ที่มา ข่าวสด
วงค์ ตาวัน
หากเปรียบเทียบสถานการณ์บ้านเมืองระหว่างปี 2519 กับปีปัจจุบัน ระหว่างเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 กับเหตุการณ์ล่าสุด พ.ค. 53 อันเห็นได้ชัดว่า กระบวนการที่นำไปสู่การสลายม็อบนั้นคล้ายคลึงกัน
ก่อนจะเกิด 6 ต.ค. 19 มีการสร้างกระแสที่เหมือนกับก่อนจะเกิด 19 พ.ค. 53
แล้วความเป็นไปหลังจากนั้นก็แทบไม่แตกต่างกัน
มืดครึ้มอึมครึม ใช้อำนาจอย่างครอบจักรวาลเพื่อควบคุมสถานการณ์ให้อยู่หมัด
แต่สุดท้าย ก็เข้าทำนอง ยิ่งกดยิ่งเกิดแรงต้าน
ส่งผลให้รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ก่อเกิดหลังจาก 6 ต.ค. 2519 ต้องพบจุดจบ โดยมีอายุขัยอยู่ได้เพียงแค่ปีเดียว
จบด้วยการถูกปฏิวัติในวันที่ 20 ต.ค.2520 !!
คนที่ปฏิวัติไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือคณะนายทหารที่ยึดอำนาจในวันที่ 6 ต.ค. 19 แล้วตั้งรัฐบาลธานินทร์ขึ้นมานั่นเอง
คนที่ตั้ง คนที่หนุน เป็นคนปลดเอง
พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมีพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ
ตัดสินใจก่อการรัฐประหารในอีก 1 ปี เพื่อสลายบรรยากาศมืดมน
เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองหลังวันที่ 6 ต.ค. 19 ถือ ว่าเป็นเผด็จการเต็มตัว
เป็นเผด็จการเพราะต้องปกปิดข้อมูลข่าวสาร จากเหตุฆ่าหมู่กลางเมือง ในธรรมศาสตร์!
ไปจนถึงกลบเกลื่อนภาพการไล่ล่าจับกุมคุมขังผู้นำ
นักศึกษาประชาชน รวมทั้งปิดกั้นกระแสการต่อสู้เคลื่อน ไหวในแนวรบใหม่ของนักศึกษาประชาชน ที่เคืองแค้นจากการถูกปราบปราม
หนังสือพิมพ์ถูกปิดหมด ก่อนจะให้เปิดใหม่ภายใต้การเซ็นเซอร์อย่างหนัก
รัฐใช้สถานีวิทยุในมือโฆษณาชวนเชื่อป้ายสีนักศึกษา หลังจากมีการพบอาวุธมากมายในธรรมศาสตร์ ซึ่งมาจากไหนก็ไม่รู้
ความจริงของเมืองไทยในสมัยนั้นต้องฟังทางสื่อต่างประเทศ
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากลเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลไทยอย่างหนัก เรียกร้องให้มีการสอบสวนความจริงในเหตุการณ์ฆ่าหมู่ และปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง
ผู้คนเริ่มแห่ไปฟังและให้กำลังใจผู้ต้องหาคดี 6 ต.ค. ซึ่งก็คือข้อหากบฏ ข้อหาคอมมิวนิสต์
บรรยากาศอันมืดมนเช่นนี้ดำเนินไปจนกระทั่งต้องเกิดรัฐประหาร 20 ต.ค. 20 เพื่อปลดปล่อยประเทศชาติ
แล้วชะตากรรมของรัฐบาลอภิสิทธิ์จะเป็นเช่นไร
จะเรียนรู้อดีตหรือไม่!?
เพื่อไทย
Saturday, June 19, 2010
อดีตบอกปัจจุบัน
คอลัมน์ ชกไม่มีมุม