โต๊ะข่าวประชาทรรศน์
โดย ณัฐณิชา
“กองทัพ จะไม่เลือกยืนอยู่ข้างไหน? แต่จะเลือกยืนอยู่ตรงกลาง” คือคำแถลงให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว ก่อนหน้าการเดินทางไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพผู้เสียชีวิต จากเหตุสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ของพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก
แต่...หลังร่วมงานดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเพราะโดน“มือตบโห่”ไล่ หรือจะเพราะด้วยเหตุผล กลใด?ก็ตาม ได้ทำให้ท่าทีของกองทัพเปลี่ยนไป
จนกระทั่งย่ำค่ำของวันที่ 16 ตุลาคม 2551 ซึ่งเป็นวันหวยออก หวยก็มาออกที่รายการ “เรื่องเด่น เย็นนี้” ของพิธีกรชื่อดังนายสรยุทธ สุทัศนจินดา เมื่อ“ผู้นำเหล่าทัพ” ทั้งกองบัญชาการกองทัพไทย,กองทัพบก,กองทัพเรือ,กองทัพอากาศ พร้อมด้วย“ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” ได้ทำการ“ปฏิวัติเงียบ”(ตามที่สื่อมวลชนทุกแขนง ลงมติเห็นพ้องต้องกัน)
โดยการพร้อมใจกันแต่งเครื่องแบบเต็มยศ มานั่งแถลงผ่านหน้าจอในรายการดังกล่าว กดดันให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ลาออก เพราะเหตุว่า“หมดความชอบธรรม” ในการที่จะบริหารประเทศบน“กองเลือด” จากเหตุสลายการชุมนุมที่มีผู้บาดเจ็บ และสูญเสียชีวิต
เป็นเรื่องที่น่าตลกเป็นอย่างยิ่ง ถ้า“กองเลือด” ที่“พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา” นำมากล่าวอ้างนั้น ต้องเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว เพราะจากถ้อยแถลงในวันที่ทำการ“ปฏิวัติเงียบ”นั้น ไม่ได้มีการกล่าวถึงกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเลยแม้แต่น้อย
โดยเฉพาะความรับผิดชอบของเหล่าแกนนำ ที่มีการปลุกระดมให้มีการปิดล้อมรัฐสภา พร้อมปลุกปั่นด้วยคำพูด“ฆ่ามัน ฆ่ามัน” อยู่ตลอดเวลา
สถานะความเป็น“กลาง”ของกองทัพ จึงเป็นที่เคลือบแคลง สงสัยเป็นอย่างมาก ในมวลหมู่ประชาชน ที่ได้ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกผู้แทน เพื่อให้มาเป็น“รัฐบาล”บริหารประเทศตาม”กติกา” ว่า กองทัพคิดแผนอะไร?อยู่ในใจ เพราะเป็นที่รู้ๆกันดีอยู่แล้วว่า แม้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง ตามที่ถูกกองทัพกดดันมาสถานการณ์ทางการเมืองก็ใช่ว่าจะสงบลง
เพราะไม่ว่าใคร?ก็ตาม ในซีกรัฐบาลนี้ หากได้รับการสรรหาขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะถูกต่อต้านโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อาจมีการปิดล้อมที่นั่น ที่นี่ขึ้นมาอีก จนต้องมีการสลายการชุมนุม อันอาจนำไปสู่การสูญเสียอีกก็เป็นได้
ดังนั้นประเด็นนี้ จึงมิอาจที่จะมองเป็นอย่างอื่นไปได้ว่า กองทัพมีความพยายามที่จะหนุนหลัง ต้องการให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ตามความต้องการของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ซึ่งแน่นอนถ้าเคารพตามกติการะบอบประชาธิปไตย จะเห็นได้ชัดว่า กองทัพนั้นกำลังเลือกยืนอยู่ “ฝ่ายตรงข้าม” กับประชาชนเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ และเลือกที่จะอยู่ “เคียงข้าง”กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ที่แกนนำบางคนนั้น ไม่เคยไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งตามหน้าที่ของคนไทย เสียด้วยซ้ำไป ทำไม? ผู้นำเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้ให้ความสำคัญกับคนไทยบางคนที่ไม่รู้จักหน้าที่ มากกว่า คนไทยเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ ที่รู้จักหน้าที่ของตนเอง
ผู้นำเหล่าทัพ โดยเฉพาะพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา จะต้องตอบคำถาม?ของสังคมให้ได้ก่อนว่า ถ้าหาก นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่งตามที่ถูกกองทัพกดดัน กองทัพมีแผนการอะไร?รองรับ ที่จะไม่ให้สังคมเกิดความแตกแยก จนเกิดปัญหาตามมาอีก
เช่นเดียวกัน หากจะต้องถึงขั้นยุบสภา กองทัพมีแผนสำรองใด?รองรับ ที่จะไม่ให้พรรคการเมืองที่ประชาชนศรัทธา อยากให้เข้ามาเป็นรัฐบาล ได้รับการรับเลือก
เพราะนี่แหละคือ “ต้นตอ” ของปัญหาทั้งหมด หากกองทัพเลือกที่จะอยู่ข้างฝ่าย“เหนือกฏหมาย” ไม่ยอมรับกติกา ดังเช่นท่าทีของกองทัพที่ปฏิบัติต่อรัฐบาลอยู่ในขณะนี้
การ“ปฏิวัติเงียบ” ผ่านหน้าจอทีวี ที่ดำเนินการโดยผู้นำเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อย่ำค่ำที่ผ่านมานั้น กองทัพใช้อะไร? เป็นเหตุผลที่ออกมากดดันรัฐบาลเช่นนี้ ถ้าเหตุเพราะ“กองเลือด”จากการสลายการชุมนุมตามที่กล่าวอ้าง
อะไร? บดบังตากองทัพ ถึงทำให้มองไม่เห็นว่า มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในเหตุการณ์ครั้งนั้น และกองทัพไม่“เฉลียวใจ”บ้างเลยหรือว่า?
เมื่อครั้งตำรวจทำการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ(นปก.) ก็มีการใช้แกสน้ำตาด้วยเช่นกัน แต่ทำไม? ไม่มีประชาชนขาขาด,แขนขาดหรือแม้แต่นิ้วขาดเลย แม้แต่รายเดียว ทำไม? กองทัพไม่เอะใจใน“ตรรกะ”ง่ายๆเหล่านี้
ที่ผู้บัญชาการทหารบก “พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา” ย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า “กองทัพจะปกป้องสถาบันฯ และอยู่เคียงข้างประชาชน”
จึงทำให้เกิดข้อสงสัยในหมู่ประชาชนบางส่วนของประเทศว่า ตกลงแล้วการบุกยึดสถานีโทรทัศน์NBT,การบุกยึดทำเนียบรัฐบาล และการออกมาขับไล่รัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งมาอย่างถูกต้องตามกติกา ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเอง ก็มีส่วนร่วมในการร่างกติกานี้
ว่านี่คือการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันฯหรือ? แล้วที่คนส่วนใหญ่ของประเทศที่เลือกรัฐบาลมา และเห็นต่างไม่ได้เข้าร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กองทัพมองพวกเขาเป็นคนไม่จงรักภักดีต่อสถาบันฯหรืออย่างไร?
สถานะความเป็นกลางของกองทัพ สิ้นสุดลงแล้วนับแต่วันที่ทำการ“ปฏิวัติเงียบ” ผ่านรายการ “เรื่องเด่น เย็นนี้” ทางไทยทีวีสีช่อง3 เพราะไม่ว่ากองทัพ หรือใคร?ก็ตามที่พยายามบิดเบือน และมองว่าการกระทำของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคือสิ่งที่ถูกต้อง
ท่านกำลังเลือกยืนเคียงข้างอภิสิทธิ์ชน ไม่ได้อยู่เคียงข้างประชาชนตามที่พวกท่านมักกล่าวอ้าง โปรดกรุณาได้ทำความเข้าใจให้ถูกต้องซ่ะใหม่