ที่มา ข่าวสด
ปปง.ชงศอฉ. ไล่บี้ 84 ราย อ้างเบี้ยวหัวคิวพาม็อบไปชุมนุมกรุง ด้าน "คณิต ณ นคร" ได้ฤกษ์บุกค่ายนเรศวรหารือวีระ-แกนนำนปช. ด้านไข่มุกดำยอมรับคณิตยินดีให้ข้อมูล แต่ไม่ยอมรับอภิสิทธิ์เพราะเป็นฆาตกรสั่งฆ่าประชาชน ยันไม่ส่งแกนนำเข้าร่วมเป็นกรรมการสอบ ดีเอสไออ้างคนตอบรับน้อยนิรโทษผู้ร่วมชุมนุม เตรียมเสนอศอฉ.หาทาง ออก ปปง.เตรียมชงศอฉ.ไล่บี้ 84 รายที่ห้ามทำธุรกรรม อ้างพบเส้นทางการเงินผิดปกติช่วงการชุมนุมของนปช.
เอิ๊กอ๊าก - นายคณิต ณ นคร ประธานสอบสวนคดีม็อบ จับมือทักทายกับนายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำนปช. ระหว่างนายคณิตเดินทางไปพูดคุยถึงในค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรี เพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการชุมนุมคนเสื้อแดง ตามข่าว
-แยกนิรโทษกลุ่มไม่ทำเพื่อแม้ว
เมื่อเวลา 09.15 น.วันที่ 14 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษเตรียมศึกษากฎหมายพิเศษ เพื่อนิรโทษกรรมให้กลุ่มผู้ชุมนุมว่า เมื่อนายกฯกำหนดนโยบายปรองดองแห่งชาติเพื่อสร้างความสงบให้บ้านเมือง ส่วนราชการต่างๆ ก็พยายามช่วยกันคิดมาตรการที่เป็นรายละเอียดให้เป็นไปตามกรอบที่นายกฯวางไว้แล้ว ดังนั้น ศอฉ.จึงช่วยกันระดมสมองว่ามีประเด็นใดบ้างที่ศอฉ.เห็นว่าควรนำเสนอรัฐบาลเพื่อให้พิจารณารับเป็นมาตรการย่อยๆ เพื่อตามแนวปรองดอง เริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจประชาชนให้ทราบข้อเท็จจริง การดูแลประชาชนในชนบท
นายสุเทพ กล่าวว่า แนวคิดที่ว่าประชาชนบางส่วนที่มาร่วมชุมนุมด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้เป็นเครื่องมือ หรือบริวารของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯที่จะมาต่อสู้เพื่อประโยชน์ของพ.ต.ท.ทักษิณ แต่เป็นคนที่กระทำความผิดพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน คนเหล่านี้ควรดูแลเขาอย่างไร ตรงนี้เป็นคำถามที่มีการตั้งขึ้นและมีคนเสนอในที่ประชุมศอฉ.ว่าสิ่งหนึ่งที่ทำได้คือออกกฎหมายพิเศษออกมาว่า คนเหล่านี้ไม่ต้องได้รับโทษ หรือที่เรียกว่านิรโทษ หรืออะไรก็ว่าไป เมื่อศอฉ.ได้รับฟังแนวทางดังกล่าวแล้วก็มอบให้คณะทำงานไปยกร่างฯมาดูว่าจะมีเนื้อหาสาระอย่างไร แล้วจะต้องมาพิจารณาชั่งน้ำหนักกันดูว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วเป็นผลดีเสียอย่างไร
-โยนหิน-ถ้าสังคมเอาด้วยก็ทำ
นายสุเทพ กล่าวว่า เนื่องจากในที่ประชุมนั้นมีผู้ท้วงติงไว้ว่า หากออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะทำให้กฎหมายบ้านเมืองเกิดปัญหาในการบังคับใช้ในวันข้างหน้า เพราะถ้านปช.ไประดมคนมาชุมนุม ก่อความไม่สงบอีก ถ้ามีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อห้ามการชุมนุมในคราวนั้นคนจะไม่เกรงกลัวกฎหมายและจะเกิดปัญหา ดังนั้นเรื่องนี้ มันเป็นเรื่องของความคิดที่มีความหลากหลายและต้องผ่านการสังเคราะห์ การพิจารณาอีกหลายขั้นตอน ยังไม่ใช่ข้อสรุป แต่บังเอิญเป็นข่าวออกมาเสียก่อน จึงต้องชี้แจง อย่างไรก็ตาม การคิดอย่างเป็นคณะต้องใช้เหตุผลร่วมกัน ถ้าคนส่วนใหญ่เห็นคล้อยตามกันก็ดำเนินการ แต่ถ้าส่วนใหญ่ไม่เห็นคล้อยตามก็ไม่ดำเนินการ
ผู้สื่อข่าวถามว่าแต่บางฝ่ายห่วงว่าการออกกฎหมายนิรโทษกรรมอาจทำให้พวกนปช.ที่มีหมายจับ หรือก่อคดีนั้นได้รับการพ้นผิดไปด้วย นายสุเทพ กล่าวว่า ตอนนี้สามารถแสดงความคิดเห็นได้ทุกฝ่าย อยู่ในระหว่างการระดมความเห็น การฟังเหตุผล ดังนั้นใครเห็นด้วยหรือไม่ ก็บอกมา จะได้ชั่งน้ำหนัก เมื่อถามว่าจะพิจารณาทันเข้าสู่ที่ประชุมครม.ในวันที่ 15 มิ.ย.หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่ได้รีบร้อนขนาดนั้นและต้องผ่านที่ประชุมศอฉ.ก่อน เมื่อถามว่าจะออกเป็นพ.ร.บ.หรือเป็นพ.ร.ก.เพื่อให้ประกาศใช้ได้ทันที นายสุเทพ กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้เพราะมันอาจไม่ออกมาเลยก็ได้
ผู้สื่อข่าวถามถึงองค์การนิรโทษกรรมสากลเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกพ.ร.ก.ก่อนที่จะปรองดอง นายสุเทพ กล่าวว่า ตนในฐานะผู้รับผิดชอบในการแก้ปัญหาบ้านเมือง ตนเข้าใจในองค์กรต่างๆ ที่เขาทำงานว่ามีแนวทาง มีหลักการ แต่เราคิดถึงความอยู่รอดของประเทศไทย ประชาชนไทย และคนเหล่านั้นอาจจะคิดอะไรก็ได้ แต่เวลาที่บ้านเมืองและคนไทยเดือดร้อน เจ็บปวด เขาไม่มาเจ็บกับเราด้วย
-"มาร์ค"ว้ากทนายแม้ว-แค่รับจ้าง
ที่โรงแรมเรดิสัน นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงข่าวจะเชิญองค์กรระหว่างประเทศมาหารือว่า เชิญมาเพราะเราอยากฟังว่าเขายังมีความห่วงใยอะไรกับการดำเนินการทั้งหมด และต้องการย้ำให้ทราบว่าเรากำลังทำอะไร ล่าสุด ได้ตั้งคณะกรรมการโดยผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมาดำเนินการ ส่วนที่องค์กรนิรโทษกรรมเรียกร้องให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกษิต กล่าวว่า ไม่เป็นไร พูดคุยกันได้เราก็ชี้แจงไป เชื่อว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจได้
เวลา 14.00 น. ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายต่างชาติของ พ.ต.ท.ทักษิณโจมตีสถาน ภาพของรัฐบาลไทยว่า นายอัมสเตอร์ดัม ได้บิดเบือนข้อเท็จจริงมาแล้วหลายครั้ง ตนทราบว่ามาหลังเวทีการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ ก็พยายามจะพูดกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศคนอื่นว่าการชุมนุมไม่มีอาวุธเลย แล้ว มีคนที่อยู่ตรงพื้นที่ดังกล่าวทักท้วงกับนายอัมสเตอร์ดัมว่า ยังไม่เห็นอีกหรือ ซึ่งเขาไม่ได้สนใจ "เขาก็เป็นลูกจ้าง" เมื่อถามว่าจะมีการฟ้องร้องหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ ไม่ตอบคำถามดังกล่าว พร้อมแหวกวงล้อมเดินขึ้นรถกลับออกไปทันที
-กุนซือแม้วโต้รัฐเอาแต่โทษทักษิณ
เวลา 14.30 น. ที่พรรคเพื่อไทย นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายพ.ต.ท.ทักษิณ แถลงถึงนายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศกดดันให้รัฐบาลยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เกิดจากพ.ต.ท.ทักษิณ ว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์เคลื่อนไหวใส่ร้ายรัฐบาลและให้ข้อมูลผิดๆ แก่องค์กรระหว่างประเทศว่า ตนยังยืนยันว่ารัฐบาลควรยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเป็นการละเมิด ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน อีกทั้งสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย แต่รัฐบาลยังคงกล่าวโทษพ.ต.ท.ทักษิณ ว่าให้ข้อมูลผิดๆ ต่อองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งตนอยากให้รัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์เข้าใจการทำงานว่าองค์กรเหล่านี้มีสาขา มีตัวแทนทั่วโลก รวมถึงในไทยจึงสามารถหาข้อมูลได้เอง ขอรัฐบาลอย่ามากล่าวหา เราให้ข้อมูลเป็นจริงทุกอย่าง เรารักชาติรักประเทศไทย แต่ไม่รักรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เพราะทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตประชาชนจำนวนมาก
โผล่โฉม - นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ปรากฏตัวต่อหน้าสื่อมวลชนเป็นหนแรก หลังจากเว้นวรรคไปนาน โดยนำแกนนำนปช.คนอื่นๆ เข้าพูดคุยให้ข้อมูลกับนายคณิต ณ นคร ที่มาสอบสวนถึงในค่ายนเรศวร จ.เพชรบุรีด้วย เมื่อ 14 มิ.ย.
นายนพดล กล่าวว่า ทราบว่าการที่รัฐบาลส่งนายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย ไปให้ข้อมูลต่างประเทศนั้น มีหลายเรื่องที่พูดไม่จริงเช่น การสั่งสลายชุมนุม และยังใช้กลไกกระทรวงการต่างประเทศให้ข้อมูลที่เป็นเท็จในต่างประเทศ ดังนั้น รัฐบาลต้องใจกว้าง เมื่อกล่าวหาว่าพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ก่อการร้าย ต้องใจกว้าง ถ้าจะสร้างความปรองดองต้องให้ สิทธิเสรีภาพแก่อีกฝ่ายให้ข้อมูลต่อสาธารณะ อีกทั้งรัฐบาลต้องยอมรับความจริงว่าปัจจุบันข้อมูลข่าวสารไม่สามารถปิดบังได้ทั้งหมด
-ธาริตอ้างตอบรับนิรโทษไม่ดี
เวลา 13.00 น. ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมหารือร่วมกรณีเตรียมศึกษากฎหมายพิเศษเพื่อนิรโทษกรรมให้กลุ่มผู้ ชุมนุมนปช.ว่า ตามที่ศอฉ.มอบให้ 3 หน่วยงานคือ ดีเอสไอ สมช. กฤษฎีกา หารือกรอบแนวทางเบื้องต้น เพื่อนำข้อดีข้อเสียก่อนจะยกร่างเพื่อเสนอศอฉ.ต่อไป ซึ่งที่มาในวันนี้เพื่อมาหารือในการยกร่าง
นายธาริต กล่าวว่า เป็นการหารือเบื้องต้น ยังไม่มีข้อสรุป และกรอบนั้นดูเฉพาะกรอบความผิดเล็กน้อย คือการเข้าร่วมชุมนุมโดยฝ่าฝืนกฎหมายเท่านั้น ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี มุ่งเน้นผู้เข้าร่วมชุมนุม ไม่มีเจตนาร้ายหรือกระทำความผิดอื่น อาทิ ก่อการร้าย วางเพลิง เผาทรัพย์ปล้นสะดม ทำร้ายร่างกาย กระทำต่ออาวุธ ยุทธภัณฑ์ ทั้งหลายเหล่านี้จะไม่อยู่ในกรอบดังกล่าว
"ยอมรับว่าเสียงตอบรับที่ออกมาไม่ดีเลย มีแต่คนคัดค้าน ไม่มีคนสนับสนุน ซึ่งไม่เป็นไร เพราะ 3 หน่วยงานศึกษาเฉพาะแค่ความเป็นไปได้ ส่วนการตัดสินใจเป็นเรื่องของศอฉ.และรัฐบาล ซึ่งเป็นธรรมดาที่มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ผมเป็นข้าราชการประจำมีหน้าที่ทำงานด้านเทคนิค เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และรูปแบบ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรเป็นการตัดสินใจสุดท้ายของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม เมื่อร่างเสร็จแล้วต้องรายงานศอฉ.ก่อน โดยเสนอในอีก 1-2 วัน คงไม่ใช่วันนี้ ศอฉ.จะว่าอย่างไร ถ้าเห็นด้วยนำไปสู่รัฐบาลแต่ถ้าไม่เห็นชอบก็ต้องตกไป" นายธาริต กล่าว
- เตรียมประมวลให้ศอฉ.ชี้ขาด
ผู้สื่อข่าวถามว่าสถานะของกฎหมายจะออกเป็นพ.ร.ก.หรือพ.ร.บ. นายธาริต กล่าวว่า ในอดีตเป็นไปได้หลายรูปแบบ ทั้งพ.ร.ก.และ พ.ร.บ. ถ้าพ.ร.ก.จะเป็นกฎหมายของฝ่ายบริหารที่เมื่อออกมาบังคับใช้มีผลทันที แล้วไปขอสภาเห็นชอบแต่ถ้าเป็นพ.ร.บ.คงต้องใช้เวลาเพราะต้องผ่านทั้งสองสภา เมื่อถามถึงจำนวนของผู้ที่เข้าข่ายนิรโทษกรรม นายธาริต กล่าวว่า คนที่เข้าร่วมชุมนุมโดยผิดกฎหมายมีจำนวนเป็นหลักหมื่นถูกหรือไม่
เวลา 15.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธาริต ให้สัมภาษณ์ว่าได้หารือว่าในอดีตเคยออกกฎ หมายทำนองนี้หลายฉบับแล้ว รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการออกกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมีทั้งในรูปแบบของพระราชกำหนด และพระราชบัญญัติ โดยที่ประชุมเห็นว่าสามารถออกกฎหมายในรูปแบบพิเศษได้ มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน โดยจะนำข้อเสนอของสามหน่วยงานนี้เข้าที่ประชุมศอฉ.เพื่อให้ศอฉ.และรัฐบาลตัดสินใจว่าจะใช้รูปแบบใด
เมื่อถามว่าในการพิจารณาครั้งนี้นำความคิดเห็นและกระแสสังคมมาประกอบการพิจารณาด้วยหรือไม่ นายธาริต ปฏิเสธว่า ไม่มีการหยิบ ยกมาพิจารณา เพราะถ้าเรานำกระแสสังคมมาพิจารณา เกรงว่าจะไม่ครบถ้วน ขอให้เป็นเรื่องของศอฉ.และรัฐบาลตัดสินใจ หากตัดสินใจว่าจะมีกฎหมายดังกล่าว จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกร่างกฎหมาย
-"สุธาชัย"ให้ปากคำเพิ่มคดีผิดพ.ร.ก.
เมื่อเวลา 14.00 น.วันเดียวกัน ที่สน.นางเลิ้ง ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง เพื่อให้ปากคำเพิ่มเติมหลังถูกจับกุมในความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมี พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น. พ.ต.อ. วีรวิทย์ จันทร์จำเริญ รองผบก.น.1 พ.ต.อ.รังสรรค์ ประดิษฐ์ผล ผกก.สน.นางเลิ้ง และพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ร่วมสอบปากคำ
พล.ต.ต.อำนวย กล่าวว่าผศ.ดร.สุธาชัย มาให้ปากคำเพิ่มเติมหลังจากถูก ศอฉ.ควบคุมตัวไว้ที่ค่ายอดิศร จ.สระบุรี เป็นเวลา 8 วัน ฐานความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ห้ามชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป ยุยงหรือส่งเสริมให้เกิดความวุ่นวายขึ้นภายในบ้านเมือง แต่ ผศ.ดร.สุธาชัยไปร่วมกับกลุ่ม 24 มิถุนา แจกใบปลิวเกี่ยวกับการเมืองที่บริเวณหน้ามูลนิธิ 111 ซึ่งเป็นการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินขณะที่ยังอยู่ในช่วงประกาศใช้ พ.ร.ก. ทั้งนี้ ความผิดดังกล่าวมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หลังจากที่ ผศ.ดร.สุธาชัยได้รับการปล่อยตัว สน.นางเลิ้งได้รับตัวมาดำเนินคดีต่อตามความผิดดังกล่าวทันที ทั้งนี้ผศ.ดร.สุธาชัยได้ให้ปากคำที่เป็นประโยชน์อย่างมาก แต่บอกว่าที่เดินทางมาพบเจ้าหน้าที่เพื่อสอบปากคำในฐานะของนักวิชาการ ไม่ใช่ผู้ต้องหา คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะสามารถส่งสำนวนคดีนี้ให้อัยการเพื่อส่งฟ้องต่อศาลได้ นอกจากนี้สัปดาห์หน้ายังนัดให้นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ประธานกลุ่ม 24 มิถุนา มาให้ปากคำในข้อหาเดียวกับ ผศ.ดร.สุธาชัย เช่น เดียวกัน ส่วนจะส่งฟ้องได้เมื่อใดต้องรอสอบปาก คำเสร็จสิ้นก่อนจึงจะสามารถระบุได้
-"วรพล"มอบตัวคดีผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
เมื่อเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน ที่กองปราบปราม รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร อายุ 53 ปี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยนายคารม พลทะกลาง ทนายความของกลุ่ม นปช. เดินทางเข้ามอบตัวกับ พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รักษาราชการแทน ผบก.ป. พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ สุขวัฒน์ธนกุล ผกก.5 บก.ป. ตามหมาย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่ 19/2553 ลงวันที่ 8 เม.ย.53
รศ.วรพล เปิดเผยว่าหลังรู้ว่าถูกศาลออกหมายจับตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ได้ประสานผ่านทนายความเพื่อติดต่อขอเข้ามอบตัวกับกองปราบปราม แต่เนื่องจากตนมีปัญหาเรื่องสุขภาพ จึงเลื่อนนัดมาเป็นวันเดียวกันนี้ ซึ่งที่ผ่านมาตนก็อยู่กับภรรยาที่บ้าน ไม่ได้หลบหนีไปไหน
นายวรพล ยังกล่าวต่อถึงกรณีที่ตนเองถูกหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการไปนั้นเป็นการติดตามข้อมูล วิเคราะห์ นำเสนอ คาดคะเนสิ่งที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งยังให้ข้อแนะนำกับทั้งสองฝ่าย เช่น แนะนำประชาชนว่าให้ใช้สันติวิธี ส่วนรัฐบาลก็แนะนำว่าไม่ควรใช้อำนาจเกินเลยจากที่มีอยู่ ซึ่งเป็นเจตนาทางวิชาการอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเจตนาที่จะละเมิด กฎหมายฉบับใด และในหมายจับนั้นก็ระบุว่าตนเป็นเพียงผู้ต้องสงสัย ไม่ได้บอกว่ากระทำผิด
ภายหลังการสอบปากคำเสร็จ พนักงาาน สอบสวนก็จะนำตัวนายวรพลไปควบคุมตัวไว้ ที่ บก.ตชด.ภาค 1 ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
-แฉจ่อเชือดข้อหาก่อการร้ายนปช.
ด้านนายคารม กล่าวว่า ทราบมาว่าในวันที่ 15 มิ.ย. นี้ พนักงานสอบสวนของกองปราบปราม.จะนำตัวแกนนำ นปช.ประมาณ 10-13 คน ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ค่ายนเรศวร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และที่ บก.ตชด.ภาค 1 ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ไปยังศาลอาญา เพื่อขอถอนหมายของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่หลังจากถอนหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษจะขออำนาจศาลควบคุมตัวต่อในคดีก่อการร้ายทันที อย่างไรก็ตาม อยากเรียกร้องไปทางรัฐบาลว่าถ้าคิดจะปรองดอง เหตุใดจึงไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
นายคารม กล่าวอีกว่า ในฐานะทนาย นปช. ไม่รู้สึกชื่นชมเลยเรื่องที่รัฐบาลตั้งนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธานคณะกรรม การอิสระในการตรวจสอบสอบข้อเท็จจริงจากกรณีการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการชุมนุมทางการเมืองนั้น ไม่ว่าจะเป็นนายคณิต ณ นคร หรือนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รับไม่ได้ ตนไม่เห็นแนวทางในการปรองดอง
สำหรับทางดีเอสไอนั้นขอเรียนว่าไม่ได้มีมาตรฐานในการดำเนินคดีกับคนเสื้อแดง วันนี้ข้อหาก่อการร้าย ตนไปสอบการ์ดมา 3-4 คนที่ค่ายนเรศวร นายสมบัติ มากทอง คนนี้เป็นคนทำกับข้าว แต่เจอข้อหาผู้ก่อการร้าย อีกคนเป็นแค่อดีตทหารพรานชื่อนายเรืองอำนาจ แค่ถ่ายรูปกับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล แค่นี้เองถูกจับเป็นผู้ก่อการร้าย ลักษณะนี้ไม่มีทางปรองดองได้
"ผมคิดว่าสักวันหนึ่งดีเอสไอ โดยเฉพาะอธิบดีคนนี้จะต้องถูกตรวจสอบอย่างแน่นอน อย่าเพิ่งลำพองใจไป คนเขารู้ทั้งบ้านทั้งเมืองว่าเป็นหนึ่งในกรรมการ ศอฉ. วันนี้ก็ยังไม่ถูกดำเนินคดีก็มาแจ้งข้อหากับกลุ่ม นปช.ก็ขัดกันอยู่แล้วในเรื่องของกฎหมาย และการไล่ล่าอ้วน บัวใหญ่นั้นเป็นตัวอย่างหนึ่งของความรุนแรง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ต้องมาพูดว่ารัฐบาลไม่เกี่ยวข้อง เราก็พอสันนิษฐานได้" นายคารม กล่าว
-คณิตรุดค่ายตชด.จับเข่า"วีระ"
เวลา 14.10 น. นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้เดินทางมายังค่ายนเรศวร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เพื่อพูดคุยกับนายวีระ มุสิกพงศ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ที่ถูกควบคุมตัว ตามพ.ร.ก. ฉุกเฉิน
นายคณิต ให้สัมภาษณ์ว่า เบื้องต้นในฐานะคนใต้ด้วยกันจะขอพูดคุยกับนายวีระก่อน จากนั้นอาจจะพูดคุยกับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช.และคนอื่นๆ เนื่องจากตนมีเวลาทั้งวัน จะพูดคุยให้ครบเพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหามากที่สุด
จากนั้น เวลา 14.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ได้นำตัวนายวีระ ซึ่งสวมเสื้อยืดสีแดงมีข้อความ หัวหิน ใส่กางเกงเลสีน้ำเงิน มีผ้าขาวม้าคาดเอว มายังอาคารอเนกประสงค์ ซึ่งเป็นสถานที่พูดคุย โดยนายวีระ เมื่อได้พบนายคณิต ต่างคนเข้าไปจับมือ โอบกอด หัวเราะอย่างอารมณ์ดี และทักทายกันเป็นภาษาใต้ ระหว่างที่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนบันทึกภาพนั้นนายวีระกล่าวว่า มาอยู่ที่นี่รู้สึกว่าน้ำหนักขึ้นอย่างน้อย 2 กิโลกรัม ผู้สื่อข่าวถามว่าแต่ละวันทำกิจกรรม อะไรบ้าง นายวีระกล่าวว่า "ทำอย่างหมูๆ คือกินแล้วนอน"
ผู้สื่อข่าวถามว่าดูท่าทางนายวีระแข็งแรงขึ้น นายวีระ กล่าวว่า ได้พักผ่อนเลยดูแข็งแรงขึ้น เมื่อถามว่าแกนนำคนอื่นเป็นอย่างไรบ้าง นายวีระกล่าวติดตลกว่า หลายคนบอกว่าไม่อยากกลับบ้าน เพราะมาอยู่ที่นี่มีรถไฟหลายขบวน ขืนกลับบ้านไปเดี๋ยวรู้ว่าใครเป็นใคร ทั้งนี้ มีคนมาเยี่ยมอยู่ตลอดเวลา เล่าข่าวคราวให้ฟัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นทั้งคู่ได้เข้าห้องประชุมเพื่อพูดกัน โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง มีเพียงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องคอยดูแลเท่านั้น ทั้งนี้ หน้าห้องยังมี ตชด.พร้อมอาวุธครบมือดูแลความสงบเรียบร้อยด้วย
-นปช.ติดใจมาร์คเป็นผู้แต่งตั้ง
เวลา 17.00 น. นายวีระ กล่าวภายหลังการให้ข้อมูลกับนายคณิตนานกว่า 3 ชั่วโมงว่า ตนและแกนนำนปช.ทุกคนที่ถูกควบคุมตัวไม่ได้ติดใจในเรื่องคุณสมบัติของนายคณิต พวกตนขอขอบคุณที่ได้รับเกียรติในฐานะเป็นผู้ก่อการร้ายที่ได้ร่วมให้ข้อมูลกับคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งแนวทางการให้ข้อมูล พวกตนเห็นตรงกันเรื่องการปรองดองและพร้อมสนับสนุนแนวทางการปรองดองทุกวิถีทาง เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาของประเทศและปัญหานี้ต้องได้รับการแก้ไข แต่พวกตนติดใจตรงที่คณะกรรมการชุดนี้มาจากการตั้งของนายอภิสิทธิ์ ซึ่งมีข้อสงสัยและถือว่าเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายประชาชน เช่นเดียวกับแกนนำนปช.ที่ไม่ควรเข้ามาร่วมตั้งคณะกรรมการชุดนี้ ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เป็นกลางและมีอิสระ สามารถค้นหาข้อมูลข้อเท็จจริงและแสวงหาความจริง
"ยืนยันว่าพวกผมจะช่วยคณะกรรมการชุดนี้อย่างเต็มที่ แต่จะไม่ส่งบุคคลใดของคนเสื้อแดงเข้าไปเป็นคณะกรรมการ แต่พร้อมให้ข้อมูลอย่างละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับเหตุการณ์ในช่วงที่ผ่านมา แต่พวกเราติดใจตรงที่นายอภิสิทธิ์ไม่น่าจะมาเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เพราะนายกฯถูกตั้งข้อหาฆ่าประชาชน" นายวีระกล่าว
-ไม่เสนอคนร่วม-รังเกียจคนตั้ง
เมื่อถามว่าการหารือครั้งนี้เป็นรูปธรรมชัด เจนแค่ไหน นายวีระ กล่าวว่า ยังไม่มี เป็นเพียงการพูดคุยหารือและให้ข้อมูล ซึ่งคณะกรรมการจะนำข้อมูลไปไตร่ตรองเพื่อทำให้ดีที่สุด เพื่อประเทศชาติ เราพร้อมให้ความร่วมมือ หากมีประสานมาก็พร้อมให้ข้อมูลและคำแนะนำ ทั้งนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง แต่ระหว่างการทำงานไม่ได้เผยแพร่ให้ประชาชนรับฟังเป็นระยะ แต่เชื่อว่าคณะกรรมการชุดนี้ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริงข้อมูลทั้งหมดจะไม่สูญหายไป แต่จะเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้
ผู้สื่อข่าวถามว่า นปช.จะเสนอบุคคลเข้ามาทำหน้าที่คณะกรรมการหรือไม่ นายวีระ กล่าวว่า ไม่เสนอเพราะรังเกียจคนแต่งตั้ง แต่ไม่ได้มีอคติต่อนายคณิต เพราะหากคณะกรรมการมีอิสระได้ ต้องทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ให้คู่กรณีของทั้งสองฝ่ายมาอยู่ในคณะกรรมการเดียวกัน เพราะจะมีแต่การเถียงกันไปมา ไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้ความคืบหน้า ไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ได้รับความร่วมมือ แต่หากเป็นคณะกรรมการชุดนี้มาสอบถามเราก็พร้อมยอมรับ และพร้อมให้ข้อเท็จจริง เพื่อเอาความจริงมาเปิดเผยต่อประชาชน ทั้งนี้ เห็นใจเพราะตั้งขึ้นมาแบบนี้ นายคณิตจะทำงานลำบากและทำงานหนัก ซึ่งพวกเราจะเอาใจช่วยและแกนนำนปช.ที่ถูกควบคุมตัวที่นี่ เห็นในทางเดียวกันที่จะนำความจริงไปเปิดเผยสู่สาธารณชน
-คณิตพอใจข้อมูล-เผยแนวโน้มดี
ด้านนายคณิต กล่าวว่า วันนี้ได้รับความกรุณาจากนายวีระและทุกท่านอย่างดียิ่ง มีข้อเสนอแนะมาก ซึ่งจะรับไปพิจารณาในกลุ่มเล็กๆ แต่จะติดต่อมายังนายวีระอีก ซึ่งนายวีระระบุว่าไม่ต้องมาที่นี่อีก ครั้งหน้าไปที่กทม.ก็ได้ คิดว่าการมาเยี่ยมครั้งนี้มีความคิดแนวบวกเป็นอย่างมาก ส่วนเราจะทำอะไรอย่างไรต่อไปจะเรียนให้ทราบ
ผู้สื่อข่าวถามว่าข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมมีอะไรบ้าง นายคณิต กล่าวว่า สอบถามนายวีระได้ เขาไม่มีอะไรปิดบัง ตนจะเอาข้อเสนอแนะที่ท่านให้ไปไตร่ตรอง ทำให้ดีที่สุดเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยต่อบ้านเมือง เมื่อถามว่าข้อเสนอแนะเบื้องต้นมีอะไรรับได้หรือไม่ นายคณิต กล่าวว่า นายวีระ จะมีข้อแนะนำให้ตนอีก ไม่ได้หมดแค่นี้ ท่านรับปากไว้และหวังใจว่าจะได้รับคำแนะนำที่ดีประกอบคำแนะนำในอนาคต
นายคณิต กล่าวว่า วันนี้บรรยากาศพูดคุยดีมาก ฟังแล้วได้ไตร่ตรอง เป็นการนับหนึ่งอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการคอป. เราจะดำเนินการคือ1.หาวิธีดำเนินการ 2.หาคนที่จะมาเป็นคณะกรรมการ และ 3.หาแนวทางที่พอคุยกันได้ ทั้งนี้ ได้ทาบทามน.พ.ประเวศ วะสีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ
เมื่อถามว่าวันที่ 15 มิ.ย. จะไปหารือกับแกนนำอื่นอย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์หรือไม่ นายคณิต กล่าวว่า นายจตุพรไม่ได้ปิดกั้น พร้อมคุย วันที่ 15 มิ.ย.จะไปพบหลายกลุ่ม แต่บอกไม่ได้ รอให้เขาตอบรับ
เมื่อถามว่าหลังจากแกนนำนปช. ไม่ยอมรับการแต่งตั้งคณะกรรมการคอป. จะต้องเรียนให้นายกฯรับทราบปัญหาการดำเนินการตามแนวทางปรองดองหรือไม่ นายคณิตกล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องเรียนให้นายกฯทราบ เราต้องทำงานต่อไป สรรหาคณะกรรมการมาให้ได้หมดก่อนแล้วค่อยเสนอรายชื่อให้นายกฯแต่งตั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายคณิตและนายวีระหารืออยู่นั้น เจ้าหน้าที่ได้นำแกนนำนปช.ที่ถูกควบคุมตัวอีก 7 คน ได้แก่ 1.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 2.นายนิสิต สินธุไพร 3.นายขวัญชัย ไพรพนา 4.นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก 5.น.พ.เหวง โตจิราการ 6.นายวิภูแถลง พัฒนภูไท 7.นายก่อแก้ว พิกุลทอง มาร่วมหารือกับนายคณิตและคณะด้วย
-เผย"กี้ร์-แรมโบ้"กบดานเขมร
รายงานข่าวจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถาน การณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เผยว่า ความเคลื่อนไหวของแกนนำ นปช. ที่ยังหลบหนีหมายจับคดีก่อการร้ายของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ ศอฉ.รับทราบถึงความเคลื่อน ไหวของนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง และนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ 2 แกนนำ นปช. ที่ยังหลบหนี โดยหน่วยข่าวตำรวจได้ข้อมูลยืนยันจากสายข่าวที่รายงานว่าแกนนำทั้ง 2 ขณะนี้หลบหนีอยู่ในบ่อนการพนันแห่งหนึ่งในฝั่งปอตเปต ประเทศกัมพูชา โดยพักอาศัยภายในโรงแรมแห่งหนึ่ง ซึ่งมีวีไอพีระดับประเทศกัมพูชาเป็นเจ้าของ นายอริสมันต์ และนายสุภรณ์ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี คาดว่าทั้งสองคนน่าจะใช้ชีวิตอยู่ในกัมพูชาอีกระยะจนกว่ารัฐบาลจะประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนการเป็นอยู่ รวมทั้งการใช้จ่ายต่างๆ มีเงินสนับสนุนจากแกนนำระดับสูงที่อยู่ ณ ต่างประ เทศ นอกจากนี้ หน่วยข่าวยังเผยด้วยว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยอีกหลายคนขณะนี้เดินทางไปประเทศจีน ฮ่องกง ประกอบด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ น.ต.ศิธา ทิวารี โดยมีรายงานว่าจะ เดินทางไปพบกับคนในครอบครัวของตระกูลชินวัตรด้วย
เพื่อไทย
Tuesday, June 15, 2010
ศอฉ.จ่อบี้ 84คน ท่อเลี้ยงแดง
"คณิต"บุก ค่ายตชด. หารือวีระ