ที่มา ประชาชาติ
"ปิยบุตร " วิพากษ์ โรดแมปปรองดอง ฉบับ"มาร์ค" โต้"ศอฉ."ผังเครือข่ายล้มสถาบัน ...ไร้สาระ
บทสนทนาข้นๆ เข้มๆ กับ อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์หนุ่มไฟแรง สำนักท่าพระจันทร์ตั้งคำถามกับสังคมการเมืองไทย แบบตรงๆ ทั้ง เรื่องแนวทางปรองดองของนายกฯอภิสิทธิ์ ยำใหญ่ แผนผังโครงข่ายล้มสถาบันของ ศอฉ. ...ไร้สาระ
"ปิยบุตร แสงกนกกุล" อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เป็นหนึ่งใน 5 อาจารย์เสียงข้างน้อย ก๊วนเดียวกับ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์
เป็นนักศึกษากฎหมายมหาชน ระดับปริญญาเอก ประเทศฝรั่งเศส
เป็นอาจารย์ที่ถูกเพื่อน อาจารย์ในธรรมศาสตร์ วิจารณ์ลับหลังว่า
น่าเผาตำราทิ้ง แล้วส่งไปอยู่ ดูไบ หรือ มอนเตรเนโกร กับ นายห้างใหญ่
เป็นอาจารย์หนุ่ม ที่ใบหน้าคล้าย พระเอกเกาหลี แต่เมื่อคุยด้วยแล้ว
จะรู้ว่าเลยว่า สมองก้อนโตของเขา คิดได้มากกว่าลึกกว่า ผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนในบ้านเมือง
ต่อไปนี้คือ บทสัมภาษณ์ ที่เกิดขึ้นริมฝั่งเจ้าพระยา ในวันที่ท้องฟ้า มืดครึ้ม
@ เชื่อหรือไม่ว่าข้อเสนอโรดแมป ปรองดองแห่งชาติของนายกรัฐมนตรี จะนำสังคมไทยไปสู่สภาพเดิมได้
ผมมองว่าเป็นเครื่องมือในการบรรเทาความขัดแย้งตรงหน้า
ซึ่งช่วยลดความขัดแย้งได้บางส่วน แต่ความขัดแย้งที่แท้จริงยังไม่จบ ตราบใดที่ยังไม่คืนความยุติธรรมให้คนกลุ่มหนึ่งที่เขาโดนปฏิบัติมาตลอดเวลาว่า
ถ้าพวกเขาทำอะไรก็ผิดหมด อีกพวกทำอะไรก็ไม่ผิด นี่เป็นปัญหาพื้นฐานที่สุดของความขัดแย้งครั้งนี้
ทุกวันนี้ ปัญหาคือเรื่องความเสมอภาคทางการเมือง ผมเห็นมาตลอดว่าความเสมอภาคทางการเมืองมาก่อนความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ เพราะความเสมอภาคทางเศรษฐกิจขึ้นกับนโยบายของรัฐบาล
แต่ต้องยอมรับว่ารัฐบาลทำไม่ได้ตลอดเวลาหรอก วิธีการก็คือ
ต้องทำให้คนเสมอกัน มีศักดิ์ศรีเท่ากัน เป็นคนเหมือนกัน ความเสมอภาคทางการเมือง
ถามว่า แล้ววัดจากอะไรในระบอบประชาธิปไตย
ผมคิดว่าทุกคนต้องแสดงให้เห็นว่าทุกคนมีเสียงเท่ากัน วิธีการก็คือ
ตอนไปลงคะแนน ไม่ว่าคุณจะเป็นมหาเศรษฐีขนาดไหน
แต่ไปที่คูหาคุณก็คะแนนเสียงเท่ากัน
ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุด ในสังคมประชาธิปไตยตะวันตก เขาสู้เรื่องนี้มานานมาก
เมื่อสู้มาได้ก็เลยมีค่ามาก ผ่านการต่อสู้บาดเจ็บล้มตายมามาก
แต่ประเทศไทย ผมมองว่าเราได้มาง่ายเกินไป ก็คือ
ท่านผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ เมื่อครั้งปฏิวัติ 2475 ก็เขียนกฎหมายว่า
ผู้ชายผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งเท่าเทียมกัน มันเลยดูเหมือนง่าย ประกอบกับมีการ propaganda ตลอดเวลาว่า การเมืองเป็นเรื่องสกปรก นักการเมืองเลวร้าย
@ แต่ก็มีวาทกรรมอีกชุดหนึ่งบอกว่า นักการเมืองเองก็มาจากการซื้อเสียง
ผมก็ได้ยินคนพูดแบบนี้
คุณคำนูญ สิทธิสมาน บอกว่าประชาธิปไตย 4 วินาที เลือกตั้งเสร็จก็จบ แต่ผมกลับคิดว่าภายใต้สังคมไทยอันบิดเบี้ยวประหลาดแบบนี้
ชาวบ้าน คนรากหญ้า ชนชั้นล่าง มีอำนาจการต่อสู้รัฐน้อยมาก
ฉะนั้นผมคิดว่า 4 วินาทีนี้แหละ มีค่ามากสำหรับเขา
เป็นเวลาที่เขาสามารถเลือกตัวแทนมาเป็นปากเป็นเสียงแทนเขาได้
ส่วนเรื่องการซื้อเสียง เมื่อก่อนหรือปัจจุบันแน่นอนว่ายังมี
แต่ผมถามว่า การเมืองวันนี้เดินไปเรื่อย ๆ
แต่ละพรรคมีนโยบายของตัวเอง แตกต่างจากเมื่อก่อน ที่เลือกคนใกล้ตัว เคาะประตูเข้าถึงบ้าน
แต่วันนี้ผมคิดว่า จะดีจะชั่วยังไง นโยบายของทักษิณ (ชินวัตร) กลับติดอาวุธให้ชาวบ้านไปโดยปริยาย คือ
ชาวบ้านรู้แล้วว่า ต่อไปนี้กากบาทให้คนนี้ พรรคนี้ 4 ปีที่เป็นรัฐบาลจะได้อะไรบ้าง
ผมเคยให้สัมภาษณ์นักข่าวฝรั่งเศสเรื่องเลือกที่นโยบายว่า ต่อไปนี้ไม่ต้องรับเป็นเงินแต่ดูที่นโยบายแทน นักข่าวฝรั่งเศสก็ถามว่า ไม่ใช่เป็นการซื้อเสียงด้วยนโยบายหรือ ผมบอกว่ามองอย่างนี้ก็ไม่ถูก หมายความว่าแต่ละพรรคที่เป็นแคนดิเดต ก็ไปทำทางเลือกมาเยอะ ๆ ประชาธิปัตย์ไม่ชอบนโยบายประชานิยม ก็ไปทำนโยบายของตัวเองมา แล้วเสนอไปแข่งกัน
@ คิดว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงครั้งนี้ประสบความสำเร็จหรือเปล่า ในการได้ 5 แนวทางปรองดอง
ผมคงตอบแทนเสื้อแดงไม่ได้
เพราะมองจากคนนอกเข้าไป เสื้อแดงก็มีหลายแนวทาง หลายรสนิยมทางการเมืองเต็มไปหมด
แต่ผมคิดว่าเฉพาะหน้าแล้ว กลุ่มคนเสื้อแดงน่าจะพอใจระดับหนึ่ง
เพราะเขาชูตลอดว่าเขาต้องการยุบสภา ถ้าได้ยุบสภาจริงก็โอเค ส่วนวาระต่าง ๆ เช่น
โครงสร้างสังคม รัฐสวัสดิการ หรือปฏิรูปประเทศ ลดอำนาจอำมาตย์ ตามที่เสื้อแดงคิด โอเค
อาจจะไม่ได้วันนี้ แต่เสื้อแดงเขาคงรณรงค์ต่อไป
@ 1 ใน 5 แนวทางของนายกฯ มีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย อาจารย์คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นไปได้ และดีกับคนส่วนใหญ่เป็นอย่างไร กับเวลา 4-5 เดือนที่มีอยู่
ผมไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญก่อนแล้วยุบสภา แล้วฝ่ายเสื้อแดงเขาก็ไม่ mind
เพราะเขาอยากให้ยุบเร็วที่สุด
เพราะเขามั่นใจมากว่าเลือกตั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยชนะแน่นอน การเสนอให้แก้
ผมมองว่ากลายเป็นบีบรัฐบาลด้วยซ้ำ ซึ่งกลัวเรื่องยุบพรรค หรือกรณีท่าทีพรรคร่วม
ซึ่งเมื่อแก้มาตราเดียวหรือสองมาตรา ก็จะถูกมองว่าแก้เพื่อพรรคการเมือง
ฉะนั้นผมเห็นว่าเลือกตั้งกันใหม่ แล้วใครมาเป็นรัฐบาล ณ เวลานั้น ย่อมโดนบีบจากสังคมแน่นอนในเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ
ซึ่งก็แก้ครั้งใหญ่ไปเลย ไม่ต้องมานั่งแก้ทีละจุด ทำโมเดลคล้าย ๆ ปี 2540
แต่ถ้าเรารู้สึกว่าองค์ประกอบหลากหลายน้อยไป ก็ลองดีไซน์ใหม่ เอาคนทุกกลุ่มเข้ามา
แต่ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญเล็ก ๆ เพื่อยุบสภา ผมคิดว่าไม่จำเป็น
@ อาจารย์มองอนาคตของคุณทักษิณอย่างไรบ้าง หลังนายกฯอภิสิทธิ์ประกาศโรดแมปปรองดองแห่งชาติ
ถ้าให้ผมเดาใจคุณทักษิณ เขาก็คงรู้ว่าเขาคงไม่ได้กลับมาเร็ว ๆ นี้ เพราะคุณทักษิณคงประเมินได้อยู่แล้วว่าเขากลับมาเมื่อไหร่ เป็นหมู่บ้านกระสุนตกแน่นอน
กลับมาก็จะมีการประท้วงอีก คุณทักษิณจะกลับมาได้ทางเดียวก็คือ
ความขัดแย้งที่ทะเลาะกันวันนี้ต้องไม่เหลือแล้ว ซึ่งอีกนานมากกว่าความขัดแย้งชุดใหญ่นี้จะจบลง
@ ถ้าเลือกตั้ง 14 พ.ย.เกิดขึ้นจริง การแข่งขันทางการเมืองจะเป็นอย่างไร
ผมกังวลข้อเดียวก็คือ
กลัวว่าขั้วการเมืองของฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐบาลปัจจุบัน ที่อำมาตย์ไม่ค่อยแฮปปี้ด้วย
ถ้าเขาได้เป็นรัฐบาลขึ้นมา อะไรจะเกิดขึ้น อาจมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งออกมาประท้วงอีกหรือไม่
จะมีคดีออกมาอีกมากหรือเปล่า
หรืออาจจะมีแผนกที่ผมเรียกว่า "แผนกชงสู่ศาล" ชงเรื่องไปศาลเยอะ ๆ อีกหรือไม่
พูดให้เห็นภาพคือ จะมีซินาริโอคล้าย ๆ ช่วงก่อนพรรคพลังประชาชนถูกยุบพรรคหรือเปล่า
ถ้าเกิดอย่างนี้อีกรอบยุ่งที่สุดเลย คราวนี้จะไม่ใช่แค่เรื่องยุบสภา คือ
ธรรมชาติคนเวลาโดนต่อยมันต้องโต้ โดนหมัดเดียวหรือสองหมัดอาจนิ่ง แต่หมัดที่สามต้องเริ่มโต้แล้ว
นี่คือสิ่งที่ผมกลัว
คือสังคมประชาธิปไตย ถ้าพูดในเชิงสังคมวิทยา มันคือ
สนามอันหนึ่ง มันฟรีและแฟร์ เพื่อที่ให้ทุกคนถกเถียงกันได้ เพราะโลกปัจจุบันซับซ้อน ไม่มีใครสามารถผูกขาดความคิดได้อีกแล้ว รสนิยมทางการเมืองมีหลากหลาย
ผมถามว่าสังคมไทยมีสนามแบบนี้หรือยัง คำตอบสำหรับผมคือยังไม่มี
แต่ถ้ามอบความเสมอภาคทางการเมืองให้กับคน ทุกคนเท่าเทียม
เราก็จะมีสนามที่ฟรีและแฟร์ได้ ฉะนั้นในระยะสั้น ผมอยากให้คืนความเสมอภาคให้คน
ซึ่งสิ่งที่เสื้อแดงเสนอคือยุบสภา แล้วถ้าได้รัฐบาลใหม่เข้ามา ก็มาว่ากันเรื่องปฏิรูปประเทศเพราะสภาพบรรยากาศการเมืองมันเปิด สามารถระดมคนทุกฝ่ายเข้ามาคุยกันได้
@ ข้อเสนออาจารย์อมร จันทร์สมบูรณ์ ที่ว่า นักการเมืองไม่ควรสังกัดพรรคการเมือง เห็นด้วยหรือไม่
ผมมองว่า โดยสภาพการเมืองไทย ที่ผ่านมาเมื่อนักการเมืองไม่สังกัดพรรคก็มีการซื้อกันได้ อันนี้จึงเป็นข้อกังวลให้มีการสังกัดพรรค แต่ความเห็นอาจารย์อมร ก็น่าจะนำมาพิจารณา
ซึ่งผมคิดว่า ถ้าอยากจะทดลองก็น่าจะลองดู
แต่ประเด็นคือ ในต่างประเทศอย่างที่อาจารย์บอก คือ ไม่ได้บังคับให้สังกัดพรรค
แต่โดยธรรมชาติคนที่ไม่สังกัดพรรค โอกาสได้รับการเลือกตั้งมันน้อยกว่าคนที่สังกัดพรรค
นั่นหมายความว่า เขาต้องเด่นจริง ๆ แต่ถึงกระนั้นก็ตามแม้จะเป็นอิสระ
แต่เมื่อเข้าไปในสภา เขาก็เข้าไปทำงานกับกลุ่มการเมืองที่มีรสนิยมหรือแนวทางทางการเมืองคล้ายๆ กัน เพราะการเข้าไปสภาคนเดียวมันทำงานไม่ได้ ต่อให้ไม่สังกัดพรรค ถึงเวลาเข้าไปทำ ก็จะมีกลุ่มก๊วนโดยปริยาย
@ อาจารย์มีความหวังกับคุณอภิสิทธิ์ ในการนำประเทศไปสู่การปรองดอง หรือไม่
ผมเห็นว่าวิกฤตระยะสั้นช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เบื้องต้น คุณอภิสิทธิ์จะปลดล็อกนี้ได้ก็ต่อเมื่อ คุณอภิสิทธิ์ต้องแสดงความรับผิดชอบจากเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน เสียก่อน
ถ้าไม่แสดงความรับผิดชอบ ผมว่ามันเดินต่อยาก
เพราะทุกวันนี้ กรณีนองเลือด 10 เมษายน มันเริ่มหายไปจากพื้นที่สื่อหมดแล้ว
พอมีเหตุการณ์ 22 เมษายนที่สีลม เหตุการณ์ 28 เมษายน ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ
คนแทบจะลืมไปหมดแล้วว่าวันที่ 10 เกิดอะไรขึ้น
วันที่ 10 เมษายน ชัดเจนว่าคุณอภิสิทธิ์ทำผิด
โอเค อาจจะเรียกร้องให้ลาออก หรือตั้งกรรมการอิสระ
แต่ทุกวันนี้เรายังไม่เห็นคุณอภิสิทธิ์แถลงต่อสาธารณะ แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ 10 เมษา ซึ่งผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นปัญหา คือ คนเสื้อแดงเขาก็ตั้งคำถามว่า วันที่ 10 เมษายน เกิดอะไรขึ้น และควรจะต้องสอบสวนอิสระจริงๆ
แต่ทุกวันนี้กรรมการอิสระก็หายากจริงๆ ในสังคมไทย วิธีการหาคือ
เอามาคนละฝ่าย ซึ่งเวลาประชุมก็จะไม่ได้มติ
เพราะมากันคนละฝ่าย ถามว่าได้ผลหรือมติ ที่เป็นรูปธรรมหรือไม่ มันก็ได้ยากมากขึ้น
ผมก็เลยกังวลใจว่า ที่นายกฯบอกว่าจะตั้งกรรมการอิสระ จะหามาจากที่ไหน(ครับ)
@ คนกลางๆ หา ยาก เช่นเดียวกับ สื่อที่เป็นกลาง ไม่เหลือง ไม่แดง
ครับ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เดือนสองเดือนที่ผ่านมา
ความเกลียดชัง ความขัดแย้งปะทุหนักขึ้น เพราะสื่อมวลชน
ผมเคยพูดว่าการเสนอความเท็จ บางทียังร้ายแรงกว่าการเสนอความจริงครึ่งเดียว
เพราะการเสนอความเท็จ ผู้เสพสื่อบางทีรู้เลยว่า เป็นเรื่องเท็จแน่ๆ
แต่การเสนอความจริงครึ่งเดียวมันน่ากลัวกว่า
ความจริงครึ่งเดียวคืออะไร เราดูโทรทัศน์ไทยที่ผ่านมา
แน่นอนว่า สื่อของรัฐช่วย propaganda ให้รัฐบาล แต่สื่ออื่นๆ ซึ่งดูเสมือนว่าเป็นกลางนำเสนอข่าวเราเห็นเลยว่า นำเสนอความจริงด้านเดียว สมมุติ เสนอสกู๊ปข่าวเรื่องการชุมนุม ส่วนใหญ่จะเห็นแต่มุมที่ไม่ค่อยดี ผมไม่ได้หมายความว่าสื่อเสนอเป็นเรื่องเท็จ(นะ) เป็นเรื่องจริงนั่นแหละแต่นำเสนออยู่ไม่กี่เรื่อง
ผมดูรายการหนึ่งบอกว่า ไปสำรวจความเสียหายทางเศรษฐกิจ แล้วก็บอกว่า เมื่อผู้ชุมนุมย้ายออกจากผ่านฟ้ามาอยู่ราชประสงค์
ทำให้ผ่านฟ้าดูดี มีความสงบ ไปสัมภาษณ์ประชาคมชาวผ่านฟ้า ทุกคนสบายใจ แล้ว
ก็ตัดภาพมาที่ราชประสงค์ พ่อค้า แม่ค้า ที่ราชประสงค์ก็เริ่มบ่น
ก็ผลิตอย่างนี้ทุกวัน คนรับสื่อก็จะเห็นถึงข้อเสียของการชุมนุม คือ
ผมกำลังจะบอกว่ามันไม่ได้มีแต่ข้อเสีย
ทำไมสื่อไม่ลองนำเสนอข้อมูลอีกด้านหนึ่งบ้าง เช่น
อาจจะมีพ่อค้า แม่ค้า บางกลุ่ม ได้รายได้ดีจากการชุมนุม
หรือเสนอมุมน่ารักๆ ในการชุมนุม เพราะที่ผ่านมา เราเห็นภาพการชุมนุมมีแต่เรื่องโหดร้าย
แต่ผมว่ามันมีมุมน่ารักๆ อยู่หลายจุด ผมไปเดินสังเกตการณ์มา 4 หน
ที่ราชประสงค์ 1 หน ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ 3 หน
มันมีมุมน่ารักในการชุมนุมอยู่ มีมุมครอบครัว มีมุมนวดเท้า นวดตัว ด้วยรอยยิ้มที่ยิ้มแย้ม
ซึ่งเราไม่ค่อยเห็นมุมแบบนี้เลย
หรือล่าสุด ที่ยึดโรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อมีการย้ายย้ายผู้ป่วย สื่อก็ไปถ่ายแต่ภาพนั้น
ผมไม่ได้บอกว่า การปิดโรงพยาบาลจุฬาฯ ถูก(นะ) ผิดแน่นอน
แต่สื่อเอาแต่ภาพอย่างนั้นไปฉาย ทุกวัน
หรือที่สีลมเกิดระเบิด ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าใครทำ เราก็ไปถ่ายแต่ความน่าสะพรึงกลัว
ต่อให้คุณไม่ได้เป็นเสื้อคนหลากสี ไม่ได้เป็นเสื้อเหลือง เสื้อชมพู ที่ไม่ได้สนใจการเมือง เดินอยู่ตามถนนมันเห็นภาพนี้ทุกวัน ก็ต้องมองว่า ทำไมบ้านเมืองมันวุ่นวายอย่างนี้
คิดง่ายๆ ก็ต้องตอบว่า วุ่นวายเพราะมีการชุมนุม เมื่อไหร่จะเลิกๆซะที เป็นคำตอบจากสัญชาติญาณ โดยไม่ได้มีการสืบสาวราวเรื่องว่าการชุมนุมเกิดขึ้นเพราะอะไร
คำตอบโดยสัญชาติญาณนี้ ก็กระตุ้นให้เกิดการเกลียดชังกันมากขึ้น หมายความว่า สร้างบรรยากาศความน่าสะพรึงกลัวขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงมันอาจไม่ได้สะพรึงกลัวขนาดนั้น แต่เราเห็นทุกวันในภาพสี่เหลี่ยมในจอตู้ เมื่อเห็นทุกวันวันหนึ่งเราก็รู้สึกว่า
ความน่ากลัว มันขนาดนี้เลยหรือ
ช่วยทีเถอะ ทำยังไงก็ได้ กำจัดความน่ากลัว ออกไปจากสังคมไทยให้เราทีเถอะ
เหมือนตอนอเมริกาทำสงครามกับอิรัก เราก็เห็นภาพคนอเมริกากลัวการก่อการร้ายมาก จนยอมให้
ประธานาธิบดี บุช ทำอะไรก็ได้ กลายเป็นการเปิดสงคราม หรือเหตุการณ์ทั่วโลกก็จะเป็นลักษณะนี้ คือเป็นการทำงานของพวกสถานการณ์ฉุกเฉิน บางที เราไม่เห็นว่าไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉินจริง แต่เราไปทำให้มันมีขึ้นมาจนเกินจริง เพื่อที่ความฉุกเฉินจะทำให้รัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในการจัดการ
@ กรณีการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ปิดเว็ป เคเบิ้ล และ สถานีของคนเสื้อแดง โดยอ้างหมิ่นสถาบันอาจารย์มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร
เรื่องหมิ่นไม่หมิ่นสถาบัน ผมคิดว่า รัฐบาลควรจะชี้แจงรายละเอียดให้ชัดเจนว่า
มีการหมิ่นสถาบันอย่างไรบ้าง แล้วก็ออกหมายจับ
แต่วันนี้การปิดสื่อของรัฐบาล เป็นการกวาด เหวี่ยงแห ปิดที 30 กว่าเว็ป แล้วบางเว็บไซด์ก็ไม่ได้มีข้อความลักษณะอย่างนั้นด้วย
ยกตัวอย่างเว็บไซด์ประชาไท เราก็เห็นชัดว่าเขาพยายามออกมาจากสื่อกระแสหลัก
ก็ตามปิดเขา ผมคิดว่าเป็นข้ออ้างของรัฐบาลมากกว่า ในการปิดสื่อที่เป็นศัตรูของรัฐบาล บางเว็ปไซด์ไม่ได้มีข้อความหมิ่นพระมหากษัตริย์ แต่รัฐบาลก็ไปปิดเพราะว่าหมิ่นรัฐบาล
เพราะข้อหาหมิ่นสถาบันจริงๆ เป็นเรื่องต้องห้าม คือ
เวลาเราบอกว่าคนนี้หมิ่นสถาบัน ก็สามารถทำอะไรกับเขาก็ได้
รัฐบาลบอกว่าทำได้ ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่โดยเนื้อแท้ทำอย่างนั้นได้จริงหรือเปล่า
ผมคิดว่าตรงมีปัญหา เพราะ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลจะอ้างมาตรา 9 (3) ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปี 2548 ได้ก็จริง แต่เขาเขียนเงื่อนไขการใช้อำนาจว่าจะต้องมีเงื่อนไขเข้าเหตุ ถึงจะไปปิดได้ แต่รัฐบาลไปปิดโดยไม่เคยบอกว่ามีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นแล้ว
@ ก่อนหน้านี้ ศอฉ. ออกมาเปิดโปงโครงข่ายที่เรียกว่าล้มสถาบัน อาจารย์ดูเครือข่าย แล้วคิดเห็นยังไงบ้าง
ถ้าพูดสั้นๆ ผมว่าเป็นเรื่องไร้สาระที่สุด แต่แผนผังมันแสดงให้เห็นว่ามันมีคนกลุ่มหนึ่งพยายามกำจัดคนที่เห็นต่างจากตัวเอง
หรือศัตรูทางการเมืองของตัวเอง โดยใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือ เขียนแผนผังโยงไปโยงมา
แต่ไม่มีคำอธิบาย
ลักษณะการนำสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการทำลายล้าง
มันมีอุทาหรณ์จากต่างประเทศอย่างประเทศฝรั่งเศส มีคนกลุ่มหนึ่งในสมัยที่เรียกว่า กลุ่ม Ultra royaliste หรือภาษาไทยเรียกว่า "ผู้เกินกว่าราชา" คือคนกลุ่มนี้คิดหรืออ่านทำอะไร เรียกร้องสิ่งที่ต่างๆ ยิ่งกว่ากษัตริย์เสียอีก
คนกลุ่มนี้ บ้างก็เป็นขุนนาง ไม่ใช่ขุนนางก็มี แต่จะมีลักษณะใช้วิธีการอะไรก็ได้
เพื่อเอาระบบโมนาคี (Monarchy ) กลับมา โดยที่ไปยิ่งกว่ากษัตริย์ต้องการเสียอีก
ผลสุดท้ายก็นำกลับมาได้บางส่วน เกิดการรณรงค์เลือกตั้งปรากฏว่า
ฝ่าย Ultra royaliste ก็ได้มาคะแนนเสียงจำนวนมาก
เพราะระบบเลือกตั้งขณะนั้นกำหนดให้คนที่เสียภาษีเยอะ มีคะแนนเยอะกว่า
ฉะนั้น Ultra royaliste ก็ได้เสียงข้างมากกลับมาในสภา
เมื่อกลุ่มนี้กลับเข้ามาในสภาได้ ก็ออกมาตรการที่เรียกว่า
"มาตรการความน่าสะพรึงกลัวสีขาว" หรือ Terrers Blonche ซึ่งสีขาวเป็นสีสัญลักษณ์ของกษัตริย์ฝรั่งเศสมาตรการนี้ก็มีการปิดสื่อ ออกกฏหมายลงโทษผู้มีความคิดเห็นทางการเมือง ที่แตกต่างจากตัวเอง หรือสดงความคิดเห็นที่ไปกระทบกับกษัตริย์ รวมทั้งออกกฏหมายรื้อฟื้นความชอบ ธรรมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งโดนตัดออกไปตั้งแต่ตอนปฏิวัติ 1789 แล้วให้รัฐบาลชดเชยความเสียหายต่อกษัตริย์และ...วงศานุวงศ์หรือพวกขุนนางต่างๆ ที่เสียหายจากการปฏิวัติ 1789
แต่ในเวลานั้น กษัตริย์ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางเช่นนี้ ผลสุดท้ายก็คือ กษัตริย์ก็ต้องยุบสภาเพราะมาตรการนี้สร้างความขัดแย้งภายในประเทศอย่างมาก เมื่อยุบสภา ต่อมา กษัตริย์พระองค์นี้ก็เสียชีวิต พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 แห่งฝรั่งเศส ก็ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง
ระหว่างนั้นก็มีเหตุการณ์ เชื้อพระวงศ์โดนลอบฆ่าที่โรงละครโอเปร่า
เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้พวก Ultra royaliste ก็ประโคมข่าว ขึ้นมาว่า
เพราะมัวแต่ไปเบามือกับพวกที่สนับสนุนสาธารณรัฐ พวกเสรีนิยม เชื้อพระวงศ์ก็เลยโดนฆ่า
ก็มีการปลุกระดมขึ้นมาอีก จนก็กลับมาได้อีก เมื่อกษัตริย์องค์เดิมตาย แล้วกษัตริย์ใหม่ขึ้นมา Ultra royaliste ก็ไปสร้างพันธมิตรไว้เรียบร้อยแล้ว กษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นมาก็ไปสนับสนุน Ultra royaliste
จนสุดท้าย พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 ก็ยุบสภา และมีการยุบสภาอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา
ทำให้ Ultra royaliste ได้คะแนนเสียงน้อยลง พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 10 ก็ทำรัฐประหาร ออกกฏหมายปิดสื่อจนประชาชนลุกฮือขึ้นมา ปฏิวัติแห่งเดือนกรกฏาคม ใช้เวลา 3 วัน ในการเนรเทศน์พระเจ้าชาลที่ 10 แล้วก็เข้าสู่ระบบเป็นประชาธิปไตย ให้เสรีภาพมากขึ้น
จะบอกว่า นี่คือบทบาทของ Ultra royaliste ที่ด้านหนึ่งทำให้สถาบันกลับมามีอำนาจ แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้สถาบันเสียหาย นี่เป็นอุทาหรณ์จากฝรั่งเศส จนฝรั่งเศสมาเป็นสาธารณรัฐ
กลุ่ม Ultra royaliste ก็ยังทำอีก แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด จนวันหนึ่งก็ปราศนาการไปจากการเมืองฝรั่งเศส
นี่เป็นอุทาหรณ์ ซึ่งผมคิดว่าอันตราย สำหรับ ข้อหาหมิ่นสถาบันในเมืองไทย ผมมองว่า
ในกฏหมายโรมันโบราณมีคำว่า Homo Sacer คือคนซึ่งถูกตัดสินว่า
ใครก็ตาม ที่ไปฆ่าคนอีกคนหนึ่งไม่มีความผิด เช่น
ถ้าผมเป็น Homo Sacer แล้วคุณมาฆ่าผม คุณไม่มีความผิดนะ อันนี้น่ากลัวมาก
แล้วสังคมไทยพยายามเอาเรื่องหมิ่นสถาบันมาโยงกับเรื่องความมั่นคง ผมเห็นว่า แนวโน้มต่อไปก็คือ
จะใช้มาตรา 112 หมิ่น...เดชานุภาพน้อยลง เพราะที่ผ่านมาเราใช้เยอะมากจนมองจากภายนอกเข้ามา เสียหายต่อสถาบัน
ซึ่งผมคิดว่า รัฐจะใช้ มาตรา 112 น้อยลง แล้วหนีไปใช้พระราชบัญญัติ คอมพิวเตอร์ โดยอ้างเรื่องความมั่นคง แต่ผมเห็นว่า ถ้าจงรักภักดีต่อสถาบันจริง ต้องพูดเรื่องสถาบันได้ในที่สาธารณะ พูดเชิงวิจารณ์ เชิงระบบได้
ผมคิดว่าโดยธรรมชาติคงมนุษย์เป็นคนมีปัญญา เราจึงควรเปิดเสรีภาพให้ทุกคนได้มีสิทธิ์คิด มีสิทธิ์พูด มนุษย์มีอัตวิสัยในตนเอง สามารถตัดสินใจได้ว่า เขาเห็นอย่างไร ดีกว่าไม่เปิดโอกาสให้เขาพูด
@ อาจารย์มองอนาคตของคุณทักษิณอย่างไรบ้าง หลังนายกฯอภิสิทธิ์ ประกาศโรดแมปปรองดองแห่งชาติ
ถ้าให้ผมเดาใจคุณทักษิณ เขาก็คงรู้ว่าเขาคงไม่ได้กลับมาเร็วๆ นี้ เพราะคุณทักษิณคงประเมินได้อยู่แล้วว่าเขากลับมาเมื่อไหร่ เป็นหมู่บ้านกระสุนตกแน่นอน
กลับมาก็จะมีการประท้วงอีก คุณทักษิณจะกลับมาได้ทางเดียวก็คือ
ความขัดแย้งที่ทะเลาะกันวันนี้ต้องไม่เหลือแล้ว ซึ่งอีกนานมาก กว่าความขัดแย้งชุดใหญ่นี้จะจบลง
@ ในสภาวะที่สังคมแตกแยก แบ่งขั้วเช่นนี้ อาจารย์คุยเรื่องเรื่องการเมืองกับใครครับ
ผมรู้สึกว่าวันนี้ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แม้กระทั่งในคณะนิติศาสตร์ บรรยากาศเปลี่ยนไป ทั้งในแง่กายภาพและบรรยากาศด้านความรู้ การรู้จัก ความคุ้นเคย มันเปลี่ยนไปเยอะมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่า
ตั้งแต่ 19 กันยา 2549 ทำให้คนเห็นต่างกันมากขึ้น ทะเลาะกันมากขึ้น
ในทางความคิดคุยกันไม่ค่อยสนิทใจกับคนคิดต่าง แต่ผมก็พยายามไม่คุยกับเรื่องที่คุยแล้วอาจทะเลาะกัน
อย่างกลุ่ม 5 อาจารย์ เราก็สนทนากัน ตั้งวงคุยกัน
จริงๆ ผมอยู่ได้นะ บรรยากาศที่เห็นต่างกัน
หรือความรู้สึกคุยกันไม่ได้เหมือนเดิมก็พอปรับตัวได้
แต่ขอข้อเดียว อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัวก็คือ ผมไม่ชอบข้อหากับวิธีการยัดข้อหา การแทงข้างหลัง กล่าวร้ายกับกลุ่มพวกผมในที่ลับ
ซึ่งผมคิดว่า การคิดต่างก็น่าจะคุยกันตรงไปตรงมาได้
ยกตัวอย่างเช่น มีข่าวลือพูดกันขนาดว่า จะไล่ให้พวกผมเผาตำราทิ้ง ไปอยู่ดูไบ หรือมอนเตเนโกร
ซึ่งจริงๆ ถ้าไม่เห็นด้วยก็น่าจะแลกเปลี่ยนคุยกันตรงๆ ได้ในทางวิชาการ
เหมือนที่อาจารย์อาจารย์วรเจตน์ (ภาคีรัตน์) กับ อาจารย์สมเกียรติ (ตั้งกิจวาณิช)
เห็นต่างกันในคดียึดทรัพย์คุณทักษิณ
ซึ่งหากถกกันแบบนั้นผมคิดว่าเป็นประโยชน์กับสังคม ก่อให้เกิดปัญญามากกว่าการกล่าวร้ายกัน