ที่มา ประชาชาติ
พลเดช ปิ่นประทีป ...อีกสักเดือนจะเป็นไรไป? ธงชัย วินิจจะกูล ..เมื่อร่างกายทางการเมืองไทยติดเชื้อแดง"
ล่าสุด ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอ บทความจาก 2 คน 2 คม มานำเสนอท่านผู้อ่าน
พลเดช ปิ่นประทีป กับ ธงชัย วินิจจะกูล เป็นคนผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
แต่วิธีคิดและการมองโลกไม่เหมือนกัน หมอพลเดช ทำงานชุมชนมายาวนาน เป็นอดีตรัฐมนตรี
ในสมัยรัฐบาล"ขิงแก่" สุรยุทธ์ จุลานนท์ ขณะที่"ธงชัย วินิจจะกูล "ผ่านวันคืนอันเจ็บปวด ปัจจุบัน
เป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประวัติศาสตร์ไทย
มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน สหรัฐอเมริกา
ล่าสุด ทั้งสองมองปรากฎการณ์บนแยกราชประสงค์ ในมุมมองที่แตกต่าง
หมอพลเดช ปิ่นประทีป เขียนบทความหลังจากฟัง 5 แนวทางปรองดองของนายกฯ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม 2553
@ พลเดช ปิ่นประทีป ...อีกสักเดือนจะเป็นไรไป?
....เมื่อฟังคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวในรายการ "พบประชาชน"
ในวันอาทิตย์(2 พ.ค.)ว่า ท่านได้ตัดสินใจในแนวทางแก้ปัญหากลุ่มก่อการร้ายในที่ชุมนุมราชประสงค์แล้วและอยู่ในระหว่างดำเนินการตามขั้นตอน โดยส่วนตัวผมนึกถึงภาพผลกระทบอันอาจเกิดขึ้นจากวิธีการขอพื้นที่คืนของฝ่ายทหารตำรวจขึ้นมาทันที
ในกรณีที่ทหารเข้าสลายม็อบราชประสงค์อย่างบุ่มบ่าม คงถูกตอบโต้ด้วยอาวุธหนักจากกองกำลังในป้อมค่ายที่ปักหลักเตรียมตัวกันมานานร่วมเดือน รวมทั้งตึกสูงและชั้นใต้ดินศูนย์การค้าล้วนเป็นยุทธภูมิที่ฝ่ายก่อการสามารถวางแผนใช้เป็นค่ายกลเพื่อรับมือ ความสูญเสียในชีวิตทรัพย์สินคงมากมายเกลื่อนกล่นทั้งสองฝ่าย
ดีไม่ดีฝ่ายรัฐอาจเป็นฝ่ายพลาดท่าเสียทีอีกครั้งก็เป็นได้ และในจังหวะนี้เองทหารแตงโมกับตำรวจมะเขือเทศอาจประกาศตัวเข้าร่วมกับฝ่ายก่อการ
เพื่อชิงอำนาจรัฐและอำนาจในกองทัพ สงครามกลางเมืองคงขยายตัวไปทุกหัวเมือง เพราะประชาชนที่ต่อต้านลัทธิเสื้อแดงจะลุกขึ้นมาร่วมวงเพื่อจัดการปัญหา
การสู้รบคงใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปี ใครแพ้ใครชนะไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ คือประเทศย่อยยับ
แต่หากทหารไม่เร่งรัดสลายการชุมนุม ปล่อยให้ม็อบฝ่อเหี่ยวกันไปเอง โดยการปิดล้อมทางเข้าออกทุกด้านอย่างแข็งแรง
กดดันทั้งทางการเมืองและใช้มาตรการทางคดีเป็นพิเศษ
ไม่นานแกนนำจะถูกโดดเดี่ยวจนถึงที่สุดและทิ้งมวลชนหนีไป ส่วนที่เหลือก็สลายตัวไปเอง
หรือไม่ก็ถูกสลายอย่างราบคาบ และถูกดำเนินคดีกันไปตามระเบียบ
นี่คือความพ่ายแพ้ที่ย่อยยับของกบฎเสื้อแดงปัญหาอยู่ที่ว่า แบบหลังนี้รัฐบาลจะใช้เวลานานเท่าใด?
โดยส่วนตัวอีกเช่นกัน ไหนๆก็ไหนๆแล้ว สักเดือนสองเดือนจะเป็นไรไป ถ้า...!
ถ้าการชุมนุม จะยุติกันไปเองหรือถูกสลายโดยไม่เสียเลือดเสียเนื้อกันอีก
ถ้ามัน จะช่วยทำให้สังคมไทย โดยเฉพาะพลังเงียบทั้งหลาย ตระหนักชัดด้วยตนเองถึงปัญหาความมั่นคงของชาติและลุกขึ้นมาปกป้องระบอบการปกครองของประเทศ จากกลุ่มกบฏเสื้อแดงที่มุ่งปฏิวัติล้มล้างด้วยกำลังมวลชนและอาวุธ
ถ้ามัน จะทำให้มวลชนคนเสื้อแดงทั่วประเทศยอมรับ หรือจำนนต่อกติกาสังคมว่าแนวทางการต่อสู้ที่ตนเข้าร่วมดำเนินการไปนั้นเป็นความผิดที่ร้ายแรง ซึ่งสังคมไม่ยอมรับและจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นอีก
ถ้ามัน จะช่วยให้สื่อมวลชนต่างชาติและรัฐบาลประเทศต่างๆทั่วโลกเข้าใจ
และรู้เท่าทันอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิน ชินวัตร ที่เป็นทั้งนักโทษหนีคดีทุจริต
และเป็นผู้มุ่งร้ายต่อประเทศแม่ของตน
ถ้าจะ ช่วยทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ สุกงอมที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่
โดยให้ภาคประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ถ้ามัน จะช่วยทำให้เกิดฉันทามติของประชาชนทั่วประเทศ
ในอันที่จะ ปฏิวัติอำนาจรัฐตำรวจทั้งระบบอย่างถึงแก่น ทั้งในฐานะที่เป็นกลไกรัฐที่ดูแลความสงบเรียบร้อยและในฐานะต้นธารของกระบวนการยุติธรรม
ถ้ามัน จะช่วยให้ภาคธุรกิจตระหนักในความรับผิดชอบต่อปัญหาบ้านเมือง
และร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่
ถ้ามัน จะทำให้สื่อมวลชนและนักวิชาการ ตระหนักว่าถึงเวลาของการปฏิรูปสื่ออย่างจริงจังในภาคปฏิบัติแล้ว
และที่สำคัญที่สุด ถ้าจะทำให้ นักการเมือง ส.ส.และพรรคเพื่อไทยถูกดำเนินคดีในฐานะผู้ร่วมสนับสนุนการก่อกบฏแบบล้างบาง
โดยมีหลักฐานผูกมัดจนดิ้นไม่หลุด
อย่างไรก็ตาม รูปแบบการก่อการร้ายที่ฝ่ายกบฏเสื้อแดงนำมาใช้ในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจรัฐ
และมุ่งเปลี่ยนแปลงระบอบในคราวนี้ เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงจิตใจอันเหี้ยมโหดของฝ่ายวางแผนก่อการเป็นที่ยิ่ง ไม่ว่ากลุ่มเสนาธิการของพวกเขาจะนั่งอยู่บนตึกชินวัตร 3 หรือที่อื่นใดเพราะการก่อการร้ายเป็นการมุ่งเป้าหมายคนทั่วไปแบบไม่เลือกหน้า ที่ไหนก็ได้ อย่างไรก็ได้
การยิงเอ็ม 79 การวางระเบิดเสาไฟแรงสูง
การยิงอาร์พีจีใส่ถังน้ำมัน การใช้คาร์บอมในชุมชนหรือที่สาธารณะ ฯลฯ
ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วอย่างต่อเนื่องตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา เป็นสัญญาณเตือนให้สังคมไทยรู้ว่าพวกกบฏเสื้อแดงจะไม่มีทางยอมแพ้ง่ายๆ และพวกเขาพร้อมที่จะใช้โมเดลการก่อการร้ายแบบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ขยายไปทั่วประเทศ
จึงไม่ควรประมาท
แม้บันได 5 มาตรการทางการเมืองที่รัฐบาลอภิสิทธิ์หยิบยื่นให้จะช่วยให้แกนนำหาทางลงได้หากศึกนี้จบลงด้วยการเสมอกัน หรือ "วิน-วิน…แบบหน่อมแน้ม" ทั้งแกนนำและมวลชนกบฎจะยิ่งลำพองใจในชัยชนะทุกสมรภูมิของพวกเขาซึ่งจะเป็นเงื่อนไขในการปลุกระดม สะสมกำลังเพื่อปฏิบัติการครั้งใหม่ พวกคอมมิวนิสต์เก่าจะขยายผลไปสู่การฟื้นฟูหรือก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์โฉมหน้าใหม่ให้ได้เห็นกัน
ขึ้นอยู่กับว่า การชุมนุมที่ราชประสงค์จะจบด้วยการถูกสลายหรือไม่
ซึ่งถ้ามีการสลาย ไม่ว่าจะด้วยวิธีละมุนละม่อม หรือฉับพลันนั้น
ฝ่ายความมั่นคงจะจับตัวแกนนำทั้ง 24 คนได้มากแค่ไหน
ส่วนใหญ่หรือส่วนน้อย ตัวใหญ่หรือตัวเล็ก จับเป็นหรือจับตาย เพราะอย่าลืมว่าคนเหล่านี้คือผู้นำซึ่งเป็นทุนสำคัญของขบวนการที่มีผลต่อการต่อสู้ในระยะยาวของพวกเขา
ขึ้นกับว่า สังคมจะขานรับข้อเสนอทางการเมือง 5 แนวทางของนายกฯ อภิสิทธิ์
และเข้าร่วมอย่างล้มหลามแค่ไหน เพราะนั่นหมายถึงพลังทางสังคมที่จะเข้ามาหนุนรัฐบาล
และร่วมกันเยียวยา
และสมานสามัคคีให้เกิดความปรองดองในสังคมทุกระดับได้ในภาคปฏิบัติ
ขึ้นกับว่า รัฐบาลประชาธิปัตย์จะสุกงอมที่จะสนับสนุนให้ภาคประชาชนเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจริงหรือไม่ ระบบบริหารจัดการของภาครัฐจะมีประสิทธิภาพหรือเปล่า เพราะการบริหารจัดการแบบประชาธิปัตย์ก็เป็นประเด็นที่ต้องฝากให้คิดกัน
และที่สำคัญที่สุด ยังขึ้นกับว่า
มีการมุบมิบเจรจาต่อรองกันระหว่างคุณอภิสิทธิ์ กับคุณทักษิณกันอย่างไรหรือไม่ เพราะถ้าไปตกลงกันว่าจะนิรโทษกรรมการก่อกบฏและก่อการร้ายเพียงทุกอย่าง
เพื่อให้ม็อบสลายตัวเท่านั้น
ผมเกรงว่าบ้านเมืองจะยิ่งไร้ขื่อแป ไร้หลักยึดที่มั่นคง ไม่มีใครเคารพกฎหมายอีกต่อไป
ต่อจากนี้ไปจนถึง 14 พฤศจิกายน กองกำลังติดอาวุธของฝ่ายแดงที่ยังคงอยู่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์พร้อมและฝ่ายน้ำเงินของกลุ่มอำนาจใหม่คงจะไล่เด็ดหัวกันไปมาจนเลือดท่วมสมรภูมิ ผู้สมัครไม่สามารถลงพื้นที่หาเสียงในถิ่นคู่แข่ง
หน่วยเลือกตั้งของ กกต.อาจถูกปิดล้อมโดยพลังมวลชนปฏิวัติฝ่ายแดง
ที่ยังฮึกเหิมไม่หายจากการสู้รบในเดือนเมษาทั้งสองรอบ
ในขณะที่อำนาจรัฐล้มเหลวได้แต่นั่งมองตาปริบๆ
ขอให้จับตา การนิรโทรษกรรมซึ่งจะไม่รอการชี้ถูกชี้ผิด
และการแสดงความยอมรับโทษทัณฑ์ของผู้กระทำผิดเสียก่อน การนิรโทษกรรมที่ไร้หลักการเช่นนี้จะยิ่งซ้ำเติมความอ่อนปวกเปียกในการบังคับใช้กฎหมาย
และทำลายนิติรัฐในระยะยาว ฝากให้คิดอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง
เพราะบางทีรัฐบาลพลาดตาเดียว ประเทศอาจแพ้ทั้งกระดานนะครับ.
@ ธงชัย วินิจจะกูล เชื้อร้าย: เมื่อร่างกายทางการเมืองไทยติดเชื้อแดง
ดร.ธงชัย วินิจจะกูล เขียนบทความเรื่อง "เชื้อร้าย: เมื่อร่างกายทางการเมืองไทยติดเชื้อแดง" เป็นภาษาอังกฤษ หลังเหตุการณ์ แกนนำเสื้อแดง พาม็อบบุกโรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อวันที่ 30 เมษายน ประชาชาติธุรกิจ นำมาตอยมานำเสนอ ดังนี้
( อ่านบทความฉบับเต็มที่
http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2010/05/03/thongchai-winichakul-on-the-red-germs )
.... ในเดือนตุลาคม 2551 หลังจากพันธมิตรฯ ปะทะกับตำรวจ กลุ่มแพทย์นำโดยแพทย์บางคนที่จุฬาฯ ขู่ว่าจะไม่รับรักษาตำรวจ เนื่องจากตำรวจเป็นเครื่องมือของทักษิณในการปราบปรามพันธมิตรฯ แม้ว่าจะมีปฏิกิริยาอย่างรุนแรงจากสังคม ไม่ปรากฏว่ามีคำวิจารณ์หรือคำตำหนิจากองค์กรแพทย์ใดๆ ไม่มีการรายงานว่าพวกเขากระทำตามที่ขู่จริงหรือไม่ แต่ก็มีข่าวว่าแพทย์ที่อื่นปฏิเสธการรักษาเสื้อแดง
กรณีนี้สร้างความอื้อฉาวแก่แพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ ว่า "เหลือง" จัด กิตติศัพท์ดังกล่าว
ได้รับการตอกย้ำด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าผู้สนับสนุนพันธมิตรฯ ที่เอาการเอางานที่สุดคนหนึ่ง และในช่วงนี้ก็กลายเป็นผู้นำการชุมนุมของเสื้อชมพู
สนับสนุนรัฐบาล ต่อต้านเสื้อแดง เป็นแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ แพทย์คนอื่นๆ
และผู้บริหารรพ.จะเป็นอย่างไรก็ตาม รพ.จุฬาฯ ก็ปรากฏอยู่แนวหน้าของความขัดแย้ง
ทั้งทางกายภาพ เชิงสถานที่ เชิงการเมืองและเชิงอุปมา
คำบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่รพ.จุฬาฯ ตามสื่อและปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น และคำบอกเล่าในเฟซบุคของเหล่ายัปปี้และสน็อบดูยังกับเป็นหนังสยองขวัญหรือมนุษย์ต่างดาวบุกโลก
นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ นปช.ผิดพลาดนั้นแก้ตัวไม่ขึ้น
แต่วิธีการมอง การรายงาน และการเข้าใจการกระทำของคนเสื้อแดง ดังที่แสดงให้เห็นจากสื่อ กลุ่มเฟซบุค และผู้บริโภคสื่อเหล่านี้ ล้วนถูกกำกับโดยการจัดจำแนกลำดับชั้นของคนในสังคมผ่านสถานที่ ซึ่งเป็นประเด็นหัวใจของความขัดแย้งในปัจจุบัน
สื่อ นักวิชาการ กลุ่มประชาสังคมและกลุ่มเฟซบุคพร้อมใจกันประณามการบุกของเสื้อแดงอย่างรุนแรง
เสียงดังกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้เลยกับท่าทีหน่อมแน้ม (หรือจริงๆ เงียบเฉย) ที่มีต่อการที่รัฐบาลใช้กำลังและกระสุนจริงที่ทำให้คนเสียชีวิต 25 รายในวันที่ 10 เม.ย. ร่างกายของการเมืองเชิงจริยธรรมที่สะอาดปลอดเชื้อ
ที่มีโรงพยาบาลเป็นตัวแทนดูจะมีคุณค่าสูงส่งกว่าความตายของคนเสื้อแดง ซึ่งตอกย้ำสาสน์ก่อนหน้านั้นว่าความตายของนายทหารที่สั่งการการปราบปรามอย่างรุนแรง
เมื่อวันที่ 10 เม.ย.นั้นมีคุณค่าสูงส่งกว่าเสื้อแดงที่เป็นเหยื่อในการปะทะคราวเดียวกัน
อันทำให้ข้อกล่าวหาเรื่องสื่อและชนชั้นนำในเมืองเป็นพวก "สองมาตรฐาน" ยิ่งดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ที่จริงแล้วมันเป็นมาตรฐานชุดเดียวกัน
กล่าวคือกฎหมาย เหตุผล สิทธิ บำเหน็จรางวัลและโทษทัณฑ์ ตลอดจนระบบคุณค่าอื่นๆ นั้นใช้กับคนตามฐานะชนชั้นของแต่ละคน
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ระบบ "สองมาตรฐาน" ที่เป็นอยู่นี้คือ
รูปแบบหนึ่งของระบบแบ่งแยกคนในสังคม
การชุมนุมของเสื้อแดงที่ราชประสงค์
ไม่เพียงแต่เป็นการยึดครองพื้นที่ที่หรูหราฉูดฉาดมากที่สุดของกรุงเทพฯ
ยังเป็นการบุกจู่โจมเข้ายึดครองเมืองเทวดา (กรุงเทพฯ)
โดยเชื้อโรคจากบ้านนอกที่สกปรกหยาบกร้าน คำว่า "เสื้อแดงบุก" จึงมีนัยยะของความน่าสะพรึงกลัวกว่าความหมายตามตัวอักษรมากนัก
นั่นคือ โรงพยาบาลจุฬาฯ อยู่แนวหน้าเผชิญกับเชื้อโรคและโรคร้าย
และถูกโรคร้ายบุกจู่โจม
การปราบปรามที่กำลังจะเกิดอาจถูกมองว่า (และกล่าวกันว่า) เป็นการฆ่าเชื้อโรค หยุดการติดเชื้อที่เกิดจากการบุกของพวกบ้านนอกเข้ามาในพื้นที่การเมือง เพื่อที่จะฟื้นฟูสุขภาพขององค์การเมืองเชิงจริยธรรมของไทย.