ผมไม่อาจจะตอบได้ว่าการนำเงิน 19,000,000,000 บาท (อ่านว่าหนึ่งหมื่นเก้าพันล้านบาท) ไปแลกกับเครื่องบินรบจำนวน 6 ลำ มาสร้างแสนยานุภาพใหแก่กองทัพอากาศไทย เป็นการใช้จ่ายที่คุ้มค่าหรือไม่ เมื่อเทียบกับการนำมาสร้างสวัสดิการความเป็นอยู่ทีดีขึ้นเพื่อบำรุงขวัญกำลังใจ ของทหารชั้นผู้น้อย ที่ถูกตัดไป เพื่อนำเงินมาจัดซื้อเครื่องบินฝูงนี้
ผมไม่อาจจะรู้ได้ว่าการนำเงิน 19,000,000,000 บาท (อ่านว่าหนึ่งหมื่นเก้าพันล้านบาท) ไปซื้อเครื่องบินรบจำนวน 6 ลำ มาเป็นเขี้ยวเล็บให้กับกองทัพอากาศ เป็นการใช้จ่ายที่คุ้มค่าหรือไม่ เมื่อเทียบกับการใช้เงินจำนวนนี้ติดอาวุธทางปัญญาให้กับเด็กนักเรียนไทย ที่ถูกเรียกกลับประเทศ เพราะรัฐบาลเผด็จการ และ คมช. ไม่ส่งเงินให้เรียนต่อ
ผมไม่อาจจะบอกได้ว่าการนำเงิน 19,000,000,000 บาท (อ่านว่าหนึ่งหมื่นเก้าพันล้านบาท) ไปซื้อเครื่องบินรบจำนวน 6 ลำ เพื่อให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่และนายหน้าค้าอาวุธบางคน ได้คอมมิชชั่นไปมากกว่าพันล้านบาท เป็นการใช้จ่ายคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อเทียบกับการใช้เงินจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายในการนำสินค้าเกษตรของไทยบุกเข้าไปในตลาดโลก และดินแดนที่ยังไม่เคยไป เพื่อนำเม็ดเงินและกำไรระดับแสนล้านบาทกลับเข้าสู่ประเทศไทย
เหตุที่ผมไม่อาจจะตอบ ไม่อาจจะรู้ และไม่อาจจะตอบได้ เพราะว่า ผมไม่ใช่นักการทหาร ไม่ใช่นักบินเครื่องบินรบ และไม่นายหน้าค้าอาวุธ
แต่ผมสามารถตอบตัวเองได้ว่า หากผมมีอำนาจวาสนาเช่นเดียวกับ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ รักษาการประธาน คมช. ผมจะไม่ทำเช่นที่ท่านทำ
ผมจะไม่เห็นแก่ความแข็งแกร่งกองทัพอากาศ มากกว่าความแข็งแรงของประเทศไทย
ผมจะไม่เห็นแก่ความสมบูรณ์ทางอาวุธของกองทัพ มากกว่าความเข้มแข็งทางปัญญาของเยาวชนไทย
ผมจะไม่เห็นแก่คอมมิชชั่นพันล้านบาท มากกว่ารายได้แสนล้านบาทที่จะลงไปสู่เกษตรกรรากหญ้า เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่คนในชาติ
เพราะผมไม่เชื่อว่า กองทัพอากาศจะดำรงความเข้มแข็งอยู่ได้บนความอ่อนแอของประเทศและความยากจนของประชาชน
เงินจำนวน 19,000,000,000 บาท ที่เป็นภาระแก่ประเทศชาติที่จะต้องจัดหามาจากภาษีอากรของประชาชน เพื่อนำไปจ่ายค่าเครื่องบินรบกริพเพนจำนวน 6 ลำ นี้ ไม่อาจจะขูดรีดมาจากประชาชนผู้ยากจนได้ มีแต่ประชาชนที่ร่ำรวยและประเทศที่มั่งคั่งเท่านั้น จึงจะชำระค่าเครื่องบิน 19,000,000,000 บาท ฝูงนี้ได้ แต่กับประชาชนที่ยากจน ก็คงมีแต่หยาดเหงื่อและน้ำตาเท่านั้นที่จะนำไปจ่ายทดแทนได้
แต่ผมเชื่อว่ามีคนในกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นผู้รู้เกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องบินริบกริพเพน ฝูงนี้ จำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการเทเงิน 19,000,000,000 ล้านบาทไปให้รัฐบาลสวีเดน เพื่อแลกกับเครื่องบิน 6 ลำนี้ จึงมีใบปลิวออกมาโจมตี พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก ว่อนไปทั่วทุ่งดอนเมือง และเกือบทุกตารางนิ้วในกองทัพอากาศ
ปฏิกิริยาของพล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก ต่อกรณีใบปลิวโจมตีเรื่องจัดซื้อเครื่องบินกริพเพน 39 C/D จำนวน 6 ลำนี้ ก็คือ “เป็นฝีมือของผู้เสียผลประโยชน์”
หากตรรกะของพล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก ถูกต้อง คือ ผู้ไม่เห็นด้วยกับการซื้อเครื่องบินกริพเพน ครั้งนี้ เป็นผู้เสียประโยชน์
ตรรกะของผู้ทำใบปลิว ที่บอกว่า ผู้เห็นด้วยกับการซื้อเครื่องบิน 6 ลำนี้ ได้ผลประโยชน์ ก็ไม่น่าจะผิด โดยเฉพาะ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก ซึ่งเป็นผู้เสนอซื้อ ผู้ตัดสินใจซื้อ และผู้ลงนามจัดซื้อ เองแต่เพียงผู้เดียว ยิ่งสอดคล้องกับตรรกะนี้ คือ มีผลประโยชน์มากมายมหาศาลเกิดขึ้นในการจัดซื้อเครื่องบินกริพเพน 6 ลำนี้ และ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก คือ บุคคลหนึ่งที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องพัวพันกับการได้ผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งและการเสียผลประโยชน์ของคนอีกกลุ่มหนึ่ง อย่างแน่นอน
แต่เรื่องผลประโยชน์ จะมากจะน้อยอย่างไรเท่าไร ในชั้นนี้ ยังไม่อาจหาคำตอบและหลักฐานมายืนยันได้ จึงต้องขวนขวายค้นหาหลักฐานทางการเงินกันต่อไปว่ามีใครหน้าไหนร่ำรวยแบบฉุกเฉินขึ้นมาจากจัดซื้อเครื่องกริพเพน 6 ลำนี้บ้าง
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อเครื่องบินกริพเพน 6 ลำนี้ ในชั้นต้น ได้พบความไม่ปกติ และไม่เหมาะสมอยู่บางประการ ซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรต้องนำมาเปิดเผย เพื่อให้สังคมได้ตรวจสอบการกระทำ พฤติกรรมของ นายทหารระดับผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่มีสถานะเป็นรองประธานคปค. ผู้ก่อการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยเหตุที่ต้องสงสัยว่ามีการทุจริตคอรัปชั่น เพื่อที่ประชาชนจะได้เห็นตัวตนของคนเหล่านี้ ว่า พวกปีศาจคาบคัมภีร์ เขาทำมาหากินกันอย่างไร
อย่างที่บอกไว้แต่ต้นว่า ผมไม่อาจตอบได้ว่าการใช้เงิน 19,000,000,000 บาทไปซื้อเครื่องบิน กริพเพน 6 ลำ คุ้มค่าหรือไม่ แต่ผมบอกได้ว่าการอนุมัติเงิน 19,000,000,000 บาท ให้พล.อ.อ.ชลิต ไปจัดซื้อเครื่องบินฝูงนี้ เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และเป็นการกระทำที่มีเงื่อนงำชวนให้สงสัยว่าเหตุใดจึงต้องรีบเร่งเสนอในวันส่งท้ายปีเก่า และ เร่งรีบอนุมัติในวันประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกของปีใหม่ อีกทั้งยังเป็นการอนุมัติงบประมาณให้จัดซื้อ โดยที่ไม่มีแผนงานปรากฎอยู่ในเอกสารกำกับการใช้งบประมาณของกกองทัพอากาศ และกระทรวงกลาโหม มาก่อน
กล่าวได้ว่าเป็นการอนุมัติให้ใช้งบประมาณ โดยขัดระเบียบการใช้งบประมาณ ตามพ.ร.บ.งบ ประมาณ 2551 และหลบเลี่ยงที่จะนำเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้พิจารณาการเปลี่ยนแปลงงบประมาณ ก่อน อีกทั้งยังดำเนินการในรูปของงบประมาณผูกพันตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 – 2555
จากเอกสารจำนวน 9 แผ่น ที่ผมได้รับมาจากนายทหารอากาศบางคน ที่ถูกพล.อ.อ.ชลิต เรียก ว่า “ผู้เสียประโยชน์” และนำมาเสนอให้ทุกท่านได้พิจารณากัน บ่งชี้ข้อมูลสำคัญ 2 ประการ ก็คือ ว่า การเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติจัดซื้อเครื่องบิน มูลค่า 19,000,000,000 บาทในครั้งนี้ กระทำกันเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นวันทำงานวันสุดท้ายของปี หลังจากที่การเลือกตั้งทั่วไป เสร็จสิ้นแล้ว และรู้ผลแล้วว่าพรรคพลังประชาชน ซึ่งถูกคมช. ที่มีพล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก กำหนดให้เป็นศัตรู เป็นปฏิปักษ์ ชนะการเลือกตั้ง สามารถฝ่าฟันทุกด่านสกัดของคมช.ที่วางไว้ในสนามเลือกตั้ง เข้ามาได้มากที่สุด และเตรียมการที่จะจัดตั้งรัฐบาล แล้ว
ข้อเสนอของกองทัพอากาศ ที่มี พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก เป็นผู้บัญชาการ เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา อนุมัติ โดยผ่านช่องทางของกองบัญชาการทหารสูงสุด มีดังนี้
1. ให้ทอ.จัดซื้อ บ. Grippen 39 C/D จำนวน 6 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์อะไหล่และการฝึกอบรม โดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล (G TO G) จากรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรสวีเดน เป็นเงิน 18,284,000,000 บาท และการปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Upgrade) ณ บน 7 พล.บ.4 บยอ. และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็น เป็นเงิน 716,000,000 บาท (ตามที่ปรากฎในเอกสาร) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 19,000,000,000 บาท โดยใช้งบประมาณปี 2551 จำนวน 1,900,000,000 บาท ซึ่งจะได้ดำเนินการขอปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณกับสำนักงบประมาณต่อไป สำหรับงบประมาณปี 2522-2555 จะขอตั้งงบประมาณ เพื่อรองรับการดำเนินการตามโครงการต่อไป
2. ให้ผบ.ทอ.เป็นผู้รับมอบอำนาจลงนามในข้อตกลงจัดซื้อบ.ฯในนามรัฐบาลแห่งราช อาณาจักรไทย รวมทั้งการแก้ไขข้อตกลงจัดซื้อ บ.ฯ โดยวงเงินรวมไม่เปลี่ยนแปลง
ทั้ง 2 ข้อที่ กองทัพอากาศ โดย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก นำเสนอต่อผู้บัญชาการทหารสูงสุด ไหลลื่นไปถึงคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีอุปสรรคใดๆ มาขัดขวาง และคณะรัฐมนตรีที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ในระหว่างรอรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ก็ได้พิจารณาอนุมัติ โดยแทบจะไม่ได้พิจารณาข้อความที่เสนอมาแม้แต่ตัวอักษรเดียว ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2551 ซึ่งเป็นการประชุมครม.นัดแรกของปี 2551 แต่เป็นการประชุมครม. หลังจากที่นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาลอีก 3 พรรค ได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาล กันอย่างเป็นทางการ ไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2550 ซึ่งหมายความว่าทั่วไทยและทั่วโลก ได้รับรู้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2550 แล้วว่านายสมัคร สุนทรเวช จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และพรรคพลังประชาชน ที่คมช.กำหนดเป็นปฏิปักษ์ จะได้เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
แต่ทว่า หลังจากนั้นเพียง 9 วัน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งอวดโอ่โชว์สรรพคุณตัวเองว่าเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ มีมารยาทในการทำงาน และไม่ประสงค์จะใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี ในระหว่างรอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เข้ามาทำงานแทน ดำเนินการเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น กลับพิจารณาอนุมัติข้อเสนอทั้ง 2 ข้อของ พล.อ.อ.ชลิต พกุผาสุก
ทั้งๆ ที่เป็นข้อเสนอที่ขัดต่อหลักการทำงานของรัฐบาลรักษาการ ที่จะไม่อนุมัติเรื่องใดก็ตาม และ การใช้งบประมาณใดๆ ก็ตามที่มีลักษณะเป็นงานต่อเนื่องและงบผูกพัน และผูกมัดให้รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการโดยไม่สามารถพิจารณาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ และผิดมารยาทการทำงานของรัฐบาลรักษาการ เป็นอย่างยิ่ง
ข้อเสนอของพล.อ.อ.ชลิต ทำขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550 หลังรู้ผลการเลือกตั้งแต่ 1 วัน ว่าพรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้ง จึงดำเนินการกันอย่างเร่งรีบ และส่งไปถึงกองบัญชาการทารสูงสุด ในวันที่ 28 ธันวาคม 2550 ในขณะที่ กองบัญชาการทหารสูงสุด เสนอเรื่องถึงสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ในวันเดียวกัน คือวันที่ 28 ธันวาคม 2550 ซึ่งผิดวิสัยการทำงานในวันส่งท้ายปีเก่าของส่วนราชการเป็นอย่างยิ่ง
แต่กระบวนการทั้งหมดนี้ จำเป็นต้องเร่งรีบ และรวบรัดตัดความให้สั้นที่สุด เพื่อนำเสนอให้รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ พิจารณาอนุมัติให้เร็วที่สุด เพราะรู้ดีว่าหากรอให้รัฐบาลใหม่ที่มีพรรคพลังประชาชน มาเป็นผู้พิจารณา โอกาสที่จะได้ใช้งบประมาณ 19,000,000,000 บาท ไปจัดซื้อเครื่องบินรบ 6 ลำ คงเป็นไปได้ยาก เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ย่อมจะคำนึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นลำดับแรก มิใช่ประโยชน์ของกองทัพ เป็นลำดับต้น ดังเช่นรัฐบาลที่มาจากเผด็จการ
ในแง่ของความถูกต้องตามกฎหมาย คงไม่มีใครทักท้วง เนื่องจากรัฐบาลรักษาการ ยังคงมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติราชการตามกฎหมาย หากแต่โดยมารยาท ธรรมเนียมปฏิบัติ ของรัฐบาลรักษาการ จะไม่พิจารณาอนุมัติการจัดซื้ออาวุธด้วยเงินงบประมาณมหาศาลเช่นนี้ แต่หากพิจารณาด้านความเหมาะสมแล้ว อดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า เหตุใดจึงต้องรีบเร่งเสนอ และเร่งรีบอนุมัติกันเช่นนี้
มีการตกลงกันล่วงหน้า รับเงินค่าคอมมิชชั่นกันมาแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต จึงไม่รีบไม่ได้ และ พล.อ.สุรยุทธ์ ก็ไม่ฝ่าหลักการธรรมาภิบาล ไม่แหกด่านมารยาทการทำงานของรัฐบาลที่ดี ไม่ได้ จึงมีการอนุมัติเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง คือ
1. อนุมัติให้จัดซื้อเครื่องบิน ด้วยงบประมาณ 19,000,000,000 บาท ทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ และไม่ได้อยู่ในแผนงบประมาณของกองทัพอากาศ มาก่อน จึงต้องมีการโยกย้ายถ่ายเทงบประมาณ จากรายการอื่น มาเพื่อซื้อเครื่องบินฝูงนี้ โดยจัดทำเป็นงบหัวเชื้อไว้ 10 % แล้วค่อยไปหางบประมมาณในปีถัดๆ ไปอีก 90 % มาจ่าย จะได้หรือไม่ได้ ก็ให้เป็นภาระของรัฐบาลชุดต่อไป ซึ่งรู้อยู่แล้วในวันอนุมัติว่าเป็นรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ไม่ใช่รัฐบาลจากพรรคการเมืองที่คมช. มีความสัมพันธ์และครอบงำได้
การอนุมัติของพล.อ.สุรยุทธ์ ในครั้งนี้ จึงเป็นการทำงานแบบปัดสวะ และไม่รับผิดชอบต่อภาระงบประมาณในอนาคต และไม่สนใจใยดีว่าจะเป็นปัญหางบประมาณสำหรับรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาทำงาน หรือไม่
2. การอนุมัติให้ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก เป็นผู้แทนรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ไปลงนามในข้อตกลงจัดซื้อเครื่องบินกริพเพน กับรัฐบาลราชอาณาจักรสวีเดน ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 ทั้งๆ ที่รู้กว่าจะถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 นายสมัคร สุนทรเวช ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรี โดยสมบูรณ์แล้ว และรัฐบาลใหม่ก็คือรัฐบาลพรรคพลังประชาชน แต่ พล.อ.สุรยุทธ์ ก็ยังอนุมัติให้พล.อ.อ.ชลิต เป็นผู้แทนรัฐบาลล่วงหน้า เป็นผู้แทนรัฐบาลใหม่ ที่ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นผู้แทนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นผู้แทนรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยพรรคพลังประชาชน
พล.อ.อ.ชลิต อาจจะมีคุณสมบัติและความเหมาะสมที่จะเป็นผู้แทนรัฐบาลเผด็จการ อย่างครบ ถ้วน แต่ไม่มีความเหมาะสมใดๆแม้แต่น้อยที่จะเป็นผู้แทนรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งของประชาชน โดย เฉพาะเป็นผู้แทนรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยพรรคการเมืองที่พล.อ.อ.ชลิต เห็นว่าเป็นศัตรู เป็นปฏิปักษ์ต่อความมั่นคงของชาติ ต่อ คมช. และต่อตนเอง
การอนุมัติของพล.อ.สุรยุทธ์ ให้พล.อ.อ.ชลิต เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย จึงเป็นการอนุมัติที่ไร้มาร ยาทอย่างยิ่ง และเป็นการแทรกแซงการทำงานของรัฐบาลใหม่ อย่างเลวร้ายที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ชวนให้คิด และเป็นเงื่อนงำที่น่าสงสัยก็คือว่า เหตุใดการเซ็นสัญญาข้อตกลงจัดซื้อเครื่องบินฝูงนี้ จึงไม่มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ลงนามแทนในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทย เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม น่าจะเป็นตัวแทนของรัฐบาล ที่มีความชอบธรรม มากกว่าผู้บัญชาการทหารอากาศ
แต่ด้วยเหตุที่ทราบผลการเลือกตั้งแล้วว่า พรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้ง และได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลแล้ว กองทัพอากาศ โดย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จึงหลีกเลี่ยงที่จะกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ลงนาม เพราะรู้แน่ชัดว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คนใหม่ ต้องเป็นคนที่พรรคพลังประชาชน เห็นชอบ มิใช่คนที่คมช.สนับสนุน
การสืบค้นข้อมูลในเรื่องนี้ จึงทำให้ได้คำตอบว่าเหตุใด พล.อ.อ.ชลิต จึงเสนอหน้าเข้ามาเสนอชื่อผู้เหมาะสมจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าควรเป็นนายทหาร และเป็นบุคคลที่คมช. เห็น ชอบด้วย ทั้งยังเสนอชื่อนายทหารหลายคนให้เห็นเป็นตัวอย่าง ก็เพราะไม่มั่นใจในอนาคตของตัวเอง และไม่มั่นใจข้อตกลงจัดซื้อเครื่องบินฝูงนี้ ที่น่าเชื่อว่ามีการรรับค่าคอมมิชชั่นล่วงหน้ากันไปแล้ว
เพราะกลัวว่า จะมีการพลิกผัน และต้องคืนเงินคอมมินชั่นที่รับมาแล้วล่วงหน้า จึงต้องกำหนดขั้นตอนการเสนอ การอนุมัติ การลงนามข้อตกลง กันอย่างรวบรัด และตัดตอนไม่ให้รัฐบาลใหม่ เข้ามาเกี่ยวข้อง
นี่จึงอาจจะเป็นเหตุผลที่บอกว่า ทำไม พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก ผบ.ทอ. จึงไม่เข้าประชุมรับฟังนโยบายจากนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เดินทางเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงกลาโหม และเป็นการเดินทางไปพบปะผู้บริหารกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการเหล่าทัพ เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าติดภารกิจไปลงนามข้อตกลงการจัดซื้อเครื่องบินฝูงนี้ ซึ่งกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว นั่นเอง
เช่นเดียวกับ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สส. ที่เป็นผู้รับลูกข้อเสนอซื้อเครื่องบินฝูงนี้ จาก พล.อ.อ.ชลิต และรีบเร่งนำเสนอให้สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี อย่างรวบรัด ก็ไม่เข้าประชุมพบปะกับนายสมัคร สุนทรเวช ที่กระทรวงกลาโหม เช่นเดียวกัน ด้วยข้ออ้างติดภารกิจเดินทางเยือนประเทศตะวันออกกลางต่อเนื่องจากที่พล.อ.สนธิ ได้ปฏิบัติภารกิจค้างไว้
พฤติกรรมความไม่เหมาะสมเหล่านี้ ล้วนแต่มีเหตุมาจากการอนุมัติของพล.อ.สุรยุทธ์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไร้มารยาทอย่างที่สุด และไม่เคยมีนายกรัฐมนตรี คนใดกล้ากระทำเช่นนี้มาก่อน
3. การอนุมัติข้อความที่ว่า “รวมทั้งการแก้ไขข้อตกลงจัดซื้อ บ.ฯ โดยวงเงินรวมไม่เปลี่ยนแปลง” ซึ่งเป็นวรรคท้ายของข้อเสนอข้อที่ 2 ของกองทัพอากาศ ของพล.อ.สุรยุทธ์ เป็นการอนุมัติที่ไร้มารยาท และบ่งบอกถึงการทำงานที่ไม่มีหลักธรรมาภิบาล ดังที่อวดอ้างไว้แม้แต่น้อย
ความในข้อนี้ ที่พล.อ.สุรยุทธ์ อนุมัติไป เท่ากับเป็นการนำอำนาจของรัฐบาลทั้งคณะ ไปไว้ในมือของพล.อ.อ.ชลิต แต่เพียงผู้เดียว ที่จะคิด จะทำ จะตัดสินใจอย่างไรก็ได้ กับการใช้เงิน 19,000,000,000 บาท
เนื่องจากสาระสำคัญที่กำหนดไว้คือ ให้พล.อ.อ.ชลิต แก้ไขข้อตกลงจัดซื้อที่เสนอให้ครม.พิจารณาอนุมัติไปแล้ว ได้ทุกกรณี ขอเพียงแต่อย่าให้เกินวงเงินที่กำหนดไว้เท่านั้น แปลว่าครม.ไม่สน ใจเรื่องเงื่อนไขการจัดซื้อ แต่สนใจเรื่องเงินเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการอนุมัติที่ผิดหลักการดำเนินงานอย่างยิ่ง
หากครม.ต้องการให้พล.อ.อ.ชลิต มีอำนาจแก้ไขข้อตกลงได้ ก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณาเงื่อนไขข้อตกลงที่กองทัพอากาศ เสนอมา เพียงแต่อนุมัติวงเงินงบประมาณตามที่ขอมา ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องสนใจรายละเอียดว่าจะซื้อกี่ลำ มีเครื่องมือ อุปกรณ์ ประกอบอย่างไรบ้าง มีการจัดอบรม ฝึกสอน หรือไม่
ที่สำคัญก็คือ คณะรัฐมนตรีของพล.อ.สุรยุทธ์ ไม่มีสิทธิ และไม่มีอำนาจที่จะมอบอำนาจให้แก่พล.อ.อ.ชลิต ดำเนินการเช่นนั้น เนื่องจากรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ และรู้ดีว่าจะต้องพ้นจากวาระไปก่อนที่พล.อ.อ.ชลิต จะลงนามในข้อตกลง แต่ก็ยังอนุมติและมอบอำนาจให้พล.อ.อ.ชลิต ดำเนินการในนามของรัฐบาลได้ โดยที่ไม่ต้องนำกลับมาให้รัฐบาลพิจารณาอีกครั้ง หากว่าเงื่อนไขการตกลงซื้อขายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่เคยเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ไว้
ด้วยเหตุที่ปรากฎเช่นนี้ ด้วยหลักฐานที่ตรวจสอบพบเช่นนี้ จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ มิได้เป็นรัฐบาลที่มีมารยาทในการทำงาน และซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ มีหลักธรรมาภิบาล ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามที่อวดอ้างไว้แต่อย่างใด อีกทั้งยังทำให้เห็นว่าการจัดซื้อเครื่องบิน กริพเพน 6 ลำนี้ มีเงื่อนงำชวนให้สงสัยว่าเหตุจึงต้องรีบเร่งรวดรัดตัดตอนตั้งแต่การเสนอซื้อจนถึงอนุมัติใช้เวลาพิจารณาไม่ถึงสิบวันเท่านั้น ทั้งๆ ที่ต้องเป็นภาระแก่งบประมาณมากถึง 19,000,000,000 บาท และผูกพันไปอีก 4 ปีข้างหน้า และหลังการอนุมัติของรัฐบาลรักษาการ ก็ใช้เวลาเพียง 30 วัน ก็สามารถลงนามข้อตกลงจัดซื้อได้ทันที เป็นการดำเนินการอย่างร่งด่วน เหมือนกับกลัวว่าจะถูกระงับเพราะตรวจสอบพบว่าไม่โปร่งใส
อย่างที่ผมบอกไว้แต่ต้นว่า ผมไม่รู้ว่าการจัดซื้อครั้งนี้คุ้มค่ากับเงิน 19,000,000,000 บาทที่เสียไปหรือไม่ แต่ผมกล้าฟันธงว่าการดำเนินการของกองทัพอากาศ และ รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ มีข้อพิรุธ น่าสงสัย มีเงื่อนงำชวนให้ค้นหาความจริงที่ซ่อนอยู่ และติดตามหาคอมมิชชั่นที่ตกหล่นแถวทุ่งดอนเมือง จนเป็นเหตุให้เกิดปรากฎการณ์ใบปลิวโจมตีพล.อ.อ.ชลิต หลังการจัดซื้อสิ้นสุดลง เพราะแบ่งผลประโยชน์ไม่ลงตัว
เรื่องราวแบบนี้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควรจะต้องให้ความสนใจและติดตามตรวจสอบการจัดซื้อเครื่องบินกริพเพน ฝูงนี้ ว่า “ได้คุ้มเสีย” หรือไม่ หากว่ารัฐบาลนี้ ต้องการสร้างชื่อให้ประชาชนได้ประจักษ์ ว่า เป็นรัฐบาลที่จะต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ ทั้ง ป้องกัน และ กำจัด ทั้งในส่วนของรัฐบาลเอง และส่วนราชการทุกหน่วย ที่ตกเป็นเป้าของสายตาประชาชน
ผมไม่รู้ว่าการจัดซื้อเครื่องบินฝูงนี้ด้วยเงิน 19,000,000,000 บาท คุ้มค่าหรือไม่
แต่ผมเชื่อว่าการใช้เหตุจากเครื่องบินฝูงนี้กำจัดเหลือบประเทศไทย และเหลือบกองทัพ ที่ชื่อว่า คมช. เป็นการกระทำที่คุ้มค่า และสมควรแก่การกระทำอย่างยิ่ง
อ่านรายละเอียด บันทึกลับมาก
ประดาบ
จาก hi-thaksin