ออกอาการร้อนตัวจนเห็นได้ชัดเจน จนเหมือนเด็กที่แอบไปทำอะไรผิดเอาไว้ยังไงยังงั้น
เพียงแค่รัฐบาลใหม่ที่นำโดย สมัคร สุนทรเวช เข้ามาบริหารบ้านเมือง
เพียงแค่มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลสื่อของรัฐ เป็น จักรภพ เพ็ญแข ที่ออกมาประกาศเพียงว่าจะจัดระเบียบสื่อของรัฐเท่านั้น
เทพชัย หย่อง ก็ออกอาการ รีบออกมาตีลูกกันเสียแล้ว
โดยพยายามจะบอกว่าหากคิดจะแทรกแซงไทยพีบีเอส ก็ให้ไปดู พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ให้ชัดก่อน ว่าการเมืองจะเข้ามายุ่งได้หรือไม่
ทำอย่างกับว่าไทยพีบีเอสเป็นอาณาจักรส่วนตัวและพวกพ้อง
ก็เพียงแค่รัฐมนตรีที่มีอำนาจตามกฎหมายจะกำกับดูแลให้ทีวีสาธารณะเป็นไปตามจุดมุ่งหมาย ตามสาระสำคัญของข้ออ้างในการเปลี่ยนแปลง มันจะแปลกตรงไหน
การที่รัฐมนตรีจะห่วงใยว่าการรับคนเข้าทำงานมีความชอบธรรมหรือเปล่า
ทั้งการคัดคนออกเพราะเขาไม่ยอมก้มหัวให้ หรือการรับคนที่มีความสัมพันธ์กันมาแต่ดั้งเดิมเข้ามาทำงานในระดับหัวหน้าข่าว มีที่มาที่ไปอย่างไร
รวมไปถึงการให้บริษัทที่ตั้งขึ้นโดยกลุ่มกบฏไอทีวี ซึ่งรู้กันดีว่าเป็นกลุ่มลูกน้องเก่าเมื่อคราวเครือเนชั่นเข้ามาบริหารไอทีวีจนเจ๊ง เข้ามารับงาน มีมูลความไม่ชอบมาพากลเหมือนที่ใครต่อใครร่ำลือกันหรือเปล่า
หรือยังมีเรื่องราวของการจัดซื้อสารคดีด้วยเงินสูงถึง 60 ล้านบาท ก็ยังไม่มีคำตอบให้สาธารณชนสบายใจถึงความโปร่งใสของคนจัดซื้อ
เรื่องราวเหล่านี้คนเป็นรัฐมนตรีสามารถเข้าไปดูแลได้หรือไม่
หรือจะต้องปล่อยให้ไทยพีบีเอสเป็นแดนสนธยา หรือเป็นแหล่งทำมาหากินของใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่กำลังตกอยู่ในฐานะย่ำแย่ทางธุรกิจ แล้วหวังจะมาฟื้นตัวที่นี่
อีกเหตุหนึ่งที่ว่า “ร้อนตัว” ก็เพราะเมื่อพิจารณาตามเนื้อหาสาระของข่าวแล้ว ก็ยังไม่ปรากฏว่ารัฐมนตรีจักรภพจะเข้ามารื้อหรือแทรกแซงไทยพีบีเอสตรงไหน
เพียงแต่คำชัดเจนเท่าที่จับความได้มีเพียงว่า อย่างเพิ่งไปหลงว่าทีวีสาธารณะจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของประชาชน
ประชาชนจะต้องมีทางเลือกที่ดีที่สุด มีโอกาสที่ดีที่สุด
และที่สำคัญ จักรภพ บอกว่า ไทยพีบีเอสไม่ใช่เป้าหมายเลย
แต่เป้าหมายที่แท้จริงในการทำงาน คือ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
และจะไม่ผลีผลามดำเนินการ แต่จะรับฟังเสียงจากทุกฝ่าย
จับความแล้ว ทั้งจากเสียงของนายกรัฐมนตรี และจากรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสื่อ การจะเกิดสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ขึ้นมายังมีความเป็นไปได้เสียมากกว่า
แล้วการจะเกิดสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ดังว่า ก็อย่าได้พยายามบิดเบือนให้กลายเป็นเรื่องอื่นเรื่องไกล
เหมือนที่มีสื่อหนังสือพิมพ์บางฉบับไปตั้งคำถามว่าจะเป็นสถานีพีทีวี ที่จักรภพเคยเป็นพิธีกรหรือไม่
ทั้งๆ ที่เรื่องของสถานีโทรทัศน์อีกแห่ง ถูกพูดถึงมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่กลับไม่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีคนออกมาหาเหตุใส่ไคล้
หากไม่ความจำสั้น หรือความจำเสื่อมเกินไป คนที่อยู่ในแวดวงสื่อ หรือแวดวงทีวี คงจำกันได้ดี
ในวันที่รัฐบาลพยายามสะสางปัญหาทีไอทีวี มีการตั้งกรรมการศึกษาถึงการแก้ปัญหาสถานีโทรทัศน์ในระบบยูเอชเอฟ
มีการเสนอทางออกให้กับรัฐบาล 2 แนวทางด้วยกัน
ทางหนึ่งเป็นการเสนอโมเดลทีวีสาธารณะ โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ
อีกทางหนึ่งเป็นการเสนอรูปแบบทีวีเสรี โดย เถกิง สมทรัพย์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
บรรดานักวิชาการสื่อสารมวลชนมีความเห็นพ้องกันเป็นส่วนใหญ่ในขณะนั้นว่า ทั้ง 2 รูปแบบมีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันไป
และที่สำคัญ ไม่ใช่ว่าจะต้องเลือกเอาเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง
แต่สามารถมีโทรทัศน์ทั้ง 2 รูปแบบดังกล่าวเกิดขึ้นในเมืองไทย
ในตอนนั้นมีการคาดหมายกันว่า รัฐบาลจะจัดการให้ สทท.11 เป็นทีวีสาธารณะ เพราะมีลักษณะของโทรทัศน์ที่ปลอดจากการโฆษณา และรัฐเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการผลิตรายการอยู่แล้ว
หากตัดสินใจเช่นนั้น ความเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิดมากนัก
ขณะเดียวกัน ในส่วนของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีที่กำลังเป็นปัญหา ก็เข้าไปบริหารจัดการกันใหม่ในรูปแบบทีวีเสรี
ซึ่งก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากเช่นเดียวกัน
พนักงานจำนวนมหาศาลก็จะไม่ต้องตกงาน
รายได้กว่า 1,600 ล้านบาท ก็เป็นสิ่งที่รับประกันอยู่แล้วว่า สถานีโทรทัศน์แห่งนี้จะสามารถเดินต่อไปได้ด้วยตัวเอง และทำรายได้เข้ารัฐบาลจำนวนมหาศาล
แต่ในที่สุดคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็เลือกที่จะปล่อยให้ช่อง 11 เป็นสถานีโทรทัศน์แบบลูกผีลูกคนอยู่อย่างเก่า
แล้วก็เลือกที่จะปิดสถานีโทรทัศน์ที่ได้ชื่อว่าเป็นสถานีข่าวที่ดีที่สุด ในบรรดาโทรทัศน์ทุกช่อง
มีการปลดพนักงานหลายร้อยคนแบบสายฟ้าแลบ
และรัฐบาลขณะนั้นเลือกที่จะเสียรายได้ปีละ 1,600 ล้านบาท ไปเป็นการต้องจ่ายงบประมาณอุดหนุนเพื่อผลิตรายการราวปีละ 2 พันล้านบาทแทน
ตามมาด้วยการส่งคนเข้ามาเป็นกรรมการนโยบาย 5 คน ที่ดูแล้วไม่ได้สร้างความสบายใจเลย ว่าจะทำให้ทีวีสาธารณะอันเป็นรูปแบบสากลที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ในเมืองไทย
จนถึงวันนี้ ผลงานที่ปรากฏกลับมีเพียงการปลดคนเก่า เอาคนใหม่เข้ามา
การกำหนดผังรายการท่ามกลางคำครหาว่ามี “คนคุ้นเคย” เข้ามามีเอี่ยวมากมาย
แล้วยังมีเรื่องของการใช้จ่ายเงิน โดยเฉพาะการซื้อรายการสารคดีราคาแพง ทั้งที่ยังเป็นเพียงการออกอากาศขัดตาทัพ เพียงเพื่อไม่ให้จอมืด
แต่สาระสำคัญของทีวีสาธารณะที่ประชาชนจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม
หรือการตั้งสภาประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้มีสิทธิมีเสียงในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร กลับไม่เคยมีการพูดถึง
จนอยากจะตั้งคำถามว่า ผู้ที่เข้าไปบริหารเป็นการชั่วคราวอยู่ในขณะนี้ มีความเข้าใจในแก่นสาระของทีวีสาธารณะมากน้อยแค่ไหน
หรือว่ารู้แล้วแต่ไม่สนใจกันแน่
จริงอยู่ว่ารัฐบาลชุดนี้แค่เพียงแสดงความไม่สบายใจต่อการดำเนินการบางเรื่องราวของไทยพีบีเอส และก็ยังไม่เคยเอ่ยว่าจะแทรกแซงหรือก้าวล่วง ดังที่ เทพชัย หย่อง ออกมาตีกัน
ทั้งที่จริงก็ไม่เห็นจะแปลกอะไร ที่รัฐบาลใหม่จะเข้ามาสะสางและจัดการสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลให้เข้ารูปเข้ารอย
การเข้าไปรื้อสิ่งที่ไม่เข้าท่าเข้าทาง ใช่ว่าจะเป็นการแทรกแซง เพียงแต่เป็นการทำตามหน้าที่ แล้วก็ผลักดันให้เกิดเป็นทีวีสาธารณะเต็มรูปแบบต่อไป
...เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่เพื่อใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง...!!
บทความการเมือง