ที่มา ประชาไท
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ประเทศไทย ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ(ศสส.) อีสาน กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา โครงการทามมูน และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ร่วมกันออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลอภิสิทธิ์ ระบุตีสองหน้า ทางหนึ่งบอกปฏิรูปสังคม อีกทางออกกฎหมายห้ามชุมนุม กระทบสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม อันเป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรองรับ โดยในแถลงการณ์มีรายละเอียด ดังนี้
0 0 0
แถลงการณ์ประณามรัฐบาลอภิสิทธิ์
หยุดปฏิรูปประเทศไทยด้วยการสอดไส้ผลักดันร่างกฎหมายห้ามการชุมนุม
ในขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศวาระทำการปฏิรูปสังคมและการเมืองของประเทศชาติเพื่อกอบกู้ประเทศจากวิกฤติความขัดแย้งทางด้านการเมืองและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม แต่อีกด้านหนึ่งกลับให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำเสนอร่างกฎหมายห้ามการชุมนุมเพื่อขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี จึงเสมือนเป็นการตีสองหน้า และเล่นละครตบตาประชาชนทั้งประเทศ เรียกคะแนนนิยมด้วยการแสดงท่าทีที่จริงใจว่า จะร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมทำการปฏิรูปสังคมและการเมืองร่วมกัน
จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบผ่าน ‘ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ....’ เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญกำหนดให้การชุมนุมสาธารณะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ และต้องไม่กีดขวางทางเข้า-ออกสถานที่ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชินีและพระรัชทายาท และสถานที่พำนักของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล และหน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟหรือสถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน ตลอดจนสถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ ทางเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนจึงมีข้อเสนอดังนี้
๑.รัฐบาลต้องยุติการออกพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... เนื่องจากร่าง พรบ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.... ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๓ และเป็นการละเมิดสิทธิประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ
๒.ร่างพระราชบัญญัติฯดังกล่าวเป็นการห้ามการชุมนุมเพื่อหวังปิดกั้นเสรีภาพการชุมนุมฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ที่ทำลายเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมืองของรัฐบาลซึ่งรัฐบาลมีกฎหมายหลายฉบับที่สามารถใช้ควบคุมการชุมนุมอยู่แล้ว การออกกฎหมายคุมการชุมนุมเช่นนี้กลับเป็นการปิดกั้นสิทฺธิ เสรีภาพและจะไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมทางสังคมได้ รัฐบาลต้องสร้างการมีส่วนร่วมและเปิดการรับฟังความคิดเห็น กับประชาชนในวงกว้างให้เข้าไปมีส่วนร่วมต่อการร่าง พรบ.การชุมนุมสาธารณะพ.ศ...... ดังกล่าว
๓.เครือข่ายฯ จึงขอเรียกร้องภาคประชาสังคม นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรประชาชน องค์กรอิสระ สื่อมวลชน และกลุ่มเสื้อสีใดก็ตามประณามรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่พยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ....
เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน มีความเห็นว่ารัฐบาลต้องสร้างความจริงใจในการสร้างความปรองดองและลดช่องว่างทางอำนาจของภาครัฐลงเพื่อเป็นการสร้างโอกาสของกลุ่มผู้ที่เข้าไม่ถึงการใช้ทรัพยากรให้มีสิทธิ มีเสียงบนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยและยึดมั่นการมีส่วนร่วมในทุกระดับ
ด้วยจิตคารวะ
๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓
๑.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.)ภาคอีสาน
๒.เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ ประเทศไทย
๓.ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ(ศสส.) อีสาน
๔.กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
๕.โครงการทามมูน
๖.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี