ประเด็นที่กำลังจะขยายความเป็นการ ดิสเครดิตทางการเมือง กันอยู่ในขณะนี้ ก็เห็นจะเป็น โครงการรถและเรือดับเพลิงของ กทม. ที่ คตส.ชี้มูลความผิดเพิ่ม มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและบริษัทเอกชน ซึ่ง แต่เดิมดูทะแม่งชอบกล ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย ทั้งๆที่รู้ว่ามีความไม่ชอบมาพากลอยู่แล้ว
ท่ามกลางข้อครหาอุ้มพวกเดียวกันเอง
ผมว่าหัวใจสำคัญของเรื่อง ไม่ใช่ว่าใครจะพักการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวอย่างเดียว เพราะอย่างกรณี คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. อีกมุมหนึ่งเป็นการแสดงความรับผิดชอบ แต่อีกมุมหนึ่งก็จะมีคำถามว่า คุณอภิรักษ์ เหลือเวลาในการทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม.อีกไม่กี่เดือน จะขอพักทำไมหรือจะบีบใคร
จะเป็นการจัดฉากสร้างภาพทางการเมืองหรือไม่
อันที่จริงทั้งหมดอยู่ที่การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและเรื่องทุจริตคอรัปชันมากกว่า ประการแรก เมื่อสัญญาเป็นโมฆะจะทำอย่างไรต่อไปประการที่สอง จะเอาตัวผู้ถูกกล่าวหามาซักฟอกหาความรับผิดชอบได้แค่ไหน ทำได้สองประเด็นนี้ก็จบ ไม่เห็นต้องต่อความยาวสาวความยืดดึงไปเป็นประเด็นทางการเมือง
ฟังมาว่า การประชุมของอนุกรรมการตรวจสอบครั้งสุดท้ายให้แจ้งข้อกล่าวหา บุคคลที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นอีก 6 คน จากเดิม 5 คน ที่มีคุณสมัคร สุนทรเวช อยู่ด้วย ได้แก่ บริษัทสไตเออร์เดมเลอร์ ในฐานะคู่สัญญา
ผู้แทนบริษัทสไตเออร์ คุณวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์คุณราเชนทร์ พจนสุนทร อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ คุณอภิรักษ์ โกษะ-โยธิน ผู้ว่าฯกทม. และคุณหญิงณฐนนท ทวีสิน อดีตปลัด กทม.
เมื่ออนุกรรมการเห็นว่า การทำข้อตกลง A.O.U. ไม่ถูกต้อง ไม่ได้มีการทำการค้าตอบแทนกันจริงตามที่ได้ขออนุมัติโครงการนี้จาก ครม. ผิดเจตนารมณ์ในลักษณะรัฐต่อรัฐ และเชื่อได้ว่ามีการสมคบของทั้งสองฝ่ายเข้าลักษณะการแสดงเจตนาลวง จึงทำให้สัญญาซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม.เป็นโมฆะดังกล่าว
ตรงนี้แหละ ที่ผมเคยติงมาตั้งแต่ต้นว่า ทำไมการพิจารณาของ คตส.ถึงได้ตัดตอนนี้ออกไป แต่ก็เอาเถอะ เมื่อต่อวงจรดูแล้ว จะเห็นว่าการทำ A.O.U. ที่ลงนามโดยอดีต รมว.มหาดไทยคือ คุณโภคิน พลกุล กับออสเตรีย ชั้นต้นไม่ปรากฏหนังสือ การมอบอำนาจให้ผู้ลงนามทั้งสองฝ่าย ดำเนินการและน่าจะเข้าข่ายขัดกับมติ ครม.ด้วย
และปรากฏว่าไม่ดำเนินการในข้อตกลง ในการจัดหาแหล่งเงินและรับพันธะ ในการค้าต่างตอบแทน เกิดขึ้นแต่อย่างใด ทั้งนี้ บริษัทคู่สัญญาคือสไตเออร์ยังต้อง จ่ายค่าบริการสัญญาให้กับบริษัทที่รับดำเนินการอีกต่างหาก จำนวน 147 ล้านบาท ทำให้มูลค่าของโครงการเพิ่มขึ้น
ยังมีประเด็นของการปกปิดเรื่องของดอกเบี้ย ทั้งๆที่ สัญญาระบุว่าปลอดดอกเบี้ย เรื่องของระยะเวลาของผู้ลงนามที่คาบเกี่ยว สรุปแล้วพบความไม่ชอบมาพากลหลายกระทง ทำท่าว่าจะมีการฉ้อฉลด้วยซ้ำ
สุดท้ายก็คือ เมื่อรู้ว่าโครงการดังกล่าวไม่ถูกต้อง เหตุไฉนถึงได้มีการรับมอบและจ่ายค่างวด กันไปได้ จะอ้างว่าต้องปฏิบัติตามสัญญาฟังไม่ขึ้น เพราะเรื่องนี้รู้กันอยู่ทนโท่ว่ากำลังอยู่ใน ระหว่างการสอบสวนของคตส. ทำไมจึงไม่ระงับการดำเนินการไว้ก่อน ดังนั้น จึงไม่ใช่แค่การแสดงสปิริตแต่ต้องรับผิดชอบด้วย..
หมัดเหล็ก
คอลัมน์ คาบลูกคาบดอก