ที่มา ประชาทรรศน์
'5องค์กรสื่อ'เหลืออด!ผนึกกำลังต้านความรุนแรง ประณามสันดานถ่อยม็อบพันธมารใช้อำนาจเผด็จการข่มขู่-คุกคาม ทำร้ายนักข่าว-ช่างภาพ ขณะฏิบัติหน้าที่ จวกยับ'เอเอสทีวี'ตัวจุดชนวน ยั่วยุให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ
วันนี้ (1 ธ.ค.) สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ร่วมกันออกแถลงการณ์ประณามและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติใช้ความรุนแรงต่อนักข่าวและช่างภาพของสื่อมวลชนทุกแขนง รวมทั้งขอให้ “เอเอสทีวี-เอ็นบีที” ไม่ควรยอมตกเป็นเครื่องทางการเมือง
ทั้งนี้แถลงการณ์ของทั้ง 5 องค์กร ยังระบุว่า แนวโน้มวิกฤตความรุนแรงได้ทวีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก่อให้เกิดความแตกแยกแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายในหมู่ประชาชน โดยแต่ละฝ่ายพร้อมใช้อาวุธทำร้ายต่อกันและกัน ในสถานการณ์เช่นนี้สื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ มีความยากลำบากในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ซึ่งมีข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้ว่า สื่อถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆ ไม่เว้นแต่ละวัน แต่ด้วยจิตวิญญาณความเป็นสื่อมวลชน ก็ยังคงมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง เพื่อให้เกิดความถูกต้องในบ้านเมือง
ดังนั้นในสถานการณ์วิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อฯ จึงขอเรียกร้องดังนี้ 1.ขอประณามการกระทำความรุนแรงต่อนักข่าว ช่างภาพ ของสื่อมวลชนทุกแขนงในทุกกรณี อาทิการข่มขู่ทำร้ายช่างภาพที่บันทึกภาพการปะทะกันระหว่างกลุ่มคนที่มีความขัดแย้งทางการเมือง ที่บริเวณ ซอยวิภาวดี 3 กทม. การข่มขู่คุกคามนักข่าวและช่างภาพที่จังหวัดเชียงใหม่ ขณะทำข่าวการทำร้ายชายชราคนหนึ่งจนเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยม การปิดล้อมศูนย์ข่าวภาคเหนือของสถานีโทรทัศน์ไทยทีบีเอส การใช้อาวุธสงครามยิงถล่มสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี จนผู้ดำเนินรายการหวุดหวิดจะได้รับอันตราย การตรวจค้นและตรวจสอบข่าวหรือภาพข่าวของสื่อมวลชนโดยการ์ดพันธมิตรฯที่สนามบินสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะการใช้อาวุธปืนยิงรถถ่ายทอดสัญญาณของสถานีโทรทัศน์ข่าว TNN หรือการบังคับนักข่าวจากหนังสือพิมพ์บางฉบับให้ถอดเสื้อรณรงค์ยุติความรุนแรง ฯลฯ
ซึ่งการกระทำเหล่านี้องค์กรวิชาชีพสื่อรับไม่ได้เพราะถือเป็นการกระทำรุนแรง ขัดขวางการทำหน้าที่สื่อและคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข่าวสารของประชาชน เราจึงขอเรียกร้องต่อผู้ชุมนุมทุกฝ่ายยุติการกระทำดังกล่าวโดยเด็ดขาด
2.ไม่ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งจะรุนแรงอย่างไร สื่อก็มีหน้าที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริงที่รอบด้านทุกแง่ทุกมุมของทุกฝ่าย เพื่อให้ประชาชนนำข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจ จึงขอเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมได้ตระหนักและเข้าใจการทำหน้าที่ของสื่อ ทั้งนี้ หากกลุ่มใดคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อฯย่อมสูญเสียการสนับสนุนจากสาธารณชน
3.ขอเรียกร้องต่อองค์กรสื่อทุกแขนง ไม่ว่าจะสังกัดไหน มีใครเป็นเจ้าของ ควรทำหน้าที่และบทบาทของตนเองอย่างเหมาะสม ในการเสนอข่าวสารข้อมูลที่ไม่เอนเอียง มีอคติ เสนอข่าวด้านเดียว ฉาบฉวย หรือปราศจากมูลความจริง หรือเสนอเสนอข่าวที่ปราศจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือเสนอความจริงเพียงบางส่วน ในสถานการณ์ความขัดแย้งแตกแยกของสังคมในขณะนี้ สื่อควรนำเสนอข่าวที่สมดุล รอบด้าน ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย นักข่าว ผู้ประกาศข่าว และผู้ดำเนินรายการข่าว ต้องทำงานอยู่บนพื้นฐานความเป็นมืออาชีพ ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลใดๆ ที่จะไปเพิ่มความรุนแรงหรือความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะเอเอสทีวี แม้จะเป็นสื่อที่มีจุดยืนเฉพาะตน หรือเอ็นบีทีซึ่งเป็นสื่อของรัฐ หรือวิทยุชุมชน ต้องคำนึงถึงสถานภาพความเป็นสื่อสารมวลชน ไม่ควรละเลยการนำเสนอข่าวที่เป็นข้อเท็จจริงและตรวจสอบได้ และไม่ควรยอมตนเป็นเครื่องมือทางการเมือง
4.สำหรับเพื่อนนักข่าวทุกแขนงให้ระมัดระวังการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มต่าง ๆ และต้องตระหนักรู้ตลอดว่า ในพื้นที่การชุมนุมมีอารมณ์ความตึงเครียดของมวลชนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา นักข่าวอาจตกเป็นเป้าถูกกระทำด้วยความรุนแรง ซึ่งอาจเกิดจากความเข้าใจผิด หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมวลชน ดังนั้นนักข่าวต้องทำหน้าที่ด้วยความอดทน รอบคอบ ให้หลีกเลี่ยงการตอบโต้และยั่วยุในทุกกรณี เพื่อให้นักข่าวจากสื่อมวลชนทุกแขนงได้รับความสะดวก มีความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้จัดทำปลอกแขนให้กับสื่อมวลชนทุกแขนงเพื่อแสดงตนในการเข้าไปทำข่าวในพื้นที่การชุมนุมของฝ่ายต่างๆ โดยจะแจกผ่านกองบรรณาธิการของสื่อมวลชนแขนงต่างๆ
อย่างไรก็ตาม องค์กรวิชาชีพสื่อยังเรียกร้องให้ฝ่ายยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นและร่วมกันหาทางออกโดยสันติวิธี อันเป็นความปรารถนาของคนไทยทั้งประเทศ