คอลัมน์ : สวัสดีวันจันทร์
“...น่าเสียดายที่ความรู้สึกรับผิดชอบเหล่านี้มิได้เกิดจากสมาชิกอันเป็นพื้นฐานของทั้งสองสภา หากเรื่องนี้เกิดมาจากความคิดเห็นของผู้นำพรรคชาติไทยคือ คุณบรรหาร ศิลปอาชา กับแกนนำบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลาย ซึ่งต้องขอแสดงความยินดีและแสดงความนับถือในวุฒิภาวะ และในความเป็นผู้นำของพรรคการเมืองเหล่านั้น...”
การเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชน ที่ใช้วิธีการชุมนุมบนสะพานมัฆวานฯ ถนนราชดำเนิน ที่เรียกขานกันโดยทั่วไปว่า ม็อบพันธมิตรฯ นั้นกำลังก่อให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองอย่างใหญ่หลวง
จากม็อบส่วนตัวของคนไม่ปกติทางจิตบางคน นานวันเข้ากลายเป็นวิกฤติขึ้นมาได้จริงๆ
ทั้งนี้ นอกจากความด้อยสมรรถนะในการจำแนกเหตุผลของคนไทยบางกลุ่มบางพวก ซึ่งขาดไร้การศึกษา ยังบวกด้วยการเสพสื่อด้านเดียวเป็นเวลายาวนานติดต่อกัน ซึ่งก็เป็นเหตุเดียวกับวิกฤตการณ์ในปี พ.ศ.2549 นั่นเอง
เรียกว่าประวัติศาสตร์ย้อนกลับมาซ้ำรอยเร็วเกินคาด
ความเป็นจริง ถ้ามวลชนกลุ่มนี้จะได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของแกนนำพันธมิตรฯ ตามที่สื่อบางแขนง เช่น รายการความจริงวันนี้ ของ NBT นำเสนอ ก็จะเห็นชัดว่า ไม่ใช่เรื่องส่วนรวมอะไรเลย
เรื่องส่วนรวมเป็นแต่เพียงข้ออ้างพอให้ฟังดูไม่ขัดเขินเท่านั้นเอง!
อย่างไรก็ตาม เมื่อม็อบกำเริบใจถึงขั้นกระทำการละเมิดกฎหมายหลายบท หลายมาตรา จนส่วนหนึ่งถูกจับเป็นผู้ต้องหา และแกนนำ 9 คนก็ถูกออกหมายจับ เรื่องมันก็เลยบานปลาย กลายเป็นการปิดสนามบินทางภาคใต้หลายจังหวัด มีการหยุดเดินรถไฟหลายขบวนในหลายภาค เป็นการกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติโดยตรง
ก็เป็นธรรมดาอยู่เอง เมื่อมวลชนส่วนหนึ่งทำลายความหมายความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ แล้วยังท้าทายอำนาจตุลาการ ซึ่งหมายถึงการเป็นกบฏอย่างเปิดเผยโจ่งแจ้ง โดยที่ฝ่ายบ้านเมืองยังหาทางออกไม่ได้ วิกฤตการณ์ย่อมขยายวงออกไปไม่มีที่สิ้นสุด
เวลานี้ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยและต้องการปกป้องรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็เหลืออดเหลือทน ได้ประกาศรวมตัวกันแล้วที่ท้องสนามหลวง ดินแดนที่พวกเขาเคยรวมตัวกันต่อต้านเผด็จการ คมช. ตลอดปี พ.ศ.2550
มวลมหาประชาชนกลุ่มนี้ชุมนุมกันโดยสันติและปราศจากอาวุธ
เป็นการใช้สิทธิ เสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญ ตรงไปตรงมา ไม่บิดเบี้ยว เพราะไม่ได้มีเจตนาโค่นล้มใคร หากต้องการรักษาประชาธิปไตยอันเป็นระบอบการปกครองที่เขาหวงแหนเท่านั้น
เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเคลื่อนไหวมาถึงตรงนี้ ก็ถึงเวลาที่รัฐสภาจะได้กระดิกกระเดี้ยตัวเองขึ้นมาวิเคราะห์สถานการณ์และผลกระทบอย่างเป็นทางการเสียที คือ มีการประชุมกันตั้งแต่บ่ายวันอาทิตย์ คือวานนี้
น่าเสียดายที่ความรู้สึกรับผิดชอบเหล่านี้มิได้เกิดจากสมาชิกอันเป็นพื้นฐานของทั้งสองสภา หากเรื่องนี้เกิดมาจากความคิดเห็นของผู้นำ พรรคชาติไทย คือ คุณบรรหาร ศิลปอาชา กับแกนนำบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลาย ซึ่งต้องขอแสดงความยินดี และแสดงความนับถือในวุฒิภาวะและในความเป็นผู้นำของพรรคการเมืองเหล่านั้น
คุณบรรหาร ศิลปอาชา นั้นในยามหน้าสิ่วหน้าขวานของระบอบประชาธิปไตย เราเคยได้เห็นท่านแสดงความเป็นผู้นำมาแล้ว โดยการรับเป็นเจ้าภาพแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดช่องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งผลก็คือเราได้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และได้ใช้มาจนถึงวันที่ 19 กันยายน 2549
ในคราวนี้ คุณบรรหาร ซึ่งเป็น ส.ส. คนหนึ่ง และนั่งอยู่นอกคณะรัฐมนตรี ได้เสนอให้ลองใช้สถาบันรัฐสภาประชุมปรึกษาเพื่อหาทางแก้ปัญหากันดู เพราะเรื่องใหญ่ๆ ขนาดนี้ไม่ค่อยมีใครมองมาที่รัฐสภา จะด้วยเหตุผลที่ว่าไม่ใช่ที่พึ่ง หรือด้วยเหตุผลอื่นใดก็เหลือเดา
จุดยืนของคุณบรรหารเหมือนจะบอกเราว่าหาก คุณสมัคร สุนทรเวช พลาดพลั้งเป็นอะไรไป คนมีประสบการณ์และมีวุฒิภาวะอย่างนี้พอจะทำหน้าที่แทนได้
ข้าพเจ้าเองเมื่อเริ่มต้นวิกฤตการณ์ในปี 2548 ได้นั่งอยู่ในสภาในฐานะ ส.ส. คนหนึ่ง ได้เคยเสนอเรื่องปรึกษาหารือประธานสภาว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล กับคณะ ได้ชุมนุมปลุกระดมประชาชนโจมตีรัฐบาลและรัฐสภาที่สวนลุมพินี ว่าไม่อาจเป็นที่พึ่งของประชาชนได้โดยสิ้นเชิง
ข้าพเจ้ามองว่า การปลุกระดมกันเช่นนี้นานวันเข้าถ้าไม่มีใครหยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหาปรึกษากันอย่างจริงจัง จะกลายเป็นว่าเรื่องมีมูลความจริง
เข้าทางม็อบที่จะทำลายประชาธิปไตย
ข้าพเจ้าจึงเสนอให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมสมาชิกเพื่อปรึกษาหารือกันอย่างไม่เป็นทางการก่อน หากมีข้อสรุปทางหนึ่งทางใดพอเป็นแนวทาง ค่อยเรียกประชุมรัฐสภาอย่างเป็นทางการ
ความประสงค์ของข้าพเจ้าคือ ต้องการให้องค์กรรัฐสภาเป็นที่แก้ไขปัญหาของประเทศ หรืออย่างน้อยหากแก้ปัญหาไม่ได้ เป็นเพียงแต่การแสดงออกถึงความรู้ร้อนรู้หนาวบ้าง แทนที่จะอยู่อย่างไม่รู้เรื่องรู้ราว หรืออยู่เป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศชาติอย่างที่ม็อบกล่าวหา
แต่ข้อเสนอของข้าพเจ้าได้รับการตอบสนองจากรองประธานสภาผู้แทนราษฎร - คุณลลิตา ฤกษ์สำราญ คนเดียวเท่านั้น นอกนั้นก็พากันนิ่งเฉยจนพังกันไปทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล
ขอประทานโทษที่ต้องเอาเรื่องเก่าของตัวเองมาเล่าใหม่
ต้นฉบับนี้เขียนขึ้นก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภา จึงไม่มีโอกาสจะรู้ว่าวุฒิสมาชิกคนใด และพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ คนใด จะถูกเปลื้องผ้าล่อนจ้อนให้คนทั้งเมืองเห็นกัน
ได้ดูแต่รายการที่นายกรัฐมนตรีออกโทรทัศน์พบประชาชนตามปกติในเช้าวันอาทิตย์ ซึ่งเท่ากับเป็นการกราวหน้าพาทย์ที่ค่อนข้างจะดุเดือดอยู่มิใช่น้อย เพราะท่านนายกฯ เห็นว่าสมาชิกพรรคฝ่ายค้านบางคนไปปรากฏตัวบนเวทีม็อบพันธมิตรฯ ในทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งสมาชิกวุฒิสภาบางคนก็ไปป้วนเปี้ยนอยู่แถวนั้น อ้างว่าเพื่อไปให้กำลังใจม็อบ แถมยังวิจารณ์เสียอีกด้วยว่าข้อกล่าวหาแกนนำม็อบว่าเป็นกบฏ เป็นข้อหาที่รุนแรงเกินไป
เชื่อเหลือเกินว่า การพูดจากันในที่ประชุมรัฐสภาจะมีความชัดเจนจนเห็นตัวตนที่แท้จริงของทุกฝ่าย
ใครเป็นนักประชาธิปไตย ใครเป็นพวกอนาธิปไตย ใครเป็นเผด็จการหรือลูกสมุนเผด็จการ ใครเป็นพวกกระสันจะเป็นรัฐบาลจนตัวสั่น
แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ แต่ได้เห็นสันดานคนชัดเจนก็คุ้มแล้วครับ
วีระ มุสิกพงศ์