ที่มา มติชนออนไลน์
เพื่อไทยพลิกเกมสู้ ปชป. ตั้ง "เสนาะ" ประสาน 5 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลเพื่อชาตินัดหารือ 10 ธ.ค. ลั่น "ประชา-บิ๊กเหวียง"ร่วมด้วย "อำนวย"เสนอภารกิจรบ.ใหม่ สร้างสมานฉันท์-แก้เศรษฐกิจ -ประชามติรธน. อยู่ 1 ปียุบสภา "เฉลิม"วอนพรรคร่วมเดิมกลับมามั่นใจเสียงสนับสนุนถึง244เสียง คาดเปิดสภาฯโหวตนายกฯสัปดาห์หน้า
"เพื่อไทย"มีมติตั้งรัฐบาลแห่งชาติ
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 9 ธันวาคม ที่สำนักงานพรรคเพื่อไทย (พท.) ย่านพระราม 4 นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังการประชุมพรรคว่า พรรคมีมติตามแนวคิดของนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราชที่เสนอให้ทุกพรรคการเมืองร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อชาติ มีนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่ไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนี้ยังเสนอให้นายเสนาะ เทียนทอง เป็นประธานการประสานงานกับพรรคการเมืองทุกพรรคในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ เพราะเห็นแล้วว่าหากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลกลุ่มคนเสื้อเหลืองก็ไม่ยอม แต่หากพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล กลุ่มคนเสื้อแดงก็ไม่ยอม และจะไม่เป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาของประเทศ
นายสุรพงษ์กล่าวว่า การเสนอตั้งรัฐบาลตามแนวทางนี้ ไม่ได้เป็นเพราะขั้วพรรคเพื่อไทยไม่สามารถรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เป็นเพราะอยากให้ประเทศพ้นวิกฤต เพราะขณะนี้พรรคเพื่อไทยมีเสียงอยู่แล้ว 225 เสียง ซึ่งหากจัดตั้งรัฐบาลจะมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งอยู่ 6 เสียง ถึงจะตั้งรัฐบาลได้ก็อยู่ต่อไปไม่ได้ ดังนั้น จึงควรมาอยู่ร่วมกันเพื่อชาติมากกว่า
นายสุรพงษ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับการยุบสภานั้น ที่ประชุมยังไม่ได้พูดถึง เพราะแกนนำวิเคราะห์กันว่าหากยุบสภาแล้ว ไม่มีทางทราบได้เลยว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะมีกระแสข่าวว่า กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) จะลาออกจนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ จากนั้นวุฒิสภาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา จนทำให้เกิดสุญญากาศการเมืองหนักกว่านี้ แต่เมื่อถึงเวลาสุดท้าย ที่จะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีและพรรคประชาธิปัตย์อาจจะชนะการเลือกนายกฯ เราอาจจะนำเรื่องการยุบสภาเข้ามาหารือกันอีกครั้ง
"เสนาะ"รับประสาน5พรรคร่วมตั้งรัฐบาล
ทางด้านนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช เปิดเผยภายหลังพรรคเพื่อไทยมีมติสนับสนุนให้เป็นประธานในการจัดตั้งรัฐบาลว่า เบื้องต้นจำเป็นต้องประสานพูดคุย กับทั้ง 5 พรรคร่วมเดิมว่า ไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองไปในขั้วไหนก็จะเกิดเป็นปัญหาขึ้น ที่พรรคเพื่อไทยมีมติชัดเจนว่ายอมถอย ถือเป็นเรื่องดี ทำให้เห็นว่าพรรคใหญ่ยอมถอยแล้ว ซึ่งจะสะท้อนไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ว่าหากยังคงดึงดันจัดตั้งรัฐบาลอีก จะต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่ตามมา
"ขอถามหน่อยว่าทำไมกระสันกันเหลือเกิน ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่าไม่ว่าพรรคใดเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องเกิดภัยเหนือและภัยใต้ หากพรรคประชาธิปัตย์ยังดื้อ รับรองเกิดเรื่องแน่"นายเสนาะกล่าว
นายเสนาะกล่าวต่อไปว่า จะเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 พรรคมาหารือที่บ้านพักในช่วงเย็นวันที่ 10 ธันวาคม เพื่อหารือปัญหาที่จะเกิดขึ้น เรื่องการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ตอนนี้เสียงกำลังงัดกันอยู่ ต้องดูวันโหวตอีกที
"ตำรางูเห่าเคยมีให้เห็นว่าเป็นอย่างไรวันโหวตเลือกนายกฯก็จะมีให้เห็นอีกแน่นอน"นายเสนาะกล่าว
เย็นวันเดียวกันนายเสนาะให้สัมภาษณ์รายการ "เรื่องเด่นเย็นนี้"ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 อีกครั้งว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ โทรศัพท์มาชักชวนเข้าร่วมรัฐบาลทุกวัน บอกว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะมาพบที่บ้านเมืองทองธานี แต่บอกไปว่าไม่ต้องมา ไม่ได้รังเกียจนายอภิสิทธิ์ แต่มีจุดยืนเพราะลั่นวาจาไปแล้ว เมื่อถามถึงการการประสานงานจัดตั้งรัฐบาล นายเสนาะกล่าวว่า จะทำเท่าที่ทำได้ หากทำไม่สำเร็จก็ช่วยไม่ได้ ได้ประกาศไปแล้วว่าไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่เหมาะสมมีหลายคน นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเก่ง แต่ต้องใช้คนทำงานให้เป็น
ยัน"เชษฐา-ประชา"อยู่ขั้ว"เพื่อไทย"
เมื่อถามว่าได้คุยกับ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร และพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก หรือยัง นายเสนาะกล่าวว่า เพิ่งวางสายโทรศัพท์ จาก พล.อ.เชษฐา ยืนยันว่ายังอยู่กับเรา พล.อ.เชษฐา บอกว่าวันนี้โกรธมาก เหมือนกับต้มกัน เอาไปนั่งหัวโด่ ทั้งๆ ที่ พล.อ.เชษฐาเป็นผู้ใหญ่ แต่ลากไปแถลงข่าวร่วม ซึ่ง พล.อ.เชษฐายืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับที่แถลง พล.ต.อ.ประชา ก็ยืนยันว่าจะอยู่ตรงนี้ เพราะถ้ามีการเปลี่ยนแปลง พล.ต.อ.ประชา คงกลับจังหวัดอุดรธานีไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 11.00 น. วันเดียวกัน นายบุญลือ ประเสริฐโสภา อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชาชนที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี อดีตส.ส.สายนายสรอรรถ กลิ่นประทุม เข้าพบนายเสนาะที่บ้านพักหมู่บ้านเมืองทองธานี
ต่อมา เวลา 13.20 น. ที่พรรคเพื่อไทย นายสุพล ฟองงาม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตแกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน พานายปวีณ แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ กลุ่มเพื่อนเนวิน กลับมาเปิดตัวที่พรรคเพื่อไทย หลังจากก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์
เสนอแนวทาง"สมานฉันท์"-อยู่1ปีแล้วยุบ
ทางด้านนายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทยเปิดเผยภายหลังการประชุมทีมยุทธศาสตร์ของพรรค ณ ที่ทำการพรรค ว่า ได้หารือกับ ส.ส.ที่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางส่วนและแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลหลายคน อาทิ นายเสนาะ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ทุกคนเห็นด้วยว่าการแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศวันนี้ไม่ใช่การจับขั้วรัฐบาลที่มีแกนนำจัดตั้งเป็นพรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ ทางออกที่ดีที่สุดคือ การตั้งรัฐบาลสมานฉันท์ โดยตัวนายกรัฐมนตรีนั้นต้องเป็น ส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์ โดยรัฐบาลสมานฉันท์จะมีวาระในการทำหน้าที่เพียง 1 ปี เพื่อสร้างความสมานฉันท์ แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และจัดการออกเสียงประชามติว่าประชาชนเห็นชอบการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใดระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และปี2550
“เอาทุกพรรคมาจัดตั้งรัฐบาล บริหารงานไป 1 ปี แล้วต้องยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน ผมจะนำเรื่องนี้เสนอแกนนำระดับสูงของพรรคเพื่อไทยให้พิจารณาต่อไป รวมถึงออกแถลงการณ์เรียกร้องให้หัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆสนับสนุนแนวความคิดนี้"นายอำนวยกล่าว
"เฉลิม"ร้องถามพรรคร่วมฯไม่อยากเป็นนายกฯหรือ
ขณะเดียวกัน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แกนนำพรรคเพื่อไทย แถลงว่า ขณะนี้มี ส.ส.เข้ามาสังกัดพรรคมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นตัวเลขที่เป็นรูปธรรม มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งในการจัดตั้งรัฐบาลได้แน่นอน พรรคเป็นห่วงอย่างเดียวคือ ถ้ามีคะแนนเสียงจัดตั้งรัฐบาลพอ แต่เป็นเสียงที่ไม่ทิ้งห่างมาก อาจจะมีปัญหาในช่วงเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านที่มีความชำนาญมาก จึงอยากให้ ส.ส.กลับมาบ้านเก่า อย่าไปเห็นกับการที่แกนนำแต่ละพรรคออกมาแถลงว่าได้เสียงเพิ่มเพราะพูดมาอย่างนี้ 4 วัน จนเป็นแผ่นเสียงตกร่องไปแล้ว ซึ่งแกนนำแต่ละพรรคต่างถูกตัดสิทธิไปแล้ว ไม่มีสิทธิในการโหวต
"ขอเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลเดิมกลับมาร่วมทำงานกัน พรรคเปิดกว้างในการเป็นนายกฯ จะเป็นนายเสนาะ พล.ต.อ.ประชา นายมั่น พัธโนทัย และพล.อ.เชษฐา ไม่นึกอยากเป็นนายกฯบ้างหรือ เพราะเรายืนยันแล้วว่าพรรคเพื่อไทยไม่ต้องการตำแหน่งนายกฯ และส.ส.มีเอกสิทธิที่จะสามารถโหวตใครเป็นนายกฯก็ได้ วันนี้การเมืองยังไม่จบต้องดูกันให้แน่ชัดคือวันโหวตเลือกนายกฯจึงจะรู้ว่าใครเป็นของจริง พรรคประชาธิปัตย์ ดีแต่พูด อยู่ไกล้ๆจะเอาหนังสติ๊กยิงปาก พอคุณหญิงพจมาน (ดามาพงศ์) กลับมาก็บอกว่าไม่ได้เป็นรัฐบาลเพราะแพ้อำนาจเงิน โดนดูดเสียงสนับสนุนไปหมด"ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
มั่นใจเสียงสนับสนุนถึง244เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดแกนนำพรรคเพื่อไทย เช่น นางเยาวภา วงส์สวัสดิ์ ภริยานายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล นายสุพล ฟองงาม รวมทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมประเมินสถานการณ์การจับขั้วตั้งรัฐบาล โดยว่าที่ ร.ต.พงษ์พันธ์ สุนทรชัย ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า แกนนำพรรคคำนวนตัวเลข ส.ส.เบื้องต้น พบว่า ในส่วนของพรรคเพื่อไทยนั้นมี ส.ส. 201-202 เสียง พรรคเพื่อแผ่นดิน 24 เสียง รวมกับ ส.ส.สุรินทร์ อดีตสมาชิกกลุ่มเพื่อนเนวิน ที่จะเข้าไปอยู่พรรคเพื่อแผ่นดินอีก 4 เสียง รวมเป็น 28 เสียง พรรคประชาราช 5 เสียง พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 4 เสียง รวมทั้งพรรคชาติไทย 5 เสียงและพรรคมัชฌิมาธิปไตยอีก 2-3 เสียง พรรคเพื่อไทยก็จะมีเสียงสนับสนุน 243-244 เสียง คาดว่าภายใน 1-2 วันนี้พรรคเพื่อไทยจะสามารถแถลงจัดตั้งรัฐบาลได้
คาดเปิดสภาฯได้สัปดาห์หน้า
สำหรับการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฏรนั้น นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร กล่าวว่า ได้ทำเรื่องขอพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ส่งไปยังสำนักพระราชวัง ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา เบื้องต้นตรวจสอบรายชื่อที่พรรคประชาธิปัตย์พร้อมทั้งพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนได้ยื่นมาจำนวน 240 ชื่อ พบว่า มีการลงลายมือชื่อซ้ำกัน ทำให้เหลือรายชื่อผู้สนับสนุนที่ถูกต้อง 232 คน แต่ถือว่าครบจำนวน 1 ใน 3 ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 129 กำหนดไว้ โดยภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญออกมาแล้ว ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะทำหนังสือนัดประชุมสมาชิกต่อไป คาดว่าจะสามารถเปิดประชุมได้ภายในสัปดาห์หน้า
นายพิทูรกล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาเรื่องสมาชิกภาพ ส.ส.สัดส่วนของพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรค ทางสภาผู้แทนราษฏรไม่มีข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าว จึงถือว่า ส.ส.ส่วนนี้ยังคงสมาชิกภาพอยู่ตามเดิม ส่วนใครมีข้อสงสัยสามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ทั้งนี้โดยหลักการขณะนี้มีจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 447 คน ถูกพักงานในคดีเลือกตั้ง 9 คน เหลือสมาชิกที่สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ 438 คน ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯต้องมีเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด คือ 220 เสียง