ที่มา ไทยรัฐ
โฆษกปชป.แจงเหตุซื้อ “ไทยคม” แผนเดิมสมัยฝ่ายค้าน ชี้จำเป็นสะสาง 7 กรณีก่อน เร่งซื้อคืนมาเป็นของไทย ชงเข้า กมธ. สื่อสารฯ พิจารณาต่อ 16 มิ.ย. ลั่น ปชป. ค้านนิรโทษกรรมกองกำลังติดอาวุธ....
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงกรณีที่รัฐบาลจะซื้อคืนดาวเทียมไทยคมว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้วางแนวทางมาตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็นฝ่ายค้าน และไม่ได้มีสาเหตุมาจากเรื่องการเมือง แต่ดาวเทียมไทยคมถือเป็นสมบัติสาธารณะ ส่วนที่มีการดำเนินการในช่วงเวลานี้นั้น เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศคนใหม่ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คนใหม่ที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารนั้น ได้มีส่วนร่วมกันในการวางนโยบายกับพรรคมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจะต้องคำนึงถึงผู้ถือหุ้นรายย่อยที่มีอยู่ 58-59% ด้วย จะต้องได้รับความเป็นธรรมแต่ก็ต้องระวังในการลงลึกรายละเอียดและปฏิบัติตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อย่างเคร่งครัดด้วย
นพ.บุรณัชย์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องที่จะต้องสะสางก่อนจะดำเนินการขั้นตอนต่อไปมีอยู่หลายเรื่องคือ 1.สถานะของผู้ถือหุ้นเดิมที่มีการซื้อขายโดยใช้ชื่อบริษัทกุหลาบแก้วนั้น มีสถานะเป็นนอมินีเพราะมีการวินิจฉัยว่า เป็นนอมินี ดังนั้นต้องวินิจฉัยว่า เป็นนอมินีโดยสุจริตหรือไม่ และมีสัญชาติไทยหรือต่างด้าว 2.การแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งที่ 5 ในวันที่ 27 ต.ค. พ.ศ.2547 มีการลดสัดส่วนในการถือครองหุ้นจาก 51 % เป็นไม่ต่ำกว่า 40% และการแก้ไขสัมปทนก็ไม่มีการนำเข้าที่ประชุม ครม. 3.กรณีการขอสิทธิ์ยกเว้นการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น เป็นการเตรียมการเพื่อที่จะเพิ่มมูลค่าและลดภาระในการจ่ายภาษีโดยใช้นโยบาย ที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนของรัฐบาลในอดีตหรือไม่ 4.การใช้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศพม่า 5.การยิงดาวเทียมดวงใหม่ซึ่งเป็นดาวเทียมหลักเพื่อสำรองแทนดาวเทียมดวงเก่า ขัดกับเงื่อนไขตามสัญญาสัมปทานโดยใช้ในวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อสัญญาสัมปทาน 6.เงินค่าประกันจากดาวเทียมที่ชำรุดนั้น เงินดังกล่าวควรเป็นของเจ้าของสัมปทานคือกระทรวงไอซีที แต่กลับมีการโอนไปให้กับบริษัทผู้รับสัมปทานเพื่อเป็นการลดภาระของบริษัทดัง กล่าวและจนถึงขณะนรี้ก็ยังไม่มีการคืนเงินประกันดังกล่าว และ 7.ช่วงเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มนปช.นั้น เกิดปัญหายากลำบากในการขอความร่วมมือจากบริษัทดาวเทียมไทคม ทั้งๆที่ตามสัญญาข้อ 43 ระบุว่า การรับสัมปทานจะต้องดำเนินการภายในกรอบของความมั่นคงแห่งรัฐ
นพ.บุรณัชย์ กล่าวต่อว่า ทั้งหมดต้องดำเนินการให้ถูกต้อง ส่วนเรื่องที่จะต้องมีการสะสางนั้นก็ต้องทำด้วยความเป็นมิตรระหว่างรัฐบาล กับบริษัทเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ สำหรับกิจการอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องเช่น ดาวเทียมในประเทศลาวและประเทศกัมพูชาและธุรกิจโทรศัพท์มือถือนั้น รัฐบาลไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปซื้อเพราะเป็นเรื่องของความมั่นคงของ ประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ต้องแยกออกจากกันจากการซื้อคืนดาวเทียมไทคมด้วย ยืนยันว่าการดำเนินการของรัฐบาลก็เพื่อรักษาประโยชน์ของส่วนรวมด้านความ มั่นคงของชาติและเพื่อปกป้องสมบัติของชาติ ทั้งนี้ในวันที่ 16 มิ.ย.จะมีการหยิกยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาในคณะกรรมาธิการการสื่อสารและ โทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎรที่ติดตามเรื่องนี้มาร่วม 2 เดือนแล้วผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการตามล้างตามเช็ดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นพ.บุรณัชย์กล่าวว่า ยินยันว่าไม่ใช่เรื่องการเมือง และรัฐบาลก็มีเหตุผลเพียงพอในการซื้อคืนเพื่อให้กลับมาเป็นสมบัติของชาติ โดยดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวถึงกรณีการนิรโทษกรรมว่า กระบวนการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงขณะนี้ถือว่ากำลังจะเริ่มต้นขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ขอสนับสนุนแนวทางของรัฐบาลที่จะมีการสอบสวน ขยายผล และสอบเส้นทางการเงินว่ามีเงินจากส่วนใดบ้างที่สนับสนุนกองกำลังติดอาวุธใน การก่อการร้าย รวมทั้งต้องติดตามหาความรับผิดชอบผ่านความร่วมมือของมิตรประเทศที่มีการโอน เงินมาสู่กองกำลังติดอาวุธดังกล่าวด้วย ทั้งนี้พรรคไม่เห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรมให้กับกองกำลังติดอาวุธที่ทำร้ายคนไทยด้วยกันเอง.
เพื่อไทย
Tuesday, June 15, 2010
โฆษกปชป.แจง ซื้อคืนไทยคม เพื่อมั่นคงชาติ
บุรณัชย์ สมุทรักษ์