ที่มา ประชาทรรศน์
คอลัมน์ : แวดวงจักรดาว
ตีนตะขาบ
ใครๆ ก็คิดว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล คือ ความฝันของ กลุ่มผู้ก่อการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ไม่ได้มีแค่คณะทหารในนาม คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เท่านั้น แต่หมายรวมถึงผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ธรรมดาทั้งหลายด้วย
ด้วยเพราะมีการตอบแทนบุญคุณและผลประโยชน์ให้ผู้สนับสนุนและแนวร่วมทุกกลุ่มทุกฝ่ายกันถ้วนหน้า ทั้งการให้เป็นรัฐมนตรี ที่ปรึกษา และเลขานุการรัฐมนตรี อีกไม่นานจะยิ่งเห็นเครือข่ายโยงใยกันชัดเจนมากขึ้น
หากแต่ความจริงแล้ว ความฝันของ คมช. ไม่ใช่แค่นี้ ไม่ใช่การให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล แต่ทว่า หมายถึง ขั้นตอนต่อไปนับจากนี้
ยิ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะความแตกแยกสามัคคี แบ่งฝ่าย และโดยเฉพาะการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์
ดังนั้น เป้าหมายจากนี้ก็คือ หากเกิดวิกฤติถึงขั้นนองเลือดขึ้นอีก ก็จะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติและมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยเฉพาะที่มาของนายกรัฐมนตรี ให้เปิดช่องให้คนนอก
เมื่อนั้น จะมีบรรดาคนที่อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติ 19 กันยายน และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีชื่อชิงชัยกันเองหลายคน
แต่หากพรรคประชาธิปัตย์บริหารประเทศไปได้ จนมีการยุบสภา ก็จะสู้กันตามระบอบประชาธิปไตย นั่นคือ การตั้งพรรคและลงสมัครรับเลือกตั้ง แล้วสู้กันด้วยวิชามาร
จึงไม่แปลกที่ตอนนี้จะมีชื่อพรรค 2 พรรคใหม่ ขึ้นมากวนกระแสการเมืองให้น่าตื่นเต้น คือ พรรคภูมิใจไทย ของกลุ่ม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ตั้งขึ้นหลังจากพรรคมัชฌิมาธิปไตยถูกยุบ โดยจับมือกับกลุ่มเพื่อนเนวิน ซึ่งมีข่าวว่าจะให้ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่
หากแต่ข่าวอีกกระแสหนึ่ง ระบุว่า หัวหน้าพรรค ในที่สุดคือ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม นั่นเอง
ด้วยเพราะว่ามีแรงเชียร์จากบรรดาแกนนำพรรคการเมืองต่างๆ รวมทั้ง นายเนวิน ชิดชอบ ที่ต้องการให้ พล.อ.ประวิตร มาเป็นหัวหน้าพรรค เพราะมีทั้งสายสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพ เพราะ พล.อ.ประวิตร นั้นเป็นที่รักของ บิ๊กป็อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. และว่าที่ ผบ.ทบ. ทายาทอำนาจ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสธ.ทบ.
ที่สำคัญคือ ใครๆ ก็รู้ว่า พล.อ.ประวิตร มีความสนิทสนมกับเจ้าสัวคอมลิ้งค์ นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ อย่างมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นนายทุนส่วนตัวที่พร้อมเป็นนายทุนพรรคให้ด้วย
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า พล.อ.สนธิ นั้นเริ่มแนวคิดในการตั้งพรรคการเมืองใหม่ก่อน แต่เจ้ากรรม บรรดาอดีต ส.ส. แกนนำพรรคต่างๆ ที่ พล.อ.สนธิ ประสานงานพูดคุยเจรจาทาบทามอยู่นั้น ล้วนเป็นกลุ่มเดียว พวกเดียว คนเดียว กับที่กำลังจะไปตั้งพรรคภูมิใจไทยเสียได้
จึงมีการชักชวนให้ พล.อ.สนธิ ซึ่งมีทุนน้อยและไม่ค่อยกล้าควัก ไปรวมกับพรรคภูมิใจไทยนี้เสียเลย จะได้กลายเป็นพรรคใหญ่
แต่ติดปัญหาอยู่ที่ พล.อ.สนธิ ไม่อยากจะร่วมสังฆกรรมกับ พล.อ.ประวิตร ที่แม้จะเป็นเพื่อน ตท.6 ด้วยกัน แต่ก็มีเรื่องบาดหมางกันมา อีกทั้งมีการแข่งบารมีกันในรุ่นมาตลอด โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.สนธิ นำปฏิวัติ เป็นประธาน คมช. แต่บารมีก็ยังสู้ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้ ที่เป็นประธานรุ่น ตท.6 มาตลอด
ฝ่าย พล.อ.สนธิ นั้น คิดแผนการตั้งพรรคไว้ 2 แผน คือ 1.หากพรรคเพื่อแผ่นดินที่เขาเคยร่วมก่อตั้งแบบเงียบๆ ถูกยุบพรรค เขาก็จะตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาแทน เพื่อป้องกันไม่ให้ ส.ส. ในสังกัด ไปอยู่พรรคอื่น
แต่แผน 2 หากว่ายังมีบารมีและรวม ส.ส. จากพรรคต่างๆ ได้มาก จะเอามารวมกับ ส.ส. เพื่อแผ่นดินเดิม เพื่อให้เป็นพรรคที่ใหญ่ขึ้น แล้วตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่เลย แต่ก็ต้องใช้เงินมหาศาล ซึ่งต้องรอวัดใจ พล.อ.สนธิ แต่ทว่าจะกลายเป็นขั้วอำนาจใหม่ที่ใหญ่โตมาก จนพรรคประชาธิปัตย์ต้องหวาดหวั่นไม่น้อย
แต่ความฝันของ พล.อ.สนธิ อาจกำลังจะสลาย เพราะว่าฝ่าย พล.อ.ประวิตร กำลังดึงมือขวา และมันสมองของ พล.อ.สนธิ ไปอยู่ด้วย นั่นคือ บิ๊กตุ่น พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตปลัดกลาโหม และเลขาธิการ คมช. เพื่อนร่วมรุ่น ตท.6 จนทำให้ พล.อ.สนธิ และ พล.อ.วินัย หมางใจกันไปบ้าง
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อมีข่าวการตั้งพรรครั่วออกมา พล.อ.สนธิ จะออกมาปฏิเสธ อันเป็นไปตามสไตล์ ลับ ลวง พราง ที่เขาถนัด และประพฤติมาตลอดนั่นเอง
ก่อนที่จะเปิดช่องไว้สำหรับการตั้งพรรคการเมืองว่า “ยังไม่ถึงเวลา ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องรีบร้อน”
แต่ที่แน่ๆ ข่าวที่ออกมานั้น พล.อ.สนธิ พร้อมที่จะเปิดตัวพรรค หากมีการยุบสภา และจะลงเลือกตั้งด้วย
อีกทั้ง พล.อ.วินัย ที่ออกมาตัดช่องน้อย ปฏิเสธว่าไม่เล่นการเมืองก็ตาม แต่ก็โยนเผือกใส่ พล.อ.สนธิ ว่าอาจจะเล่นการเมือง
แต่ที่แน่ๆ เวลานี้พรรคการเมืองที่กำลังเกิดใหม่ 2 พรรค ไม่ใช่พรรคของคนอื่นไกล แต่เป็นพรรคของ คมช. พรรคของ ตท.6 นั่นเอง ขึ้นอยู่กับว่าบารมีและอำนาจเงินตราของ พล.อ.สนธิ หรือ พล.อ.ประวิตร จะมากกว่ากัน
เพราะในที่สุดแล้ว หากไม่มีใครมาซบอก พล.อ.สนธิ เมื่อนั้นทั้งหมดก็คงจะไปซบอก พรรคภูมิใจไทย ที่มีการทาบทาม พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้าพรรคนั่นเอง
แต่แน่นอนว่า ในตอนนี้ พล.อ.ประวิตร ปฏิเสธและยังไม่มีท่าทีใดๆ จนกว่าจะใกล้เวลา การยุบสภา การเลือกตั้ง หรือเมื่อเกิดวิกฤติทางการเมืองที่ต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ
นี่ต่างหากคือ เป้าหมายของ คมช. ในที่สุด หาได้หยุดแค่การให้พรรคประชาธิปัตย์เป็น รัฐบาลเท่านั้น เพราะดูแล้วอาจแก้ปัญหาไม่ได้
ในความคิดของ พล.อ.สนธิ หรือแม้แต่ พล.อ.ประวิตร หรือ พล.อ.อนุพงษ์ เอง มองว่า จะต้องมีรัฐบาลที่มีอิสระและมีอำนาจเด็ดขาดเข้ามาดูแลชาติบ้านเมืองในระยะ 2-3 ปี เพื่อแก้ปัญหาความแตกแยกสามัคคีและการหมิ่นสถาบัน เพราะตอนนั้นจะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองการปกครองไทยเลยทีเดียว...