ประชาธิปไตรจีเอ็มโอดัดแปลงพันธุกรรมย่อมเกิดปัญหาแปลกๆใหม่ๆให้ กลายเป็นประเด็นขัดแย้งทางการเมือง
ถ้าไม่มีใครชี้ขาด ต่างฝ่ายก็จะตีความเข้าข้างตัวเอง
ศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นองค์กรสูงสุดที่ยุติความขัดแย้งทุกกรณี
ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญฉะนั้นแล
อีกไม่นานเกินรอ...ตุลาการศาลรัฐ-ธรรมนูญชุดใหม่ก็จะคลอดออกจากมดลูก ของวุฒิสภา เพื่อทำหน้าที่แทนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเก่าที่ คมช.ใช้อำนาจแต่งตั้งเอง
ตามกติกา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่จะมี 9 คน
ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกมา 3 คน ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดเลือกมาอีก 2 คน
เหลืออีก 4 คน เปิดรับสมัครจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์อีก 2 คน
โดยจะมีคณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธาน ป.ป.ช. ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ เป็นผู้คัดเลือกให้เหลือ 4 คน
ล่าสุด มีผู้ยื่นใบสมัครเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 22 คน แบ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสายนิติศาสตร์ 9 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิสายรัฐ-ศาสตร์ 13 คน
เห็นโผรายชื่อผู้สมัครแล้ว...ขอกราบเรียนว่าไม่ธรรมดา
คือมีทั้งอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. กรรมการ กกต. กรรมการสิทธิ-มนุษยชน อดีตรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตปลัดกระทรวง อดีต ส.ส.ร. และอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอีกหลายคน
แต่ก็น่าสังเกตว่าจำนวนผู้สมัครน้อยเกินไป!!
การที่มีผู้สมัครแค่ 22 คน ทำให้คาดเดาล่วงหน้าได้ว่าใครเป็นตัวประกอบ? ใครเป็นตัวเก็ง?
และสุดท้ายใครจะเข้าวิน??
“แม่ลูกจันทร์” คาดเดาว่าผลการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจากทั้งหมด 22 คน สกรีนให้เหลือ 8 คน
และสุดท้ายคัดให้เหลือตัวจริงๆ เสียงจริง 4 คน แนวโน้มน่าจะได้แก่...
สายนิติศาสตร์ 1, จรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม และ 2, วสันต์ สร้อย-พิสุทธ์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลอุทธรณ์
สายรัฐศาสตร์ 1, ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีต รมต.รัฐบาลขิงแก่ และ 2, วิสุทธ์ โพธิ-แท่น อดีตกรรมการ ป.ป.ช.
ขอย้ำว่านี่เป็นการคาดเดา ไม่รับประ-กันความแม่นยำ
แต่น่าจะเดาแม่นยิ่งกว่าหมอดู??
อนึ่ง มีผู้ยื่นใบสมัครที่มาจากองค์กรอิสระ 2 คน ได้แก่ “สมชัย จึงประเสริฐ” กรรม-การ กกต. และ “วสันต์ พานิช” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ทั้ง 2 ท่านที่มีชื่อข้างต้น จะมีคุณสมบัติเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ “แม่ลูกจันทร์” ยังไม่แน่ใจ??
เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 205 วงเล็บ 7 กำหนดห้ามกรรมการองค์กรอิสระเข้า รับการสรรหาเป็นศาลรัฐธรรมนูญ
ขอรบกวนท่านผู้รู้ทั้งหลายโปรดชี้แจง ให้เกิดความชัดเจน
ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เหลืออีก 5 คน ซึ่งมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และที่ประชุมใหญ่ศาลปกครอง
ถือว่าได้บัตรเขียวไม่ต้องผ่านการสรรหาแต่อย่างใด
หลังจากได้รายชื่อศาลรัฐธรรมนูญครบ 9 คน ก็จะเสนอชื่อให้ที่ประชุมวุฒิสภา ลงมติเห็นชอบโดยเร็ว
หมายเหตุ มีการแก้กติกาใหม่ ไม่เปิดโอกาสให้วุฒิสภาโหวตคัดออกครึ่งหนึ่งอย่างเคย
พูดชัดๆคือ วุฒิสภาไม่มีอำนาจเลือกเอง!!
ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบก็ให้ส่งรายชื่อกลับไปให้กรรมการสรรหาทบทวน
แต่ถ้ากรรมการสรรหายืนยันมติเดิม ก็นำขึ้นโปรดเกล้าฯได้เลย
สรุปว่า อำนาจแต่งตั้งศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ อยู่ที่วุฒิสภา
แต่อยู่ที่คณะกรรมการสรรหา 5 คน
นี่...มันเป็นซะอย่างนี้แหละท่านประธาน.
“แม่ลูกจันทร์”
คอลัมน์ สำนักข่าวหัวเขียว