คอลัมน์: ตะแกรงข่าว
ในที่สุดการปะทะกันระหว่างฝ่ายพันธมิตรทำลายประชาธิปไตย กับ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งกลุ่มพลังประชาชนที่ไม่ยอมรับความเหิมเกริม ดื้อแพ่ง ไม่ยอมรับกฎหมายแม้แต่คำสั่งศาล จนต้องเสียเลือดเนื้อและชีวิตก็เกิดจนได้
ในกรุงเทพฯ พันธมิตรฯ บุกรุกเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล ในต่างจังหวัดบุกรุกเข้ายึดศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ได้เห็นถึงเจตนาของการก่อความวุ่นวายในครั้งนี้อย่างชัดเจนว่า ต้องการทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ ต้องการให้เกิดความเสียหาย ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อสถานการณ์ลุกลามขยายความรุนแรงขึ้น รัฐบาลจึงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่ง นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า ต้องการ “ดับชนวน” บ้านเมืองให้เกิดความเรียบร้อย
ต้องเลือกเอาความอยู่รอดของบ้านเมือง และเพื่อให้เหตุการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด จึงมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์กับชาติบ้านเมือง
เป็นมาตรการที่เบาและนุ่มนวลที่สุดแล้ว เพื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้เข้าไปแก้ไขปัญหาบ้านเมือง
นายกรัฐมนตรีบอกอีกว่า การประกาศภาวะฉุกเฉินของรัฐบาล มีการปรึกษาหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านแล้ว และยืดอกพร้อมจะรับผิดชอบ ในฐานะที่เป็นผู้มีอำนาจสั่งการเป็นหัวหน้ารัฐบาล เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง
ขณะนี้ประเทศมีปัญหา ก็จะต้องรีบเข้าไปดูแลแก้ไข ก็เท่านั้นเองครับ ส่วนใครจะมีความเห็นอย่างไรนั้น ก็เป็นสิทธิ แต่ผมก็เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ เห็นดีเห็นงามกับสิ่งที่รัฐบาลได้ทำลงไป ในการระงับเหตุและยุติปัญหาของบ้านเมือง
แม้จะประกาศภาวะฉุกเฉินแล้วก็ตาม พันธมิตรทำลายประชาธิปไตย ก็ยังดื้อแพ่งจัดการชุมนุมภายในทำเนียบรัฐบาลกันต่อไป โดยอ้างว่าเป็นประกาศที่ไม่ชอบธรรม
และยังมีการปลุกระดมให้คนต่างจังหวัดมาร่วมชุมนุมกันให้มากที่สุด เพื่อกดดันรัฐบาลให้หนักขึ้น
รวมทั้งเรียกร้องให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจหยุดงาน เพื่อตอบโต้ทันที
แทนที่จะสำนึกได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรหรือไม่อย่างไร กลับเหยียบย่ำซ้ำเติม ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น
ในขณะที่ นปช. ถอยกลับไปยังสนามหลวงในทันที เมื่อมีการประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้น เพื่อให้เจ้าหน้าทำงานได้อย่างสะดวก ตามอำนาจหน้าที่
เป็นการยืนยันอีกครั้งว่า การเคลื่อนไหวของ พันธมิตรทำลายประชาธิปไตย มีนัยแอบแฝงแน่นอน เป็นเรื่องทางการเมืองล้วนๆ เพื่อให้ “การเมืองใหม่” เกิดขึ้นในบ้านนี้เมืองนี้ให้ได้
ดังนั้น ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในบ้านเมือง และประชาชนผู้รักและหวงแหนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องเดินหน้าต่อไป ตามครรลองที่ควรจะเป็น และทำกฎหมายมีความน่าเชื่อถือ ถ้าทำได้ ทุกอย่างก็จะคลี่คลาย เพราะถ้ารัฐบาลหรือใครทำตัวเป็นไม้หลักปักขี้เลน เสนออย่างไรก็ทำตาม...ทุกอย่างที่ต้องการก็ไปไม่ได้
การทำให้สถานการณ์คืนสู่สภาวะปกติ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับได้
สถานการณ์วันนี้ โอกาสที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่แกนนำพันธมิตรฯ จะยกให้เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลมาบริหารประเทศชาตินั้น เป็นเรื่องที่ไกลเกินคว้าเสียแล้ว เพราะบทบาทพฤติกรรมที่ผ่านมา สร้างความสับสนในท่าทีของพรรคการเมืองพรรคนี้ ที่สอดรับกับการสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง
ข้อเสนอการจัดตั้งรัฐบาลแบบ 30:70 ถือเป็นประเด็นที่ผิดหลักรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถทำได้ในหลักของความเป็นจริง
จะได้เป็นนายกฯ มีช่องทางเดียวคือ การยุบสภา แต่คิดหรือว่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ต้องการประชาธิปไตย ไม่ใช่ “การเมืองใหม่” ที่เผด็จการออกแบบวางแผนไว้ให้
ผลพวงจากรัฐธรรมนูญของเผด็จการ จำกัดขัดขวางการทำงานของรัฐบาล
การที่รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญ ให้บทบาทกับภาคประชาชนมากขึ้นนั้น วันนี้พิสูจน์แล้วว่า กลายเป็นดาบสองคม ถ้าได้การเมืองภาคประชาชนที่เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของการเมืองการปกครองอย่างแท้จริง เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศ ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก
แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าการเมืองภาคประชาชนเกิดหลงทาง ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างมีนัยมีความไม่สุจริต อ้างการใช้สิทธิเพื่อผลประโยชน์แก่ตนเองด้วยการละเมิดสิทธิของคนอื่น อ้างรัฐธรรมนูญมาเป็นประโยชน์ สร้างความปั่นป่วนวุ่นวายและเกิดเสียหายกับบ้านเมือง อย่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ก็ต้องทำความเข้าใจกันใหม่
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบและได้รับมอบอำนาจในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน บอกว่า คณะกรรมการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จะยึดถือหลักประชาธิปไตยเป็นกรอบ เป็นหลัก โดยการทำงานไม่ให้ประชาชน 2 ฝ่ายปะทะกัน ไม่ให้เกิดการสูญเสียเกิดขึ้น โดยใช้หลายๆ มาตรการรวมกัน เช่น
1.สร้างความเข้าใจของคนในชาติ ไม่ให้นำมาซึ่งความสูญเสีย ต้องมีแนวทางการเจรจาอื่นๆ ตามความเหมาะสม
2.สร้างความเข้าใจประชาชนในภูมิภาค ในการเคลื่อนย้ายเข้ามาในกรุงเทพฯ ซึ่งจะสร้างปัญหา ฝ่ายปกครอง และองค์กรเอกชน จะร่วมกันทำความเข้าใจชี้แจง มากกว่าสกัดกั้น ทำให้เกิดความดื้อดึง
3.มาตรการดูแลผู้ชุมนุม ไม่ให้เกิดการปะทะกัน ซึ่งมีกำลังจากตำรวจ และกองทัพบกดูแล สกัด ไม่ให้ 2 ฝ่ายมาปะทะกัน ไม่ใช้อาวุธ โดยจะใช้มาตรการทางการเมือง หรือมาตรการทางกฎหมายร่วมกัน
4.มาตรการพูดคุยทำความเข้าใจ ในทุกๆ สื่อ ขอความกรุณาสื่อทำความเข้าใจคนในชาติ และหาทางเจรจา โดยใช้แนวทางการเมือง โดยไม่ใช้กำลัง
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำงานอย่างยากลำบาก แม้จะมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติ และพัฒนาในด้านต่างๆ แต่ก็มีผลงานเกิดขึ้นให้ชื่นใจ
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการระดับกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ภาคการค้าและบริการ ประจำเดือนกรกฎาคม 2551 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 38.5 จากระดับ 37.7 โดยการปรับเพิ่มขึ้นของกิจการภาคการค้าปลีก และภาคบริการอยู่ที่ 38.5 และ 39.0 จากระดับ 37.0และ 38.3
ขณะที่ภาคค้าส่ง ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 37.0 จากระดับ 38.1 ส่วนความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจประเทศและธุรกิจตนเอง ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 33.4 และ 36.9 จากระดับ 29.7 และ 31.4 ตามลำดับ
สำหรับเหตุผลที่ดัชนีปรับตัวขึ้นนั้นมาจาก นโยบายกระตุ้น “6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อไทยทุกคน” เสริมความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ขณะเดียวกันต้นทุนในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการในบางประเภทธุรกิจปรับตัวลดลง
ส่งผลให้ระดับความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นครับ
ไม่ทราบจริงๆ ว่าพันธมิตรฯ คิดอย่างไร
แต่ผมเชื่อว่าคนไทยที่รักความถูกต้อง คิดเหมือนกันว่า จะทำอย่างไรให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข
อย่าให้ใครหรือฝ่ายใดมาแอบอ้าง “ประชาธิปไตย” ไปสร้างความถูกต้องชอบธรรมให้กับ “เผด็จการ” อีกต่อไป
อัฐศิริ