ที่มา โลกวันนี้ ยังมีควันหลงที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ต่อเนื่องจาก “การขอพื้นที่คืน” รวมทั้ง “การกระชับพื้นที่” ณ แยกราชประสงค์ โดยมีการใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามและกระสุนจริง รถหุ้มเกราะ ภายใต้คำสั่งของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แม้จะมีการอ้างอิงถึงพวกก่อการร้ายไอ้โม่งชุดดำเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไรก็ตาม แต่เด็กอมมือก็สงสัยกันทั้งบางว่า นั่นเป็นการกระทำเพื่อเป้าหมายหวังยุติการชุมนุมของประชาชนหรืออะไรกันแน่? ผลสุดท้ายการชุมนุมก็ลงเอยเป็นการเสียชีวิตหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่ เป็นการตายหมู่ที่โจ๋งครึ่มที่สุดต่อหน้าสายตาของผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลไปทั่วโลก และบางคนก็ตกเป็นเหยื่อสังหารในครั้งนี้ด้วย... นานาประเทศทั้งในอาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหประชาชาติ ต่างเรียกร้องให้รัฐบาลใช้สันติวิธีและเจรจาต่อผู้ชุมนุมตามวิถีทางประชาธิปไตย ก่อนหน้าเหตุการณ์ของทุ่งสังหารทั้งสองแห่งจะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งความตายหมู่ในครั้งที่ผ่านมาได้เลย...ไม่ทราบเป็นความใจร้อนของไอ้พวกก่อการร้ายหรือเป็นความย่ามใจของออทิสติกคนใด? แม้แต่ประชาชนผู้ใช้แรงงานในหลายประเทศ เช่น บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ องค์กรสิทธิมนุษยชนสากล ต่างประณามการฆาตกรรมซึ่งรัฐบาลแถลงให้เป็นฝีมือไอ้โม่ง มีการเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หยุดการคุกคามที่กระทำต่อเนื่องกับผู้ชุมนุมในขณะนั้น แล้วให้ยุติการปิดบังตัดแต่งข้อมูลข่าวสาร แต่รัฐบาลก็หาได้ยี่หระต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ใช้กฎหมายที่ผู้อื่นเรียกเป็นฟาสซิสต์ กระทำการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่วนนายอภิสิทธิ์กลับแถลงให้เป็นความพยายามสร้างนิติรัฐอย่างเคร่งครัด แม้มีข้อสงสัยถึงนิติธรรมก็ตาม? ในขณะนี้องค์กรยุติธรรมอย่างศาลอาญาระหว่างประเทศและองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในฐานะสถาบันระดับโลก กำลังจะรุกคืบเข้าทำการสอบสวนถึงกรณีที่เกิดขึ้น แต่รัฐบาลไทยได้ร้องเสียงหลงว่าห้ามเข้ามาแทรกแซงกิจการภายใน ไม่รู้จะกลัวอะไร? นอกจากกลัวจะถูกหมายหัวถึงโทษในฐานะ “อาชญากรสงคราม” ซึ่งผู้นำหลายประเทศก็เคยเจอชะตากรรมนี้ไปแล้ว? ส่วนประเทศไทยไอ้พวกก่อการร้ายมีโอกาสกลายเป็นอาชญากรสงครามกระมัง? การสังหารหมู่ Massacre หรือ Genocide มีคำจำกัดความอันมีลักษณะซึ่งผู้สังหารเข้าข่ายเป็นอาชญากรสงคราม มีข้อพิจารณาดังนี้ ประการแรกเป็นการสังหารหมู่ผู้คนจำนวนมาก มีเป้าหมายที่เป็นพลเรือน ผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก คนชรา และแม้กระทั่งทหารที่ไม่มีอาวุธ เหยื่อสังหารเหล่านี้เป็นผู้บริสุทธิ์ที่ไม่สามารถจะป้องกันตนเองได้ ประการที่สองเหยื่อสังหารเป็นคนที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน เป็นพลเมืองของรัฐบาลเดียวกัน ประเทศเดียวกัน ประการที่สามเหยื่อสังหารต่างถูกยัดข้อหาว่าผิดกฎหมายบ้างก็ไม่ผิด ถูกปลุกระดมกล่าวร้ายด้วยสื่อของรัฐหรือที่ครอบงำโดยรัฐ ขณะที่สื่ออื่นๆในประเทศถูกปิดกั้นโดยเบ็ดเสร็จ ให้สังคมได้รับข้อมูลของรัฐเพียงฝ่ายเดียว การกล่าวด้วยข้อเท็จจริงอีกชุด สร้างข้อมูลใหม่อย่างซึ่งหน้าด้วยจินตกรรม วาทกรรม กิจกรรม หรือมายาประดิษฐ์อื่นๆตามแต่จะหามาได้ ดำเนินการเฉลี่ยจินตนาการ ปลุกกระแสสังคมให้เชื่อตามนั้นอย่างที่อยากให้เชื่อ แม้ข้อเท็จจริงอีกชุดนั้นจะถูกบันทึกเผยแพร่อย่างไร้พรมแดนต่อหน้าสายตาของชาวโลก ซึ่งไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่เรียกว่า “เฉลี่ยจินตนาการ (Average Imagination)” อันเป็นจิตวิทยาแห่งสงคราม มุ่งหวังการรับ “ใบอนุญาตสังหาร (License to Kill)” ในการสังหารหมู่แต่ละครั้งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตของต่างประเทศเป็นอย่างไร? เหตุการณ์ในประเทศไทยที่ผ่านมาก็ถูกเข้าใจไปในลักษณะนั้นได้? เพียงแต่มีความซับซ้อนของผู้ลงมือมากกว่ากัน? การสังหารหมู่ประชาชนพลเรือนที่บริสุทธิ์ ปราศจากอาวุธในครั้งนี้จึงเป็นการพิสูจน์ระหว่างขบวนการหาข้อมูลหลักฐานของรัฐบาลและองค์กรต่างๆที่รัฐบาลได้แต่งตั้งขึ้นมากับมือ แต่ถ้าไม่มีหลักฐานที่หนักแน่นเพียงพอว่าเป็นฝีมือพวกก่อการร้าย...มันก็มีคำถามว่าการสังหารหมู่ในทุ่งสังหารทั้งเดือนเมษายนและพฤษภาคม ความหมายของ Massacre หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ Genocide ที่เกิดขึ้นมันเป็นฝีมือของใครกันแน่? ซึ่งความจริงแล้วในระดับนานาชาติก็พอจะรู้โฉมหน้าของจอมฆาตกรตัวจริงกันดี เพียงแต่ขบวนการสอบสวนและหาหลักฐานจะกระทำได้เป็นรูปธรรมเมื่อไรเท่านั้นเอง? สุดท้ายแล้วเรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบในชะตากรรมอย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับเงื่อนเวลาแล้วจะมีการตัดตอนสักแค่ไหน? ก็ได้แต่หวังว่านายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และบรรดานายพลอีกหลายคน คงไม่มีชะตากรรมสุดท้ายในบั้นปลายเหมือนกับนายราโดแวน คารัดซิช อดีตผู้นำชาวเซิร์บ ที่ต้องตายในคุกด้วยข้อหาอาชญากรสงคราม?คอลัมน์ โต๊ะกลมระดมความคิด จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2820 ประจำวัน พุธ ที่ 16 มิถุนายน 2010 โดย ศิวเนตร พิศมายา