ที่มา ประชาไท
เปิดตัวหนังสือ “หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” รายงานสถิติคดีหมิ่นฯ ปี 49-51 อภิปราย "บทวิพากษ์ขบวนการล้มเจ้า ฉบับ ศอฉ." โดยสาวตรี สุขสรี, ปิยบุตร แสงกนกกุล, อนุธีร์ เดชเทวพร, ประวิตร โรจนพฤกษ์
6 พ.ค.53 ที่ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการเปิดตัวหนังสือ “หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” และรายงานสถานการณ์ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปัจจุบัน โดย จันทจิรา เอี่ยมมยุรา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.), ศรีประภา เพ็ชรมีศรี ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นมีการอภิปรายทางวิชาการเรื่อง "บทวิพากษ์ขบวนการล้มเจ้า ฉบับ ศอฉ." โดย สาวตรี สุขศรี คณะนิติศาสตร์ มธ., ประวิตร โรจนพฤกษ์ จากหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น, ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะนิติศาสตร์ มธ. และอนุธีร์ เดชเทวพร เลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท. ) ดำเนินรายการโดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
งานนี้จัดโดยโครงการประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, ภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็น 4 องค์กรที่จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ โดยรวมรวมเนื้อหามาจากการอภิปรายทางวิชาการเมื่อปีที่แล้ว (21-22 มีนาคม) เรื่อง ‘หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’
ในช่วงของการเปิดตัวหนังสือนั้น จันทจิรากล่าวถึงเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ว่า แม้จะเป็นการสรุปงานเสวนาวิชาการเมื่อปีแล้ว แต่กับสถานการณ์ตอนนี้ เนื้อหาของหนังสือเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน แสดงว่าประเทศไทยคงไม่ได้ก้าวไปไหน ทั้งสภาพการณ์ยังเลวร้ายลง โดยรัฐบาลไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย เมื่ออ่านหนังสือนี้เล่มนี้จบเราน่าจะสรุปแนวคิดสำคัญได้สักสองประการ ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่แก้ไขปัญหาคดีหมิ่นฯ ได้ หนึ่ง คือกฎหมายนี้ต้องใช้และตีความให้สอดคล้องกับการเมืองการปกครองของยุคสมัย ไม่เช่นนั้นความผิดฐานนี้จะเป็นปฏิปักษ์กับแนวคิดการปกครองในยุคสมัยนั้น ซึ่งจะก่อผลร้ายกับประชาชนที่ต้องถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น และอีกด้านหนึ่งจะเป็นผลร้ายในระยะยาวของสถาบันอันเป็นที่เคารพของประชาชน สอง คือความเป็นประชาธิปไตยของสังคมมีความสัมพันธ์กับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่วนแนวทางในการแก้ปัญหาคดีหมิ่น ต้องเรียกร้องว่าผู้บังคับใช้กฎหมายต้องอย่าใช้ข้อกล่าวหานี้พร่ำเพรื่อและขัดแย้งกับการเมืองการปกครองประชาธิปไตย รัฐบาลต้องไม่คุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยการใช้ข้อหานี้อย่างเลื่อนลอย
ศรีประภา กล่าวตอนหนึ่งถึงสถิติของคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เดวิด สเตร็กฟรัส จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวบรวมมาจากรายงานสถิติคดีศาลทั่วราชอาณาจักร โดยสำนักงานศาลยุติธรรม ในช่วง 3 ปี (2549-2551) มีข้อน่าสังเกตคือ ศาลฎีการับเรื่องส่งฟ้อง 6 คดีแต่ยังไม่มีการตัดสินใดๆ ทั้งสิ้น, ในขณะเดียวกันศาลอุทธรณ์ มีคดีส่งถึง 72 คดี มี 32 คดีที่อยู่ระหว่างพิจารณา อีก 40 คดีตัดสินแล้ว กว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ, ศาลชั้นต้น มีคดีส่งถึงทั้ง 9 ภาคทั่วประเทศอาจไม่ต่างกันมากนัก แต่ในภาคอีสานล่างนั้นสูงอย่างผิดปกติถึง 75 คดีในปี 2550, ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ผู้ต้องหาเป็นเยาวชนมีสูงอย่างน่าแปลกใจและไม่น่าเป็นไปได้ คือ 68 คดีในปี 2550 มีกรณีที่ตัดสินเพียง 2 คดีในปี 2549 และปี 2551 ไม่มีคดี
ข้อสังเกตประการต่อมา สถิติตั้งแต่ปี 49-51 จะพบว่ามีคดีในศาลไทยที่เป็นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถึง 508 คดี ไม่ว่าจะเป็นคดีที่อยู่ในศาลหรือคดีที่ตัดสินแล้ว โดยเฉลี่ยศาลรับคดีหมิ่นประมาณ 170 คดี ตัวเลขนี้เหมือนเป็นไปไม่ได้ หากเรามองว่ามีทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนหรือสื่อมวลชนที่ติดตามตรวจสอบ แต่ในความเป็นจริงเรากลับรู้ข้อมูลน้อยมาก อย่างไรก็ตาม หากสถิติเหล่านี้มีความผิดพลาดรัฐควรต้องทำความกระจ่างในข้อเท็จจริงและหากมันถูกต้อง ก็ต้องอธิบายว่ามันหมายความว่าอย่างไร
ในช่วงการอภิปรายวิชาการเรื่อง "บทวิพากษ์ขบวนการล้มเจ้า ฉบับ ศอฉ." พิชญ์ ผู้ดำเนินรายการได้ฉายแผนผังเครือข่าย ศอฉ. ขึ้นเป็นฉากหลังเวที และอ่านคำแถลงของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ระบุว่าจะต้องยุติการนำสถาบันลงมาในความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อแสดงให้เห็นว่าแม้แถลงเช่นนั้นแต่แผนผังก็ถูกเอ่ยถึงไปพร้อมกัน
อนุธีร์ เลขา สนนท. เล่าถึงเหตุการณ์ที่ถูก ศอฉ.เรียกไปรายงานตัวว่า กลุ่มนักศึกษาถูกเรียกไปรายงานตัวพร้อมกับเจ้าของเต๊นที่ให้เช่า เจ้าของรถเช่า เจ้าของวินมอเตอร์ไซค์ที่เกี่ยวพันกับการชุมนุม โดยเป็นเพียงการเรียกไปสอบถามข้อมูล และขอความร่วมมือไม่ให้เข้าร่วมชุมนุมหรือชักชวนนักศึกษาร่วมชุมนุม ใช้ตำรวจถามข้อมูลทั่วๆ ไปว่าองค์กรมีแนวคิดอย่างไร รู้หรือไม่ว่ามีขบวนการล้มเจ้าอยู่ข้างในกลุ่มคนเสื้อแดง นอกจากนี้ยังตำหนิการข่าวของศอฉ.เนื่องจากมีการระบุว่าเพื่อนของเขาคนหนึ่งเป็น “เครือข่ายแดงสยาม (ล้มเจ้า)” ทั้งที่ไม่เคยมีความเกี่ยวพันและมีปัญหากับที่บ้านจนไม่ได้ทำกิจกรรมตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งไม่แน่ใจว่าจงใจจะผิดพลาดหรือไม่ หากจงใจก็คงเพราะต้องการประทับตราบางอย่างให้กับกับศัตรูที่ไม่ต้องการ อย่างไรก็ดี ศอฉ.เหมือนมีธงอยู่ในหัวแล้วว่า เสื้อแดงเป็นขบวนการล้มเจ้า เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย แล้วใช้ธงนี้นำกระบวนการทั้งหมด ทั้งการซักถาม กระบวนการจิตวิทยา นี่ไม่ใช่ความจงรักภักดีโดยบริสุทธิ์ใจ แต่เป็นผลมาจากการที่คนเสื้อแดงตั้งตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ โดยจะสังเกตว่าระยะแรกของการชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่มีเรื่องนี้ อาจมีในเอเอสทีวีหรือสื่ออื่นๆ แต่ไม่มีประเด็นนี้จากรัฐ แต่เมื่อสถานการณ์ตึงเครียดขึ้น วาทกรรมล้มเจ้ากลายเป็นข้ออ้างในการจำกัดศัตรูของรัฐ เป็นท่าไม้ตายที่รัฐงัดออกมาใช้ยามที่เพลี่ยงพล้ำอย่างถึงที่สุด เช่นเดียวกับสมัย 6 ต.ค.19 ที่รัฐรู้สึกไม่มั่นคงจากการที่สถาบันกษัตริย์ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวและกัมพูชาล่มสลาย จึงใช้ข้อหาล้มเจ้าเพื่อจัดการกับกลุ่มที่ต่อต้านรัฐ อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้อาจนำไปสู่สิ่งที่แตกต่างจาก 6 ต.ค. 19 เพราะสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปมาก รัฐไม่ได้เป็นฝ่ายได้เปรียบอีกต่อไป และกระแสนี้ก็ดูเหมือนปลุกไม่ขึ้น
ปิยบุตร นิติศาสตร์ มธ. ให้ความเห็นถึงแผนผังเครือข่ายล้มเจ้าของศอฉ.ว่าเป็นเรื่องไร้สาระ และอ้างถึงคำอภิปรายของ ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ (ปัจจุบัน) ที่เคยกล่าวในงานสัมมนาปีที่แล้ว (ในหนังสือหน้า 60) โดยปิยบุตรยืนยันว่า แผนผังของ ศอฉ.ก็เข้าข่ายในการฉกฉวยประโยชน์ของมาตรา112นี้ ไปบิดเบือนใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะกลุ่มเพื่อเล่นงานคนอื่นดังที่ธาริตเคยตั้งข้อรังเกียจและต้องการเพิ่มบทลงโทษคนเหล่านี้เช่นกัน
จากนั้นปิยบุตรแบ่งการอภิปรายเป็น 3 ข้อ คือ 1.อันตรายของอุลตร้ารอยัลลิสต์ (กลุ่มคลั่งเจ้า)2. ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยไม่เหมือนที่ใดในโลก 3. การพูดถึงสถาบันกษัตริ์เป็นไปได้ในประเทศเสรีประชาธิปไตย โดยในส่วนที่หนึ่งนั้นเขาเล่าถึงอุดมการณ์อุลตร้ารอยัลลิสต์ในฝรั่งเศสซึ่งมีรากเหง้ามาจากพวกต่อต้านการปฏิวัติ 1789 โดยเชื่อว่าพระเจ้าเท่านั้นจะเป็นผู้เลือกเผ่าพันธุ์กษัตริย์ พระเจ้าเป็นผู้ถือำนาจอธิปไตยแต่ผู้เดียว ขบวนการนี้มีบทบาทในการเมืองฝรั่งเศสตลอดหลังปี 1789 มีการบังคับใช้กฎหมายหลายอย่างที่เข้มงวด ไร้เหตุผล ทำให้การเมืองหลังฝรั่งเศสวุ่นวายมาก จนกระทั่งต้นสาธารณรัฐที่สามก็ขบวนการนี้ได้ปลาศนาการไปจากการเมือง แต่ก็ยังมีปัญญาชนบางกลุ่มที่อยากจะให้ขบวนการนี้กลับมา
ส่วนที่สองปิยบุตร ระบุว่าหากลองเสิร์ชคำว่า Les majeste จะพบแต่กรณีของเมืองไทยทั้งนั้นซึ่งสะท้อนว่าสื่อต่างประเทศโฟกัสเรื่องนี้ในประเทศไทยมาก สำหรับข้ออ้างของกลุ่มรอยัลลิสต์เมืองไทยที่ต้องการให้ดำรงกฎหมายนี้อาจแบ่งออกเป็น กลุ่มที่หนุนให้มีการเพิ่มโทษ, กลุ่มปฏิรูปซึ่งยืนยันให้คงกฎหมายไว้แต่แก้ไขเรื่องการฟ้องคดี โดยอ้างว่าคนธรรมดายังต้องมีกฎหมายหมิ่นประมาทคุ้มครอง หรือประเทศไทยมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนที่ใด ข้อสังเกตคือ ในประเทศประชาธิปไตยที่ยินยอมให้กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ หลายประเทศกำหนดโทษกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจริงแต่แทบไม่นำมาใช้ หรือหากมีการนำมาใช้ก็เป็นโทษที่เบามาก ส่วนใหญ่เป็นโทษปรับ พร้อมยกตัวอย่างประเทศต่างๆ เช่น ประเทศเดนมาร์กกำหนดโทษสูงสุดคือจำคุก 4 เดือน เนเธอแลนด์เพียงโทษปรับ ส่วนประเทศคู่แข่งไทย คือ โมรอคโค ก็ยังมีโทษที่เบากว่าไทยมาก หากหมิ่นฯในที่ส่วนบุคคลโทษจำคุกสูงสุด 1 ปี หากหมิ่นฯ ในที่สาธารณะโทษ 3-5 ปี (กรณีของไทยโทษจำคุก 3-15 ปี) กระนั้นก็ตาม สื่อของโมรอคโคไม่เคยมีการเซ็นเซอร์ตัวเองในเรื่องนี้และมักพร้อมใจกันแจ้งข่าว หรือรณรงค์กดดันรัฐหากมีกรณีเกิดขึ้น
ปิยบุตรกล่าวว่า ข้ออ้างเรื่องความเฉพาะ ไม่สามารถทำให้มากำหนดโทษมั่วๆ เพื่อทำลายล้างกันทางการเมืองได้ และเสรีภาพที่เป็นแก่นของประชาธิปไตยนั้นมีความสำคัญมากกว่า นอกจากนี้โทษของไทยในคดีนี้ยังสูงกว่าสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์เสียอีก ทั้งยังไม่ได้สัดส่วนต่อการกระทำความผิด แม้ส่วนใหญ่ได้รับอภัยโทษ แต่ก็มักจะเกิดขึ้นรวดเร็วเฉพาะชาวต่างชาติ หรือกรณีคนดังอย่าง สุลักษณ์ ศิวลักษณ์
ส่วนที่สามปิยบุตรได้หยิบยกคำอภิปรายในสภาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่ง ส.ส. หลายคนสามารถอภิปรายถึงรัชกาลที่ 7 อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาได้โดยไม่ถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จะเข้าใจสภาพการณ์อันลักลั่นนี้ได้ อาจต้องไล่ตอบคำถามเชิงหลักการทีละอย่างว่า เช่น ประเทศไทยปกครองในระบอบอะไร ถ้าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็จบ แต่ถ้าตอบว่าประชาธิปไตย ระบบกลไก การตีความกฎหมายต้องเดินตามแนวประชาธิปไตย และต้องถามต่อว่าประชาธิปไตยคือคำนาม แล้วคำว่าอันมีพระมหาษัตริย์เป็นประมุขเป็นคำขยาย หรือมันกลับกัน ดังนั้น จึงต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ทั้งหมดโดยเริ่มจากความเข้าใจว่าประชาธิปไตยโดยธรรมชาติแล้วไปกันไม่ได้กับmonarchy แต่หลายประเทศพยายามรักษาไว้ด้วยเหตุผลทางวัฒนธรรม ดังนั้น เมื่อประชาธิปไตยยอมให้มี monarchy ได้ monarchy ก็ต้องปรับให้เข้ากับประชาธิปไตย มีนักปรัชญาบางคนที่พยายามทำให้เรื่องกษัตริย์เป็นเรื่องของสถาบันไม่ใช่ตัวบุคคล เพื่อทำให้มันไปด้วยกันได้กับระบอบประชาธิปไตย
เขายังมีข้อเสนอแนะต่อกลุ่มรอยัลลิสต์ในเมืองไทยด้วย โดยระบุว่า กลุ่มนี้แบ่งเป็น3กลุ่มหลักคือ 1.รอยัลลิสต์ที่ค่อนไปทางเสรีนิยม ผลิตคำอธิบายเกี่ยวกับกษัตริย์นักประชาธิปไตย 2.รอยัลลิสต์ซาบซึ้ง ซึ่งเป็นคนชั้นกลางในเมือง มีการศึกษาตามระบบ ไม่ได้สนใจการเมืองประวัติศาสตร์ลึกซึ้ง อยู่กับ propaganda โดยตลอด อ่อนไหวกับเรื่องกษัตริย์มากพร้อมจะเกรี้ยวกราดรุนแรงได้ทันทีหากใครโหมกระพือเรื่องล้มเจ้า แยกไม่ออกระหว่างรัฐกับกษัตริย์ 3. อุลตร้ารอยัลลิสต์คล้ายกับในฝรั่งเศส ไปไกลกว่าเจ้า สร้างภาพหลอน ภาพลวงขบวนการล้มเจ้า ตัวเองจะได้ออกมาตรการโหดร้ายไปทำร้ายศัตรูทางการเมือง ขณะเดียวกันก็มีผลไปปลุกปั่นให้กลุ่มสองกระทำความรุนแรงแทนตน ดังนั้น กลุ่มที่หนึ่งจะต้องช่วยออกมาห้ามปราม จากนั้นเขาปิดท้ายด้วยวลีของอันโตนีโอ กรัมชี่ ในหนังสือ prison notebooks แปลโดย เบน แอนเดอร์สัน “เมื่อสิ่งใหม่ดิ้นรนจะบังเกิด และสิ่งเก่าปฏิเสธที่จะตาย อสูรกายก็จะปรากฏขึ้น”
สาวตรี นิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า เวลาพูดถึงมาตรา 112 หรือคดีหมิ่นฯ จะพูดแยกกันกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ไม่ได้ เพราะคดีในระยะหลังล้วนใช้ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น ขณะที่มาตรา 112 มีปัญหาทั้งในแง่การตีความและการบังคับใช้ที่ปัจจุบันก็ยังถกเถียงกันไม่เป็นที่ยุติว่าจะแก้ไขอย่างไร ก็มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ซึ่งมีปัญหามากเช่นกัน เช่น มาตรา 14 (3) อ้างอิงถึงการกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงและการก่อการร้าย ตั้งแต่มาตรา 107-135 ของกฎหมายอาญาซึ่งมีลักษณะความผิดชัดเจน แต่กลับมีมาตรา 14 (2) ซึ่งระบุความผิดในการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่นิยามไม่ได้ว่าคืออะไร นอกจากนี้ยังมีมาตรา 20 ยังให้อำนาจเจ้าพนักงานในการปิดกั้นเว็บไซต์หรือลบข้อความ ซึ่งขัดกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ส่วนมาตรา 15 ระบุว่าหากผู้ให้บริการจงใจให้มีการนำเข้าเนื้อหาที่อาจเป็นความผิดต้องระวางโทษเช่นเดียวกันด้วย ถือเป็นการบัญญัติกฎหมายที่รับรองการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ เกิดการเซ็นเซอร์ไปก่อนที่จะมีกรณีเกิดขึ้น เนื่องจากไม่รู้ว่าอะไรบ้างที่ผิด
สำหรับแผนผังขบวนการล้มเจ้าของ ศอฉ.นั้นแม้ระบุว่าเป็นเพียงการวิเคราะห์ ไม่ได้กล่าวหา แต่ถามว่าการบอกว่ามีขบวนการล้มเจ้าซึ่งมีคนเสื้อแดงเข้าร่วมเหยียบแสน ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกตามมาตรา 14 (2) หรือไม่ การที่ ศอฉ. พูดเรื่องขบวนการล้มเจ้าอาจไม่ได้หวังผลเป็นรูปธรรม ไม่ได้คิดจะดำเนินคดีกับคนเหล่านั้นจริงๆ แต่กำลังหวังปลุกกระแสทางสังคมให้เกิดการลงโทษโดยประชาชนด้วยกันเอง โดยขณะนี้มีสิ่งที่เกิดขึ้นมาสอดรับกันคือ กลุ่ม Social Sanction หรือยุทธการลงฑัณฑ์ทางสังคมในเฟซบุ๊ค เป็นการล่าแม่มดออนไลน์ซึ่งสมาชิกในกลุ่มจะคอยตามหาเอาหน้าเฟซบุ๊คของคนที่วิจารณ์อาจจะโดยสุจริตหรือไม่ก็แล้วแต่ แล้วข้อมูลส่วนตัวของบุคคลนั้นมาแปะ พากันรุมด่า หรือที่เรียกว่า “เสียบประจาน” ทำให้มีคนถูกโทรขู่ฆ่า การกระทำเช่นนี้ขัดต่อกฎหมายเพราะเป็นการนำข้อมูลส่วนบุคคลมาเปิดในที่ที่ผู้นั้นไม่คิดจะเปิด และถือเป็นการละเมิดทางอาญา
ที่สุดแล้วการมีกฎหมายเช่นนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับที่ประเทศที่ปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะในต่างประเทศก็มีบางเรื่องที่พูดไม่ได้ เนื่องจากปมทางประวัติศาสตร์ เช่น ประเทศในยุโรปห้ามดูถูกเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนาอื่น ในเยอรมนีห้ามสนับสนุนชาตินิยมนาซี แต่ในประเทศไทยมีปัญหาคือ กฎหมายอย่างมาตรา 112 หรือมาตรา 14(2) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มีลักษณะการบัญญัติ และการใช้บังคับที่ขาดความชัดเจนและมีแนวโน้มที่จะไม่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะมาตรา 14 ที่อาจถูกนำมาใช้เล่นงานกับข้อมูลอะไรก็ตามที่รัฐมองว่าขัดกับความมั่นคง มีการบังคับใช้การตีความอย่างกว้างขวาง มีปัญหาเรื่องอัตวิสัยของผู้ตัดสิน การที่ผู้มีอำนาจในการฟ้องร้องเป็นใครก็ได้ซึ่งอาจกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง โทษที่สูงเกินไป และมาตรการอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น ลักษณะการพิจารณาคดีในลักษณะปิดลับ ทำให้สื่อไม่กล้านำเสนอ ซึ่งมีแนวโน้มที่อาจก่อให้เกิดการละเมิดหลักประกันสิทธิของผู้ต้องหา เพราะคนเข้าไปตรวจสอบไม่ได้
ทั้งหมดนี้ อาจจะไม่แปลกที่คนจำนวนมากไม่พอใจเจ็บแค้นกับผู้ที่วิพากษ์สถาบันกษัตริย์ แต่จะแปลกอย่างมากหากรัฐหรือประชาชนเห็นดีเห็นงามกับระบบศาลเตี้ย คนที่วิจารณ์สถาบันฯ โดยสุจริต อาจจะยอมรับการใช้ 112 แต่คงไม่ยอมรับการใช้อำนาจที่เกินกว่ากรอบทางกฎหมาย หากมีการยอมรับสิ่งเหล่านี้จะหนีไม่พ้นยุคมืดที่ไม่ต้องพูดด้วยกฎหมาย แต่ใช้อารมณ์ความรู้สึก อย่างไรก็ตาม ขอตั้งข้อสังเกตว่ารัฐมีการทำงานสอดประสานกันกับกลุ่มแบบนี้ เพราะเมื่อมีการเสียบประจานก็มีการจับกุมตามมา จึงเสนอว่ารัฐจะต้องหยุดสร้างผีขบวนการล้มเจ้า หยุดสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวและความเกลียดชังที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงที่คาดไม่ถึงได้ รวมถึงต้องทบทวนปัญหาของกฎหมายทั้งสองมาตราที่ได้กล่าวไปแล้วด้วย
“ถ้าประเทศไทยยังยอมรับว่าเราใช้ระบบนิติรัฐก็ไม่ควรยอมรับหรือเห็นดีเห็นงามกับการลงโทษที่เหนือกว่ากระบวนการทางกฎหมาย เพราะจะทำให้เข้าสู่ยุคมิคสัญญี” สาวตรีกล่าว
ประวิตร จากเดอะ เนชั่น กล่าวถึงความพยายามของ ศอฉ.ที่จะพูดถึงขบวนการล้มเจ้าแบบเหมารวม โดยในแผนผังนั้นคนและองค์กรมีความหลากหลายพอสมควร แม้ดูผิวเผินอาจเกี่ยวข้องกับเสื้อแดงก็ตาม แต่มีการนับรวมคนจำนวนหนึ่งที่ไม่เลื่อมใสหรือหมดศรัทธากับสถาบันว่าเป็นคนล้มเจ้าด้วย ซึ่งเรื่องนี้สื่อก็เป็นต้นเหตุของปัญหาประการหนึ่งเนื่องจากมักนำเสนอมิติเดียวเกี่ยวกับการเทิดทูนสถาบัน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสภาพที่ผู้คนวิตกจริตและเป็นยุคปลายรัชกาล ซึ่งเรื่องนี้สื่อก็ไม่เคยพูดถึงอีกเช่นกัน จนมีคนหรือกลุ่มต่างๆ ฉกฉวยโอกาสในสภาพนี้ทำให้สถานการณ์อ่อนไหวและเสี่ยงต่อคนกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะที่ถูกกล่าวหาในผังของศอฉ.อย่างปฏิเสธไม่ได้
สำหรับบทบาทของกฎหมายหมิ่นนั้น แยกไม่ออกกับการทำหน้าของสื่อ โดยวัฒนธรรมในองค์กรสื่อเองทำให้คนทำสื่อไม่สามารถพูดเชิงเท่าทันเกี่ยวกับสถาบัน ทั้งยังไม่เปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์สถาบันในที่สาธารณะได้ ารเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อกระแสหลักเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์บานปลายมาจนทุกวันนี้ นอกจากนี้สื่อกระแสหลักยังไม่ตั้งคำถามอย่างเพียงพอกับคนเล่นบทเจ้านิยมสุดขั้ว เช่น นายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งไม่เคยมีประวัติในเรื่องนี้มาก่อนเลย เมื่อมีเหตุการณ์ก็เล่นไปตามกระแสโดยไม่ตั้งคำถาม การที่สื่อกระแสหลักประจบสอพลอสถาบันอย่างไม่รู้จักพอเพียงจึงเป็นปัญหา แม้มองจากมุมรอยัลลิสต์จริงๆ ก็ย่อมวิเคราะห์ได้ว่าผลจากการกระทำเช่นนี้น่าจะก่อผลเสียมากกว่าผลดี อย่างไรก็ตาม การที่สื่อเสนอภาพความสัมพันธ์ของคนไทยกับสถาบันแบบมิติเดียวโดยตัวมันเองก็ลักลั่นอย่างยิ่งกับข้อกล่าวหาของ ศอฉ. ที่อ้างว่ามีขบวนการล้มเจ้า หรือจำนวนคดีหมิ่นที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน
ประวิตรยังวิจารณ์ บทบก.เนชั่นก็ระบุต่างชาติไม่เข้าในเรื่องสถาบันซึ่งเขาคิดว่าเป็นข้ออ้างที่ค่อนข้างตลก และบางทีอาจเป็นตรงกันข้าม เนื่องจากการพูดและเขียนเรื่องบทบาทสถาบันในสังคมไทยสามารถทำในสื่อต่างประเทศได้อย่างเปิดเผย ในขณะที่เมืองไทยมีปัญหาเซ็นเซอร์ตัวเองและถูกเซ็นเซอร์มาโดยตลอด