แม้สุดท้าย คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. จะออกมาแถลงยุติบทบาทอย่างเป็นทางการด้วยถ้อยคำที่ว่าพวกตนปฏิบัติภารกิจการรัฐประหารได้ไม่ลุล่วง...
แม้ภารกิจ 4 ข้อที่ใช้เป็นข้ออ้างในการรัฐประหารสุดท้ายจะล้มเหลวทุกข้อ และบางข้อก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นเพียงแค่ “ข้อกล่าวหา” ไร้มูลความจริง...
แต่หากมองกันจริงๆ แล้ว ภาระหน้าที่ที่ คมช. เข้ามาทำ และผลงานที่ฝากไว้ให้สังคมการเมืองไทยนั้น มันลึกร้ายหนักหนาสาหัสเกินกว่าจะมาทำถ่อมตนปฏิเสธผลงานของตัวเองได้
สิ่งที่คมช. ทำไม่สำเร็จ ก็คือข้ออ้าง 4 ข้อที่อุปโลกน์ขึ้นมา...
แต่หน้าที่แท้จริงที่ได้รับมอบหมายมา คมช.ทำได้ไม่พลาด และอย่างน้อยก็สำเร็จไปกว่าครึ่ง
แนวคิด และเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 2550 คือคำตอบว่าคมช. เข้ามาเพื่อทำอะไร...
“ รัฐธรรมนูญ 2550 มองบุคคล 2 กลุ่มแตกต่างกัน นั่นคือมองนักการเมืองอย่างหนึ่ง แล้วก็มองข้าราชการหรือระบบราชการอีกอย่างหนึ่ง...
(รศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ประชาทรรศน์รายสัปดาห์ 13-19 สิงหาคม 2550)
การเลือกตั้งเมื่อ 23 ธันวาคม 2550 ที่เต็มไปด้วยกระบวนการซับซ้อน สับสน ย้อนยุคไปเมื่อครั้งใช้ระบบรวมเขตเรียงเบอร์ ทำลายระบบบัญชีรายชื่อซึ่งเคยเป็นความพยายามแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคในการลงคะแนนเสียงของประชาชนแต่ละเขตที่เลือกได้ไม่เท่ากัน วางเงื่อนไขให้พรรคการเมืองมีความเปราะบาง อ่อนแอ ...เหล่านี้คือผลงานตัวเป็นๆ ลำดับแรกๆ ของคมช. ผ่านเครื่องมืออย่างรธน. 50
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่กำลังจะตามมาอย่างเงียบเชียบในวันที่ 2 มีนาคม 2551 นี่ก็อีกเช่นกัน...ในที่สุด คมช. และพลพรรครับใช้ก็สามารถสถาปนาระบบแต่งตั้งให้กลับมาในการเมืองไทยได้อีกครั้ง (เป็นการก้าวถอยหลังที่ประเทศพัฒนาแล้วที่ไหนก็ต้องงงไปตาม ๆกัน) จะมีบุคคลซึ่งมาจากการแต่งตั้งหรือพูดง่ายๆคือ ผ่านการคัดกรองจากสติปัญญา(และม่านมายาคติ)ของคณะกรรมการสรรหาที่มีกันเพียง 7 คนเข้ามานั่งในสภาสูงนี้กว่าครึ่ง เป็นบุคคลที่ไม่ได้มาจากฉันทามติของคนข้างมากแต่มาทำหน้าที่คัดกรองกฎหมายที่จะมีผลใช้กับคนทั้งประเทศ !!!
ระบบเช่นนี้ หากไม่ได้มาจากวิธีคิดของคนที่เชื่อว่าประเทศนี้มี “เทวดา” แล้วมันจะมาจากไหน
ความไม่เชื่อในเสียงของพลเมือง ไม่ต้องการยอมรับระบบตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เหล่านี้แทบจะเป็นคุณสมบัติตายตัวของชนชั้นข้าราชการ ขุนนาง อำมาตยา
ชนชั้นอำมาตยายอมรับไม่ได้ที่จะมีพรรคการเมือง-อันถือเป็นสถาบันที่เป็นตัวแทนของประชาชน-มาได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากพลเมืองของประเทศนี้ (ซึ่งเหล่าขุนนางเรียกว่าชนชั้นไพร่) ความเข้มแข็งของพรรคการเมืองหนึ่งในอดีตซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่เอื้ออำนวยให้เป็นเช่นนั้น ทำให้ชนชั้นขุนนาง-กองทัพ ไม่อาจนั่งมองได้ด้วยความเย็นใจ การสื่อสารทางการเมืองโดยตรงระหว่างนักการเมืองกับประชาชนเจ้าของประเทศนี้ โดยที่ไม่มีตัวแปรอื่นมาคั่น ทำให้ขุนนางบางกลุ่มซึ่งเคยเป็นตัวละครสำคัญรู้สึกไม่พอใจ เพราะสำหรับพวกนี้ ความเป็นไปของบ้านเมืองจะปราศจากเขาเสียไม่ได้
ประชาชนไม่อาจเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงได้ โดยไม่ผ่านการ “อนุมัติ” จากใครบางคนเสียก่อน
เช่นเดียวกันกับการจัดตั้งรัฐบาลในอดีต นอกจากบัตรลงคะแนนที่นอนนิ่งอยู่ในกล่องในวันเลือกตั้งล้วนๆ แล้ว...ก็เป็นที่รู้กันเสมอมาว่าสุดท้ายยังมี “ปัจจัย” อื่นที่สำคัญกว่าในการตัดสินว่าใครจะได้เป็นหรือไม่ได้เป็นรัฐบาล...ซึ่งแน่นอนว่าเสียงนั้นย่อมไม่ใช่เสียงประชาชนที่ตรงไปตรงมาตามระบอบประชาธิปไตย
ปัญหาความอ่อนแอของระบบพรรคการเมือง ปัญหาความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล ปัญหาความไม่มีเอกภาพในการบริหาร กระทั่งปัญหาการแทรกแซงจากกองทัพ(รัฐประหาร)...เหล่านี้คือโรคาเรื้อรังที่สังคมไทยเผชิญหน้ามาโดยตลอด และบั่นทอนให้ไม่อาจเดินหน้าพัฒนาไปได้
รัฐธรรมนูญ 2540 จึงเขียนขึ้นมาเพื่อแก้ไขให้ปัญหาโสมมเหล่านั้น ค่อย ๆหมดไปจากสังคมไทย
และก็เป็นรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่เข้ามาพิสูจน์ให้เห็น ด้วยการเป็นรัฐบาลที่ฉลาดเหลือเกินในการหยิบใช้ข้อดีจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และขณะเดียวกัน ความเข้มแข็งอย่างล้นเหลือนั้นก็เป็นการชี้ช่องโหว่ของ รธน. 40 ให้สังคมเห็นด้วยเช่นกันว่า ยังมีอะไรที่ขาดไป...
แต่ขณะที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยยังเริงร่าอยู่กับความเข้มแข็งที่ตัวเองได้รับ...กลุ่มบุคคลในเงามืดอีกกลุ่มหนึ่งก็ทวีความไม่พอใจรุนแรงขึ้น และกลายเป็นเบื้องหลังสำคัญในการผลักดันวาระเลวทรามบางประการให้กลับมาในสังคมไทย
อีแอบในเงามืดทั้งหลายเฝ้ารอคอยเวลาที่จะกำจัดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมๆ กับการกำจัดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ว่ากันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่ง และช่วงชิงเอากระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนมาเป็นของตัวเองด้วยการแอบอ้างเรื่อง “ม็อบไล่รัฐบาล” มาเป็นข้ออ้างในการส่งลิ่วล้อเข้ามารัฐประหาร...
คปค. หรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงเข้ามาได้ด้วยเหตุอันนี้ และเปลี่ยนชื่อเป็น คมช. ในเวลาต่อมา
เพื่อความไม่น่าเกลียด...คมช. ต้องอ้างเหตุผลขึ้นมา 4 ข้อ ตั้งหน่วยงานตามเช็คบิลรัฐบาลเก่า ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และตั้งรัฐบาลเพื่อให้ช่วยประคับประคองบ้านเมืองไปให้ได้ก่อนระยะหนึ่ง...โดยระหว่างนี้ ประชาชนจะเข้าใจว่าภารกิจของพวกเขาคือเหตุผล 4 ข้อนั่น
แต่ความจริง ภารกิจที่สำคัญกว่า อยู่ในกฎหมายแต่ละตัวที่มอบหมายให้ สนช. ไปทำมาอีกต่อหนึ่งเช่น พ.ร.บ. ความมั่นคง และอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2550 ที่โดนด่าถ้วนหน้าว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับอภิชน
วันนี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งพวกอภิชนเกลียดนักเกลียดหนา ได้กลับเข้ามาแล้ว คมช. หมดหน้าที่และกล่าวอำลาพร้อมทิ้งซากเศษปฏิกูลไว้ให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งต้องชำระล้าง
แต่ใครจะสนล่ะ...ก็ในเมื่อ “ภารกิจแท้จริง” ของพวกเขา สำเร็จไปแล้ว.
รายงานพิเศษ