'ชำนาญ จันทร์เรือง'จวกรธน.กำหนดคุณสมบัติวุฒิสภาเอื้อชนชั้นนำ แนะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะรัฐสภาตกเป็นเบี้ยล่างของรัฐบาล
นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระได้กล่าวผ่านการสัมมนาหัวข้อ “วิกฤตสถาบันการเมืองกับวิกฤตสังคมไทย” ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ว่า ตั้งแต่เรามีระบบรัฐสภาเป็นต้นมา รัฐสภาไทยเต็มไปด้วยสมาชิกที่มาจากชนชั้นที่ได้เปรียบทางสังคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองอาชีพตลอดจนอดีตข้าราชการที่โยงใยใกล้ชิดกัน โดยเฉพาะอย่างวุฒิสภาที่มีการกำหนดคุณสมบัติที่เอื้ออำนวยต่อชนชั้นนำมากกว่าชนชั้นล่าง มิหนำซ้ำยังมาจากการลากตั้งอีก ๗๔ จาก ๑๕๐ คน
ทั้งนี้ เนื่องมาจากรัฐธรรมนูญที่ออกโดยชนชั้นนำและแนวทางการพัฒนาประเทศที่ขาดการสมดุล ทำให้คนส่วนใหญ่ถูกกันออกไปจากเวทีแข่งขันทางการเมืองโดยอัตโนมัติ คนส่วนใหญ่จึงไม่สามารถมีส่วนกำหนดนโยบายใดๆของรัฐ ตัวระบอบรัฐสภาเองจึงมีความจำกัดในการตอบสนองความต้องการของประชาชน
ตัวรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็มุ่งแต่กลั่นกรองตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง มากกว่าการกระจายโอกาสทางการเมืองให้แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนของสมาชิกรัฐสภาปัจจุบันที่ล้วนแล้วแต่เป็นชนชั้นนำที่ครอบงำรัฐสภาอยู่
ในหลักการของระบบรัฐสภานั้นฝ่ายบริหารอาจถูกลงมติไม่ไว้วางใจหรือสภาผู้แทนอาจถูกยุบเพื่อให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้แสดงบทบาทของผู้ตัดสิน ประชาชนจึงต้องพร้อมเสมอที่จะใช้สิทธินั้น ดังนั้น จึงมีความจำเป้นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องได้รับการศึกษา และการศึกษาไม่เกี่ยวกับเรื่องประชาธิปไตย เพราะอย่างอินเดีย อัตราการรู้หนังสือต่ำกว่าไทย แต่ตั้งแต่เขาได้รับเอกราชมาไม่เคยมีการปฏิวัติรัฐประหารเลย และประชาชนควรได้รับโอกาสในการรับรู้ข่าวสารทางการเมือง ตลอดจนโอกาสในการแสดงความคิดเห็นซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการควบคุมการดำเนินงานขององค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย และหากประเทศใดขาดหลักเกณฑ์ที่ว่านี้ ก็ย่อมกล่าวไม่ได้ว่าประเทศนั้นมีการปกครองในระบบรัฐสภาที่แท้จริง และประเทศที่ว่านี้ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ารวมประเทศไทยของเราในปัจจุบันนี้เข้าไปด้วย
นอกจากปัญหาสำคัญที่ได้ชี้ให้เห็นมาแล้วว่ารูปแบบการปกครองแบบรัฐสภา ซึ่งก็หมายความว่ารัฐสภาเป็นใหญ่หรือมีอำนาจสูงสุด แต่ระบบรัฐสภาของไทยในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ แต่กลับกลายเป็นรัฐบาลที่เป็นใหญ่กว่ารัฐสภา
พรรคการเมืองต่างๆ ของไทยจึงล้วนแล้วแต่ บกพร่องในบทบาทต่อสังคม เพราะทำตัวแปลกแยกจากสังคมมาโดยตลอด แสวงหาหรือเล่นบทบาทเฉพาะบทบาททางการเมืองในสภาเท่านั้น
มิหนำซ้ำเมื่อเกิดปรากฏการณ์พันธมิตรฯขึ้นมา พรรคการเมืองทั้งหลายก็กลับละทิ้งหน้าที่ในทางการเมืองในสภาไปเสียอีก หันไปเล่นทางลัดนอกสภาโดยคอยหนุนหลังกลุ่มเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงอย่างโจ๋งครึ่ม พรรคการเมืองจึงหมดความหมายจากประชาชนไปโดยสิ้นเชิงเพราะไม่ได้ทำหน้าที่ทั้งในทางสังคมและในทางการเมืองแต่อย่างใด โอกาสในการพัฒนาประชาธิปไตยโดยพรรคการเมืองจึงเสื่อมสูญไปอย่างน่าเสียดาย กอปรกับการมีมาตรการยุบพรรคซ้ำเติมเข้าไปอีก ก็เป็นอันว่าสิ้นหวังได้เลยว่าพรรคการเมืองจะเป็นจักรกลที่จะขับเคลื่อนการเมืองในระบบรัฐสภาของเราให้พัฒนากว่านี้ไปได้
ถึงเวลาแล้วที่รัฐสภาไทยจะต้องปรับปรุงกันอย่างขนานใหญ่ ด้วยการ ยกร่างรัฐธรรมนูญเสียใหม่ เพราะพิสูจน์ได้ชัดเจนแล้วว่ารัฐสภาซึ่งใช้อำนาจนิติบัญญัตินั้นตกเป็นเบี้ยล่างของรัฐบาล ไม่ได้เป็นอิสระและไม่อาจถ่วงดุลเพื่อควบคุมตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพเลย เป็นแต่เพียงการแสดงละครฉากใหญ่เท่านั้นเอง