ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนสายวันที่ 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา นายธนิศร์ ศรีประเทศ ผอ.สำนักบริหารการสนับสนุนโดยรัฐ ตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เดินทางเข้ายื่นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายธงชัย ดุลยสุข ผอ.สำนักการประชุม เป็นผู้รับแทน
นายธนิศร์ กล่าวว่า ตนเป็นตัวแทนยื่นร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 302 ที่ระบุให้กกต.จัดทำร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งทาง กกต.ก็ได้ร่าง พ.ร.บ. เสร็จแล้ว ทั้งสิ้น 42 มาตรา จึงส่งร่างดังกล่าวมายังสภาผู้แทนราษฎรให้ดำเนินการตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญต่อไป
ร่างประชามติถึงมือ “ลุงชัย”
ด้าน นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ตามกรอบของกฎหมายกำหนดให้ดำเนินการแล้วเสร็จ ภายในวันที่ 23 ส.ค.นี้ ซึ่งตนจะเร่งบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสมัยวิสามัญนี้ แต่ส่วนตัวเห็นว่าอาจไม่แล้วเสร็จภายใน 23 ส.ค.นี้ เพราะมีมาก ถึง 42 มาตรา และการประชุมสมัยนี้ คาดว่าพรรคประชาธิปัตย์อาจจะขอแปรญัตติอีกด้วย ทั้งนี้จะเสร็จทันหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาฯ ว่าจะเห็นตรงกันหรือไม่ แต่คาดว่าคงเป็นไปไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ มีทั้งหมด 10 ส่วน อาทิ ส่วนที่ 1 บททั่วไป ในมาตรา 5 ระบุว่า ในกรณีที่จะดำเนินการจัดทำประชามติตามมาตรา 165 (1) ของรัฐธรรมนูญ ให้มีการออกประกาศของนายกรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา และกรณีที่จะดำเนินการจัดทำประชามติตามมาตรา 165 (2) ของรัฐธรรมนูญ การประกาศให้มีการออกเสียงให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายนั้นหรือหากไม่ได้บัญญัติไว้ให้เป็นไปตามที่ กกต. ประกาศกำหนด
ให้นับคะแนนในที่ออกเสียง
สำหรับมาตรา 8 ระบุว่า การออกเสียงเพื่อมีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียง หากปรากฏว่าผู้มาใช้สิทธิออกเสียงป็นจำนวนไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง ให้ถือว่าประชาชนในเสียงข้างมากไม่เห็นชอบด้วยกับเรื่องที่จะทำประชามติ ถ้ามีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงหากปรากฏว่าผู้ออกเสียงโดยเสียงข้างมากให้ความเห็นชอบให้ถือว่าประชาชนที่มีเสียงข้างมากเห็นชอบ และถือว่าประชาชนให้ความเห็นชอบด้วยกับการจัดทำประชามติ
ทั้งนี้ในส่วนที่ 7 ว่าด้วยการลงคะแนนออกเสียงและนับคะแนน ตามมาตรา 28 เมื่อปิดการลงคะแนนออกเสียงแล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงนั้นๆนับคะแนน ณ ที่ออกเสียงนั้น โดยเปิดเผยติดต่อกันจนแล้วเสร็จ มาตรา 30 เมื่อนับคะแนนเสร็จแล้ว คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงประชามติของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด ใส่ไว้ในหีบบัตรออกเสียง พร้อมทั้งรายงานผลการนับคะแนนแล้วปิดหีบบัตรออกเสียงจัดส่งไปให้คณะกรรมการการออกเสียงประจำเขตออกเสียงตามที่กกต.กำหนด
เข้าสู่การพิจารณาของสภา 9 มิ.ย.
ด้าน นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวว่า หลังจากที่ กกต. ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2551 ไปยังสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้ เชื่อว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ในการประชุมสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 9 มิถุนายนนี้
จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของสภาที่จะพิจารณา เพราะหมดหน้าที่ของ กกต.แล้ว สำหรับการทำประชามติ ในการยกร่างได้ออกแบบการทำประชามติไว้ 2 แบบ คือ แบบบังคับ ที่ระบุว่า หากประชาชนมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการก็จะต้องดำเนินการไปตามนั้น และแบบขอคำปรึกษา หากประชาชนเสียงข้างมากเห็นอย่างไรก็ถือเป็นคำปรึกษาเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลจะทำตามหรือไม่ก็ได้
ส่วนประชาชนที่อยู่ในต่างประเทศสามารถออกเสียงประชามติได้ ในกรณีที่เป็นการทำประชามติของประชาชนทั่วประเทศเท่านั้น และตามร่างดังกล่าวผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่มีสิทธิออกเสียงประชามติ ขณะที่ส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามา คือ ห้ามไม่ให้ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใช้อำนาจหน้าที่กระทำการที่จะทำให้การออกเสียงประชามติไม่สุจริตและเที่ยงธรรม อย่างไรก็ตาม นายประพันธ์ ยอมรับ ไม่แน่ใจว่าการพิจารณาในชั้นของสภาผู้แทนราษฎร จะผ่าน 3 วาระรวดหรือไม่
ยันแก้ตามหลักนิติธรรม
ด้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีระยะเวลาพิจารณาของกรรมาธิการศึกษาร่างรัฐธรรมนูญที่ทางฝ่ายค้านและรัฐสภามีมติศึกษาร่วมกันว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับรัฐสภาว่าจะใช้ระยะเวลานานเท่าใด ซึ่งความจริง ส.ส. พรรคพลังประชาชนก็เคยเสนอญัตตินี้มาแล้ว และเคยบอกว่าสามารถนำคนนอกมาเป็นกรรมาธิการได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะว่าจะได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า
ส่วนกรณีที่ทางกลุ่มพันธมิตรฯไม่สลายการชุมนุมเพราะว่ายังไม่ได้ข้อสรุปว่าทางรัฐบาลจะไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริงและจะไม่เป็นการแก้เพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ตนขอยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการแก้เพื่อหลักนิติธรรม เพื่อให้ดีขึ้นไม่ใช่แก้เพื่อตัวเองและประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน
ขณะที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ตนไม่ทราบเพราะในที่ประชุมยังไม่มีการพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าว ส่วนเรื่องการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาร่างรัฐธรรมนูญนั้น ต้องให้เกียรติ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ เป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกแนวทางไหน
เชื่อปัญหารธน.จะคลี่คลาย
ด้านนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.เกษตรและสหกรณ์ พรรคชาติไทย กล่าวถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่น่าจะคลี่คลายลงได้ หลังจากที่ในสภาเห็นสอดคล้องกันให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษารัฐธรรมนูญ ก็น่าจะรอดูผลการศึกษาก่อนมีความเห็นไปสู่กระบวนการแก้ไข
สถานการณ์จากนี้ไป ถ้าทุกฝ่ายยึดมั่นในกรอบของรัฐธรรมนูญ ก็ไม่น่าเกิดอะไร เพราะสถานการณ์ก็คลี่คลาย เมื่อสภาที่ทำหน้าที่เป็นเวทีทางออกสังคมก็กำลังขับเคลื่อน ทุกฝ่ายไม่ว่าฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลก็ให้ความร่วมมือตั้งในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษารัฐธรรมนูญปี 2550 ว่ามีปัญหาอะไร เมื่อได้ใช้ไปแล้วช่วงหนึ่งแล้ว
เมื่อถามว่าหลักการทำงาน พรรคพลังประชาชนควรจะหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่านี้หรือไม่ เช่น การยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายสมศักดิ์กล่าวว่า การยื่นญัตติเป็นเอกสิทธิ์ ไม่อย่างนั้นแต่ละพรรคการเมืองก็ทำงานไม่คล่องตัว การเสนอกฎหมายหรือพ.ร.บ.อาจมีความเห็นไม่ตรงกัน นั่นก็เป็นการทำงานของพรรค อย่านำมารวมกับรัฐบาล เพราะถ้ามองอย่างนั้นจะนำไปสู่ความไม่เข้าใจระบบ ว่า พรรคคือพรรค รัฐบาลคือรัฐบาล
ต่อข้อถามว่าการที่ส.ส.อีสานใต้จะยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง ไม่กระเทือนพรรคร่วมรัฐบาลใช่หรือไม่ นายสมศักดิ์กล่าวว่า เขามีสิทธิ รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าถ้าเข้าชื่อ 1 ใน 5 ก็เสนอได้ ไม่ต้องเป็นมติของพรรค ฉะนั้นพรรคพลังประชาชนมีเสียง 200 กว่าเสียง เสนอ 100 กว่าเสียงก็ทำได้ แต่เมื่อเข้าไปจะขอความร่วมมือจากพรรคร่วมก็ต้องคุยกันอีกประเด็น ตรงนั้นค่อยว่ากัน
“โดยหลักการ เมื่อทุกฝ่ายทำความเข้าใจ ไปตกลงกับประธานสภาเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. เท่ากับได้รับมอบหมายจากทางพรรคมาแล้ว ตามหลักการควรรอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาก่อน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล บุคคลภายนอก ตัวแทนกลุ่มองค์กร มาศึกษาร่วมว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาอุปสรรคตรงไหน ถึงจะนำไปแก้ไข แบบนี้สิ่งที่หวาดวิตกก็ไม่เกิด” นายสมศักดิ์กล่าว
ชาติไทย-มัชฌิมาโต้ข่าวถอนตัว
ส่วนกรณีที่มีคนไม่หวังดีปล่อยข่าวพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวจากพรรคพลังประชาชน อันเนื่องมาจากปัญหาสลายม็อบบ้าง การแก้ไขรัฐธรรมนูญบ้าง
นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน ในฐานะหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นทุกฝ่ายต้องการช่วยกันแก้ไขปัญหา แต่ข้อเสนอให้สลับขั้วทางการเมืองไปสนับสนุพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล คงไม่ใช่ทางออก สำหรับรัฐบาลทำงานมา 3 เดือน อาจจะยังไม่ถูกใจหลายฝ่าย แต่เมื่อเทียบกับปัญหาที่สะสมมา ก็ต้องให้เวลานายกรัฐมนตรี
นางอนงค์วรรณ กล่าวด้วยว่า พรรคจะไม่ไปทำให้สถานการณ์เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้น และเชื่อว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ นายกรัฐมนตรีจะปรึกษาหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล
เช่นเดียวกับ น.ส. กัญจนา ศิลปอาชา รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวถึงบทบาทของพรรคชาติไทย หลังมีกระแสข่าวว่าพรรคชาติไทยวางตัวเป็นตัวแปรหลักที่จะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลว่า เรื่องนี้พรรคชาติไทยไม่คิดว่าจะเป็นพรรคตัวแปรใดๆ เพื่อให้ใครมาง้อ แต่คิดว่าการอยู่ด้วยกัน ก็ต้องมีการฟังกันและกัน ไม่ได้เป็นการเล่นตัว สร้างราคา
“ความสัมพันธ์พรรคร่วมกับพรรคแกนนำก็ดีขึ้นเป็นลำดับ เรื่องที่จะสร้างความรุนแรง ใช้กำลังสลายพันธมิตรตอนนี้ก็เห็นว่าเงียบไปแล้ว ณะนี้ระดับผู้ใหญ่ก็พยายามสานความเข้าใจกันอยู่ ทุกอย่างก็น่าจะเข้าใจกันได้ ” น.ส.กัญจนา กล่าว