ในฐานะของคนทำสื่อ ผมรู้ ผมเห็น และ ผมกล้าฟันธงว่า "สื่อ" นี่ล่ะ ที่เป็นต้นเหตุแห่งหายนะของชาติ ที่ตั้งเค้ามาตั้งแต่ปลายปี 2548
สื่อ มีอิทธิพลอย่างมากในสังคมใหญ่ ที่ประชาชนหรือสมาชิกของสังคมไม่อาจจะเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้โดยตรง จึงต้องพึ่งพาอาศัยการถ่ายทอดของสื่อ และรอรับฟังข่าวจากสื่อ
ในอดีต สื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้อ่าน ได้ฟัง และได้ชม โดยเน้นเนื้อหาของข่าวและสาระของเรื่อง มากกว่าที่จะแสดงความรู้สึกและอารมณ์ของคนทำสื่อ ที่เต็มไปด้วยอคติ ผสมปนเปอยู่ในข่าว จนยากที่จะแยกแยะได้ว่า อะไรคือสาระของข่าว ส่วนใดคือเนื้อหาของเรื่องที่ต้องการนำเสนอกันแน่ ระหว่างข้อเท็จจริงของข่าวกับอารมณ์ความรู้สึกของคนทำสื่อ เช่นในปัจจุบัน
ในสังคมใหญ่ที่อะไรๆ ก็ดูจะเร่งรีบ เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเดินทางและการทำมาหากินเลี้ยงปากท้องในแต่ละวัน การเปิดรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อก็ดูเหมือนว่าจะมีเวลาอันจำกัด และต้องรีบเร่งรับจนแทบจับสาระสำคัญของข่าวประเด็นหลักของเรื่องไม่ได้เลย เมื่อเจอกับข่าวที่มีเนื้อหายาวๆ เรื่องราวที่มีความสลับซับซ้อน ยุ่งยากต่อการอ่านและทำความเข้าใจ จึงต้องอาศัยสื่อทำหน้าที่ช่วยย่อย ช่วยแสดงความคิดเห็น และช่วยคิดแทน ต่อกรณีที่เกิดขึ้นในแต่ละเรื่องข่าว แต่ละเรื่อง ประชาชนควรจะมีทัศนคติอย่างไร
จึงเป็นโอกาสของคนทำสื่อจำนวนหนึ่ง ที่มีเจตนาร้าย มีอคติต่อเรื่อง มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้เป็นข่าว ที่จะนำเสนอเรื่องราวข่าวคราวแบบสั้นๆ กระชับๆ โดยเลือกตัดเนื้อหาส่วนที่ตนไม่ต้องการนำเสนอทิ้งไปทั้งหมด แล้วยัดเยียดเนื้อหาส่วนที่ตนต้องการจะให้ประชาชนรับฟังเข้าไปแทนแบบ "ข้างเดียว" แถมพกด้วยการสอดแทรกอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ทั้งรัก ชอบ โกรธ แค้น เกลียด ชัง เข้าไปในข่าว เพื่อสร้างอารมณ์ร่วมให้แก่ประชาชนผู้รับสื่อผ่านปากของตน ทั้งปากคน และปากกา
ในระยะ 2-3 ปีมานี้ จะเห็นได้ว่าสื่อไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อที่ถ่ายทอดข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ หากแต่ทำหน้าที่เป็นสื่อที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของคนทำสื่อ ควบคู่ไปกับข้อเท็จจริง และหลายครั้ง สัดส่วนอารมณ์ความรู้สึกของคนทำสื่อ จะมากกว่าการนำเสนอข้อเท็จจริง ด้วยซ้ำไป เนื่องจากสื่อกำหนดบทบาทตัวเองให้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งของเหตุการณ์ที่เป็นข่าวด้วย มิใช่เป็นสื่อเพียงสถานะเดียว
เมื่อสื่อไม่ทำหน้าที่ของสื่ออย่างตรงไปตรงมา หากแต่ทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง เป็นตัวละครตัวหนึ่งของเหตุการณ์ที่เป็นข่าว ความเป็นกลางของข่าวก็ห่างหายออกไป กระทั่งความเป็นจริงก็ถูกบิดเบือนไป จนถึงลบเลือน ปิดบัง ไม่นำเสนอต่อประชาชน และพยายามหามุมมองที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองมานำเสนอแทน
สื่อหลายรายปรับเปลี่ยนหน้าที่และวิธีการทำข่าว จาก "การรายงานข่าว" มาเป็น "การสร้างข่าว" โดยตั้งธงไว้ล่วงหน้าว่าจะนำเสนอข่าวแต่ละชิ้นไปในทิศทางใด แล้วก็หาบุคคลมาให้สัมภาษณ์ตามแนวทางที่ตนต้องการ เช่น หากต้องการเล่นงานรัฐบาล ก็จะไปสัมภาษณ์นักการเมือง นักวิชาการ ฝ่ายตรงข้าม ที่มีทรรศนะขัดแย้งกับรัฐบาล มานำเสนอเป็นข่าว แต่จะหลีกเลี่ยงไม่นำเสนอความเห็นของนักวิชาการ นักการเมือง ที่เห็นสอดคล้องกับรัฐบาล จากนั้นก็ใช้วิธีการพาดหัวข่าวในทางร้ายตัวใหญ่ๆ เพื่อให้ประชาชนคล้อยตามไปตาม "ธง" ที่ตนตั้งไว้
สื่อบางรายกระโดดเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ เป็นตัวสร้างเหตุการณ์ สร้างข่าว และเป็นตัวเดินข่าว จนกลายเป็นตัวละครหลักของข่าว แต่ก็ยังอ้างว่าเป็นสื่อ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ของสื่อแล้ว เช่น หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน และเอเอสทีวี ที่เป็นผู้เริ่มต้นก่อเหตุที่นำมาสู่หายนะของชาติอย่างร้ายแรง เนื่องจากคนทำสื่อไม่ได้ดำรงตนอยู่ในฐานะของสื่อ หากแต่เข้าไปเล่นการเมือง แสวงหาประโยชน์ และวางแผนล้มล้างรัฐบาลด้วยอคติ มีจิตพยาบาทอาฆาตมาดร้าย โดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือนำเสนอความเท็จ หลอกลวง มอมเมาให้ประชาชนหลงเชื่อ ด้วยการแอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์แบ่งแยกประชาชน ใช้สื่อปลุกระดมประชาชนโค่นล้มรัฐบาล จนทำให้เกิดความแตกแยกอย่างรุนแรงของคนในชาติ
สื่อหลายรายหลีกเลี่ยงที่จะนำเสนอข้อเท็จจริง และบางรายก็จงใจสร้างข่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างน่าเกลียด เช่น กรณีหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ กับเอกสารลับสกัดพรรคพลังประชาชน ของ คมช. ซึ่งหนังสือพิมพ์ประชาทรรศน์นำเสนอข่าวนี้อย่างต่อเนื่อง และเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวที่กล้าชี้ว่า คมช. กระทำผิด ในขณะที่หนังสือพิมพ์อื่นๆ นำเสนอข่าวนี้แบบกลัวๆ กล้าๆ และ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เสนอข่าวแบบสวนทางกับความจริงว่า เรื่องเอกสารลับเป็นเรื่องเท็จ เป็นท่าทีที่สอดรับกับท่าทีของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก คมช. อย่างแนบแน่นยิ่งนัก เป็นพฤติกรรมของสื่อที่เลือกข้างอย่างชัดเจน ไม่สนใจที่จะทำหน้าที่ของสื่อ ค้นหาความจริง หากแต่เป็นสื่อเพื่อตอบสนองความต้องการของ "ฝ่าย" ที่ตนเลือกอยู่ด้วย
สื่อบางรายผูกติดตัวเองกับการแสวงหาผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุด เช่น หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่รายหนึ่ง เมื่อถูกขัดผลประโยชน์จากรัฐบาลคณะหนึ่ง ก็ผูกใจเจ็บ เก็บเป็นความแค้น เมื่อสบโอกาสก็ใช้ความเป็นสื่อแก้แค้นตอบโต้ทุกวิถีทาง นำเสนอข่าวและความเห็นด้วยอคติตลอดมานับแต่ไม่สมประโยชน์ ซึ่งประชาชนได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของสื่อสำนักนี้กันหมดแล้ว ยิ่งกระจายคนของตัวเองไปอยู่ในโทรทัศน์หลายช่อง ก็ยิ่งได้เห็นชัดเจนมากขึ้น จนเรียกได้ว่าสื่อสำนักนี้ได้แก้ผ้าเปลือยตัวเองให้ประชาชนรู้เห็นหมดแล้ว ว่าเพื่อให้สมประโยชน์ทางธุรกิจ แม้จะต้องอยู่ใต้อำนาจเผด็จการก็ทำได้ ในขณะที่ปากก็พร่ำบ่นแต่คำว่า "เราเป็นมืออาชีพ ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา" ไม่ต่างจาก ปีศาจคาบคัมภีร์ แต่อย่างใด
สื่อเหล่านี้อวดอ้างตัวเองเป็น "สื่อแท้" แต่กระทำตนเป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุแห่งหายนะของชาติ ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2548 จนถึงปัจจุบัน และไม่มีวี่แววว่าจะรู้สึกสำนึกตนได้ว่ากระทำความเสียหายอะไรให้แก่วิชาชีพสื่อและประเทศชาติบ้าง หากแต่ยังโยนความผิดให้เป็นของผู้อื่นตลอดเวลา
สื่อเหล่านี้ชี้ว่า รัฐบาลทักษิณไม่มีความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศ เรียกร้องชักชวนให้ทหารก่อการรัฐประหาร โดยไม่สนใจว่าการรัฐประหารเป็นวิธีการที่ชอบธรรมหรือไม่ เมื่อคณะรัฐประหารเดินไม่ถึงฝั่ง ล้มเหลว เพราะประชาชนไม่สนับสนุน สื่อเหล่านี้ก็ด่าคณะรัฐประหาร ที่ตนเรียกร้องเชิญชวนให้มาทำรัฐประหาร และยกย่องราวกับเป็นเทวดาในวันยึดอำนาจ
ด้วยพฤติกรรมของสื่อเหล่านี้ จึงน่าจะถึงเวลาที่ประชาชนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันปฏิรูปสื่อ โดยไม่ต้องรอให้สื่อปฏิรูปตัวเอง วิธีการปฏิรูปสื่อของประชาชนไม่ใช่เรื่อง ยาก เพียงแค่ไม่ซื้อหนังสือพิมพ์ ไม่ฟังวิทยุ ไม่ดูโทรทัศน์ ฉบับ รายการ และช่อง ที่มีพฤติกรรมดังที่ปรากฏแล้วได้ก่อให้เกิดหายนะของชาติขึ้นมา และไม่สนับสนุน ไม่ซื้อสินค้า ไม่ใช้บริการ ผู้ขายสินค้าและบริการที่ลงโฆษณาในสื่อเหล่านั้นด้วย
เพียงเท่านี้ สื่อที่เป็นต้นเหตุแห่งหายนะของชาติก็จะค่อยๆ หายไปจากสังคมไทยทีละรายๆ
นี่คือวิธีการปฏิรูปสื่อที่ดีและได้ผลมากที่สุด ซึ่งประชาชนลงมือทำได้เลยตั้งแต่นาทีนี้เป็นต้นไป
อย่าปล่อยให้สื่อเลวๆ นำพาประเทศไทยหวนกลับไปสู่เส้นทางแห่งหายนะได้อีก
'นายกอ'
////////
คอลัมน์:ละครชีวิต...จากหนังสือพิมพ์รายวันประชาทรรศน์ ฉบับวันที่ 12/02/2551