ที่มา มติชน มีทั้งความผิดหวัง, ความฉงน และการบรรลุสัจธรรมต่อการปรับ ครม.ครั้งสุดท้ายนี้ รัฐมนตรีที่ได้รับความไว้วางใจน้อยได้ดำรงตำแหน่งต่อไป ส่วนรัฐมนตรีที่ไม่ถูกอภิปรายเลยกลับถูกปรับออก "พรรค" ร่วมรัฐบาลก็ยังคงเดิม เพียงแต่นำเอาก๊วนเก่าออกไป แล้วนำก๊วนใหม่เข้ามาแทนที่ เสียงสนับสนุนรัฐบาลในสภา อาจมาจาก ส.ส.ของ "พรรค" คู่แข่ง แต่อยู่ในก๊วนของ "พรรค" ร่วมรัฐบาล
"พรรคการเมือง" ในความคิดของนักร่างรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา พังยับอย่างโจ่งแจ้งกว่าเมื่อครั้งตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เราจะหาเหตุผลอะไรมาสนับสนุนเอกสิทธิ์ของ "พรรคการเมือง" และเงินงบประมาณอุดหนุน "พรรคการเมือง" อีกต่อไป
(ถ้าถือว่ารัฐธรรมนูญถูก "ฉีก" ไปแล้ว จะ "ฉีก" ใหม่ทั้งฉบับด้วยการรัฐประหาร ก็ถือว่าชอบธรรมแก่คนบางกลุ่ม... อีกแล้วครับท่าน)
อ้อมกอดอำมหิตที่เป็นปัจจัยสำคัญในการตั้งรัฐบาลนี้ กระชับขึ้นอย่างดิ้นไม่หลุด อ้อมกอดนี้เป็นอ้อมกอดอำมหิต เพราะรัดใครแล้วทำให้หมดเรี่ยวแรงขัดขืน จึงไม่มีวันหลุดจากอ้อมกอดได้ จนกว่าอ้อมกอดอำมหิตจะคลายเองเมื่อถึงเวลา
รัฐบาลนี้ถูกเรียกว่า "เทพประทาน" มาแต่ต้น เพราะเป็นที่รู้กันทั่วไปว่ามาจากการอุ้มของชนชั้นนำหลายกลุ่ม แต่ถึงจะอุ้มอย่างไร ก็ต้องอุ้มประทานมาในเงื่อนไขของอ้อมกอดอำมหิต แม้มีก๊วนการเมืองนอกอ้อมกอดเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล แต่ก๊วนเหล่านั้นหาได้มีเอกภาพเหมือนอ้อมกอดอำมหิตไม่ ดังนั้น ภายใต้อ้อมกอดนี้ รัฐบาลจึงมีอำนาจต่อรองกับอ้อมกอดไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใน ครม. หรือเมื่อถึงคราวคับขัน ก็ต้องเลือกอ้อมกอดไว้ก่อนเสมอ
บอกแล้วว่าอ้อมกอดนี้อำมหิต รัดแล้วหมดแรง อย่าดิ้นเสียให้ยาก ไม่คลายจนกว่าจะถึงเวลา
ปัญหาที่น่าสนใจอยู่ที่ว่า ชนชั้นนำตกอยู่ในอ้อมกอดอำมหิตด้วยหรือไม่ ดูเหมือนฝ่ายชนชั้นนำเป็นผู้กอดเสียเอง เมื่อตอนแรกตั้งรัฐบาล แต่ระวัง อ้อมกอดอำมหิตอาจอ้าแขนออกโอบรัดชนชั้นนำกลับคืนได้ และการต่อต้านการชุมนุมใหญ่ที่ผ่านมา ก็ดูจะส่อให้เห็นว่าชนชั้นนำบางกลุ่มอาจกำลังตกอยู่ในอ้อมกอดอำมหิตไปเสียแล้ว หมายความว่าเสรีภาพที่เคยมีในการดำเนินการทางการเมืองเบื้องหลัง กำลังจะหมดเรี่ยวหมดแรง ภายใต้เงาอำมหิตนั้น
ในเกม "ประชาธิปไตย" ซึ่งอยู่ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ อย่างไรเสียก็หนีการเลือกตั้งไปไม่พ้น การเลือกตั้งจึงเหมือนความตาย ไม่มีใครหลีกหนีได้พ้น
และเหมือนความตายแก่รัฐบาลมากขึ้นไปอีก เพราะตราบจนถึงการล้อมปราบอย่างเหี้ยมโหดในเดือนเมษา-พฤษภา เลือกตั้งเมื่อไร รัฐบาล "ตาย" แน่นอน หลังการล้อมปราบ อาจเป็นไปได้ว่าคะแนนเสียงของพรรคฝ่ายค้านอาจลดลงโดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ ทำให้พรรคแกนกลางรัฐบาลอาจสามารถรวบรวมคะแนนเสียงกลับมาเป็นรัฐบาลใหม่ได้
แต่ที่หลีกหนีไม่พ้นคือ เป็นรัฐบาลภายใต้อ้อมกอดอำมหิตอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีอะไรที่พอเป็นดัชนีชี้วัดที่น่าเชื่อถือถึงผลการเลือกตั้งใหญ่ ที่อย่างไรเสียก็ต้องมาในปีหน้า พรรคฝ่ายค้านยังอาจเก็บคะแนนได้ท่วมท้นอีกเหมือนเคยก็ได้ ถึงไม่ได้คะแนนกึ่งหนึ่ง ก็มากพอที่จะรวบรวมก๊วนต่างๆ ขึ้นจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ถึงตอนนั้นประชาธิปัตย์ภายใต้อ้อมกอดอำมหิต ก็จะกลายเป็นฝ่ายค้าน
เพราะอ้อมกอดอำมหิตนี้เอง แม้มีประโยชน์ในสภา แต่เป็นภาระหนักอึ้งแก่ประชาธิปัตย์ในเขตเมือง เพราะการเลือกประชาธิปัตย์ย่อมหมายถึงการยอมรับ "ยียาธิปไตย" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ "ยียาธิปไตย" เป็นหนึ่งในข้อโจมตีของ พธม.ต่อระบอบเลือกตั้ง จริงอยู่ไม่ว่าพรรคใดจะเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล ก็หนี "ยียาธิปไตย" ไม่พ้น แต่เพราะความอ่อนแอของพรรคเพื่อไทยในเขตเมือง จึงทำให้คนชั้นกลางในเมืองมีอำนาจต่อรองให้ "ยี้" ได้ว่าการกระทรวงไม่สำคัญได้
(นอกเรื่องตรงนี้หน่อย ที่จริงแล้ว พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคเดียวที่สามารถประกาศรายชื่อรัฐมนตรีสำคัญก่อนการเลือกตั้งได้ ถ้าไม่มี "ยี้" อยู่เลย ก็จะทำให้คะแนนเสียงของพรรคในเขตเมืองดีขึ้น แหะๆ... ถ้ามีคนที่พอจะรับได้เป็นนายกฯ)
ความเป็นไปได้ทั้งสองทางเช่นนี้นำความหวาดวิตกแก่ชนชั้นนำ กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์อย่างยิ่ง เพราะอภิสิทธิ์ (หรือประชาธิปัตย์) คือไพ่ใบสุดท้ายของเกมที่ยังใช้กติการัฐธรรมนูญ หมดไพ่ใบนี้ก็หมดหน้าตัก
นี่คือเหตุผลที่ว่า ยุบสภาเป็นข้อเรียกร้องที่หัวเด็ดตีนขาดก็รับไม่ได้ (หัวและตีนคนอื่นนะครับ) ต้องมีเวลาสำหรับทำให้ผลการเลือกตั้งมีอันตรายต่อชนชั้นนำน้อยที่สุด ปัญหาอยู่ที่ว่า เวลาอีกปีเศษที่เหลือนี้เพียงพอสำหรับการนี้หรือไม่
เกมรัฐธรรมนูญจึงเป็นเกมอันตรายแก่ชนชั้นนำ เพราะเกมนี้ต้องมากับการเลือกตั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความพยายามที่จะทำให้การเลือกตั้งด้อยความสำคัญลง ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนหรือล้มเลิกระบบเลือกตั้งได้ (โดยเฉพาะในสภาผู้แทนฯ)
ทางเลือกของชนชั้นนำจึงมีไม่มากนักในเกมนี้ อ้อมกอดอำมหิตทำให้ต้อง "เทพประทาน" รัฐบาลกันตลอดไป ปัญหาอยู่ที่ว่า คนชั้นกลางระดับกลางในเขตเมืองจะทนกับ "เทพประทาน+ยียาธิปไตย" ไปได้นานเพียงใด
จะหนีให้พ้นจากอันตรายของเกมนี้จึงเหลืออยู่ทางเดียว นั่นคือล้มกระดาน หลังการล้อมปราบและจลาจลที่เกิดขึ้น ดูเหมือนการล้มกระดานน่าจะทำได้ง่ายขึ้น เพราะฝ่ายซึ่งอาจต่อต้านจัดองค์กรขึ้นเคลื่อนไหวต่อต้านไม่ทัน ฉะนั้นอย่างน้อยก็ล้มกระดานได้สำเร็จ และน่าจะรักษาอำนาจได้ระยะหนึ่ง
แต่เกมล้มกระดานก็ใช่จะเป็นเกมที่เล่นได้ง่ายๆ เช่นกัน หากจะเตรียมตัวกลับเข้าสู่เกมรัฐธรรมนูญในวันข้างหน้า ก็ต้องมีเวลาเว้นวรรคนานพอที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่มีอันตราย แต่จะนานเกินไปก็เป็นไปไม่ได้สำหรับเมืองไทยในปัจจุบัน และการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน
แม้แต่จะหาคนมาเป็นผู้นำของระบอบล้มกระดาน ก็ใช่จะหาง่ายอีกเช่นกัน เพราะฝ่ายชนชั้นนำยังเหลือใครที่มีทั้งกึ๋นและเป็นที่ยอมรับของคนหมู่มากอีกหรือ
อำนาจอย่างที่สฤษฎิ์ ธนะรัชต์ มีเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอเสียแล้วที่จะนำระบอบล้มกระดานได้นานๆ แต่รัฐบาลนั้นต้องมีกึ๋นหรือฝีมือด้วย ไม่ใช่ฝีมือในการบริหารงานเพียงอย่างเดียวด้วย แต่หมายถึงฝีมือที่จะนำไปสู่ทิศทางที่จะทำความพอใจมาแก่คนอีกจำนวนมาก ซึ่งเกิดสำนึกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน นั่นหมายความว่าฝีมือของผู้นำอาจขัดต่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำเองด้วย (เช่นผลักดันการปฏิรูปที่ดินจริงๆ มากกว่าการโฆษณาหาเสียง)
ระบอบล้มกระดานจะตั้งอยู่ให้นานพอสำหรับรักษาระบบการเมืองที่เอื้อประโยชน์ชนชั้นนำได้ ก็ต้องเป็นระบอบที่เรียกกันว่า Enlightened Despotism
Despotism นั้นเล่นง่าย และมีคนอาสาจะเล่นอยู่มาก แต่ Enlightened นี่สิ เล่นยาก ส่วนใหญ่ของระบอบนี้อาศัยการโฆษณาชวนเชื่อเป็นเครื่องมือในการรักษาความเป็น enlightened เอาไว้ แต่เราอาจใช้การโฆษณาชวนเชื่อไปจนหมดพลังแล้วก็ได้
ในท่ามกลางสังคมไทยที่ได้เปลี่ยนไปแล้ว ระบอบล้มกระดานหาได้เล่นได้ง่ายไปกว่าระบอบที่ต้องอาศัยรัฐธรรมนูญเป็นกติกาไม่
แม้กระนั้น ก็เป็นไปได้ว่าจะเกิดการเก็งผิดสักวันหนึ่งข้างหน้า
เพื่อไทย
Tuesday, June 15, 2010
ไพ่ใบสุดท้าย ในอ้อมกอดอำมหิต
ภาพจากนิตยสาร ARTGAZINE
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์