สื่อนอกรุมประณามพันธมิตรฯ ตัวการสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง ชี้เหตุที่ไม่พอใจรัฐบาล “สมัคร” เพราะชนะการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ผิดจากความตั้งใจของการยึดอำนาจ 19 ก.ย. ระบุกลุ่มม็อบต้องการเปลี่ยนการเมืองใหม่ ล้มล้างระบบการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย หันมาใช้แนวทาง 70:30 ระบุบรรดาผู้อยู่เบื้องหลังเป็นพวกศักดินา เหยียดหยามประชาชนรากหญ้า
สถานการณ์ความวุ่นวายในประเทศไทย ได้ถูกตีแผ่ไปทั่วโลกผ่านสำนักข่าวของประเทศต่างๆ โดยรวมแล้วพุ่งเป้าไปที่กลุ่มพันธมิตรทำลายประชาธิปไตย ที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความวุ่นวายมาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และสาเหตุสำคัญที่พันธมิตรฯ ไม่พอใจพรรคพลังประชาชน และนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เกิดจากการชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้นจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พร้อมทั้งแฉพันธมิตรฯ มุ่งทำลายระบบการเลือกตั้ง หลังเสนอแนวคิดการเมืองใหม่ 70:30 ที่ขัดหลักการประชาธิปไตยอย่างชัดเจน
แคนเบอร่าไทม์ ของออสเตรเลียระบุว่าแกนนำของกลุ่มพันธมิตรฯ บางคนเป็นผู้ชักนำให้เกิดการรัฐประหารเมื่อเดือน ก.ย.2549 แต่การสนับสนุนให้เกิดรัฐบาลทหารถูกคัดค้านจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเหล่านั้นก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขายังคงสนับสนุนนโยบายเดิมของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกล้มล้างไป ด้วยการลงคะแนนให้กับนโยบายเดิมอีกครั้ง นี่จึงเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จที่สุดในการต่อสู้ของพรรคการเมืองไทย
ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและไทยเจริญก้าวหน้าขึ้นมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เมื่อปี 2548 นำไปสู่การค้าในกรอบทวิภาคีที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนี้อยู่ในภาวะวิกฤติ ประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวอันดับต้นๆ สำหรับออสเตรเลีย อีกทั้งความเชื่อมโยงทางการศึกษาและวัฒนธรรมถือว่าเฟื่องฟูกว่าสมัยใด และไทยยังเป็นผู้นำด้านสถาปัตยกรรมของระบบความปลอดภัย (Security Architecture) ในภูมิภาคนี้ด้วย
ดังนั้น ออสเตรเลียต้องไตร่ตรองอย่างระมัดระวังว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อภาวะวิกฤติในขณะนี้ จริงอยู่ นายสมัคร จะกลายเป็นคนน่ารังเกียจ หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีเขาเป็นสาเหตุ สถานการณ์ย่อมเป็นไปในทางที่เลวร้าย แต่เราไม่ควรคล้อยตามคำหว่านล้อมของกลุ่มพันธมิตรฯ สาเหตุหลักที่ทำให้พวกเขาไม่พอใจเป็นเพราะ นายสมัคร ชนะการเลือกตั้งซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 9 เดือนก่อน ซึ่งกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น และพวกเขาก็ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งด้วย
กลยุทธ์ของพันธมิตรฯ ขณะนี้คือการกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางการเมือง โดยหวังว่าอาจจะเกิดการแตกหักขึ้น หรือบางทีก็อาจจะเป็นการเปิดทางให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม มันเป็นผลพวงจากการเลือกตั้งและกระบวนการทางรัฐสภา แต่ความไม่ดีและข้อเสียเปรียบทั้งหลายยังนำไปสู่ความหวังว่ากระบวนการพัฒนาการเมืองไทยจะดำเนินไปอย่างสงบและมีเสถียรภาพมากกว่านี้ ส่วนพันธมิตรฯ ไม่ได้ต้องการแค่เพียงเปลี่ยนรัฐบาลเท่านั้น พวกเขาต้องการล้มล้างระบบการเลือกตั้งด้วย
รอยเตอร์ส ระบุว่า พันธมิตรฯ เป็นมวลชนฝ่ายขวา ซึ่งเป็นนักธุรกิจและนักกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเริ่มรณรงค์ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อปี 2549 และมีส่วนต่อการรัฐประหาร 19 กันยายน โดยกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวหาว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนั้นเป็นตัวแทนที่ไม่ชอบธรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ขณะเดียวกันพันธมิตรฯ ฉาบสีให้ตัวเองเป็นองครักษ์พิทักษ์พระมหากษัตริย์ ต่อต้านแนวทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะเปลี่ยนประเทศไทยเป็นสาธารณรัฐ ทั้งนี้ข้อกล่าวหาดังกล่าวถูกปฏิเสธจากทั้งรัฐบาลของนายสมัครและจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ด้านสถานีโทรทัศน์ France24 ของฝรั่งเศส รายงานความสูญเสียจากการปะทะ โดยมีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 44 คน และอ้างคำสัมภาษณ์ของ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ว่า สถานการณ์จะยังคงสงบเรียบร้อยได้โดยอาศัยการเจรจา และให้คำมั่นว่า ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่ใช้ความรุนแรงไม่ว่าในกรณีใดๆ
อย่างไรก็ตาม France24 ระบุว่าฝ่ายผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่าพันธมิตรฯ กลับเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้ โดยอ้างคำพูดของ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข หนึ่งในแกนนำพันธมิตรว่า พันธมิตรจะไม่มีการเจรจาใดๆ กับใครทั้งสิ้น นายสมัครและรัฐบาลจะต้องออกไป
France 24 ระบุว่า ตลาดหุ้นของไทยนั้นปิดตัวโดยมีการซื้อขายต่ำลง 2.33 เปอร์เซ็นต์ในวันอังคารที่ผ่านมา ภายหลังเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนสว่างของวันเดียวกัน และโดยรวมแล้ว ตลาดหุ้นของไทยมีการซื้อขายต่ำลง 24 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่พันธมิตรฯ เริ่มรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวชเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ทั้งยังระบุว่า พันธมิตรฯ เริ่มรณรงค์ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2006 ซึ่งขณะนี้ลี้ภัยอยู่ในประเทศอังกฤษหลังจากที่กลุ่มพันธมิตรฯ มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นการรัฐประหารที่ปราศจากการนองเลือด โดยรักษาสถิติที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นอีกนับจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ซึ่งครั้งนั้น ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยได้เสียชีวิตไปกว่าร้อยคน บนถนนราชดำเนินซึ่งเป็นถนนเส้นเดียวกับที่พันธมิตรฯ ใช้ในการประท้วงต่อต้านรัฐบาล
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พันธมิตรฯ ได้ขยายการต่อต้านรัฐบาลไปทั่วประเทศและรวมไปถึงการนัดหยุดงาน ปิดสนามบิน หยุดการเดินรถไฟ และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ก็ยังออกมาเรียกร้องให้มีการหยุดจ่ายน้ำ และไฟฟ้า โดยยึดเอาวันพุธที่ 3 กันยายน เป็นวันดีเดย์
France24 ระบุว่า พันธมิตรฯ นั้นประกอบไปด้วยกลุ่มศักดินา และชนชั้นกลางบางส่วน แกนนำของพันธมิตรฯ นั้นได้แสดงออกอย่างเปิดเผยว่าดูถูกคุณค่าของคะแนนเสียงของคนจนที่เป็นฐานสนับสนุนรัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ และนายสมัคร และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นฝ่ายเสนอว่า ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นควรมีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งในสภา และที่เหลือควรมาจากการแต่งตั้ง
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น มุ่งประเด็นไปที่ผลกระทบด้านการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้มหาศาลให้กับประเทศไทย โดยระบุว่า การประกาศจากทางการเกาหลีใต้และสิงคโปร์ เตือนนักท่องเที่ยวให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมาประเทศไทยนั้นเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ส่อเค้าว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะต้องได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติการเมืองในครั้งนี้ ซีเอ็นเอ็นย้ำว่า รายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยนั้นมีส่วนอย่างมากต่อจีดีพีของประเทศที่เติบโตอยู่ในระดับ 6.5 เปอร์เซ็นต์ และการเมืองที่ไม่สงบครั้งนี้ก็ท้าทายต่อสโลแกนของประเทศ ที่ว่า ‘สยามเมืองยิ้ม’
ซีเอ็นเอ็น อ้างการวิเคราะห์ของแอนดรูว์ วอล์กเกอร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ออสเตรเลียว่า สื่อมวลชนของออสเตรเลียนั้นรายงานตอกย้ำความน่ากลัวที่เกิดจากเหตุการณ์ไม่สงบในประเทศไทย โดยเฉพาะการประท้วงปิดสนามบินสามแห่งในภาคใต้ซึ่งถูกแต่งเติมเรื่องราวจนดูน่ากลัวมากยิ่งขึ้นไปอีก ‘การปิดสนามบินสามแห่งในภาคใต้ และปล่อยให้มีข่าวรายงานออกมาในหน้าหนังสือพิมพ์นั้นไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่เคยเป็นเป้าหมายปลายทางที่เป็นมิตรสำหรับนักท่องเที่ยว’
พร้อมกันนี้ยังอ้างอิงการวิเคราะห์จาก นายกอบสิทธิ ศิลปชัย หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์การลงทุนของสถาบันวิจัยธนาคารกสิกรไทยว่า การประท้วงของพันธมิตรฯ นั้น เป็นผลร้ายต่อการตัดสินใจของนักลงทุน และส่งผลให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ไม่เป็นมิตรและไม่แน่นอนสำหรับการลงทุน นอกจากนี้ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็มีผลต่อการตัดสิใจของนักท่องเที่ยวเช่นกัน เพราะทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่า เกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยกันแน่ ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศไทย
ทั้งนี้ประเทศที่ประกาศเตือนประชาชนของตนเองให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยขณะนี้ประกอบด้วย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และสิงคโปร์
สำนักข่าวซินหัวของจีน รายงานว่า กองทัพได้เข้ามามีบทบาทในการควบคุมสถานการณ์ในไทยแล้ว และขณะนี้สถานการณ์ทั่วไปยังอยู่ในความเรียบร้อย โดยสำนักข่าวซินหัวอ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดาว่าทหารจะไม่ใช้ความรุนแรงไม่ว่าในรูปแบบใดๆ และจะพยายามเจรจากับทุกฝ่าย รวมถึงการเจรจากับฝ่ายพันธมิตรฯ ด้วย
อย่างไรก็ตาม รายงานของซินหัวอ้างคำพูดของ พล.ต.จำลอง ศรีเมืองที่ปราศรัยให้กำลังใจผู้ร่วมชุมนุมว่า รัฐบาลไม่สามารถจับกุมผู้ชุมนุมได้ เพราะคุกมีพื้นที่ไม่เพียงพอที่จะบรรจุผู้ชุมนุมทั้งหมด
เช่นเดียวกับรอยเตอร์ส ที่ยังคงรายงานข่าวอย่างเกาะติดสถานการณ์ โดยอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของนายสมัคร สุนทรเวชว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อจะใช้ความรุนแรง แต่เพื่อยุติความรุนแรง ขณะเดียวกันอ้างการปราศรัยของ พล.ต.จำลอง ศรีเมืองที่ปลุกเร้าผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ให้กลัวหมายจับจากทางการ โดยระบุว่าคุกไม่มีที่ว่างพอสำหรับผู้ชุมนุม
สำหรับสื่อต่างประเทศอื่นๆ เช่น อัลจาซีราห์ เอ็นเอชเค และสเตรทไทม์ ยังคงติดตามรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปที่การให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งยืนยันว่าจะไม่มีการรัฐประหารและคำปราศรัยจากเวทีพันธมิตรฯ ที่ยังคงเดินหน้าประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาลต่อไป
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการรายงานสถานการณ์แล้ว สิ่งที่สื่อต่างประเทศจับตามอง และรายงานอย่างต่อเนื่องก็คือภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ยังไม่มีความแน่นอนในขณะนี้