มติ กกต.ไม่เอกฉันท์ 4 ต่อ 1 แหวกรูรั่วกฎหมาย “วิฑูรย์ นามบุตร” พ้นคดีโกงเลือกตั้ง! อ้างเกณฑ์กฎหมายไม่เปิดช่องให้เอาผิด ส.ส.สัดส่วน กังขา!กกต.ปล่อยผี แม้ผิด พ.ร.บ.พรรคการเมือง “มาตรา 53” ชำแหละสองมาตรฐาน “เอื้อประชาธิปัตย์-เช็กบิลพลังประชาชน”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 1 เสียง ให้ยกคำร้องสำนวนคดีทุจริตเลือกตั้งของนายวิฑูรย์ นามบุตร ส.ส.สัดส่วน และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานไม่สามารถเชื่อมโยงมาถึงตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งได้อย่างชัดเจน แม้ว่าจะมีการแจกบัตรชมภาพยนตร์ ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้ผู้สมัครก็ตาม และกฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้ กกต.ให้ใบเหลืองกับผู้สมัคร ส.ส.ระบบสัดส่วนได้
ก่อนหน้านี้ นายสุเมธ อุปนิสากร กกต.ด้านการมีส่วนร่วม ได้ชี้แจงถึงการออกประกาศ กกต. เรื่องจำนวน หลักเกณฑ์และวิธีการให้เงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ตามปกติประเพณีของพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองและสมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นไปตามบทเฉพาะกาลมาตรา 133 ของ พ.ร.บ. พรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ที่ให้มีผลบังคับใช้เมื่อครบ 1 ปี นับจากวันที่มี พ.ร.บ.บังคับใช้
ทั้งนี้ ตามมาตรา 90 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่ห้ามมิให้บุคคลคณะบุคคลหรือนิติบุคคล ขอรับบริจาคหรือขอสนับสนุนทางการเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากพรรค ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองหรือสมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นคดีอาญา หาก ส.ส.ถูกเรี่ยไรก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ ถือเป็นเรื่องที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อช่วย ส.ส. ไม่ให้มีภาระทางการเงินมากจนนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่น
ส่วนกรณีที่ได้มีคำวินิจฉัย กกต.ไม่เอาผิดนายวิฑูรย์ นามบุตร นับเป็นการขัดต่อเจตนารมย์ของกฎหมายฉบับนี้อย่างชัดเจน และถือเป็นเรื่องของบรรทัดฐานในการพิจารณาของ กกต.
สำหรับเจตนาในการเขียนกฎหมาย เพราะ ส.ส.อ้างว่ามีประชาชนมักจะใช้เหตุการณ์จัดงานต่างๆ มาเรี่ยไรเงินเช่น งานบุญ งานกุศลหรือการจัดงานของชุมชน ซึ่งไม่ให้ก็ไม่ได้เพราะเกรงจะเสียคะแนนนิยม ทำให้เป็นภาระทางการเงินอย่างมาก ดังนั้นเมื่อประกาศ กกต.ฉบับนี้ออกมามีผลบังคับใช้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นบุคคล สถาบันหรือมูลนิธิ ก็จะไม่สามารถมาขอหรือเรี่ยไรเงินได้ เว้น ส.ส.ให้เอง ส่วนงานที่เป็นไปตามประเพณีนิยม เช่น งานบวช งานแต่ง ผ้าป่า กฐิน งานศพ ฯลฯ เงินที่ให้จะต้องมีราคาหรือมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท แต่หากเกินให้รวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไปเพราะเป็นการหาเสียงล่วงหน้า
การนับระยะเวลาในการนำมูลค่าของการให้เงินไปคำนวณเป็นรายจ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แบ่งเป็น 2 กรณีคือกรณีเลือกตั้งทั่วไปเนื่องจากการครบอายุของสภาให้นับหลังจากวันเลือกตั้งครั้งหลังสุดจนถึง 90 วันก่อนวันครบอายุสภาครั้งต่อไปเช่น สภาเลือกตั้งเข้ามาวันที่ 23 ธ.ค. ก็นับไป 4 ปีที่จะครบวาระแล้วนับย้อนขึ้นมา 90 วัน แต่ในกรณีก่อนครบอายุสภา ให้นับหลังจากวันเลือกตั้งครั้งสุดท้ายจนถึงที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายไม่ได้กำหนดโทษ แต่หากมีผู้ร้องก็อาจจะเข้าข่ายความผิดกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. มาตรา 53 ที่ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะต้องโดนใบเหลืองใบแดงได้เช่นกัน