“พระปกเกล้า-สมาคมนักข่าว” จัดสานเสวนาเพื่อสันติธรรม อ้างเวทีเป็นกลางเพื่อยุติปัญหา “ไม่ประณามใคร ไม่กล่าวหาใคร” แต่ถึงเวลากลับเปิดฉากถล่มรัฐบาลและ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นหลัก แต่ไม่ยักมีการเสนอทางออก “บวรศักดิ์ อุวรรโณ” เล่นเอง กล่าวหารัฐบาลยักคิ้วหลิ่วตาให้ประชาชนออกมาชุมนุม แถมจบอภิปรายยังตัดตอนคำถามเอาดื้อๆ อ้างถ่ายทอดสดกลัวเกิดผิดพลาด นักข่าวกังขาพูดจากันแบบนี้จะไปยุติความขัดแย้งได้ตรงไหน
เมื่อบ่ายวันที่ 26 ตุลาคม ที่ผ่านมา สถาบันพระปกเกล้า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาพัฒนาการเมือง ได้รั่มกันจัดเสวนาโดยระบุจุดประสงค์เพื่อยุติความรุนแรง แสวงสันติด้วยการเสวนา และก่อตั้งเครือข่าย “สานเสวนาเพื่อสันติธรรม” ชักชวนบุคคลและองค์กรที่ไม่ฝักใฝ่ความรุนแรงร่วมกันหาทางออกให้บ้านเมือง
นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันพระปกเกล้า ได้แถลงกติกาของเครือข่ายว่า “ไม่ประณามใคร ไม่กล่าวหาใคร” และมีปาฐกถานำโดย นายสุเมธ ตันติเวชกุล ในหัวเรื่อง “ยุติความรุนแรงแสวงสันติด้วยการสานเสวนา” พร้อมทั้งตามด้วยการอภิปรายในหัวเรื่องเดียวกัน
อย่างไรก็ดี กลับปรากฏว่าเวทีดังกล่าวกลับไม่ได้มีสาระสำคัญในการหาทางออกให้ประเทศชาติ แต่เป็นเวทีที่กล่าวโจมตีอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลปัจจุบันเป็นหลัก จนเป็นที่กังวลใจของผู้เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
รวมทั้งสื่อก็ไม่เข้าใจถึงจุดประสงค์แท้จริง และตั้งหลักที่จะซักถามเพิ่มเติม แต่ก็ถูกปฏิเสธ
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ อุปนายกสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จากค่ายมติชน กล่าวในการอภิปรายตอนหนึ่งว่าความขัดแย้งระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เนื่องจากมีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งฝ่ายที่อยู่ลอนดอน ในฐานะคนธรรมดาก็ต้องต่อสู้และปกป้องทรัพย์สินของตนเอง
ดังนั้นพลังการต่อสู้ก็ยังมีการเคลื่อนไหว ในขณะที่คนในเครือข่ายของฝ่ายที่อยู่ในลอนดอนยังดึงพระเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนฝ่ายพันธมิตรฯก็ดึงกลุ่มสันติอโศกเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งฝ่ายพันธมิตรฯมีข้อเรียกร้องอะไรฝ่ายที่อยู่ลอนดอนก็ไม่สามารถรับได้อยู่แล้ว
นอกจากนี้ นายประสงค์ กล่าวว่า พระสงฆ์ยังฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวังกลุ่มคนที่ฉวยโอกาสรับจ้างก่อความรุนแรง แต่ขณะนี้เงินยังไม่มาเขาก็เลยยังไม่บุก
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ กล่าวถึงเหตุการณ์ 7 ตุลาคมว่า รัฐบาลเกิดขึ้นมาเพื่อสร้างความผาสุกและยุติความรุนแรงตามหลักยุติธรรม หากเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการตอบโต้ต้องเป็นการป้องตัวเองตามกฎหมายเท่านั้น และรัฐบาลไม่มีสิทธิใช้ความรุนแรง ไม่ใช่ทำยักคิ้วหลิ่วตาส่งสัญญาณให้ผู้คนออกมาต่อต้าน ส่วนเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นไปแล้วและไม่สามารถจะแก้ไขได้ แต่สิ่งที่ต้องทำ คือ ควรหาข้อเท็จจริงและตั้งคนที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับจากสังคมเข้ามาไต่สวนข้อเท็จจริง
ส่วนตัวอยากให้ผู้ตรวจการของรัฐสภาเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ ซึ่งรัฐบาลไทยในขณะนี้อยู่ระหว่างคาบลูก คาบดอก ซึ่งการทำหน้าที่ของรัฐบาลอาจเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบหรือล้มเหลวได้ อย่างไรก็ตาม ดร.บวรศักดิ์ กล่าวอีกด้วยว่า รัฐบาลต้องคำนึงถึงหน้าที่พื้นฐานในการรักษาความสงบในประเทศ
ส่วนการคัดเลือกทีมผู้ประสานงานศาลเพื่อสันติธรรม ได้แก่ ทีมประสานงานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทีมประสานงานฝ่ายค้าน ทีมประสานงานฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และทีมประสานงานฝ่ายรัฐบาลโดยหลังจากนั้นจะมีการลงนามปฏิญญาศาลเสวนาเพื่อสันติธรรมโดยองค์กรเครือข่ายทุกองค์กร
สำหรับการคัดเลือกทีมประสานงานนั้นมีทั้งหมด 8 คน 1.ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ 2.พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ 3.นายเทียนชัย ณ นคร 4.นายธนพล วัฒนกุล 5.นายวิเชียร คุตตวัส 6.ดร.อรัญ โสตถิพันธุ์ 7.นายอนุสรณ์ ธรรมใจ 8.จิราพร บุนนาค โดยทั้ง 8 คน จะเป็นทีมประสานเพื่อเจราจากับกลุ่ม นปช. พันธมิตรฯ ฝ่ายค้าน และรัฐบาลต่อไป
ขณะที่หลังการเสวนาสิ้นสุดลงผู้สื่อข่าวหลายคนได้รอที่จะสัมภาษณ์เพิ่มเติม โดยยืนรออยู่ที่ไมโครโฟนทั้ง 2 ตัว แต่เจ้าหน้าที่กลับแจ้งว่าเป็นการถ่ายทอดสดเกรงว่าอาจเกิดความผิดพลาดได้จึงงดการตั้งคำถาม ขณะที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ชิงตัดบททันที
ทั้งนี้ คำถามที่ผู้สื่อข่าวบางส่วนได้เตรียมไว้มีการนำมารวมกันไว้ อาทิ
การจัดงานครั้งนี้มีหลักการในเอกสารที่แจกให้บอกว่า “ไม่ประณามใคร ไม่กล่าวหาใคร” แต่นายบวรศักดิ์ ขึ้นต้นรายการในฐานะพิธีกร ก็กล่าวหาว่ารัฐบาลยักคิ้วหลิ่วตาให้กับคนกลุ่มหนึ่ง อย่างนี้หมายความว่าอย่างไร? ถ้าอย่างนี้อย่าหวังเลยว่าจะยุติความรุนแรงได้
นอกจากนี้ก็ยังมีคำถามถึง นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ จากค่ายมติชน ถึงกรณีถูกพันธมิตรฯ สั่งแบนเพราะเสนอข่าวตามข้อเท็จจริง ว่าจะมีการเจรจาสมประโยชน์กับพันธมิตรฯ หรือไม่ และในฐานะสื่อมวลชนจะเลือกระหว่างธุรกิจกับจรรยาบรรณสื่ออย่างไร