จากกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงความไร้ฝีมือ และยังมีบางเรื่องราวที่ส่อเค้าจะมีความไม่ชอบมาพากลของ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร รองปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานบอร์ด บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีเสียงคัดค้านการดำรงตำแหน่งจากบรรดาผู้ถือหุ้น เนื่องจากการบริหารงานของ พล.อ.สพรั่ง ส่งผลให้รายได้ของทั้ง 2 องค์กรหดหายไปเป็นจำนวนมหาศาล และมีความพยายามของหลายฝ่ายที่จี้ให้บรรดาประธานบอร์ด ที่ได้ตำแหน่งมาจากการยึดอำนาจควรจะลาออก แต่ พล.อ.สพรั่ง ก็ยังคงยื้อเวลาเรื่อยมา นั้น
ท่ามกลางกระแสสังคมที่กดดันและการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล ล่าสุดในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พล.อ.สพรั่ง ได้ยอมยื่นใบลาออกจากการเป็นประธานบอร์ดทีโอที เรียบร้อยแล้ว โดยให้มีผลในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ โดยที่บอร์ดทั้งชุดได้ยื่นใบลาออกตามมาในวันเดียวกัน
ขณะที่ในวันเดียวกันนี้ นายนุกูล บวรสิรินุกูล รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ก็ได้เข้ายื่นหนังสือ “ด่วนที่สุด” ที่ สรท.51/0182 ถึงนายมั่น พัธโนทัย รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่องขอให้พิจารณาตรวจสอบสถานภาพกรรมการรัฐวิสาหกิจ
โดยเนื้อหาในจดหมายระบุว่า พล.อ.สพรั่ง ได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลทหารสูงสุด ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 30 กันยายน 2548 ซึ่งตามประมวลจริยธรรมข้าราชการ หมวด 4 ข้อ 27 มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า “การเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการของรัฐในทำนองเดียวกัน จักต้องได้รับอนุมัติจากก.ต. (คณะกรรมการข้าราชการตุลาการ) ด้วย”
พร้อมกับได้ขอให้มีการตรวจสอบและพิจารณาการทำนิติกรรมต่างๆ และค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องสูญเสียไปในช่วงที่ พล.อ.สพรั่ง ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด
นายนุกูล กล่าวภายหลังจากการเดินทางไปยื่นหนังสื่อร้องเรียนต่อนายมั่น พัธโนทัย รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ผ่านนายศราวุธ เพชรพนมพร เลขานุการ รมว.ไอซีที กรณีกระทำการให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และได้มาซึ่งเงินทรัพย์สินของราชการโดยมิชอบ ว่าประเด็นนี้รัฐมนตรีควรให้ความสนใจ เพราะไม่ใช่แค่กระทบกระเทือน พล.อ.สพรั่งแต่
กระทบกระเทือนต่อรัฐ ซึ่งรัฐจะต้องเสียเบี้ยประชุมโดยมิชอบอย่างมากมาย และฝากรัฐมนตรีว่ากรณีเช่นนี้เข้าข่ายทุจริตหรือไหม
ดังนั้น จึงต้องมีการเรียกเงินคืนตามที่เอกสารได้ลงรายละเอียดไป ทั้งเงินเดือนและเบี้ยประชุม โดยไมได้เรียกคืนเฉพาะส่วนของพล.อ.สพรั่ง เท่านั้น แต่จะเรียกเบี้ยประชุมของบอร์ดทุกคนด้วย
นอกจากนี้ไม่ว่าพล.อ.สพรั่ง ได้ไปทำนิติกรรมใดๆ ไว้และก่อให้เกิดความเสียต่อ ทีโอทีและคดีต่างๆ ที่มีบริษัทเอกชนฟ้องทีโอที ให้จ่ายค่าเสียหายต่อบริษัทเอกชนนั้น พล.อ.สพรั่ง ก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชดใช่ค่าเสียหายแทนทีโอทีทั้งหมดด้วย
นายนุกูล กล่าวต่อไปว่า ความเสียหายที่เกิดจากการที่ พล.อ.สพรั่ง เข้ามานั้งเป็นประธานบอร์ดและบริหารงานทีโอทีนั้น อาจมองไม่เห็นในวันนี้ ซึ่งก็อาจจะต้องไปว่ากันในภายหลัง แต่อย่างน้อยเฉพาะค่าเบี้ยประชุมก็จะต้องเรียกคืนให้ได้
นอกจากนี้ นายนุกูลยังได้ยื่นสำเนาฉบับที่ได้ไปยื่นให้กับรมว.ไอซีที ต่อนายกิตติพงศ์ เตมียะประดิษฐ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด ให้ไปตรวจสอบด้วย ทั้งนี้ยังได้ฝากข้อความถึงนพ.สุรวงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยผ่านนายสราวุธ ว่าให้ช่วยตรวจสอบนายทหารทุกคนที่เข้าไปนั่งเป็นบอร์ดในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ด้วย หากพบทุจริตเงินของราชการ ก็ควรดำเนินคดีเรียกเก็บคืนทั้งหมด
“เพราะฉนั้นวันนี้ นายทหารทั้งหลายอย่าเซ่อซ่าเข้ามา” นายนุกูลกล่าว
อนึ่ง ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาบอร์ด ทีโอที ได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขการเบิกเบี้ยประชุมของคณะกรรมการจากเดิมกำหนดให้เบิกได้เดือนละ 10,000 บาท เพิ่มเป็นประชุมครั้งละ 10,000 บาท โดยพบว่ากรรมการบางคนมีการประชุมวันเดียวมากกว่า 1 ครั้งในบางโอกาส และบางทียังมีเวลาคาบเกี่ยวกันด้วย
โดยแหล่งข่าวระบุว่าจากการประมาณการคร่าวๆ ตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการทีโอทีน่าจะรับเบี้ยประชุมไปประมาณ คนละ 1 ล้านบาท ทำให้ทีโอทีต้องจ่ายเบี้ยประชุมให้กับคณะกรรมกามรชุดนี้ไปแล้วเกือบ 30 ล้านบาท