วิจักขณ์: ตอนนี้กระแสปฏิบัติธรรมกำลังมาแรงครับอาจารย์ ธรรมะเดี๋ยวนี้มีดีลิเวอรี่ แถมมีปีก คู่มือฮาวทูบรรลุธรรมในเจ็ดวันก็มี สแกนกรรมก็ได้ อาจารย์ว่าพุทธศาสนาแบบนี้จะไปไหวหรือไปไหนเหรอครับ
เขมานันทะ: คนสมัยก่อนเขาไม่อวดเก่ง อวดดีกันในธรรม หากจะมีสิ่งที่เขาภาคภูมิใจ คือการเป็น "ศิษย์มีครู"
วิจักขณ์: คือ ภูมิใจว่าเป็นศิษย์มีครู ไม่ได้ภูมิใจว่าฉันเก่ง
เขมานันทะ: พูดได้เต็มปากว่าฉันเป็น "ศิษย์มีครู" อันนี้ไม่ได้เป็นการอวดว่าครูเก่งหรือครูดังด้วยนะครับ แต่เป็นการบอกว่าครูของเราอบรมเรามา ขัดเกลาเรามา เคี่ยวเข็ญเรามา ครูเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง
วิจักขณ์: แล้วถ้าศึกษาพุทธศาสนาโดยไม่มีครูล่ะครับ อ่านหนังสือเอา ฟังเทศน์เอา ศึกษาพระไตรปิฎก กราบพระพุทธเจ้าเอาก็ได้
เขมานันทะ: ไม่มีครู จะว้าเหว่เกินไปครับ ฉันมาเดี่ยว ฟังดูเท่ห์ แต่ว่าจริงๆไม่เป็นอย่างนั้นครับ จริงๆเราต้องการเพื่อน และเพื่อนก็ต้องการเราด้วยครับ ดังนั้นจะเรียกว่าช่วยสังคมหรืออะไรก็สุดแท้ เราควรจะให้ชีวิตเรามีส่วนร่วมกับชีวิตคนอื่น แล้วความเป็นมนุษย์ของเราก็คงจะถูกพัฒนาขึ้นมาจากจุดนั้น น้อมใจเราให้รู้จักให้ รู้จักรับ รู้จักขอ เขาไม่ให้ก็ไม่โกรธ บุคลิกภาพเยี่ยงนี้ไม่อาจพัฒนาได้ที่อื่นครับ นอกจากกับคนใกล้ชิด คนที่อยู่ใกล้ที่สุด
วิจักขณ์: ที่ผมมองเห็นชัดก็คือ เวลาเรียนกับครูเนี่ย มันทำให้เราได้เรียนความเป็นมนุษย์จากครูด้วย
เขมานันทะ: ใช่ครับ ใช่ ถูกต้องเลยครับ ความเป็นมนุษย์นั้นเป็นหน่อ เป็นเพียงเมล็ดพันธุ์เท่านั้น ยังต้องเอามาเพาะ สร้าง บำรุงเลี้ยงดู จนกระทั่งเติบใหญ่ขึ้นมา และสิ่งที่เข้ามาค้ำจุนก็คือเพื่อนครับ คำว่าเพื่อนเป็นคำที่ซึ้งใจที่สุดเลยครับ เราจะรู้เลยว่า เมื่อเราไม่มีเพื่อน เราไม่มีทุกสิ่ง "ปรารถนาสารพัดในปฐพี เอาไมตรีแลกได้ดังใจจง" สุนทรภู่ว่าไว้ครับ
ไม่ใช่อวดดีนะครับ แต่ผมคิดว่า เราดีแต่สร้างเกราะหุ้มตัวเองไว้ รู้เขาให้มากที่สุด แล้วให้เขารู้เราน้อยที่สุด โอกาสที่จะชนะมีอยู่ มิตรภาพมันเลยกลายเป็นรูปนี้ไป
วิจักขณ์: ทุกครั้งที่ฟังอาจารย์พูดถึงท่านอาจารย์พุทธทาส ผมจะรู้สึกเหมือนกับท่านอาจารย์มายืนอยู่ข้างๆ อีกอย่างคือผมชอบมองไปที่ตาของอาจารย์ ขณะที่อาจารย์พูดถึงครู ประกายตาดูมีความคิดถึง ความโหยหา ขณะเดียวกันก็มีความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญอยู่ในนั้น รู้สึกได้ว่าอาจารย์มองท่านอาจารย์เป็นครูจริงๆ ...คือเป็นมนุษย์
แต่ทุกวันนี้หลังจากท่านมรณภาพไปแล้ว ท่านอาจารย์พุทธทาสดูจะถูกนับถือยกย่องในความสมบูรณ์แบบ เหมือนจะถูกยกไว้ราวกับเทพไปแล้วนะครับ สุดท้ายก็กลายเป็นว่าไม่มีใครสามารถคิดต่าง หรือ ปฏิบัติในแนวทางที่ต่างออกไปได้เลย กลายเป็นว่าสวนโมกข์ทุกวันนี้ไม่มีพื้นที่สำหรับความหลากหลายสักเท่าไหร่
เขมานันทะ: เป็นคำถามที่น่าสนใจนะครับ เมื่อเราไปเยี่ยมสวนโมกข์ เราถูกต้อนรับเป็นมิตร หรือว่าเป็นบริวารคนใหม่ ต่างกันนะครับ (นิ่งเงียบนาน)
มิตรที่ดีเป็นเหมือนแผ่นดินที่เชื่อมกันเป็นผืนเดียว แต่มิตรที่ไม่ดีก็เป็นเหมือนรอยร้าวของชีวิต ศัตรูคือมิตรที่แปรพักตร์ไปเท่านั้น ถ้ายังไม่แปรพักตร์ ก็ไม่ใช่ทั้งมิตร ไม่ใช่ทั้งศัตรู
วิจักขณ์: มิตรที่ดีก็ต้องตักเตือนกันได้ด้วยใช่ไหมครับ
เขมานันทะ: ครับ มิตรที่ดีต้องตักเตือนกันได้ วิพากษ์วิจารณ์ได้ ท่านอาจารย์สวนโมกข์เป็นแบบอย่างตรงนี้มาก แต่ชาวพุทธบ้านเรามักมองการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการคุ้ยเขี่ย สร้างปัญหา หรือไม่ให้ความเคารพ แต่จริงๆแล้วการวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งดีนะครับ
การวิพากษ์วิจารณ์ เป็นการขมวดปม เพราะถ้าไม่มีใครช่วยขมวดปมให้ เราจะงงมาก เราจะสับสนมากๆว่าอะไรเป็นอะไร การปล่อยวางทั้งที่ยังไม่เห็นการถักทอของปมปัญหา ย่อมไม่สามารถนำมาซึ่งปัญญาได้
................
วิจักขณ์: ตะกี๊อาจารย์บอกว่า "ศัตรูคือมิตรที่แปรพักตร์ไป"
เขมานันทะ: ถ้ายังไม่เป็นเพื่อนกันนี่ ศัตรูก็ไม่เกิดครับ
วิจักขณ์: แล้วในสถานการณ์ตอนนี้ คือจริงอยู่ คนไทยอาจจะเคยรักกัน แต่มาถึงตอนนี้คนไทยก็ไม่ได้รักกันนัก เมื่อรู้สึกเป็นศัตรูกันไปแล้ว ธรรมะจะกลับมาทำให้เป็นมิตรได้ง่ายดายแบบในมิวสิควีดีโอเลยเหรอครับ
เขมานันทะ: ความขัดแย้งนี่เป็นจุดที่มิตรภาพแบกทานไม่ไหวครับ ขัดแย้งมากเข้าก็แตกกัน เหมือนกับคนเล่นไพ่ มองแง่หนึ่งเป็นเพื่อนกัน มองอีกแง่หนึ่งกำลังจะกินกัน
วิจักขณ์: แล้วถ้าจะให้ศัตรูกลับมาเป็นมิตรล่ะครับ
เขมานันทะ: เป็นเรื่องที่นับว่าน่าอนุโมทนา ถ้าทำให้ศัตรูกลายเป็นมิตรได้ นับว่าวิเศษเลยครับ แต่ในลักษณะสังคมที่แบ่งกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน พอแตกจากกลุ่มนี้ก็ไปเข้ากลุ่มโน้นครับ ดูการเมืองเป็นตัวอย่าง การย้ายพรรคย้ายกลุ่มต่างๆ พรรคกลายเป็นที่หลบหลีก ....เลี่ยงที่จะเปลี่ยนนิสัย
พี่หนึ่ง (เพื่อนร่วมสนทนา): แล้วถ้าเราจะฝึกการให้ความปรารถนาดีกับคนที่เราไม่ชอบ จะต้องเริ่มยังไงครับ
เขมานันทะ: เป็นอุดมการณ์ของชาวพุทธนะครับ ที่ปรารถนาดีแม้แต่กับศัตรู หรือกับคนที่เกลียดเรา เป็นอุดมการณ์ เป็นเสมือนธงที่โบกพลิ้วว่าเราจะถือหลักกันแบบนี้ เราจะวางท่าทีกันแบบนี้ แต่ในภาคปฏิบัติเราก็ไม่สามารถทำได้เท่าที่อุดมการณ์เราวางไว้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาครับ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ยอมรับได้
วิจักขณ์: คือก็ต้องยอมรับให้ได้ด้วย ว่าตอนนี้มันก็เป็นแบบนี้ เรายังมีข้อจำกัด เรายังมีอคติต่อกัน
เขมานันทะ: ใช่ครับ
วิจักขณ์: มันเหมือนว่าเราเคยรักกันมาก่อน แต่จะให้กลับมารักกันอีกในตอนนี้มันยาก เพราะหลายอย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว ต้องทำความเข้าใจกันใหม่
เขมานันทะ: ความเชื่อที่ว่าคนที่รักกัน คือ คนที่เคยพบกันแล้วเมื่อชาติปางก่อน มีเสน่ห์ในทางศาสนามาก เราเคยร่วมศรัทธากันมาแล้ว ถ้าบุคคลเชื่อก็มีผลจริงเหมือนกัน เช่นคนรักจะแยกจากกันไป คิดไปว่ารักกันมาตั้งกี่ภพชาติแล้ว จะเลิกร้างหมางเมินกันไปได้อย่างไร
แต่นี่เราใช้เหตุผลในกรณีหนึ่ง(ตอนเกลียดกัน) แต่เราใช้ศรัทธาในอีกกรณีหนึ่ง(ตอนรักกัน) มันจึงโยกโคลงไม่แน่นอน ชาวพุทธเป็นแบบนี้ครับ แต่โดยข้อเท็จจริงนั้นหลายเรื่องเราปฏิบัติกันอยู่แล้ว เช่น นาย ก นินทา นาย ข เราไปเจอนาย ก นาย ก ถามว่านาย ข นินทาอะไรชั้น เราช่วยโกหกให้ เปล่าเค้าไม่ได้ว่าอะไร เราโกหกแต่ว่ามันเกิดผลดีขึ้นมา หรือกรณีที่คุณพ่อสูบบุหรี่แล้วสอนลูกว่าอย่าสูบนะ ผมมองว่ามีเหตุผลด้วยอำนาจของความรักและหวังดีต่อลูก เขายังอุตส่าห์ห้ามนะ แต่โลกสมัยใหม่ไม่เป็นอย่างนั้นครับ ลูกจะสวนกลับเลยว่าพ่อยังทำไม่ได้ อย่ามาพูดเลย ความสัมพันธ์ฉันมนุษย์ก็สิ้นสุดลงครับ เมื่อสื่อกันไม่ได้ก็จบ แต่สำหรับผมการปกป้อง คนที่เรารักเป็นกิจที่น่าสรรเสริญ เพราะมันทำให้ความหมายของคำว่าความรักเต็มเปี่ยมขึ้นมาเสมอ
วิจักขณ์: คือ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็ยังคงรักษาศรัทธาในกันและกัน เพื่อที่การสื่อสารจะได้เกิดขึ้นได้
เขมานันทะ: ครับ
วิจักขณ์: แล้วอาจารย์เห็นด้วยมั้ยครับ ว่าเอาชนะใจศัตรู คือ เขาตบแก้มซ้ายเรา เราก็ยื่นแก้มขวาให้เขาตบ
เขมานันทะ: ไม่ใช่เป็นการประชดประชันนะครับ
วิจักขณ์: (หัวเราะ) ไม่ได้ประชดครับ เอาจริงๆ คือ เรายอมถูกกระทำเพื่อเอาชนะใจศัตรูให้ได้
เขมานันทะ: ความเป็นไปได้มีเสมอนะครับ ...และความเป็นไปไม่ได้ก็มี เป็นพื้นฐานของมัน ขึ้นกับบุคคลนั้นๆ [วิจักขณ์: (หัวเราะ) ..เขาอาจจะฆ่าเราก็ได้] คนบางคนกล้าหาญ ชอบท้าทาย แต่คนบางคนไม่ชอบครับ คนไม่เหมือนกัน
แต่ยังไงเสีย ความเกลียดก็เป็นสิ่งที่น่าชิงชังที่สุดครับ มันรู้จักยาก ถ้าไม่แม่นยำในวิปัสสนาแล้วจะมองไม่เห็น ความเกลียดมันทำลายความสุข ทำลายความยุติธรรม มันเหมือนแบคทีเรีย เราเกลียดใครนี่บรรยากาศสูญเสียหมดเลยครับ เรานั่งคุยกับเพื่อนอยู่ เราเห็นบุคคลที่เราเกลียดเดินเข้ามา ดอกไม้ถึงกับกลายเป็นของเหม็นไปเลย
ความเกลียดความชิงชัง ที่จริงมันทำลายจิตใจของเจ้าตัวนั่นเองครับ เวลาเกลียดใคร คนที่ถูกเกลียดไม่รู้เรื่องด้วย
วิจักขณ์: มีธรรมะเพื่อรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ท่ามกลางความขัดแย้งนี่ยากเหมือนกันนะครับ อาศัยความกล้า ความอดทน ความพากเพียร ความซื่อตรง จนหัวจิตหัวใจกว้างใหญ่ มั่นคง อ่อนโยน เป็นมิตรเหนือเหตุเหนือผล เหนือถูกเหนือผิด มันยากจนหลายคนอาจขอพึ่งอย่างอื่นที่ง่ายกว่า เพราะไม่อยากทนทุกข์ไปแบบนี้ สมัยอาจารย์หนุ่มๆ อาจารย์เคยมีประสบการณ์ในไสยศาสตร์ หรือมนต์ดำบ้างมั้ยครับ
เขมานันทะ: ไสยศาสตร์ตามตัวแปลว่า ศาสตร์ที่ดีกว่า คือดีกว่าไม่มีครับ สมมติว่าเราต้องเดินทางไปคนเดียวในที่เปลี่ยว ต้องทำไสยศาสตร์ครับ อย่างควานช้างจะไปหาช้างตัวใหม่ ก็ต้องทำพิธีไสยศาสตร์ เพื่อความเชื่อมั่น ต้องทำพิธี
วิจักขณ์: ทำไว้ดีกว่าไม่มี หรือทำไว้ดีกว่าไม่ทำ
เขมานันทะ: แต่บางท่านแปลไสยศาสตร์ว่า ศาสตร์แห่งการหลับ ก็ได้เหมือนกัน แต่ดูแล้วแปลตามใจฉันเสียมากกว่า
วิจักขณ์: แสดงว่าไสยศาสตร์ก็มีประโยชน์ของมัน
เขมานันทะ: แน่นอนครับ มันขึ้นกับเจตนารมณ์ในการกระทำนั้น ไสยศาสตร์นั้นเรื่องหนึ่ง พิธีนั้นอีกเรื่องหนึ่ง ชาวบ้านนั้นสนใจไสยศาสตร์ไม่มากเท่าสนใจในพิธี ยิ่งไม่รู้เท่าไหร่ก็ยิ่งขลังเท่านั้น
เมื่อสองวันนี้มีคนหนึ่งอยู่ในซอยเดียวกันนี้เพิ่งซื้อรถคันใหม่ เขาขับมาขอให้ผมเจิม ผมก็เจิมให้ บอกว่าคาถาประจำรถคือ "ขับอย่าประมาท" ดูแกจะงงๆอยู่ครับ (หัวเราะ)
พี่หนึ่ง (เพื่อนร่วมสนทนา): อาจารย์ต้องพูดเป็นภาษาบาลีมั้งครับ จึงจะเกิดความขลังขึ้นมา ทำให้เขาไม่รู้ว่าอาจารย์ทำอะไรกับรถของเขาอยู่ (หัวเราะ)
เขมานันทะ: (หัวเราะ) ผมไม่กล้าถึงขนาดนั้นครับ คือเราช่วยให้เขาพ้นจากความกลัวนะ แม้ชั่วคราว แต่ถ้าให้ชักนำไปในทางมืดอีก ไม่เอาด้วยครับ
วิจักขณ์: ดูแล้วไสยศาสตร์กับพุทธนี่มันต่างกันนิดเดียวเองนะครับ ไสยศาสตร์ดูจะขับเคลื่อนจากความกลัว แต่พุทธนั้นขับเคลื่อนด้วยความกล้า ...ความกล้าเผชิญ กล้ายอมรับความจริง
เขมานันทะ: เป็นการอธิบายที่ดีครับ
วิจักขณ์: แต่ว่าดูภายนอกก็อาจจะคล้ายกัน ไม่ต่างกันเท่าไหร่
เขมานันทะ: สิ่งที่มาคู่กับมนตรา คือคาถา เมื่อศิษย์ไปเรียนมนตรา อาจารย์สั่งว่า ถ้าเจอเสือให้ร่ายคาถา แต่ว่าต้องวิ่งขึ้นต้นไม้ด้วยเพื่อช่วยแรงคาถา (หัวเราะ) เป็นเรื่องเล่าขำๆครับ ...เชื่อแรงคาถาเพื่อให้มันขึ้นครับ ที่เรียกว่าของขึ้น
วิจักขณ์: ในทางโลก คนใช้ไสยศาสตร์กัน เช่น สาปแช่ง เล่นของ มุ่งหวังทำร้ายคนอื่น แล้วที่พุทธศาสนาบอกว่าคนที่มีธรรมะ ถึงจะโดนสาปแช่ง ถึงจะโดนเล่นของ ก็ยังปลอดภัย...
เขมานันทะ: ผมเห็นด้วยครับ
วิจักขณ์: อาจารย์อธิบายยังไงครับ เพราะคนที่โดนสาปแช่ง โดนของนี่ก็มีนะที่โดนจริงๆ ชีวิตตกต่ำย่ำแย่จริงๆ แล้วคนที่มีธรรมะรอดจากเกมไสยศาสตร์ตรงนี้ได้ยังไง
เขมานันทะ: เรื่องทางโลกขึ้นอยู่กับความเชื่อนะครับ ฝ่ายตรงข้ามก็ต้องเชื่อในแนวทางเดียวกันจึงจะมีผลครับ ถ้าคนหนึ่งพูดภาษาจีนอีกคนพูดภาษาลาวไม่มีผลเลยครับ อย่างคัมภีร์พิชัยสงครามของพม่ากับไทย เล่มเดียวกันครับ ใช้ร่วมกัน ดังนั้นเมื่อฝ่ายไทยประกอบพิธีอะไรก็มีผลต่อฝ่ายพม่า เพราะเค้าเรียนคัมภีร์เดียวกันมา
วิจักขณ์: ถ้าให้ละเอียดลงไปในเรื่องของจิตใจ เหมือนว่าถ้าใช้ภาษาของความเกลียดชังด้วยกัน ก็ใช้กันได้ แต่ถ้าคนหนึ่งพูดภาษาของความเกลียดชัง แช่งมา แล้วเราพูดภาษาของความรัก ตอบไป มันก็ไม่มีผลต่อกัน เพราะมันพูดกันคนละภาษา
เขมานันทะ: สังเกตได้แม่นยำทีเดียวครับ
วิจักขณ์: แต่ขณะที่เราพูดกันคนละภาษา ถ้าจะได้ผลจริงอาจต้องไปสู่อีกขั้นหนึ่ง คือ การเข้าไปเรียนภาษาของเขาและแปลเป็นภาษาของเราได้ด้วย รับฟังความเกลียดชังของเขาได้ด้วยความเข้าใจ พร้อมที่จะเดินเข้าไปหา และแปรเปลี่ยนความเกลียดชังนั้นเป็นพลังของความรักได้ อย่างนั้นหรือเปล่าครับ
เขมานันทะ: ใช่ครับ คล้ายๆว่าต้องรู้เขารู้เรา อย่างพิธีตัดไม้ข่มนามของพม่า ตอนสู้กับอังกฤษ ทำกันอย่างเอาจริงเอาจัง ฝรั่งไม่เข้าใจความหมาย มันเอาปืนยิงตู้มเข้าไป วิ่งหนีกันแทบไม่ทัน เรียกได้ว่า หากจะได้ผลจริงต้องรู้ทางกันและกัน แต่หากจะให้ลึกซึ้งไปกว่านั้น ก็ต้องรู้ให้ถึงใจของกันและกัน นั่นถือเป็นหลักชัย ที่ต้องอาศัยการก้าวเดิน