ที่มา ประชาไท เมื่อเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.1986 มีเสวนาแลกเปลี่ยนที่ยังจำได้ไม่รู้ลืมที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ในอาคารสูงล้อมด้วยกระจกของโรงแรมดุสิตธานี มิกาเอล วิกเกอรี (Michaël Vickery) ผู้เชี่ยวชาญด้านกัมพูชาโบราณซึ่งใช้ภาษาเขมรได้นำเสนอหนังสือของเขาที่ชื่อว่า กัมพูชา 1975-1982 ต่อผู้สื่อข่าวชาวต่างชาติ เป็นครั้งแรกที่มีผู้เชี่ยวชาญเช่นนี้ที่สามารถเข้าถึงราชอาณาจักรกัมพูชา แสดงปาฐกต่อหน้าสื่อนานาชาติ ซึ่งไม่พอใจรัฐบาลในพนมเปญ ผู้สื่อข่าวเหล่านี้อยากเยือนกัมพูชาหลังการสิ้นสุดเขมรแดง ณ ตอนนั้น มิกาเอล แอดเลอร์ (Michaël Adler) ชาวอเมริกันที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส จากสำนักผู้สื่อข่าวฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯ พอล เวเดล (Paul Wedel) หัวหน้าสำนักงาน United Press International- UPI ยังมี ฌาคส์ เบกาแอรต์ (Jacques Bekaert) นักข่าวเผ็ดดุ จากหนังสือพิมพ์ Le Monde ผู้สื่อข่าวจาก บางกอกโพสต์ และแน่นอน มีผู้สนับสนุนของสีหนุ และ รณฤทธิ์ และกลุ่มสมาชิกพรรค ฟุนซินเปค (FUNCINPEC) [1] ห้องโถงแน่นขนัด มีการสนทนาโต้ตอบอย่างไม่หยุดหย่อน และน่าติดตามยิ่ง มีผู้พูดท่านหนึ่งจากครอบครัวค่อนข้างรุ่มรวยด้วยการศึกษาและวัฒนธรรม มีความคิดคมคาย แต่กลับสนับสนุนกัมพูชาที่ถูกลงทัณฑ์อย่างอยุติธรรมจากประชาคมนานาชาติ เย็นอีกวันหนึ่ง น่าจดจำยิ่งเช่นกัน กระทั่งน่าจะบันทึกเป็นโศลกด้วยซ้ำ เป็นประวัติการณ์สำคัญของ FCCT คือเมื่อวันพุธที่ 2 มิถุนายน หัวข้อที่ถกกันคือวิธีการที่สื่อต่างชาติทำงานในพื้นที่การชุมนุมที่กรุงเทพฯ ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา มีโดมินิค โฟลเดอร์ (Dominic Faulder) นำการเสวนา ผู้ร่วมเสวนามี 4 คน คือ นายสมเถา สุจริตกุล นักประพันธ์เพลง นายสุเมธ ชุมสาย สถาปนิก พนา จันทรวิโรจน์ ผู้อำนวยการข่าวประจำของ The Nation และไกรศักดิ์ ชุณหะวัน สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (จากนครราชสีมา) (มือกีตาร์แนวบลูส์ที่น่าฉงน) ช่วงแรก มีการฉายรายงานข่าวโทรทัศน์เกี่ยวกับ “เหตุการณ์” โดยสำนักข่าว France 24 [2], BBC, CNN, Al Jazeera “ตูม! ตูม! ตูม!” “ปัง! ปัง! ปัง!” “หนึ่ง สอง สาม! ไป ไป ไป!” ด้วยความยาว 12 นาที หนังสั้นแนวสงคราม อัดแน่นด้วยภาพแอคชั่นที่ทำให้มึนหัว (ด้วยกล้องถ่ายวิดีโอที่หมุนไปมาทุกทิศทาง) ช่วงเดียวที่หายใจโล่งปอดคือเมื่อทหารพักหายใจในซอย โอ้! น่าเสียใจ เนลสัน แรนด์ (Nelson Rand) ไปคนหนึ่งแล้ว เราเข้าใจความซับซ้อนของการเมืองไทยดีขึ้นหรือยังหนอ จากภาพที่เห็น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเราทำข่าวที่กลายเป็นการมุ่งยกระดับให้เท่าเทียมกับภาพยนตร์อย่าง Saving Private Ryan หรือเหนือชั้นกว่าเสียอีก หรืออาจเป็นการทำภาพยนตร์รอบใหม่เรื่อง Brothers in arms พากย์ภาษาไทย ซึ่งฉุยไปด้วยการปฏิวัติมากกว่าภาพยนตร์เหล่านั้นหลายเท่า การรายงานข่าวของ CNN ที่เป็นผลงานของแดน ริเวอร์ (Dan Rivers) ผู้มีชื่อ นำให้ขบคิดวิเคราะห์มากที่สุด เขาฝ่าวิกฤตแบบเหงื่อตกเพราะเสื้อกันกระสุนและหมวกกันน็อกคุณภาพสูงอย่าง Kevlar ตามด้วยงานของ CNN อันนำมาซึ่งเสียงถากถางเยาะเย้ยทั้งจากคนไทย และคนเอเชียมากมาย อีกทั้งอารมณ์โมโหของคนในห้องนั้นอีกหลายคน อย่าง สุเมธ ชุมสาย วัยเกือบ 70 ปี ผู้มีสกุล อดีตนักศึกษาจาก เลอ กอร์บูซิเยร์(Le Corbusier) ที่ปารีสในสมัยทศวรรษที่ 60 เขาระเบิดออกมาว่า “ขยะ !” น้ำเสียงของเขาเต็มเปี่ยม ตลอดเย็นนั้น มีแต่บรรยากาศเขย่าอารมณ์ท่วมไปด้วยความก้าวร้าวที่อัดเต็มห้อง การพูดโต้ตอบที่เป็นเรื่องเป็นราวเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว สองฝั่งฝ่ายเผชิญหน้ากันและกัน ต่างฝ่ายก็ชัดเจนที่ความเห็นตนเอง ฝั่งหนึ่ง นักข่าวตะวันตกหลายคนผู้รักษาหน้าที่ตน แต่ขณะเดียวกันกลับทำให้คนรู้สึกว่าพวกเขาอยู่ข้างเสื้อแดง นักข่าวแปลงสภาพตนเองเป็น “ไพร่” หรืออย่างน้อยก็กลายเป็นเสียงให้กับไพร่ อีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนไทยจากชนชั้นผู้มีการศึกษาที่รู้สึกเจ็บเนื้อเจ็บตัวจากที่กรุงเทพฯถูกทำลาย เสียภาพพจน์ในสายตาชาวต่างชาติ “อำมาตย์” เหล่านี้ไม่ยอมแพ้และปกป้องตัวเองด้วยกรงเล็บและด้วยปาก ราวพวก Coblentz และขุนนางมีสกุลชาวฝรั่งเศสที่มาลี้ภัยในเมืองเขา “เราทุกคนมีการศึกษาจากอังกฤษอย่างคุณอภิสิทธิ์ เชื่อในเกมส์ที่ยุติธรรม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของระบบการศึกษาของรัฐบาลอังกฤษ” สุเมธกล่าว เขายังเท้าความด้วยว่าเขาคือผู้ที่ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป (ผู้ช่วยเหลือให้การศึกษาเด็กในสลัมคลองเตย) จากนั้นก็เสริมว่า “เราเผชิญหน้ากับพวกไร้วัฒนธรรม” ซึ่งเขาหมายถึงพวกคนเสื้อแดง เมื่อพูดประโยคนี้ ทั้งคนไทยและต่างชาติบางคนปรบมือให้เขาอย่างท่วมท้น ไกรศักดิ์ ชุณหะวัน เสียงแหบ ๆ แบบคุยตอนนอนละเมอ ก็เกือบจะน้ำตาปริ่ม ๆ เมื่อพูดถึงประเทศของตนที่ถูกทำให้ “แตกสลาย” โดยคนเสื้อแดง “คนในยุโรปเขาคิดว่า ความขัดแย้งนี้เป็นการปฏิวัติทางสังคม โดยสงบ และโรแมนติก… ผมจะไม่ลงเลือกตั้งในนามคนอีสาน เพราะคนเสื้อแดงจะเอาชีวิตผม และหมอหญิง พังค์ถูกกฎหมาย (คุณพรทิพย์) จะมาตรวจสืบศพของผม และคุณทุกคน คุณจะถ่ายรูปศพผม” เขาบีบคอตัวเอง เสียงร้องสนั่นไปยังท้ายห้อง และมีเสียงหัวเราะ นักข่าวชาวตะวันตกสิบกว่าคนที่อยู่หลังไมค์ก็ดูจะระแวดระวัง “มีใครมาจากสื่อไทยบ้าง ?” คน ๆ หนึ่งถาม มีทูตทางสถานทูตสวีเดนที่กล่าวขึ้นมาอย่างฟังดูมีเหตุผลทีเดียว โดยกล่าวถึงความยากเย็นของประเทศของตนในการนำกฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อมวลชนมาปฏิบัติในช่วงปี ค.ศ. 1766 “เราค่อย ๆ เข้าใจทีละน้อยว่า บทบาทของสื่อไม่ใช่เพื่อสะท้อนวิสัยทัศน์ของรัฐบาล” – “แน่นอน ในสวีเดนคุณมีเสรีภาพทางเพศนี่” สุเมธ ชุมสาย โต้ ต่างฝ่ายต่างแก่งแย่งชิงกันพูด เราแทบจะรอเห็นแก้วลอยหรือการต่อสู้ตัวต่อตัวตามธรรมเนียมที่ดีที่สุดของสภาไต้หวัน ท่ามกลางความปั่นป่วน บางคนก็แสดงออกถึงความมีเหตุมีผล คนแรกโดมินิค โฟลเดอร์ (Dominic Faulder) ซึ่งแสดงบทบาทที่ยากเย็นในการเป็นคนกลางนำเสวนา แต่ดูเหมือนเขาจะสามารถรักษาระเบียบและความเหมาะสมของถกเถียง เมื่อคนไทยบางคนพูดถึง “ นักข่าวชาวตะวันตกไม่มีความรับผิดชอบ” เขาตอบอย่างฟันธงว่า “ผมคิดว่านักข่าวทุกคนที่ทำผิดในการรายงานข่าวก็ต้องชดใช้ ถูกตัดสินจากผู้ทำหน้าที่ด้านสื่อ” พนา จันทร์วิโรจน์ รักษาท่าทีสงบได้ และให้ข้อมูลที่ฟังน่าสนใจโดยอธิบายว่า “กลุ่มการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ต่างก็มีคนรายงานข่าวของตน กลุ่มผู้มีผลประโยชน์แทรกอยู่ในรัฐบาล และในสื่อที่แพร่หลาย พวกเขาได้ข้อมูลมาและทำตนเป็นเหมือนนักสืบ” กล่าวถึงปัจจัยทางวัฒนธรรม ไม่ค่อยมีการกล่าวถึง คือ ทำไมท่ามกลางกลุ่มคนไทยผู้มีการศึกษา จึงทึกทักเอาว่า แม้ว่า “ฝรั่ง” ที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยหลายปีแล้ว ก็ยังไม่เข้าใจวัฒนธรรมที่แท้จริงของไทย วงการต่าง ๆ ในสังคม และพฤติกรรมแบบไทย สมเถายิงคำตอบ “ผมเองก็เคยเป็นเหยื่อของการเชื่อลอย ๆ ของคน เมื่อผมกลับมาจากอเมริกา คนหาว่าผมมีวิธีมองอย่างคนตะวันตก คนไทยมีประสบการณ์ร้าย ๆ มาในอดีต แต่สิ่งนั้นค่อย ๆ เปลี่ยนไป” ประสบการณ์ร้าย ๆ....เขาพูดถึงอะไร คอนสแตน ฟอลคอน (Constance Phaulkon) หรือ หมาป่าฝรั่งเศสกับแกะสยามอย่างนั้นหรือ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อครั้งที่ชาวฝรั่งเศสกับอังกฤษต้องการให้เมืองไทยชดใช้ที่สมคบกับญี่ปุ่นอย่างนั้นหรือ น่าเสียดายที่สมเถาไม่พูดต่อ ถ้าเย็นวันนั้นเป็นวันที่น่าจดจำ ด้วยเพราะการถกเถียงที่เข้มข้น บรรยากาศคุกรุ่นกำลังแรง แต่ก็น่าจะยอมรับว่าเป็นการเสวนาที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาไม่ได้เกิดจากนักข่าวชาวตะวันตกที่ไม่รับผิดชอบหน้าที่ของตนต่อการนำเสนอข่าวความเป็นไปในเมืองไทย “ทำอย่างกับว่าพวกเขาสามารถทำหน้าที่ได้ในทุกประเทศขนาดกลาง ๆ แบบนี้อย่างนั้นแหละ” นี้เป็นทัศนะจากจูเลียน สปินด์เลอร์ (Julian Spindler) ปัญหามาจากประเทศไทยต่างหากที่พลิกผันเพราะถูกกระแทกราวถูกแผ่นดินไหว และอาจต้องใช้เวลาในการทำให้สภาวะมั่นคงกลับมาอีกครั้ง ปัญหาเกิดจากคนไทยที่ปิดหูปิดตาตัวเองมานานเกินไป เกิดจากกลุ่มชนชั้นกลางระดับสูงนี้ หัวกะทิเหล่านี้ที่ไม่จัดให้เกิดการศึกษาและตามทันยุคสมัยให้กับคนต่างจังหวัด ไม่ให้คนต่างจังหวัดได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศในช่วง 50 กว่าปีที่ผ่านมา พนา จันทร์วิโรจน์ กล่าวว่า “คนไทยที่มีการศึกษาส่วนใหญ่ไม่โง่เขลา ในแง่ว่าเขามองเห็นปัญหาความไม่เท่าเทียม (ในสังคมไทย) อย่างชัดเจน” แต่หากพวกเขาเห็นแล้ว ทำไมรัฐบาลชุดแล้วชุดเล่า และพวกหัวกะทิในสังคม ชนชั้นกลาง ไม่ทำอะไรเลยเพื่อให้คนในประเทศมีระดับเดียวกันทุกคน แทนที่จะหน่วงตัวเองไว้กับความสบายในห้องรวมศิลปินและนักเขียนของชาวกรุงเทพฯ แค่นั้น และทำไมสื่อส่วนหนึ่งของไทย (ยกเว้นสื่อและนักข่าวบางคนอย่างหนังสือพิมพ์มติชน ประวิทย์ โรจนพฤกษ์จาก The Nation ผู้วิเคราะห์ข่าวอย่าง “ช้างน้อย” และ ฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์) โดยเฉพาะสื่อวิทยุโทรทัศน์จึงไม่ทำหน้าที่ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของระบบประชาธิปไตย ลึก ๆ แล้วเป็นปัญหาด้านวัฒนธรรมที่โยงกับความจริง (หรือสิ่งที่เป็นจริง) ในประเทศไทย ความจริงไม่สามารถนำมาพูดได้ทุกอย่างไป ดีที่จะพูดหากความจริงนั้นเป็นบวก ย้อนความจำ : เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา นักข่าวสองคนถูกฆ่าด้วยกระสุนทั้งที่เขากำลังทำหน้าที่ในขณะที่เกิดวิกฤตการเมืองในประเทศไทย คือฮิโรชิ มุราโมโตะ (จาก JRI และ จากสำนักข่าว REUTER) และฟาบิโอ โปเลนจิ( Fabio Polenghi-ช่างภาพอิสระ) นักข่าวอีกอย่างน้อยเป็นสิบคนที่ได้รับบาดเจ็บ ในบรรดาสิบกว่าคนนั้น มี Nelson Rand (France 24), Chandler Vandergrift (สื่อมวลชนอิสระ), ชัยวัฒน์ พุ่มพวง (ช่างภาพจากเดอะเนชั่น), ไมเคิล มาอาส (Michel Maas -ผู้สื่อข่าววิทยุและโทรทัศน์ชาวเนเธอร์แลนด์), แอนดรูว์ บันคอมบ์ (Andrew Buncombe - ผู้สื่อข่าวจาก The Independent) และช่างภาพประจำหนังสือพิมพ์มติชน หมายเหตุผู้แปล * ผู้เขียนเป็นผู้สื่อข่าวให้กับ France 24 [1] พรรคฟุนซินเปค เป็นพรรคการเมืองขนาดกลางที่ตั้งขึ้นโดนฝ่ายนิยมสมเด็จนโรดมสีหนุ เมื่อ พ.ศ. 2536 มีแนวทางนิยมในสถาบันกษัตริย์ [2] FRANCE 24 คือสถานีโทรทัศน์ฝรั่งเศสที่เสนอข่าวนานาชาติแห่งแรกที่ออกอากาศ 24 ชั่วโมง และ ตลอดสัปดาห์ จัดตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2006 โดยนำเสนอมุมมองและความรู้สึกของคนฝรั่งเศสต่อความเป็นไปในโลก เป็นสถานีที่มีความเฉพาะตัว คือ เขียนและเสนอข่าวด้วยความเคารพในความหลากหลาย ให้ความสำคัญกับความแตกต่างของระบอบการเมืองและวิถีวัฒนธรรม ทั้งยังถอดรหัสหรือเข้าถึงเบื้องลึกของข่าวเพื่อให้ส่วนที่ซ่อนอยู่หรือถูกปิดกั้นได้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน สุดท้าย ให้ความสำคัญเป็นพิเศษด้านวัฒนธรรมและศิลปะการใช้ชีวิต FRANCE 24 นำเสนอข้อเขียนเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสนับแต่ปี 2006 และมีภาษาอาหรับตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2007 เตรียมจะนำเสนอเป็นภาษาเสปนต่อไป เป็นสถานีหาดูได้ทั่วโลก ผ่านดาวเทียม เคเบิ้ล และ อินเตอร์เน็ท FRANCE 24 เข้าสู่สายตาผู้นำทางความคิดในยุโรปนับแต่เริ่มเปิดตัว รวมถึงตะวันออกกลาง อัฟริกา และเมืองใหญ่ ๆ อย่างนิวยอร์ค วอชิงตัน ดีซี คณะทำงาน FRANCE 24 มีอิสรภาพในการเขียนข่าว และเหตุนี้จึงสามารถฉายภาพหรือทำรายงานข่าวที่ไม่มีการตัดต่อใด ๆ ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส ตั้งอยู่ที่ Issy-les-Moulineaux ใกล้กับปารีส มีสถานี TF1, France 2, France 3 เป็นผู้ร่วมกิจการ ได้รับข่าวส่งทอดบางชิ้นจาก Agence Presse-France, Arte, TV5MONDE, Euronews, France Internationale และ La Chaîne Parlementaire มีงบประมาณทุน 80 ล้านยูโร ต่อปี เมื่อเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2008 Nicolas Sarkozy ประธานาธิบดีฝรั่งเศสประกาศต้องการยุบให้เหลือภาษาฝรั่งเศสเพียงภาษาเดียว เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจาก France 24 แล้วก็ไม่ค่อยมีโอกาสมากนักที่จะได้เห็นการรายงานข่าวภาษายุโรปที่มีผู้ประกาศข่าวที่เป็นคนผิวสี"