กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ และเครือข่ายพิทักษ์เจตนารมณ์เดือนพฤษภาคม ออกแถลงการณ์คัดค้านข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติ และเรียกร้องให้พันธมิตรฯ ยุติการชุมนุม เนื่องจากเป็นการชุมนุมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ส่อเจตนานำไปสู่การรัฐประหาร และเตือนสติประชาชนให้ใช้วิจารณญาณอย่างรู้เท่าทันกลเกมพันธมิตรฯ ความดังนี้
แถลงการณ์
คัดค้านระบอบรัฐประหารและรัฐบาลแห่งชาติ
สนับสนุนประชาธิปไตยรัฐสภา
ประชาชนต้องมีส่วนร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย
วิกฤตการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทยขณะนี้ มีแนวโน้มจะนำพาสังคมไทยสู่การถอยหลังทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกคำรบ อันเนื่องมาจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ชูประเด็นล้าหลัง คลั่งชาติ รวมถึงไม่เคารพในระบบเสียงในระบอบประชาธิปไตย และดูถูกดูแคลนการเรียนรู้ทางประชาธิปไตยของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย
การรัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน 2549 ได้ให้บทเรียนแก่สังคมไทยอีกครั้งว่า รัฐประหารไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย ในทางตรงกันข้าม การรัฐประหารกลับทำให้อำนาจล้าหลังของ “ระบอบอำมาตยาธิปไตย” ฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง
ดังตัวอย่างรูปธรรมคือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และกฎหมายของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นับร้อยฉบับ ที่ให้อำนาจรวมศูนย์กับระบอบอำมาตยาธิปไตย โดยมีการเร่งรีบพิจารณา ไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ไร้ซึ่งการตรวจสอบ ถ่วงดุล และการมีส่วนร่วมของประชาชน อาทิ พระราชบัญญัติป่าชุมชน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พระราชบัญญัติด้านสื่อสารมวลชนอีกนับสิบฉบับ ฯลฯ ตลอดทั้งพระราชบัญญัติความมั่นคง
เราในนามกลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ และเครือข่ายพิทักษ์เจตนารมณ์เดือนพฤษภาคม 2535 มีเจตนารมณ์แน่วแน่ต้องการสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น และต้องการให้รัฐเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ เพื่อให้มีความเสมอภาคและความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคมไทย เรามีความคิดเห็นและข้อเรียกร้อง ดังนี้
1.ขอเรียกร้องให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยุติการชุมนุมที่นำไปสู่การรัฐประหารโดยเร่งด่วน และขอให้กองทัพอย่าฉวยโอกาสจากสถานการณ์กระทำการรัฐประหาร ซึ่งจะทำให้สังคมไทยบอบช้ำยิ่งขึ้นไปอีก
2.ถ้าหากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่ยอมยุติการชุมนุม รัฐบาลต้องไม่ใช้ความรุนแรงต่อการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพราะอาจกลายเป็นข้ออ้างของการรัฐประหารได้ด้วยเช่นกัน
3.ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนาระบอบประชาธิปไตยรัฐสภา เพื่อยกระดับการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ต้องยืนยันหลักการ 1 สิทธิ 1 เสียงของประชาชน ในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ว่าเป็นหัวใจของประชาธิปไตย เพราะแม้ระบบการเลือกตั้งอาจไม่เท่ากับประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ แต่การทำลายประชาธิปไตยรัฐสภาด้วยการรัฐประหาร กลับอันตรายยิ่งกว่า และการเสนอรัฐบาลแห่งชาติก็มิใช่ทางออกที่เคารพเสียงของประชาชนเช่นกัน
4.รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่ล้าหลัง เพราะเป็นรัฐธรรมนูญโดยอำมาตยาธิปไตย เพื่ออำมาตยาธิปไตย และของอำมาตยาธิปไตย จึงจำเป็นต้องแก้ไขให้มีความก้าวหน้าขึ้น ส่วนคนกลุ่มที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ก็คือคนกลุ่มที่สนใจแต่ประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะหน้าของกลุ่มตนเอง และหวงอำนาจอภิสิทธิ์ของพวกตนเอง
5.กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมิควรดำเนินไปโดยรัฐสภาแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะรัฐธรรมนูญมีฐานะเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ จึงต้องให้ประชาชนร่วมในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น และให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้งหนึ่งภายหลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว แม้ว่าต้องใช้เวลานานมากขึ้นก็ตาม
6.ท้ายสุด ขอเรียกร้องให้ประชาชนไม่ต้องเข้าร่วมการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และขอให้รับฟังข้อมูลข่าวสารต่างๆ จากสื่อสารมวลชนด้วยความไตร่ตรองอย่างมีวิจารณญาณ
ด้วยความเชื่อมั่นระบอบประชาธิปไตย
กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ
เครือข่ายพิทักษ์เจตนารมณ์เดือนพฤษภาคม 2535