ประธานสภาฯเผย เปิดประชุมนัดแรก 11 มิ.ย. มีเพียงร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ถูกบรรจุเข้าวาระแล้ว แต่ไร้วี่แวว ญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษารัฐธรรมนูญ 2550 ตามที่พรรคประชาธิปัตย์จุดพลุสกัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่ ชูศักดิ์ เตรียมผลักดันต่อ ไม่ปล่อยให้กลายเป็นแค่ลมปาก คาดเป็นเกมส่อยื้อเวลาสกัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนต้องการเท่านั้น
ทั้งนี้ ภายหลังจากพรรคประชาธิปัตย์ จุดประเด็น กล่าวอ้างควรให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมาธิการของสภา เพื่อศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ก่อนดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนล่าสุดประธานสภาได้จัดให้มีการหารือร่วมกัน และเป็นที่ยอมรับไปแล้ว โดย ส.ส.พรรคพลังประชาชน และ ส.ว.บางส่วน ยอมถอนชื่อสนับสนุนญัตติขอแก้ไข จนต้องตกไปในที่สุดแล้วนั้น ขณะนี้ได้เริ่มส่อแววแล้วว่า ข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ดังกล่าว น่าจะเป็นเพียงกลเกมยื้อไม่ให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นเท่านั้น
โดยวันนี้ (4 มิ.ย.) นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดเผยถึงการประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญ ที่จะมีการประชุมวันแรกในวันที่ 11 มิถุนายนนี้ว่า ได้บรรจุวาระการประชุมเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีวาระพิจารณาหลายเรื่อง โดยที่สำคัญคือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ขณะที่ญัตติการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 นั้น ที่ได้คุยกันไว้ตามข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีใครยื่นเข้ามา ซึ่งคงต้องรอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝ่ายค้าน และรัฐบาลไปประสานภายในพรรคตนเองก่อนจึงจะยื่นญัตติเข้ามา
อย่างไรก็ตาม ต่อกรณีดังกล่าวนี้ ไม่เกิดความเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้นจากพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากพรรคพลังประชาชน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง “การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น” ที่โรงแรมเวียงอินทร์ จ.เชียงราย ว่า ตนมีแนวทางร่วมกับกลุ่ม ส.ส.ว่า จะเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาการใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณาในเรื่องนี้ โดยวันที่ 9 มิถุนายน 2551 จะมีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ
ทั้งนี้ จะต้องดูวันเวลาที่เหมาะสมในการยื่นญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเข้าสภาผู้แทนราษฎร หากสภาเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาการใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ก็จะได้เดินหน้าศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนว่า จะไปในทิศทางไหน จะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือแก้มาตราใด จะมีการทำประชาพิจารณ์หรือไม่ ก็ให้ดำเนินไปตามนั้น ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ จะมาจาก ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งคนนอกที่ไม่เป็น ส.ส. ด้วย เพราะขณะนี้มีทั้งผู้คัดค้านและสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550
ส่วนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวถึงเนื้อหาของร่าง ที่ส่งถึงสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 2 ที่ผ่านมาว่า ขึ้นอยู่กับสภา จะพิจารณาปรับแก้ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในประชุมสมัยวิสามัญ ทั้งนี้ ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวไม่มีถ้อยคำที่กำหนดไว้ว่า หากประเด็นที่ทำประชามติผ่านไปแล้ว ประชาชนไม่เห็นด้วยแล้วกำหนดระยะเวลาไม่ให้นำประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาไว้เป็นเวลาเท่าใด เพราะถือเป็นประเด็นปลีกย่อยเกินไป
ทั้งนี้ หากกรณีที่ทำประชามติด้วยการขอคำปรึกษาประชาชน เช่น การทำกาสิโนเสรี เป็นต้น ถ้าประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ไม่ถึง 1 ใน 5 ก็ถือว่าการขอคำปรึกษานั้นไม่ผ่าน ดังนั้น รัฐบาลซึ่งเป็นผู้ขอทำประชามติก็คงต้องดูกระแสและสถานการณ์ในการจะหยิบยกมาขอหารือประชาชนอีก เพราะการทำประชามติแต่ละครั้งต้องเสียงบประมาณ โดยประเด็นนี้หากสภา เห็นว่าจำเป็นก็สามารถเขียนลงไปในกฎหมายได้