ที่มา ประชาทรรศน์
นายกสมาคมทนายความฯทวงถามจิตสำนึก'จรัญ' ชี้พูดไปไม่เกิดผลเพราะเจ้าตัวอ้างน้ำขุ่นๆ ชี้ควรใช้มาตรฐานเดียวกับคดี'สมัคร' แขวะศาลตัดสิทธิ์จำเลย งดสอบพยาน 100 ปากผิดมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมไทย ลั่นถ้าผลสอบสั่งยุบพรรคจริง ศาลต้องมีด่างพร้อย กระเทือนต่อสถาบันการเมือง -ประชาธิปไตย
กรณีข้อถกเถียงถึงคุณสมบัติของนายจรัญ ภักดีธนากุล หนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามีฐานะเป็นลูกจ้างหรือไม่เนื่องจากเป็นอาจารย์สอนพิเศษที่มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่ง นายนรินทร์พงษ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การจะเข้ามาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระอื่นๆ ต้องพิจารณาสภาพของตนเองก่อนในเบื้องต้นว่ามีคุณสมบัติที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความสง่างาม และจะเกิดความชอบธรรมในการพิจารณาคดีความของผู้อื่น ดังนั้นเรื่องนี้ ต้องอยู่กับจิตสำนึก วิจารณญาณและการยอมรับของบุคคลผู้นั้นเอง ว่ามีคุณสมบัติถูกต้องตามกติกากฎหมายหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ตนเองตั้งแต่ก่อนที่จะมานั่งตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยในขณะนี้ตุลาการรัฐธรรมนูญที่เหลือก็ยังให้การยอมรับบุคคลผู้นั้นว่ามีความชอบธรรมอยู่ จึงไม่อาจที่จะนำเสนออะไรได้ ในเมื่อยังไม่มีการยอมรับจากบุคคลที่ถูกกล่าวหาเอง
ทั้งนี้ตามบทกฎหมายสากลแล้วคำว่าลูกจ้างคือมีการรับเงินค่าตอบแทนและหักภาษี ณ ที่จ่าย พร้อมกับมีใบกำกับภาษีรายได้ส่วนบุคคลธรรมดา ก็ถือว่าเป็นลูกจ้างเพราะได้รับค่าตอบแทน แต่หากมีข้อกล่าวอ้างว่าเป็นอาจารย์เพื่อให้วิทยาทานแก่นิสิต-นักศึกษาจึงไม่ถือว่าเป็นลูกจ้าง ตนจึงอยากถามกลับถึงการพิจารณาคดีของนายสมัคร สุรทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่มอบวิทยาทานแก่ประชาชนในการสอนทำอาหารก็เข้าข่ายว่าเป็นลูกจ้าง ตนจึงอยากให้มีการยึดถือกฎหมายที่ได้กำหนดและได้เคยพิพากษาไปแล้วเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน
เมื่อถามถึงข้อกล่าวหาว่ามีความพยายามที่จะเร่งรัดปิดคดีความยุบ 3 พรรคการเมืองโดยเร็วนั้น นายกสมาคมทนายความฯกล่าวว่า การพิจารณาคดียุบ 3พรรคการเมืองนั้นตนมองว่าเป็นการด่วนสรุปในการพิจาณาเร็วเกินไป พร้อมกับยังมีการตัดพยานที่มีอยู่ 100 ปากไม่ให้เข้ามาทำการชี้แจง ทำให้จำเลยไม่มีสิทธิที่จะชี้แจงความบริสุทธิ์ได้เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นการตัดโอกาสตามกระบวนกฎหมายสากล ทั้งนี้คดีความดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคม เพราะเกี่ยวพันกับสถาบันทางการเมืองโดยตรงและอาจกระทบต่อระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นการพิจารณาครั้งนี้หากผลสรุปออกมาชี้ขาดว่าให้ยุบพรรคการเมืองจริง ก็จะเป็นการพิจารณาดคีความที่ไร้ความชอบธรรมตามในกระบวนการยุติธรรม
"อย่างที่เราทราบดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา มีการตีความในม.237 อย่างไม่ควรจะเป็น แต่ในส่วนของกระบวนการพิจารณาตัดสินนั้น เป็นวันนี้ศาลตัดพยานออกไปโดยให้เหตุผลว่าไม่จำเป็นต้องสอบแล้ว ผมถามหน่อยว่ามันควรหรือไม่ และมีเหตุผลอะไรหรือที่ต้องเร่งรัดขนาดนั้น ทั้งที่ตามหลักต้องให้สิทธิ์จำเลยชี้แจงความบริสุทธิ์ของตนเองก่อน ซึ่งนี้คือหลักสากลในกระบวนการยุติธรรม แต่นี้ศาลไม่ทำถือว่าผิดหลัก ถ้าตัดสินพิจารณาคดีความไปแล้วก็จะเป็นรอยด่างของศาลเอง ที่ไม่ให้สิทธิ์จำเลยให้เข้าสู้การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม" นายกสมาคมทนายความฯ