ดูเหมือนว่าลักษณะ “ได้คืบจะเอาศอก” ของ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย-ชื่อทางการ หรือ พันธมาร-ในชื่อเล่น
จะไม่ได้สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับเฉพาะรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช
และไม่ได้สร้างความรำคาญให้เฉพาะประชาชนผู้กำลังกังวลกับปัญหาปากท้อง
หากแต่ยังส่งสัญญาณ “กดดัน” ไปยัง “ขาใหญ่” อย่างกองทัพ
ออกอาการเรียกร้อง กระสันอย่างเปิดเผย รุนแรง และต่อเนื่องมาโดยตลอด
จริงอยู่ที่ว่า ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การชุมนุมของกลุ่ม นายสนธิ ลิ้มทองกุล จากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่เติบโตมา รวมกับกลุ่มองค์กรภาคประชาชนหลากหลาย จนกลายเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ นั้น อาจจะเคยเป็น “ไม้ผลัด” ชั้นดีให้ทหารบางคนที่รอคอยโอกาสนี้ ได้รีบหยิบฉวยรับไม้ต่อ
เมื่อกระทำการยึดอำนาจได้สำเร็จ “พันธมาร” ที่ตอนนั้นยังเป็นมิตร ก็ได้รับปูนบำเหน็จรางวัลกันถ้วนหน้า
หากแต่ว่าก่อน 19 กันยายน 2549 กับวันนี้ ความสุกงอมยังห่างไกลกันนัก
เงื่อนไขร้อนแรงก็ต่างกันนัก
ช่วงเวลาก็ยังไม่ทิ้งห่าง แม้ลักษณะคนไทยจะคือ ความจำสั้น แต่ก็ยังเห็นทีจะไม่ใช่ตอนนี้ ที่สำคัญ นอกจากร่องรอยสาบโคลนอันเกิดจากการก้าวถอยหลังเมื่อครั้งรัฐประหารครั้งแล้วที่ยังคงอยู่ เสียงก่นด่าสาปแช่งทหารที่เข้ามาถอนรากฝอยประชาธิปไตยให้ขาดกระจุย ก็ยังเพิ่งจะซาหู
ดังนั้น วันนี้ทหารคนไหนที่ยังสติดี จึงย่อมไม่อยากทำอะไรให้เสื่อมเกียรติตัวเองติดๆ กันนัก
จริงอยู่ว่า คนทั่วไปไม่ค่อยมีใครเชื่อน้ำหน้าทหารที่ว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง แต่อย่างน้อย ด้วยบทเรียนที่ผ่านมา ด้วยสภาวะปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ที่รอให้รัฐบาลได้ทำงานแก้ไข
ก็ทำให้ยังมองโลกในแง่ดีว่า ทหารย่อมฉลาดจัดวางบทบาทและจังหวะของตัวเอง
หากแต่การ “โชว์แมน” ครั้งนี้ กลับโดนตวาดจากพันธมิตรฯ ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ในมือว่า “ไร้น้ำยา!”
ออกอาการหงุดหงิดงุ่นง่าน ตามประสาคนที่พยายามยั่วเย้าเล้าโลมอย่างถึงขนาดแล้ว ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง
แต่ถึงจะหงุดหงิดเพียงใด “ทหาร” ก็ยังคือความหวังเดียว ความหวังสุดท้าย ของพันธมิตรฯ
บางจังหวะจึงต้องเอาน้ำเย็นเข้าลูบ ใช้วิธีประจบประแจง หวังปลุกผีรัฐประหาร หว่านล้อมว่าสุดท้ายทหารคงจะ “รู้หน้าที่” ของตัวเอง
โดยลืมไปเสียสนิทว่า ทหารก็คือข้าราชการ และมีรัฐบาลเป็นผู้บังคับบัญชา
การยุแยงให้ทหารออกมาบนเวทีการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า จึงคือการประกาศทางอ้อมว่า ต้องการให้สถาปนารัฐไทยเป็นรัฐเผด็จการทหารไปเสียรู้แล้วรู้รอด
ทั้งน้ำร้อน น้ำเย็น แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยนัยแห่งการ “กดดัน” เช่นนี้ ก็สมควรอยู่ที่นายทหารระดับสูงบางคนจะทนไม่ได้
แม้ “ไม่ยุ่งการเมือง” จะ “ไม่ใช่” ลักษณะของทหารไทย
แต่จะยุ่งหรือไม่ จะยุ่งเมื่อไร ก็ไม่ใช่เรื่องที่ “ใคร” จะมา “ชี้นิ้ว” สั่ง
“อยากให้กลุ่มพันธมิตรฯ นึกถึงส่วนรวมของบ้านเมือง อย่าให้เกิดความรุนแรง
อย่าหวังอะไรเกินที่จะหวัง ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเดือดร้อนเมื่อใช้วิธีบังคับ...”
คือคำเตือนอย่างเบาจาก พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผบ.สส. ผู้ซึ่งระยะหลังมานี้วางบทบาทตัวเองได้น่าเคารพมากยิ่งกว่านายทหารคนไหน
อย่างน้อยก็มากกว่านายทหารระดับสูง 2-3 นาย ที่พูดจาเบ่งกล้ามตลอดเวลา
หากแต่ว่า ทั้ง พล.อ.บุญสร้าง และนายทหารอวดเบ่งบ้าเลือดนั่น ก็ไม่ใช่คนที่ถูกจับตามองอย่างที่สุด
เพราะที่สุดของการจับสังเกต ย่อมอยู่ที่หน่วยคุมกำลังอย่าง “ทหารบก” ซึ่งมี ผบ.ทบ. ชื่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
แม้จะเป็นอีกคนหนึ่งที่ย้ำเสมอว่า “ทหารไม่ปฏิวัติ” หากแต่การโยกย้ายปรับเปลี่ยนกำลัง และด้วยที่อยู่ ที่ยืน ทั้งอดีต ปัจจุบัน ก็ทำให้ฝ่ายที่ต้องการระบอบประชาธิปไตย ไม่อาจสนิทใจ
แต่กับฝ่ายพันธมิตรฯ ไม่บอกก็นึกภาพออกว่า “ลุ้น” จนตะคริวแทบกิน