ต้องยอมรับว่าการจะโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่การกดดันให้นายกฯ สมัคร สุนทรเวช ลาออก ยิ่งยากกว่า 2 เท่า!! เพราะเสือเฒ่าลายพาดกลอนตัวนี้ ทั้งดุทั้งดื้อ แถมหนังเหนียวเคี้ยวยากอีกตะหากด้วย ฉะนั้น ถ้ายังดิ้นสู้ฟัดต่อไปได้ “สมัคร” ไม่ยอมลาออกแน่ๆ!! แถม 6 พรรคร่วมรัฐบาลยังเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น โอกาสจะสลายขั้วการเมืองจึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก แต่ในสถานการณ์ที่รัฐบาลถูกกดดันรอบด้าน “สมัคร” ก็ยังมีกลยุทธ์ ที่จะทำให้ ปัญหายืดเยื้อไปเรื่อยๆ การที่คณะรัฐมนตรีประกาศเดินหน้าจัดออกเสียงประชามติ เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศตัดสินชี้ขาดต่อปัญหาขัดแย้งที่เกิดขึ้น ก็เป็นเกมซื้อเวลา โดยใช้กระบวนการยุติความขัดแย้งที่รัฐธรรมนูญมาตรา 165 เปิดช่องให้ทำได้ ความจริงไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลเสนอให้ออกเสียงประชามติเพื่อฟัง ความเห็นของคนไทยทั้งประเทศ เพราะช่วงที่เกิดกระแสต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “นายกฯสมัคร” ก็เคยเสนอให้จัดออกเสียงประชามติเพื่อฟังว่าเสียงประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือไม่?? แต่เนื่องจากติดปัญหาร่าง พ.ร.บ.ออก เสียงประชามติของ กกต.ยังไม่คลอด เมื่อยังไม่มีกฎหมายรับรอง การจัดออกเสียงประชามติประเด็นแก้รัฐธรรมนูญจึงทำไม่ได้!! ในความเห็นของ “แม่ลูกจันทร์” การทำประชามติเพื่อผ่าทางตันวิกฤติชาติอาจจะสายเกินแก้?? ถึงแม้รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ทำได้ แต่ไม่สามารถทำได้รวดเร็วทันใจ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้รัฐบาลต้องเสนอประเด็นที่จะขอประชามติ ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 20 วัน ถ้ารวมเวลาที่ กกต.จะต้องเตรียมการจัดออกเสียงประชามติอีก 30 วัน เท่ากับต้องใช้เวลาอีกเดือนครึ่ง!! หรืออย่างเร็วที่สุดก็ปลายเดือนหน้า คำถามก็คือ กว่าจะถึงวันออกเสียงประชามติปลายเดือนตุลาคม รัฐบาลจะประคองตัวรอดไปถึงวันนั้นหรือไม่?? และยังมีอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การออกเสียงประชามติเกิดขึ้นไม่ได้... เพราะถึงแม้ร่าง พ.ร.บ.ประชามติผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว แต่ยังติดค้างคอขวดอยู่ที่วุฒิสภา ซึ่งจะมีการพิจารณาเห็นชอบกฎหมายฉบับนี้ในวันจันทร์หน้า คาดว่าที่ประชุมวุฒิสภาคงไม่ยอมให้ พ.ร.บ.ประชามติผ่านออกไปง่ายๆ เพราะตามกติกา วุฒิสภามีเวลา 90 วันในการทำคลอด!! เอาเถอะ...ถึงจะคลอดผ่านวุฒิสภาออกมาได้ ก็จะมีนักเลงดียื่น ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก.ม.ประชามติ ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่?? เนื่องจากมาตรา 165 วรรค 2 มีข้อห้ามว่าการออกเสียงประชามติในประเด็นขัดแย้งการเมือง หรือขัดแย้งตัวบุคคล ไม่สามารถทำได้ สรุปว่า รัฐบาลจะทำอะไรก็ติดขัดไปทุกเรื่อง แต่เหรียญย่อมมี 2 ด้าน คนที่สนับสนุนให้ทำประชามติก็มีมาก เพราะจะได้รู้คำตอบที่แท้จริงว่าคนส่วนใหญ่คิดอย่างไรต่อปัญหาขัดแย้งที่เกิดขึ้น?? ข้อสำคัญ เมื่อรัฐบาลจะเดินหน้าจัดออกเสียงประชามติ การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ต้องถูกยกเลิก!! แต่ก็มาติดขัดปัญหาสุดท้ายคือ พรรคฝ่ายค้านและกลุ่มพันธมิตรฯจะยอมรับผลประชามติหรือไม่?? ถ้าไม่ยอมรับ...สองพันล้านบาทที่ใช้จัดออกเสียงประชามติ ก็สูญฟรีน่ะซีท่าน. แม่ลูกจันทร์