ไม่น่าทำตัวเป็นหนูลองยา สำหรับ...นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ที่ ออกมาตีกัน รัฐบาล ไม่ให้มีการจัด ตั้งสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ โดยอ้างข้อกฎหมายต่างๆ นานา ที่เกี่ยวข้อง
มีการแสดงความไม่รับผิดชอบต่อกรณีการเกิดของ “ทีวีสาธารณะ” บอกเพียงแค่ว่า “ชีวิตก็เป็นอย่างนี้ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นปกติ ผู้ใหญ่คงเข้าใจว่าบทบาทและหน้าที่เป็นอย่างไร ก็ต้องขอเวลาดูอีกระยะหนึ่ง”
ทั้งที่นายปราโมชมีส่วนสำคัญในการผลักดันเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีรักษาการ ซึ่งกำลังจะพ้นหน้าที่ไปเพียงแค่ไม่ถึง 10 วันทำการเท่านั้น
กรณีกล้ายางพารา คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. บอกว่า นายเนวิน ชิดชอบ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น เซ็นงานออกไปทั้งที่ผ่านกระบวนการทางราชการทุกอย่าง สอบถามแม้กระทั่งอัยการสูงสุด ยังบอกว่าผิด แล้วกรณีทีวีสาธารณะเป็นเรื่องใหญ่ เป็นนโยบายใหญ่ ทำไมไม่รอรัฐบาลที่มาจากประชาชนเป็นคนเข้ามาตัดสินใจ
นพ.เหวง โตจิราการ กรรมการสมาพันธ์ประชาธิปไตย ดูจะ เป็นผู้ที่ตีโจทย์เรื่องนี้ได้แตก ที่สุดคนหนึ่ง โดยมีความคิดเห็นน่าสนใจ
มีการ คลอดกฎหมายฉบับนี้อย่างเร่งด่วน 3 วาระรวด จะมีความรอบคอบในการเขียนกฎหมายได้อย่างไร และเนื่องด้วยกฎหมายผ่านสภาที่เป็น ผลิตผล ของ โจรปล้นประชาธิปไตย ขาดซึ่ง ความสง่างาม ของ สถานีแห่งนี้ โดยสิ้นเชิง
ซ้ำร้ายกว่านั้น การเสนอชื่อ คณะกรรมการนโยบาย ขึ้นมา และ ผู้อำนวยการสถานี ขึ้นมา โดยมีการกระทำ ลักษณะเหมือนล็อบบี้ จงใจให้ได้มา อยากจะถามว่าได้ คำนึงถึงความชอบธรรม มากน้อยแค่ไหน เพราะมีข้อที่ทำให้สาธารณชน ตะขิดตะขวง ใจว่าเป็นผู้ที่ฝักใฝ่เผด็จการ ฉุดกระชากลากถูทหารเข้ามา ปฏิวัติยึดอำนาจการปกครอง เป็นพวก กบฏ ส่งเสริมซึ่ง “โจรปล้นประชาธิปไตย”
อคติ เต็มไปใน หัวสมอง
ซึ่งพฤติกรรมที่เห็นชัดเจนนี้ อาจจะขัดหรือแย้งกับตัวบทกฎหมาย เนื้อหาในกฎหมาย มาตรา 7 (2) เขียนเอาไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า “ผลิตรายการทางด้านข่าวสาร สารประโยชน์ทางด้านการศึกษา และสาระบันเทิง ที่มีสัดส่วนอย่างเหมาะสม และมีคุณภาพสูง เน้นความหลากหลายในมิติต่างๆ โดยมุ่งดำเนินการอย่างปราศจากความอคติทางการเมืองและผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ และยึดถือผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ”
การนำคนที่มี อคติทางการเมือง เห็นกันประจักษ์ชัดแจ้งมาดำเนินการ มันจะสอดคล้องกันได้เพียงใด
ที่จริงเรื่อง สถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ ที่ว่ากันนี้ มีหลายแนวทาง
สถานีโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์ มี แอบซุกช่องทีวีเอาไว้อีก 3-4 ช่อง ที่เรียกกันว่า รูท 1 รูท 2 รูท 3...ผ่านดาวเทียม กันนั้น หรือจะเป็น ช่อง 3 เดิม ที่เปลี่ยนระบบไปในคลื่น ยูเอชเอฟ มัน ไม่ใช่ของเก่า ที่เหลืออยู่หรือ ถามว่า เป็นการหมกเม็ด หรือไม่ อย่างไร
เอาเวลาไปหาประโยชน์เข้าพกเข้าห่อกันใช่หรือไม่?
อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เคยรู้เรื่องเหล่านี้ไหม?
อย่างกรณีวิทยุชุมชน ที่ชาวบ้านชาวช่องเขาบอกกันว่า ข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์นั่นแหละตัวดี ผลิตเครื่องขาย เอาเสาไปติด เอาเครื่องไปตั้ง ไปเร่ขายให้วัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย แล้วทำให้มีปัญหาตามมา
อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ไม่รู้ร้อนรู้หนาวบางเลยหรือ หรือท่านอยากจะทำตัวเป็น หนูตะเภาลองยา ตั้งท่า ตั้งทาง ให้ รัฐบาลชุดใหม่ ที่มีเจตนาจะมีสื่อสารมวลชนที่ ปกป้องประชาธิปไตย แต่กลับไม่เล่นด้วย แบบนี้ไม่เรียกว่าท้าทาย แล้วจะเรียกว่าอะไร
ในเมื่อประกาศลั่นใน เชิงท้าทายรัฐบาล สอนสั่งรัฐบาล ขัดขวางนโยบายนายกรัฐมนตรี แบบนี้ต่อไปจะ ไม่เป็นตัวอย่างให้ข้าราชการหน่วยงานอื่นๆ นำไปปฏิบัติเป็นเยี่ยงอย่างกันหรือ อย่างไร
ที่จริง ทีวีช่องใหม่ หากจะใช้แนวคิด ทีวีเสรี ไม่ได้ยากเย็นอะไรเลย เอาคลื่นทีวีของกรมประชาสัมพันธ์ที่หมกเม็ด เอาไว้นั่นแหละ เอามาสวม ทำแบบที่ ทีวีสาธารณะ เอา ทีไอทีวี ไปสวมอยู่ นั่นแหละ ง่ายนิดเดียว ไม่เห็นยากเย็นอะไรเลย
กฎหมายใดที่เป็นปัญหาและอุปสรรค ในการที่จะทำเรื่อง เครื่องมือในการปกปักษ์รักษา ปกป้องประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน เรื่องสำคัญของชาติ รัฐบาลในฐานะเสียงข้างมาก ได้ฉันทามติจากประชาชนท่วมท้น ทำไมจะไม่มีสิทธิ์เสนอกฎหมาย ดำเนินการเรื่องเหล่านี้ให้เกิดขึ้นมาได้
จำได้ว่า อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เคยขอร้องกับสื่อมวลชนว่า เลิกพูดถึงคำว่า “กรมกร๊วก” กันเสียที วันนี้หากท่านเลิกพฤติกรรมในอดีตเสีย มายืนข้างประชาชนฝ่ายประชาธิปไตย คำว่า “กรมกร๊วก” คงไม่ถูกนำกลับมาใช้อีก