ผู้สื่อข่าวรายงานข่าว กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ได้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน โดยระบุว่า สถานการณ์การเมืองของประเทศไทย ณ วันนี้ ความพยายามของกลุ่มพันธมิตรฯที่จะก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองและชักนำไปสู่การทำรัฐประหารยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหลีกเลี่ยงที่จะใช้มาตรการที่มีความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ประท้วง และยอมถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไป เมื่อกลุ่มพันธมิตรฯทำงานไม่ได้ผล แนวรบอีกด้านหนึ่งของฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตย คือ นายประเวศ วะสี จึงได้ออกมาเสนอแนวความคิดการจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” เผยแพร่ผ่านสื่อไปทั่วบ้านทั่วเมือง
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า แนวความคิดการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติของนายประเวศ วะสี นอกจากจะเป็นการทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างที่สุดแล้ว ยังเป็นเป็นการดูหมิ่นและเหยียดหยามประชาชนอย่างยิ่ง เนื่องจากประชาชนได้ออกไปใช้อำนาจอธิปไตยของตนเองผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งกลไกประชาธิปไตยยังคงดำเนินต่อไปได้ตามวิถีทางปกติ โดยที่ไม่มีเหตุผลรองรับสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเลย
นอกจากนี้ ยังไม่มีเหตุผลทางด้านความมั่นคงของรัฐ เช่น สภาวะศึกสงคราม หรือสภาวะการณ์ร้ายเเรงอื่นๆ ที่มีน้ำหนักเพียงพอต่อการที่จะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติได้เลย เหตุผลที่แท้จริงของการเสนอแนวคิดจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติของนายประเวศ วะสี คือ ไม่เห็นด้วยกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ ไม่คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจอธิปไตยของประชาชน อีกทั้งยังเป็นแนวความคิดที่จะเป็นการเปิดทางให้พรรคการเมืองที่อยู่ในฝ่ายของตนขึ้นมาครองอำนาจนั่นเอง
ในแถลงการณ์ระบุอีกว่า หากนายประเวศ วะสี มีความตั้งใจจริงในการสร้างความสมานฉันท์และความปรองดองในชาติ นายประเวศ วะสีสามารถกระทำได้โดยการบอกกล่าวไปยังกลุ่มพันธมิตรฯให้ยุติการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเสียที ปล่อยให้กลไกของระบอบประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไป อีกทั้งตัวของนายประเวศ วะสี เองจักต้องเลิกเสนอแนวคิดที่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวานที่ผ่านมา (5 มิ.ย.) กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ โดยนางสิริวารี รำเพย เลขาธิการกลุ่มฯ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการตรวจสอบกากระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขอให้ยุติบทบาท เพื่อรอฟังคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธํรรมนูญก่อนว่า มีอำนาจชอบธรรมต่อกระบวนการสอบสวนและกล่าวหา ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่ โดยกำหนดเวลาให้ 7 วัน เพื่อรอฟังคำตอบ