WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, June 17, 2010

ชำนาญ จันทร์เรือง: ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหาที่ถูกล่ามโซ่

ที่มา Thai E-News



โดย ชำนาญ จันทร์เรือง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
15 มิถุนายน 2553

ภาพที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมาและถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก คงไม่ภาพใดสร้างความสะเทือนใจแก่ผู้คน ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือต่างประเทศคือ ภาพของนายณัฐพล ทองคุณอายุ 20 ปีกับนายจรัญ ลอยพูน อายุ 39 ปีผู้ต้องหาคดีละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯซึ่งถูกยิงด้วยปืนจนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจและถูกล่ามโซ่บนข้อเท้าติดไว้กับเตียงพยาบาล และยังมีญาติคนเจ็บอีก 7 คนร้องเรียนว่าโดนล่ามโซ่ในโรงพยาบาลเช่นกัน

ล่าสุดฮิวแมนไรต์วอตช์ ออกมาประณามล่ามโซ่ 2 คนเจ็บ นปช.กับเตียงคนไข้ โดยระบุเป็นการละเมิดสิทธิผู้บาดเจ็บชัดเจน ขัดกับมาตรฐานสากล ควรใช้วิธีจัดห้องควบคุมพิเศษแทนการล่ามโซ่ตีตรวน และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ก็เห็นเหมือนกันว่าเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

คำว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”นั้น ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “Human Dignity” ซึ่งเป็นศัพท์ที่นักวิชาการได้บัญญัติขึ้นในยุคที่มีการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน(Human Rights) และได้ปรากฏสู่วงการกฎหมายไทยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และยังคงสืบเนื่องมาจนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่บัญญัติรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ถึงสามมาตราคือ มาตรา 4 ของบททั่วไป มาตรา 26 และมาตรา 28 ของหมวดว่าสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นมีนัย 2 ประการ คือ

(1) “ธรรมชาติมนุษย์” กล่าวคือ ลักษณะที่แท้จริงของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสภาพจิตใจและความต้องการจำเป็น(Needs)ที่จูงใจให้มนุษย์ทำการใดๆ โดยทฤษฎี มนุษย์น่าจะเป็นอย่างเดียวกันไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด แต่ในทางปฏิบัติ พฤติกรรมของมนุษย์ย่อมอยู่ภายใต้อิทธิพลของสังคมและวัฒนธรรมด้วย
(2) “ศีลธรรม” อันได้แก่ หลักที่ว่าด้วยความผิดชอบชั่วดีที่สังคมหนึ่งๆกำหนดให้สมาชิกปฏิบัติ โดยไม่มีศีลธรรมสากลให้ยึดถือ นอกจากอนุมานเอาจากส่วนที่กำหนดไว้เหมือนกันในความประพฤติบางเรื่อง

ฉะนั้น การที่เราจะวินิจฉัยว่าพฤติกรรมใดเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในสังคมไทยหรือไม่ แล้วจึงนำไปสู่การปกป้อง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”ตามกฎหมายเมื่อถูกละเมิด สามารถแยกพิจารณาได้สองประเด็น คือ

ประเด็นแรก สิ่งนั้นๆมนุษย์ควรปฏิบัติต่อกันหรือไม่
การที่มนุษย์คนหนึ่งแม้จะถูกล่าวหาว่ากระทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯหรือความผิดอื่นใด ในเมื่อยังไม่มี คำพิพากษาติดสินว่ากระทำความผิด ตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายย่อมถือว่าเขายังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ การล่ามโซ่ในลักษณะเสมือนดั่งข้าทาสในยุคดึกดำบรรพ์หรือนักโทษที่กำลังจะถูกนำตัวเข้าสู่ตะแลงแกงประหารชีวิตเช่นนี้ย่อมกระทำมิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอยู่ในสถานพยาบาลของรัฐที่มีเจ้าหน้าที่คุ้มกันอย่างแข็งแรงเช่นโรงพยาลตำรวจแห่งนี้ ที่สำคัญการล่ามโซ่นี้ก็ไม่ต่างกับการล่ามสัตว์แต่อย่างใด

ประเด็นที่สอง ความรู้สึกทางด้านจิตใจของสังคมสนับสนุนหรือโต้แย้งหรือไม่ อย่างไร
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าเหตุการณ์การชุมนุมของ นปช.นั้นเป็นการชุมนุมทางการเมือง การชุมนุมทางการเมืองย่อมมีทั้งการสนับสนุนและการคัดค้าน การคัดค้านก็หมายถึงการที่มีความเห็นที่แตกต่าง คนที่คิดเห็นแตกต่างไม่ได้หมายความว่าเป็นคนชั่ว เป็นคนเลว การปฏิบัติต่อผู้ที่เห็นต่างทางการเมืองไม่ใช่การนำไปลงทัณฑ์ทรมานด้วยการจองจำล่ามโซ่ติดกับเตียงคนไข้เช่นนี้

หลักคิดหรือแนวปฏิบัติของนานาอารยประเทศนั้น คนที่กระทำความผิดกฎหมายอาญาต่างๆหากเกี่ยวข้องกับความคิดทางการเมืองโดยทั่วไปแล้วย่อมได้รับอภัยโทษหรือนิรโทษกรรมเสมอ ส่วนคดีที่กระทำความผิดทางอาญาที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองก็ว่ากันไปเป็นกรณีๆไป ตัวอย่าง กรณีที่ปฏิบัติต่อพรรคคอมมิวนิสต์ไทยในอดีตที่มีคำสั่งสำนักนายกฯที่ 66/23 และ66/25 ก็เคยมีมาแล้ว

ในกรณีที่ผู้ต้องหาต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลนั้นย่อมแสดงว่าอาการหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวพวกเขาได้หลายวิธี เช่น การเฝ้าที่หน้าห้อง และควบคุมอย่างแน่นหนา แต่ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะใส่โซ่ล่ามพวกเขา เพราะเท่ากับเป็นการไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยปกติแล้วหากผู้ต้องหาหรือนักโทษที่ป่วยและอยู่ในเรือนจำ เจ้าหน้าที่จะไม่ใส่โซ่ตรวน ส่วนกรณีขึ้นศาล ถ้าเป็นคดีหนัก ถึงขั้นประหารชีวิต จะใส่โซ่ตรวน แต่หากเป็นคดีไม่รุนแรงหรือผู้ต้องหาเป็นผู้หญิงและเยาวชน จะไม่มีการใส่โซ่ตรวน

กรณีนี้ผมเห็นว่าผู้ต้องหาทั้ง 2 นายที่ถูกล่ามโซ่ สามารถดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่และผู้บังคับบัญชาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้ เนื่องจากเข้าข่ายเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือสามารถนำคดีเป็นฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อดำเนินคดีกับหน่วยงานที่ควบคุมตัว คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้รับผิดชอบชดใช้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้เช่นกัน

การปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่เริ่มต้นจากความจริงใจและการให้อภัยซึ่งกันและกัน สิ่งไหนที่มนุษย์ไม่พึงปฏิบัติต่อกันย่อมเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ก่อนที่จะปลดโซ่ตรวนของความขัดแย้งระหว่างพี่น้องชาวไทยที่มีต่อกัน ควรที่จะเริ่มต้นด้วยการปลดโซ่ตรวนของผู้ต้องหาที่มีความคิดแตกต่างจากตนเสียก่อน แม้เพียงเรื่องโซ่ตรวนเส้นเล็กๆของบุคคลที่ถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพียงไม่กี่คนเช่นนี้รัฐยังปลดไม่ได้แล้ว ป่วยการที่จะทำเรื่องการปรองดองซึ่งเป็นการถอด โซ่ตรวนใหญ่ที่ล่ามคนไทยไว้เป็นฝักเป็นฝ่ายต่างๆที่เป็นงานใหญ่และหนักหนาสาหัสกว่านี้มากนักจะสำเร็จลงได้