คอลัมน์: รายงานพิเศษ
ถ้าเช้าวันที่ 2 กันยายน รัฐบาลยังไม่ยอมประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
เสียงโห่ร้องจาก “ประชาชน” คงดังอึงมี่เกินกว่าจะทำให้เงียบลงได้
ปฏิเสธยากเสียแล้วว่า นาทีนี้ “รัฐบาล” จะตัดสินใจกระทำ หรือไม่กระทำการใดๆ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เสียๆ หายๆ ไปเสียทุกทาง
ดังนั้นเมื่อทุกทางถูกด่า ก็ควรเลือกทางที่จะทำให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด
แต่ที่ผ่านมา รัฐก็ยอมอะลุ้มอล่วยให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้งที่ความรุนแรงอย่างเด่นชัดเกิดขึ้นตั้งแต่วินาทีที่กลุ่มนักรบศรีวิชัยพกพาอาวุธยกกำลังเข้าบุกรุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ต่อเนื่องถึงการบุกยึดสถานที่ราชการ โดยมีทำเนียบรัฐบาลเป็นเป้าหมายใหญ่ ซึ่งทำให้จนป่านนี้เจ้าหน้าที่กว่า 3,000 คนก็ยังเป็นเจ้าไร้ศาล
ถ้ารัฐตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่ตอนนั้น ไม่ใจเย็นเป็นน้ำแข็งเท่าที่เห็นอยู่ เหตุการณ์ก็อาจไม่บานปลาย แต่เพราะพ่ายแพ้แก่แรงกดดันจากสังคม โดยเฉพาะจากบรรดานักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน จึงเลือกท่อง “ขันติ” มากกว่ายึดตามหลักกฎหมาย
ไม่มีการกระทำใดที่จะทำให้ถูกใจคนทุกคนได้ในเวลาเดียวกัน การที่รัฐบาลพยายามประนีประนอมปฏิบัติให้ถูกใจทุกฝ่ายทุกคน จึงเป็นเรื่องผิดพลาดอย่างมหันต์
ยังดีที่ไม่บ้าจี้ “ลาออก” ตามแรงยุยงของฝ่ายค้านและนักวิชาการจริตอ่อนไหว เพราะคงวิเคราะห์กันแล้วว่า ไม่ว่าจะลาออกหรือยุบสภาไป ก็มีแต่ทางตัน นายกฯ คนใหม่ที่จะมาจากขั้วเดิมจะยังถูกพันธมิตรฯ ขับไล่ หรือให้ฝ่ายค้านที่มีเสียงเพียง 160 เสียงบวกพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดก็มากกว่าพรรคพลังประชาชนเพียง 7 เสียง ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้ในการบริหารประเทศที่รัฐบาลและฝ่ายค้านมีเสียงแตกต่างกันแค่นี้
แต่นาทีนี้ เพียงยืนกรานไม่ลาออก แล้วปล่อยให้ “ม็อบยึดเมือง” ก็เห็นแล้วว่าเป็นเรื่องที่พลาดเสียแล้ว เมื่อประชาชนอีกฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลและถูกกดดันมาโดยตลอด ทั้งจากข่าวสาร ทั้งข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่ให้รัฐบาลออก ทั้งการถูกขู่ตัดน้ำ ตัดไฟ ฯลฯ
แม้รู้เต็มอกว่าการเผชิญหน้ากันอาจนำไปสู่ทางออกที่ไม่สวย แต่หัวอกประชาชนที่ถูกเหยียบย่ำจากกลุ่มพันธมิตรฯ มาโดยตลอด ก็เป็นเรื่องที่ใครยากจะกล่อมหรือห้ามได้
ประเหมาะเคราะห์ร้าย คืนนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่งได้รับคำสั่งปลดอาวุธ (ซึ่งก็เป็นเพียงกระบอง) เหลือเพียงโล่ป้องกัน การเผชิญหน้าจึงเกิดขึ้นอย่างยากจะหลีกเลี่ยง
ความสูญเสียชีวิต นำมาด้วย “ศึกชิงศพ” หวังใช้ร่างผู้เคราะห์ร้ายเป็นเครื่องมือป้ายสีความรุนแรงให้แก่อีกกลุ่ม
หรือคำพูดของ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ที่ให้สัมภาษณ์สดแก่รายการโทรทัศน์ ตั้งข้อสงสัยป้ายขี้ให้ฝ่ายรัฐทันทีว่า นี่เป็นแผนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ของรัฐบาล ของ นายสมัคร สุนทรเวช ที่นำม็อบประชาชนมาเข่นฆ่าประชาชนของพันธมิตรฯ
วิกฤติเกิดตรงหน้า มวลชนของตัวเองก็อาวุธครบมือ แต่ยังอุตส่าห์หัวไวใส่สีได้ขนาดนี้ มันต้องยกนิ้วให้จริงๆ แต่จะนิ้วมือหรือนิ้วไหน ก็ว่ากันอีกเรื่อง
แต่งานนี้ นอกจากรัฐบาลที่ใช้ความอดกลั้น ต้อง “กราบ” เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยงามๆ หลายหน เพราะไม่มีตำรวจประเทศใดในโลกที่ต้องควบคุมฝูงชนโดยมีอาวุธเพียง “โล่” อันเดียวในมือ
สุดท้าย ทหารจึงต้องเข้ามาช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังเป็นคำตอบ (เกือบ) สุดท้าย และรัฐบาลที่เพิ่งได้สติ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
มีเพียงแกนนำบางคนของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ยังพูดออกมาได้ว่า รัฐบาลทำเกินกว่าเหตุ
แต่ประชาชนอีกทั้งประเทศกลับหวังว่าประกาศเช่นนี้แล้ว จะทำให้สถานการณ์ทั้งหลายกลับเข้าสู่ความปกติได้เร็วๆ สักที