การสอบสวนครั้งล่าสุดกรณีปราบผู้ชุมนุม 'วันอาทิตย์นองเลือด' (Bloody Sunday) ของอังกฤษจนมีผู้เสียชีวิต 14 ราย ระบุผู้ชุมนุมบริสุทธิ์ และทหารไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการใช้อาวุธปราบผู้ชุมนุม ถือเป็นการสอบสวนที่ยาวนานและราคาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการประกาศรายงานผลการสอบสวนคดีกองทัพอังกฤษสังหารหมู่ประชาชนที่มาชุมนุมเรียกร้องสิทธิพลเมือง เมื่อปี 1972 หรือที่เรียกว่าเหตุการณ์'วันอาทิตย์นองเลือด' (Bloody Sunday) ซึ่งผลออกมาว่าเหยื่อในเหตุการณ์ครั้งนั้นทั้งหมดเป็นผู้บริสุทธิ์
ดิ อินดิเพนเดนท์ รายงานว่า มีประชาชนราวพันคนยืนอยู่รอรับฟังคำตัดสินของลอร์ดซาวิลล์ ผู้พิพากษาศาลสูงอังกฤษ และแสดงความยินดีหลังได้รับฟังคำตัดสิน
โทนี่ โดเฮอร์ตี ลูกของเหยื่อรายหนึ่งในเหตุการณ์กล่าวว่า "ในตอนนี้เราสามารถประกาศให้โลกรับรู้ได้แล้วว่าผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด ซึ่งเป็นผู้ชุมนุมเรียกร้องสิทธิพลเมืองทุกคนต่างเป็นผู้บริสุทธิ์ และทุกคนถูกยิงโดยทหารผู้เชื่อว่าตนจะไม่ต้องรับโทษใด ๆ จากการลงมือสังหาร"
เขาบอกอีกว่าปฏิบัติการของทหารที่ก่อเหตุสังหารหมู่ในเมืองเดอร์รี่ ถือเป็นการทำร้ายเมืองนี้อย่างมาก และหวังว่าจากวันนี้ไปจะเป็นการเริ่มต้นของการเยียวยา
"จะไม่มีใครลืมผู้ที่เสียชีวิตจากการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม" โทนี่กล่าว
รายงานฉบับของวิดเกอรี่ (1972) : ผู้ชุมนุมมีอาวุธ และทหารอาจถูกยิงก่อน
เหตุการณ์ 'วันอาทิตย์นองเลือด' เกิดขึ้นในวันที่ 30 ม.ค. 1972 โดยมีผู้ชุมนุมเรียกร้องสิทธิพลเมืองที่ชุมนุมโดยปราศจากอาวุธและผู้อยู่ในเหตุการณ์ ถูกกองทัพอังกฤษยิงจนมีผู้เสียชีวิต 14 ราย
โดยหลังเกิดเหตุไม่นานก็มีการสอบสวนเหตุการณ์ 'วันอาทิตย์นองเลือด' โดยคณะผู้พิพากษาของบารอน จอห์น วิดเกอรี่ ซึ่งกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่ผู้ชุมนุมบางส่วนจะมีอาวุธหรือระเบิด ตรงจุดนี้ทำให้ญาติของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์รู้สึกโกรธเคือง เรื่องราวของ 'วันอาทิตย์นองเลือด' จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญข้ามทศวรรษมาจนถึงวันนี้
รายงานฉบับของวิดเกอรี่ใช้เวลาเพียง 10 สัปดาห์ในการจัดทำ ก่อนนำเสนอในวันที่ 19 เม.ย. 1972 มีปริมาณไม่ถึง 40 หน้า และเนื้อหาของรายงานมีเพียง 558 คำ ซึ่งหลายคนรวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โทนี่ แบลร์ บอกว่าเป็นรายงานที่ 'ซักฟอก' รัฐบาล
ซึ่งในรายงานฉบับของวิดเกอรี่มีการระบุถึงหลักฐานว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธ ขณะที่ดอน มูลลาน เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือเรื่อง 'พยานเหตุวันอาทิตย์นองเลือด' (Eyewitness Bloody Sunday) ระบุว่า มีการสร้างหลักฐานปลอมโดยการนำระเบิดมาไว้ที่ตัวผู้เสียชีวิตหลังเขาเสียชีวิตแล้ว
นอกจากนี้รายงานฉบับของวิดเกอรี่ดูจะเอียงข้างไปทางฝ่ายทหาร โดยมีการระบุว่าทหาร"ไม่ได้ขัดขืนต่อระเบียบวินัย ไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่าทหารจะยิงผู้ชุมนุมหากพวกเขาไม่ได้ถูกยิงก่อน" การฝึกของทหารนั้นทำให้บางส่วน "มุทะลุและตัดสินใจเร็ว" ขณะที่บางส่วน "มีการยับยั้งช่างใจมากกว่าในการตัดสินใจยิง" และมีอีกบางส่วนที่แสดงความรับผิดชอบสูง
หนังสือพิมพ์ ดิ อินดิเพนเดนท์ ของอังกฤษ บอกว่ารายงานฉบับของวิดเกอรี่ไม่ได้แสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตเลย และมีความคาดหวังว่ารายงานฉบับของซาวิลล์ซึ่งใช้เวลาดำเนินการถึง 12 ปี และมีเนื้อหา 5,000 หน้า จะทำให้ฉบับของวิดเกอรี่หมดความหมาย
ภาพจาก AP Photo งานจิตรกรรมในเขตบ็อกไซด์ ลอนดอนเดอร์รี่ เขียนว่า "ตอนนี้คุณกำลังเข้าสู่เขต 'เดอร์รี่อิสระ' ปาเลสไตน์, ไทย, ศรีลังกา, อัฟกานิสถาน, อิรัก... อย่าได้มีวันอาทิตย์นองเลือดอีก"
รายงานฉบับของซาวิลล์ (2010) : การใช้กำลังของทหาร 'ไร้ความชอบธรรม'
วันที่ 16 มิ.ย. 2010 หนังสือพิมพ์เทเลกราฟของอังกฤษ กล่าวถึง สิ่งสำคัญที่ค้นพบในรายงานฉบับของซาวิลล์ โดยระบุว่าทหารยิงปืนไรเฟิลมากกว่า 100 นัด เป็นเหตุทำให้ประชาชน 13 รายเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ มีผู้หนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยที่บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตดังกล่าวไม่มีใครเลยที่แสดงให้เห็นถึงกระทำการร้ายแรง นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า "พวกเราไม่พบว่ามีเหตุอันใดที่ทหารจะได้รับความชอบธรรมในการใช้อาวุธ"
ในรายงานฉบับของซาวิลล์ พูดถึงกรณีที่ทหารอ้างถึงการมีอาวุธของผู้ชุมนุมว่า ไม่มีใครเลยที่ยิงอาวุธปืนตอบโต้ทหาร หรือขู่ว่าจะใช้ระเบิดตะปูกับระเบิดเพลิง คำอธิบายของฝ่ายทหารถูกปฏิเสธ และจำนวนหนึ่งถือเป็นการ "ใส่ความ" ผู้ชุมนุม
มีการอ้างว่าพบสมาชิกของกลุ่ม IRA หรือ กลุ่มกองกำลังแบ่งแยกดินแดนไอร์แลนด์ ได้ยิงปืนไปทางทหารแต่พลาดเป้า ทั้งที่มีการตรวจพบว่าฝ่ายทหารเป็นผู้เริ่มต้นยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมก่อน และไม่มีการเตือนผู้ชุมนุมก่อนเริ่มยิง
ข้อสันนิษฐานที่ว่า มือปืน IRA ไม่ทราบชื่อผู้นั้นได้รับบาดเจ็บหรือถูกทหารสังหารแล้วลักซ่อนศพก็ถูกปฏิเสธ เนื่องจากไม่มีหลักฐานรองรับ และเรื่องนี้หากเกิดขึ้นจริงน่าจะมีความกระจ่างมากกว่านี้
เรื่องที่มีการกล่าวหาว่า มาร์ติน แมกกินเนส ผู้ช่วยรัฐมนตรีไอร์แลนด์เหนือ ที่เคยเป็นรองผู้นำของ Provisional IRA ปี 1972 ว่าเขา "อาจจะมีอาวุธปืนกลเบา Thompson" ในช่วงหนึ่งของวันนั้นและอาจมีการใช้อาวุธดังกล่าว เรื่องนี้ไม่สามารถพิสูจน์ได้ แต่รายงานก็สรุปว่า "เขา (มาร์ติน) ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ที่จะทำให้ทหารใช้อ้างความชอบธรรมในการใช้อาวุธได้"
กรณีระเบิดตะปูที่ถูกพบในกระเป๋าของเจอราด โดนาเคย์ ที่มีคนบอกว่าอาจจะถูกทหารนำมาใส่ไว้ในภายหลังนั้น รายงานฉบับล่าสุดระบุว่าเจอราด 'อาจจะ' พกระเบิดตะปูไว้อยู่แล้วขณะที่เขาถูกยิง แต่ก็เสริมด้วยว่า "อย่างไรก็ตาม พวกเราแน่ใจว่าเจอราด โดนาเคย์ ไม่ได้เตรียมพร้อมหรือตั้งใจขว้างระเบิดตะปูในขณะที่เขาถูกยิง และพวกเราต่างมั่นใจว่าเขาไม่ได้ถูกยิงเพราะมีระเบิดในครอบครอง เขาถูกยิงขณะที่กำลังพยายามหนีจากทหาร"
ซาวิลล์สรุปว่า ผู้บัญชาการกองทัพบกในไอร์แลนด์เหนือ โรเบิร์ท ฟอร์ด อาจคอยระวังหน่วยพลร่มของกองทัพอังกฤษซึ่งมีชื่อเสียงด้านการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ แต่เขาอาจไม่ทันได้คิดถึงความเสี่ยงที่กองพลร่มจะใช้อาวุธปืนโดยไม่มีเหตุชอบธรรม
ผู้บัญชาการกองพลร่มอังกฤษ เดเรก วิลฟอร์ด ฝ่าฝืนคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงโดยการนำกองทัพเข้าไปในเขตบ็อกไซด์ ด้านผู้บัญชาการระดับสูง แพททริก แมคเลลาน ไม่มีความผิดจากกรณียิงผู้ชุมนุมเนื่องจากเขาไม่ทราบว่าวิลฟอร์ดมีความต้องการใช้กำลังอาวุธดังกล่าว และหากเขาทราบก็น่าจะมีคำสั่งให้ยุติ
ด้านผู้ดำเนินการชุมนุม 'กลุ่มสมาคมสิทธิพลเมืองไอรฺ์แลนด์เหนือ' (Northern Ireland Civil Rights Association) ไม่มีความผิดใด ๆ ในกรณี 'วันอาทิตย์นองเลือด' และทั้งฝ่ายรัฐบาลไอร์แลนด์เหนือและรัฐบาลอังกฤษ ต่างไม่มีใครวางแผนหรือคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะเกิดการใช้กำลังรุนแรง
บีบีซี ระบุว่ารายงานฉบับนี้มอบอำนาจการตัดสินใจดำเนินคดีทหารที่อยู่ในเหตุการณ์แก่หน่วยงานดำเนินคดีของไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland's Public Prosecution Service หรือ PPS) ซึ่งทาง PPS แถลงว่าผู้อำนวยการ PPS จะพิจารณารายงานเพื่อตัดสินใจและขยายผลการสืบสวนของตำรวจ
ภาพจาก Getty Image วันที่ 15 มิ.ย. ญาติของเหยื่อจากเหตุการณ์ 'วันอาทิตย์นองเลือด' เดินขบวนจากเขตบ็อกไซด์ไปยังจัตุรัสกิลด์ฮอลล์ โดยถือรูปเหยื่อจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นไปด้วย
12 ปี กับ 5,000 หน้ารายงาน ชำระคดี 'วันอาทิตย์นองเลือด'
สำนักข่าวบีบีซี ของอังกฤษ รายงานตารางการสอบสวนคดี 'วันอาทิตย์นองเลือด' ของซาวิลล์ ว่าใช้เวลานานถึง 12 ปี มีการอ้างอิงคำของพยาน 2,500 ชิ้น การอ้างอิงสอบปากคำ 922 ชิ้น มีหลักฐาน 160 ชิ้น มีเทปเสียง 121 ชิ้น และวิดิโอเทป 110 ชิ้น จำนวนคำในรายงาน 20-30 ล้านคำ ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 195 ล้านปอนด์ (ราว 9,300 ล้านบาท)
ซึ่งถือเป็นการสอบสวนที่ยาวนานและราคาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ
สำนักข่าวของอังกฤษหลายแห่งระบุว่า นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอังกฤษ เดวิด คาเมรอน จากพรรคอนุรักษ์นิยมออกมาแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ 'วันอาทิตย์นองเลือด' (เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในสมัยของเอ็ดเวิร์ด ฮีธ นายกฯ จากพรรคอนุรักษ์นิยม)
โดยบีบีซีรายงานอีกว่า นายกฯ เดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ กล่าวถึงเหตุการณ์ 'วันอาทิตย์นองเลือด' ไว้ดังนี้
- ไม่มีการเตือนประชาชนก่อนที่ทหารจะใช้อาวุธปืน
- ทหารไม่ได้ยิงเพื่อตอบโต้การโจมตีด้วยระเบิดเพลิงหรือก้องกิน
- คนที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บบางคนกำลังหนีอย่างเห็นได้ชัด ไม่ก็กำลังให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ
- มีทหารจำนวนมากกล่าวเท็จเกี่ยวกับการกระทำของพวกเขา
- เหตุการณ์ 'วันอาทิตย์นองเลือด' เกิดขึ้นโดยไม่มีการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า
- มาร์ติน แมกกินเนส อาจมีอาวุธปืนกลเบาในช่วงที่เกิดเหตุ แต่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ที่จะทำให้ทหารใช้อ้างความชอบธรรมในการใช้อาวุธได้
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เซอร์ เดวิด ริชาร์ด และผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยกองพลร่มช่วงเกิดเหตุ 'วันอาทิตย์นองเลือด' ต่างร่วมแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวของบีบีซีรายงานจาก จัตุรัสกิลล์ฮอลล์ ลอนดอนดอร์รี่ ที่มีผู้มาชุมนุมรอฟังรายงานผลการสอบสวนว่า ทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เวลาและราคาที่ต้องจ่ายให้กับการสอบสวนของซาวิลล์นั้นจะนำมาซึ่งช่วงเวลาแห่งความปลื้มปิติ และเหล่าครอบครัวผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุ 'วันอาทิตย์นองเลือด' ก็รู้สึกว่าพวกเขาได้รับความเป็นธรรมแล้ว
ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก
Bloody Sunday: 'Victims vindicated - and parachute regiment disgraced', The Independent, 15 June 2010
http://www.independent.co.uk/news/uk/politics/bloody-sunday-victims-vindicated--and-parachute-regiment-disgraced-2001247.html
Will the wounds ever be healed?, The Independent, 15 June 2010
http://www.independent.co.uk/news/uk/politics/will-the-wounds-ever-be-healed-2000587.html
Bloody Sunday: key findings of the Saville Report, Telegraph, 16 June 2010
http://www.telegraph.co.uk/news/uknews/northernireland/7831836/Bloody-Sunday-key-findings-of-the-Saville-Report.html
Bloody Sunday report published, BBC, 15 June 2010
http://news.bbc.co.uk/2/hi/northern_ireland/10320609.stm
ข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วนจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Bloody_Sunday_(1972)
http://cain.ulst.ac.uk/events/bsunday/circum.htm