสรุปให้นายกฯ" นายสมบัติกล่าว
(รูปประกอบจากอินเตอร์เน็ต)