บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทในสายธุรกิจดาวเทียมและธุรกิจต่างประเทศของกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น ที่เกิดจากแนวคิดของคนเดียวกันที่ชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก่อตั้งขึ้นวันที่ 7 พฤศจิกายน 2534 ใช้ชื่อเดิมว่า “ชินแซทเทลไลท์” ให้บริการดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติ ภายใต้การรับสัมปทานจากกระทรวงคมนาคมขณะนั้น แต่ปัจจุบันอำนาจการดูแลสัญญานี้ได้ถูกโอนไปอยู่ภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มีอายุสัญญา 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2534 – 2564
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติดวงแรกอย่างเป็นทางการว่า “ไทยคม” (THAICOM) มาจากคำว่า Thai Communications หรือ ไทยคมนาคม เพื่อเป็นสัญลักษณ์การเชื่อมโยงประเทศไทยกับเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่
ปี 2537 ไทยคมได้จดทะเบียนเข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อมาในเดือนเมษายนปี 2551 ได้เปลี่ยนจากชื่อเดิม ชินแซทเทลไลท์ เป็น “บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)” มีหน้าที่จัดส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร การควบคุมดูแลสุขภาพดาวเทียม การลงทุน การจัดการ และการตลาด เพื่อให้บริการช่องสัญญาณ โดยต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนแก่ไอซีที และต้องส่งมอบตัวดาวเทียม สถานีควบคุมดาวเทียม รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นกรรมสิทธิ์ของไอซีที เมื่อจัดส่ง และติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา บริษัท ไทยคม ได้จัดส่งและให้บริการดาวเทียมไทยคมแล้วทั้งสิ้น 5 ดวง ได้แก่ ดาวเทียมไทยคม 1(ปลดระวางปี 2551), ไทยคม 2 (ใกล้ปลดระวางกลางปี 2553) , ไทยคม 3 (ปลดระวางเมื่อปี 2549), ไทยคม 4 (ไอพี สตาร์) และไทยคม 5 ประกอบธุรกิจหลัก 4 สายธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจดาวเทียมและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอินเตอร์เน็ต ธุรกิจโทรศัพท์ในต่างประเทศ และธุรกิจบริการจัดพิมพ์และเผยแพร่สมุดโทรศัพท์
บริษัท ไทยคม เริ่มถูกจับตามองทันที เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และคนในตระกูลชินวัตร ตัดสินใจขายหุ้นกลุ่มชินทั้งหมดให้กับกองทุนเทมาเส็ก ของรัฐบาลสิงคโปร์ ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 73,000 ล้านบาท ในปี 2549 ท่ามกลางกระแสต่อต้านและเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความเหมาะสม การหลบเลี่ยงภาษี ฯลฯ แต่สิ่งที่คนไทยจำนวนมากรับไม่ได้คือกิจการดาวเทียมของคนไทย และเกี่ยวกับความมั่นคง ต้องตกไปอยู่ในมือของต่างชาติโดยปริยาย ทั้งที่เป็นทรัพยากร และสมบัติของชาติ
ทันทีที่ พ.ต.ท.ทักษิณตกกระป๋อง นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา รัฐบาลหลังจากนั้นพยายามพูดถึงการทวงคืนดาวเทียมไทยคมกลับคืนสู่คนไทย ไล่เรียงตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องหาช่องกฎหมายยึดคืน แต่ต้องประสบกับความผิดหวังเพราะบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ผู้ถือรายหุ้นใหญ่ในบริษัท ไทยคม จำกัด) ได้ขายหุ้นให้บริษัท ซีดาร์ โฮลดิงส์ จำกัด ซึ่งบริษัทนี้ แม้จดทะเบียนในประเทศไทย แต่มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ไทยคม จึงมีสถานะเป็นบริษัทลูกของชิน คอร์ป การพิจารณาโดยเบื้องต้น จึงไม่ขัดกับข้อกฎหมาย เพราะ บริษัทชินคอร์ปอเรชั่นไม่ใช่บริษัทต่างชาติโดยตรงที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่เป็นบริษัทลูกอีกชั้นหนึ่ง ถือเป็นการเลี่ยงโดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย
กระทั่งมาในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ การยึดคืนไทยคมถูกจุดพลุขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ มูลค่า 46,000 ล้านบาท ในคำวินิจฉัยมี
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไทยคม ดังนี้ คือ
1.การละเว้น อนุมัติส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจดาวเทียม ตามสัญญาสัมปทานดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยมิชอบ 3 กรณี คือ การยิงดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งมีลักษณะการใช้งานแตกต่างจากดาวเทียมไทยคม 3 ขัดต่อสัญญาสัมปทานที่ระบุว่าต้องยิงดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) เพื่อเป็นดาวเทียมสำรองของไทยคม 3
2.การแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมในประเทศ ลดสัดส่วนการถือหุ้น ของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในบริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) จากเดิมที่กำหนดให้ต้องถือหุ้นไม่ตํ่ากว่า 51% เหลือไม่ต่ำกว่า 40% โดยนำสัดส่วนหุ้นที่ลดลงไปขาย เพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลีกเลี่ยงการเพิ่มทุนหรือกู้เงินด้วยตนเอง ถือเป็นการผิดสัญญาสัมปทาน
3.การนำเงินที่ได้จากการประกันความเสียหายดาวเทียมไทยคม 3 จำนวน 33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปใช้ผิดประเภทที่กำหนดไว้ในสัมปทาน โดยนอกเหนือจากการนำเงินจำนวน 26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปใช้ว่าจ้างสร้างดาวเทียมดาวใหม่แล้ว ส่วนจำนวนเงินที่เหลือ 6 ล้านเหรียญฯ ได้นำไปใช้เช่าดาวเทียมดวงใหม่ ถือว่าผิดสัญญาสัมปทาน และอีก 1 ล้านเหรียญฯ นำไปฝากไว้ที่สิงคโปร์ แทนที่จะนำกลับคืนเป็นรายได้เข้ารัฐ เนื่องจากค่าสินไหมที่ได้รับถือว่าเป็นทรัพย์สินของรัฐภายใต้สัมปทาน
สถานการณ์ที่ทำให้ความพยายามยึดคืนไทยคมกลับมาเข้มข้น และเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เมื่อการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมเผด็จการประชาธิปไตยแห่งชาติ (นปช.) หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง ใช้สถานีโทรทัศน์พีเพิล ชาแนล (พีทีวี) เป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสารกับผู้ชุมนุม บริษัท ไทยคม ในฐานะผู้ให้พีทีวีเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม จึงถูกรัฐบาลสั่งปิดทีวีคนเสื้อแดง แต่ก็ต้องล้มไม่เป็นท่า ทำได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อพีทีวีอาศัยช่องทางจากดาวเทียมดวงอื่นส่งผ่านสัญญาณมายังผู้ชุมนุม
รัฐบาลอภิสิทธิ์จึงต้องหยิบยกสัญญาข้อ 43 ที่ระบุถึงความจำเป็นเพื่อความมั่นคงของชาติหรือเพื่อดำเนินการตามหน้าที่ตามกฎหมาย ทางไอซีทีสามารถยกเลิกสัญญากับไทยคมได้มาขู่ไทยคมจนสามารถปิดพีทีวีได้เด็ดขาด
หลังเหตุการณ์วุ่นวายกลางเมือง รัฐบาลยังคงไม่ลดละความพยายามยึดคืนไทยคม
เรื่องมาปรากฏชัดขึ้นเมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯออกมายอมรับเองว่าได้มอบหมายให้นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง และนายศิริโชค โสภา เลขานุการส่วนตัวนายกฯ เดินทางไปเจรจากับกลุ่มเทมาเส็ก ที่สิงคโปร์ พร้อมผุดโมเดลใหม่ "ประกาศซื้อคืนไทยคม"
ประเด็นการซื้อคืนไทยคมนั้น หากพิจารณาจากข้อสัญญาสัมปทานข้อที่ 15 ที่ไทยคม มีต่อไอซีทีแล้วนั้น การซื้อดาวเทียมคืนไม่มีความจำเป็น ยกเว้นไทยคม 4 (ไอพี สตาร์) เนื่องจากดาวเทียมไทยคมที่เหลือ ภายใต้สัญญาสัมปทานจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงไอซีที ดังนั้น ประเด็นการซื้อคืนไทยคมนั้น รัฐบาลจะซื้อคืนดาวเทียมในส่วนไอพีสตาร์เท่านั้น สืบเนื่องจากตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ไอพี สตาร์อยู่นอกสัญญาสัมปทาน เนื่องจากการจัดสร้างผิดจากสัญญาสัมปทาน แต่ได้ใช้วงโคจรของประเทศไทย ซึ่งประเด็นนี้จะต้องแยกออกจากกันอย่างชัดเจน คือต้องดำเนินการทางกฎหมาย เอาผิดกับผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบ
ดังนั้น การซื้อคืนไทยคมจึงน่าจะออกมาเป็นรูปแบบการซื้อกิจการคืน หรือซื้อสัญญาสัมปทานที่เหลือนั่นเอง โดยมูลค่าการลงทุนนั้น ก็พิจารณาจากอายุสัญญาสัมปทานที่เหลืออยู่ ส่วนนี้สามารถดำเนินการได้ ขึ้นอยู่กับว่าทางเทมาเส็กจะตัดสินใจขายหรือไม่
และที่สำคัญรัฐบาลไทยอยากซื้อคืนใจจะขาดจริงๆ หรือแค่เพียง "ปั่นข่าว" กลบกระแสการเมืองภายในประเทศที่ร้อนแรงเท่านั้น !!