“ณัฐวุฒิ” ชี้แจง“นายกฯ”ไม่ต้องการยึดอำนาจทหารมาจาก ผบ.ทบ.หลังออกประกาศเพิ่มอีก 2 ฉบับตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ยันการทำประชามติของรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดการเลือกข้างของประชาชน เตือนแกนนำพันธมิตรฯให้คำนึงถึงสิทธิของประชาชนในการชุมนุมในทำเนียบ
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่คณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ ออกประกาศเพิ่มเติมอีก 2 ฉบับตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินว่า ยังมีสื่อบางฉบับเข้าใจผิดว่านายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ต้องการยึดอำนาจจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) โดยใช้อำนาจผ่านประกาศฉบับที่ 2 ว่าด้วยการโอนอำนาจของคณะรัฐมนตรีหรือผู้รักษาการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินให้โอนอำนาจเป็นของนายกรัฐมนตรีทั้งหมดนั้น ขอยืนยันว่าการสั่งการด้านทหารยังขึ้นตรงกับ ผบ.ทบ. และนายกรัฐมนตรีไม่มีความคิดที่จะยึดอำนาจคืนจาก ผบ.ทบ.
“จากการรายงานของสื่อบางฉบับ ทำให้มีการเข้าใจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ซึ่งอำนาจนายกรัฐมนตรีที่มอบให้ ผบ.ทบ.จะเป็นผู้ใช้อำนาจตามประกาศนี้แทน เพราะฉะนั้นจะไม่มีการยึดอำนาจคืน หรือไม่มีความไม่สบายใจในท่าทีของ ผบ.ทบ.จนต้องยึดอำนาจคืน” นายณัฐวุฒิ กล่าว
สำหรับการลงประชามตินั้น นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายหรือเป็นความตั้งใจของนายกรัฐมนตรีที่จะเร่งรัดให้มีการดำเนินการจัดทำประชามติ แต่มองว่าเป็นช่องทางกฎหมายที่จะมีส่วนช่วยหาทางออกเกี่ยวกับวิกฤติบ้านเมือง ซึ่งขณะนี้ขึ้นอยู่กับวุฒิสภาที่จะใช้เวลาพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงการจัดทำประชามติ และขอยืนยันว่าการจัดทำประชามติของรัฐบาลไม่ได้ต้องการให้เกิดการเลือกข้างของประชาชน แต่ต้องการให้สอบถามความต้องการและเจตจำนงของประชาชนเกี่ยวกับทางออกของบ้านเมือง ส่วนระยะเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)มองว่าอาจต้องใช้เวลานานถึง 7 เดือน เชื่อว่าเรื่องเวลาจะสามารถพิจารณากันได้ และแม้จะใช้เวลานาน 7 เดือน รัฐบาลก็ยังไม่มีมาตรการใดเพิ่มเติมออกมา
“ส่วนการสอบถามประชาชน เพื่อขอประชามติ ขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดหัวข้อที่ชัดเจนใดๆ” นายณัฐวุฒิ ระบุ
นายณัฐวุฒิ ได้เตือนแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯให้คำนึงถึงสิทธิของประชาชนในการชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล เพราะได้รับรายงานทางการข่าวพบว่า ประชาชนที่จะเดินทางไปชุมนุมสามารถเข้าภายในทำเนียบรัฐบาลได้โดยสะดวก แต่ประชาชนที่จะเดินทางออกจากทำเนียบกลับถูกสะกัดกั้น ขัดขวาง โดยอ้างว่าแกนนำจะถูกจับตัวนั้นถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิประชาชน พร้อมเรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศเป้าหมายของการชุมนุมให้ชัดเจนถึง และจะใช้เวลาในการชุมนุมไปอีกนานเท่าใด