WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, February 11, 2008

บทความ: การบังคับใช้ CL ของรัฐบาลขิงแก่คือ การขโมยสิทธิบัตรโดยอ้างสิทธิความเป็นประเทศยากจน (แต่จนไม่จริง)

โดย เอื้องอัยราวัณ
ที่มา
เว็บบอร์ดพันทิป
10 กุมภาพันธ์ 2550

จากข่าวที่ นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต้องการทบทวนการประกาศซีแอลยามะเร็ง 4 รายการ เนื่องจากทางสมาคมผู้วิจัยสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์หรือ"พรีม่า" จะทำความเห็นเสนอให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เลื่อนสถานะของไทยจากประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List) มาเป็นประเทศที่ต้องถูกจับตามองสูงสุด (PFC) ซึ่งนายไชยามีความเห็นว่า แม้การประกาศซีแอลยาเอดส์ที่ผ่านมาจะช่วยประหยัดงบถึง 500 ล้านบาท แต่ก็ทำให้กระทรวงพาณิชย์ เสียหายการส่งออกเป็นหมื่นล้านแสนล้านบาท รวมไปถึงอาจถูกระงับการส่งออกด้วย ดังนั้นจำเป็นต้องคิดให้รอบด้านและต้องอยู่บนความถูกต้อง ยึดตามกฎหมายเพราะกฎหมายมีไว้ให้คนใช้อย่าทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย

ซึ่งในตอนนี้ก็มีกลุ่ม NGO ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้าน มาตรการการทบทวนของ รมต. สาธารณสุขคนใหม่นี้ อีกทั้งยังมีการนำเอาเรื่อง”ซีแอล” มาปลุกกระแสแนวคิดชาตินิยมขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์กระดาษเปื้อนหมึกที่เป็นกระบอกเสียงให้กับเผด็จการตลอดมา

สำหรับผู้เขียนแล้วเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ไทยจะมีทบทวนการประกาศซีแอลสมัยที่รมต. ของรัฐบาลขิงแก่ได้ทำไว้ เพราะการที่กระทรวงสาธารณสุขที่มี นพ. มงคล ณ สงขลา เป็นรัฐมนตรีประกาศใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร ที่เรียกกันติดปากว่า “ซีแอล” (CL-Compulsory Licensing) นั้นหากพูดกันตรงๆตามภาษาชาวบ้านก็มันก็คือ การขโมยสิทธิบัตรยาโดยอ้างสิทธิความเป็นประเทศยากจน (แต่จนไม่จริง) นั่นเอง

มีหลากหลายทางออกที่ผู้ซื้อคือกระทรวงสาธารณสุขกับผู้ผลิตคือภาคอุตสาหกรรมยายังมีช่องทางเจรจากันได้แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการเจรจาในระดับภาครัฐกับภาคอุตสาหกรรมยาเกิดขึ้นเลย

ย้อนกลับไปที่เมื่อครั้งรัฐบาลสุรยุทธ์บอกผ่านสื่อว่าได้ส่ง นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข บินด่วนไปชี้แจงกับรัฐสภาสหรัฐฯเพราะเกรงจะถูกสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) นั้น นพ. มงคลในฐานะรมว.สาธารณสุข ก็ไม่
ได้เดินทางไปชี้แจงกับรัฐสภาสหรัฐฯแต่อย่างใด แต่กลับไปลงนามความร่วมมือกับมูลนิธิคลินตัน(Clinton Foundation) ของนายบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแทนซึ่งมูลนิธิคลินตันเป็นองค์กรเอกชนไม่ใช่เป็นองค์กรภาครัฐและนายบิล คลินตันเองก็เป็นอดีตประธานาธิบดีสหรัฐไปแล้ว ไม่ใช่ประธานาธิบดีสหรัฐปัจจุบัน

ในเมื่อไม่เคยมีการเจรจากันในระดับภาครัฐเกิดขึ้น ในเมื่อไม่เคยมีการเจรจาในระดับภาครัฐกับภาคอุตสาหกรรมยาเลย การสร้างความเข้าใจ การเจรจาระหว่างสองฝ่ายย่อมไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ก็พอเข้าใจได้ไม่ยากค่ะว่าเหตุใดการเจรจาระดับรัฐจึงไม่เคยเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลสุรยุทธ์เป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร การเจรจาใดๆจึงต้องถูกระงับไว้ก่อน

สรุปได้อย่างสั้นๆก็คือนพ.มงคลหาได้เดินทางไปชี้แจงกับรัฐสภาสหรัฐฯอย่างอดีตนายกสุรยุทธ์บอกผ่านสื่อไม่ แต่นพ.มงคลเดินทางไปหา “พรรคพวก” ซึ่งมีอยู่ 2 สิ่งที่นพ.มงคลได้มาเป็นพวกติดไม้ติดมือกลับมาเมืองไทยก็คือ

1. มูลนิธิคลินตัน และ
2. คำพูดของนายบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่บอกว่า "ผมสนับสนุนอย่างยิ่งต่อท่าทีและการตัดสินใจของรัฐบาลไทย(รัฐบาลสุรยุทธ์) และบราซิล หลังจากที่ได้มีการเจรจาต่อรองเพื่อระงับการใช้สิทธิบัตรยานี้มาพอสมควรแล้ว" ซึ่งถูกนำไปอ้างในทุกเว็บที่สนับสนุนการขโมยสิทธิบัตรยา

ด้วยหวังว่าจะใช้มูลนิธิคลินตันมากดดันบริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่และไม่ต้องการให้ตนโดดเดี่ยวในเวทีระหว่างประเทศในที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกที่ผ่านมา แต่ผู้เขียนคิดว่าตราบใดที่มาตรการ CL ที่กระทรวงสาธารณสุขออกมาสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ไม่ได้รับการทบทวนแล้วจะส่งผลเสียต่อประเทศไทยในระยะยาวอย่างแน่นอนโดยเฉพาะในเรื่องการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI (Foreign Direct Investment) ที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่เกิดวิกฤติการเมืองไทยตามมาด้วยรัฐประหารในปี 2548-2549 นั้น FDI ในประเทศไทยลดลงจาก 64.6% มาอยู่ที่ 24.5% ตามลำดับ และคนที่เสียผลประโยชน์มากที่สุดก็คือ ประชาชนไทยนั่นเอง

บริษัทยาและอีกทั้งประชาชนของเขาก็ไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยเกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ทางอเมริกาก็ได้มีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนแล้วในการกดดันให้รัฐบาลสหรัฐดำเนินมาตรการตอบโต้กับ มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรของไทยที่ออกมาสมัยรัฐบาลทหาร มากกว่าจัดลำดับให้ไทยเป็นเพียงประเทศในบัญชีที่ต้องจับตามอง "Priority Watch List" เท่านั้น

มีคำร้องเรียนมากมายที่ยื่นไปถึงประธานาธิบดีบุชและสภาครองเกรสของสหรัฐให้ดำเนินมาตรการตอบโต้อย่างจริงจังกับรัฐบาลไทยที่ไป “steal” ขโมยนวัตกรรมทางการแพทย์ของอเมริกา(American medical innovations) และสิทธิบัตรด้านเวชกรรมที่ถูกประดิษฐ์คิดค้นโดยบริษัทสัญชาติอเมริกันและคนงานชาวอเมริกัน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับ special benefits อย่างมากมายจากสหรัฐเช่นระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป(จีเอสพี)ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วให้แก่สินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยลดหย่อนหรือยกเว้นอากรขาเข้าแก่สินค้าที่มีอยู่ในข่ายได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าทั้งนี้ประเทศผู้ให้สิทธิพิเศษฯจะเป็นผู้ให้แต่เพียงฝ่ายเดียวไม่หวังผลตอบแทนใดๆทั้งสิ้น รวมไปถึงความช่วยเหลือทางด้านการทหารและด้านมนุษยธรรมหลายพันล้านดอลล่าร์

การเขียนจดหมายร้องเรียนสภาคองเกรสนั้นเป็นเรื่องที่อเมริกันชนหรือในประเทศตะวันตกเขาทำกันเป็นธรรมดาเพราะคนเหล่านี้เป็นผู้แทนของเขามิใช่เป็นเรื่องผิดวิสัยแต่อย่างใด

อีกด้านหนึ่งที่ประเทศไทยต้องมองและควรคำนึงถึงข้อเท็จจริงก็คือรัฐบาลสหรัฐนั้นมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ย่อมต้องปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนของเขาเป็นสำคัญ บริษัทยาและคนงานก็คือประชาชนของเขาเช่นกันเหมือนดังที่เราอยากให้รัฐบาลไทยปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนไทยนั่นแหละ

ดังนั้นองค์กร NGO หรือแกนนำมูลนิธิผู้ป่วยต่างๆหรือสื่ออย่างนายสุทธิชัย หยุ่นจะมาพูดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวว่า มหาอำนาจกำลังรังแกประเทศเล็กที่ยากจนกว่าเพราะผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มและเฉพาะตน มันเป็นการมองด้านเดียวและเห็นแก่ตัวเกินไปมั้ง

รายการนี้นายสุทธิชัย หยุ่นพูดชมอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตันที่ประกาศอยู่ข้างเดียวกับไทยและบราซิลในเรื่องสิทธิบัตรยาไปเต็มๆ เพราะเห็นว่ามูลนิธิคลินตันเข้าข้างรัฐบาลขิงแก่

การบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory License หรือ CL) กรณีที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศบังคับใช้ มันก็คือการที่รัฐบาลบังคับให้บริษัทหนึ่งจำหน่ายเวชภัณฑ์หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคุ้มครองจากสิทธิบัตร ให้กับประชาชนของตนโดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของสิทธิ หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ การขโมยสิทธิบัตรนั่นเอง

รัฐบาลทหารได้ปกป้องมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (หรือ ซีแอล) ว่าเป็นสิ่งที่ "พึงกระทำได้" เป็นมาตรการที่อยู่ภายใต้ ปฏิญญาโดฮาว่าด้วยความตกลงทริปส์กับการสาธารณสุขภายใต้กรอบของ WTO ที่ระบุว่า ประเทศสมาชิก WTO มีสิทธิที่จะปกป้องการสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงยาอย่างถ้วนหน้า ด้วยการบังคับใช้สิทธิในกรณีที่มีความจำเป็นเป็นการเร่งด่วน รวมทั้งที่เป็นประโยชน์สาธารณะ

แต่ความตกลงทริปส์ (TRIPs agreement) ได้อนุญาตให้ประเทศที่เป็นสมาชิกประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาได้โดยมีเงื่อนไขว่า “ประเทศต้องอยู่ในภาวะอันตราย (national emergency) หรือมีความจำเป็นเร่งด่วน (extreme urgency) หรือนำไปใช้เป็นประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่ในเชิงพาณิชย์” เท่านั้นและข้อตกลงยังระบุด้วยว่า ”ให้มีการจ่ายค่าชดเชยในจำนวนที่เหมาะสมให้กับเจ้าของสิทธิบัตร” ด้วย

ในกรณี โรคเอดส์และโรคหัวใจในประเทศไทยนั้นไม่เข้าข่าย ประเทศต้องอยู่ในภาวะอันตราย (national emergency) เลยแม้แต่น้อย

ผู้เขียนขอยกคำพูดของ ธีระ ฉกาจนโรดมนายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PREMA) ที่กล่าวถึงเรื่องความตกลงทริปส์ภายใต้กรอบของ WTO นี้ว่า

“การประกาศซีแอลตามกฎหมายระหว่างประเทศทำได้ในกรณีฉุกเฉิน เช่นมีโรคติดต่อร้ายแรงอย่างซาร์ส ไข้หวัดนก หรือโรคเอดส์ แต่กรณีรัฐบาลไทยประกาศซีแอลกับยาพลาวิกซ์ซึ่งมีผลต่อการรักษาโรคหัวใจไม่น่าจะอยู่ในข่ายนี้ การซีแอลยาตัวนี้อยู่นอกกฎเกณฑ์ของทริปส์และองค์การการค้าโลกอย่างแน่นอน อีกอย่าง ผมมองว่ากว่าที่คนคนหนึ่งจะเป็นโรคหัวใจต้องใช้เวลา ซึ่งถ้าเป็นแล้วก็มีวิธีรักษาตั้งแต่เบื้องต้นไปจนถึงขั้นอาการหนัก แม้คนไทยจะป่วยด้วยโรคหัวใจสูงถึง ๑ ใน ๕ อันดับแรก แต่ก็น่าจะหาทางป้องกันมากกว่าการแก้ที่ปลายเหตุ ข้ออ้างว่างบประมาณไม่พอทั้งที่ตั้งไว้สูงถึงร้อยละ ๑๒ ของจีดีพี ทางพรีมามีข้อมูลขององค์การอนามัยโลกว่างบประมาณที่ว่านั้นมีเพียงร้อยละ ๓.๓ ของจีดีพี จึงต้องดูว่าคำนวณจากฐานใด”

อีกประการหนึ่งก็คือประเทศไทยไม่ได้อยู่ระหว่างเกิดวิกฤตโรคเอดส์เพราะไม่เฉพาะแต่ไทยเท่านั้นแต่ทั้งโลกก็กำลังประสบกับภาวะโรคเอดส์เช่นกัน

อีกทั้งประเทศไทยก็ไม่จัดอยู่ในข่ายประเทศยากจนเหมือนทางประเทศในแถบ Sub-Saharan Africa ที่ไม่มีความสามารถในการจัดซื้อยาจากประเทศตะวันตกได้ ไทยถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นลำดับที่ 21 ของโลกเมื่อวัดจากผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) ที่คิดสัดส่วนจากการเปรียบเทียบกำลังซื้อ (PPP) ไทยเป็นประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวเร็วกว่าประเทศอื่นๆ อีก 100 ประเทศทั่วโลก การกระทำของไทยจึงไม่ได้เป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การการค้าโลกแต่อย่างใด

ต่างชาติเขาตรวจสอบดูงบประมาณด้านการทหารของไทยเขาก็รู้แล้วว่าประเทศไทยนั้น “จนไม่จริง”เพราะหลังจากที่ คมช. เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนด้วยการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 และแต่งตั้งรัฐบาลสุรยุทธ์เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศแทนนั้น ต้องบอกว่าเงินภาษีของประชาชนได้ถูกทหารถลุงไปใช้อย่างมือเปิบโดยขาดการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เรียกว่า “องค์กรอิสระ” ใดๆทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่คณะนายทหารชั้นนำเพิ่มค่าตอบแทนให้กลุ่มทหารเป็นเงินจำนวนเกือบ 300 ล้านบาทต่อปีในขณะเดียวกันรัฐบาลที่ทหารแต่งตั้งขึ้นก็เพิ่มงบประมาณทางทหารใหม่ให้กับกองทัพมากกว่า 1 ใน 3 หรือคิดเป็นจำนวนเงินกว่า 1.1 พันล้านเหรียญฯสหรัฐแต่กลับไปตัดงบประมาณด้านการสาธารณสุขถึง 384 ล้านบาท แปลความหมายเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกเสียจากว่าเป็นการเพิ่มเงินงบประมาณให้กับรัฐบาลทหารมากขึ้น แต่ตัดงบประมาณที่ใช้ในการบริการสาธารณะสุขให้กับประชาชนของตนน้อยลง

เหมือนที่นาย Ken Adelman เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ไว้ว่า

“แนวโน้มการลงทุนในไทยมีทิศทางถดถอยลงจากมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขที่มีต่อสิทธิบัตรยา...ไทยมีงบประมาณเพียงพอจะช่วยเหลือด้านสาธารณสุขแก่ผู้ยากไร้ แต่เลือกที่จะไม่จัดสรรเงินนั้นสำหรับการสาธารณสุข ในทางกลับกัน หน่วยงานด้านกลาโหมของไทยกลับได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นกว่า ๑ พันล้านเหรียญสหรัฐ (๓๕,๐๐๐ ล้านบาท)”

จนทำให้รัฐบาลขิงแก่ และนายสุทธิชัย หยุ่นรีบเสนอข่าวโจมตีนาย Ken Adelman ทันทีและไม่พ้นที่จะพยายามโยงความผิดมาให้ พตท.ทักษิณว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการที่ประเทศไทยถูกขึ้นบัญชีดำประเทศลักลอบละเมิดลิขสิทธิ์เพียงเพราะนาย Adelman เป็นที่ปรึกษาของบริษัทอีเดลแมนเท่านั้นเองซึ่งบริษัทอีเดลแมนที่ พ.ต.ท.ทักษิณว่าจ้างก็เป็นบริษัทประชาสัมพันธ์เพื่อทำงานประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อมูลที่ถูกใส่ร้ายและบิดเบือนเกี่ยวกับอดีตนายกฯทักษิณภายหลังการยึดอำนาจ ไม่ได้ว่าจ้างให้ไปโจมตีรัฐบาลไทยหรือคมช. และบริษัทอีเดลแมนก็ไม่ใช่บริษัทล็อบบี้ยิสต์ อีกทั้งนาย Adelman ก็ไม่ได้ทำงานให้ พ.ต.ท.ทักษิณ

กระทรวงสาธารณสุขภายใต้รัฐบาลทหารมุ่งใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาเป็นเครื่องมือหลักในการลดราคายารายการสำคัญเพื่อมุ่งประโยชน์แก่การผูกขาดของรัฐในตลาดยาเป็นสำคัญด้วยการยึดสิทธิบัตรยาจำนวนหนึ่งของบริษัทต่างชาติในประเทศไทยแล้วเอาไปให้องค์การเภสัชกรรมผลิตโดยไม่สนใจผลกระทบอื่นใด การแก้ปัญหาเรื่องราคาและการเข้าถึงยาของกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมามันจึงเป็นทางเลือกของคนที่มักง่ายและที่สำคัญมันดูไร้เกียรติ


จาก Thai E-News