ท่าดีทีเหลว! “บวรศักดิ์” สนตะพายทางความคิด จี้ผุดแนวร่วมสมานฉันท์ ลั่นยุติความรุนแรง-ตอบโต้ตามกรอบกฎหมาย ชี้ปมขัดแย้ง “ขั้วการเมือง-กบฏพันธมาร” ต้องแก้ด้วยสันติธรรม ขณะที่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองลั่น!ยิ่งแก้ยิ่งมัด เหตุการชุมนุมเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว โต้เลขาฯสถาบันพระปกเกล้าอย่าริทำตัวเป็นกาวใจ ชี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวในตอนหนึ่งของการปาฐกถา “ยุติความรุนแรงแสวงสันติ” ซึ่งมีการกล่าวถึงกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ว่า รัฐบาลเกิดขึ้นมาเพื่อสร้างความผาสุขและยุติความรุนแรงตามหลักยุติธรรม หากเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการตอบโต้ต้องเป็นการป้องตัวเองตามกฏหมาย ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นไปแล้วและไม่สามารถจะแก้ไขได้ แต่สิ่งที่ต้องทำ คือ ควรหาข้อเท็จจริงและตั้งคนที่เป็นกลางและได้รับการยอมรับจากสังคมเข้ามาไต่สวนข้อเท็จจริง
นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนตัวอยากให้ผู้ตรวจการของรัฐสภาเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ ซึ่งรัฐบาลไทยในขณะนี้อยู่ระหว่างดาบลูกดาบดอก ซึ่งการทำหน้าที่ของรัฐบาลอาจเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบหรือล้มเหลวได้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องคำนึงหน้าที่พื้นฐานในการรักษาความสงบในประเทศ
ส่วนการคัดเลือกทีมผู้ประสานงานศาลเพื่อสันติธรรม ได้แก่ ทีมประสานงานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทีมประสานงานฝ่ายค้าน ทีมประสานงานฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และทีมประสานงานฝ่ายรัฐบาลโดยหลังจากนั้นจะมีการลงนามปฎิญญาศาล เสวนาเพื่อสันติธรรมโดยองค์กรเครือข่ายทุกองค์กร
สำหรับการคัดเลือกทีมประสานงานนั้นมีทั้งหมด 8 คน 1.ศาสตราจารย์นายแพญย์วันชัย วัฒนศัพท์ 2.พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ 3.นายเทียนชัย ณ นคร 4.นายธนพล วัฒนกุล 5. นายวิเชียร คุตตวัส 6.ดร.อรัญ โสติพันธ์ 7.นายอนุสรณ์ ธรรมใจ 8. จิราพร บุญนาค โดยทั้ง 8 จะเป็นทีมประสานเพื่อเจราจากับกลุ่มนปช. พันธมิตรฯ ฝ่ายค้าน และรัฐบาลต่อไป
ขณะที่ ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองได้มีข้อกังขาต่อแนวทางของนายบวรศักดิ์ ว่า เป็นเรื่องที่พูดกันได้ แต่ปฏิบัติไม่ได้ เพราะเวลานี้ความขัดแย้งยิ่งแก้ยิ่งบานปลาย เพราะต่างฝ่ายยังต้องการเอาชนะคะคานซึ่งกันและกัน ส่วนการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยย่อมต้องมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม การที่พันธมิตรฯยังคงปักหลักสร้างเงื่อนไขกับรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง แม้จะเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีไปแล้วก็ตามที แต่ความวุ่นวายก็ยังไม่มีท่าทีจะสิ้นสุดลงง่ายๆ การที่นายบวรศักดิ์ออกมาทำตัวเป็นกาวใจ ทั้งที่ยังมีส่วนได้ส่วนเสียกับบางฝ่าย อาจทำให้แนวทางสมานฉันท์ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ หรือเจอก็แต่ทางตัน หากยิ่งแก้ยิ่งมัดตัวเท่านั้น เพราะแก้ไม่ตรงจุด และมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง